เรียนอย่างไรถึงจะเก่ง??


เรียนเก่งไม่เก่งมีปัจจัยพื้นฐานอะไรบ้าง..

คำนำ
    ชีวิตในวัยเรียนเป็นช่วงชีวิตที่มีความหมายยิ่ง โดยเฉพาะวัยเรียนในระดับอุดมศึกษา  เพราะนักศึกษาสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ยามที่ต้องเผชิญชีวิตโดยลำพังในอนาคต เพราะการเรียนรู้สรรพวิทยาการต่างๆในสถาบันนั้นมิได้หมายถึงเฉพาะการเรียนจากตำราอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นประสบการณ์ที่หลอมรวมเป็นหลักสูตร และกิจกรรมต่างๆตามปรัชญาของแต่ละสถาบันการศึกษา
      ในส่วนที่เป็นเนื้อหาวิชาการตามหลักสูตรนั้น นักศึกษาทุกคนจำเป็นต้องตั้งใจศึกษาและตักตวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้บังเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย นักศึกษาต้องทุ่มเททั้งกำลังกาย พลังสติปัญญา ต้องมีความมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร และศึกษาอย่างจริงจัง
      ต้องยอมรับว่าการศึกษาเล่าเรียนเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ซ้ำซาก และเบื่อหน่าย ซึ่งผู้ศึกษาจำเป็นต้องสำรวจศักยภาพและความพร้อมของตัวเองอยู่เสมอ ต้องพยายามแสวงหาวิธีการเรียนที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล เพราะอาจารย์หรือครูผู้สอนอาจจะช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น  บางครั้งแม้ผู้ศึกษาจะใช้ความมานะพยายามและทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการอ่านหนังสือและท่องจำตำราเรียนแล้วก็ตาม แต่ผลที่ได้รับกลับไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร
หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงการรวบรวมประสบการณ์ บทวิเคราะห์ เทคนิค และกลวิธีการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยจุดประกายให้ผู้ศึกษาสามารถตักตวงวิชาความรู้อย่างได้ประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
      หากมีความผิดพลาดหรือบกพร่องประการใดที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้เจตนา ผู้เรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะได้รับการติเตียนและข้อเสนอแนะที่มีคุณค่าจากท่านผู้อ่าน เพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นของหนังสือเล่มนี้

ปัจจัยพื้นฐานแห่งความสำเร็จ
      การศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งตลอดชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับบัญญัติศาสนา กระบวนการเรียนรู้จะทำให้มนุษย์เจริญก้าวหน้าและสามารถพัฒนาตนเองและสังคม และสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคมอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้อิมาม อะหฺมัด อิบนุ หันบัล จึงกล่าวว่า
      “มนุษย์มีความต้องการต่อวิชาความรู้มากกว่าความต้องการต่ออาหารและเครื่องยังชีพ เพราะในแต่ละวันเขาต้องรับประทานอาหารเพื่อยังชีพเพียงหนึ่งมื้อหรือสองมื้อเท่านั้น แต่ความต้องการต่อวิชาความรู้นั้นมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
      ในกระบวนการเรียนรู้ ผู้เรียนทุกคนต่างมีความหวังตรงกันอย่างหนึ่งคือ ต้องเรียนให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้คาดหวังไว้ แต่การที่จะได้รับความสมหวังมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญๆหลายประการเลยทีเดียว อาทิเช่น สภาพแวดล้อมของผู้เรียนทั้งครอบครัว เพื่อนพ้องและสังคมรอบข้าง สภาพเศรษฐกิจของผู้เรียนหรือครอบครัว ศักยภาพของครูผู้สอน ความเหมาะสมของหลักสูตรและเนื้อหาวิชา สถานภาพของสถาบันการศึกษา และประการสำคัญคือ ความพร้อมที่จะเรียนรู้ของผู้เรียนเอง
      จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งความสำเร็จและความล้มเหลวทางการเรียน พบว่า ความสำเร็จและความล้มเหลวดังกล่าวมักจะเป็นผลมาจากตัวของผู้เรียนเองเป็นสำคัญ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางกระบวนการเรียนรู้จึงควรเริ่มต้นแก้ไขที่ต้นเหตุก่อนอื่นใด นั่นคือ ต้องแก้ไขที่ตัวผู้เรียนเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถึงแม้ว่าจะมีวิธีการหรือกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าผู้เรียนไม่มีความพร้อมที่จะเรียน กระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพดังกล่าวก็ไร้ผล และไม่อาจนำพาผู้เรียนให้สำเร็จลุล่วงหรือจบหลักสูตรได้
      จากการศึกษาวิจัยยังพบอีกว่าผลสำฤทธิ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นมักจะพบบ่อยๆในบุคคลที่มีสติปัญญาดี และเฉลียวฉลาด เพราะโดยปกติแล้วบุคคลดังกล่าวมักเป็นนักคิด นักอ่าน ช่างสังเกต ชอบฟัง และมีทักษะในการใช้เหตุผล
อย่างไรก็ตาม สติปัญญาหรือพรสวรรค์ก็มิได้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดจนไม่สามารถจะทดแทนด้วยปัจจัยอื่นๆได้ โดยเฉพาะความพยายาม ความมุ่งมั่นมุมานะ และความอดทนของผู้เรียน หรือที่เรียกว่า “พรแสวง” นั้นเอง 
      ดังนั้นจึงขอบอกผู้เรียนที่ชอบโทษตัวเองว่าเรามันคนไอคิวต่ำ เรียนอย่างไรก็คงไม่มีวันเก่งหรอก ว่าขอให้คิดทบทวนใหม่ โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้เรียนได้อ่านสารัตถะต่างๆในหนังสือเล่มนี้แล้ว เพราะถึงแม้เราไม่ใช่คนที่มีไอคิวสูง แต่เราก็สามารถค้นหามูลเหตุแห่งความสำเร็จได้ ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องอาศัยความมีไอคิวสูงเลยก็ได้
      จากการศึกษาวิจัยกระบวนการเรียนรู้ของบุคคลบางกลุ่มที่ที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาในระดับเกียรตินิยม ได้ข้อสรุปว่า ปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นประสบความสำเร็จนั้นสามารถแยกเป็นเปอร์เซ็น ได้ดังต่อไปนี้
1. สติปัญญา      ประมาณ                 50 %
2. วิธีการเรียนที่ดี/ความพยายาม      40 %
3. โอกาสและปัจจัยแวดล้อม            10 %
     

      ดังนั้น ถึงแม้ว่า พรสวรรค์ทางสติปัญญา จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ แต่พรแสวงด้านความมานะพยายาม การมีวิธีการเรียนการสอนที่ดีและเหมาะสม รวมทั้งการเข้าใจแสวงหาโอกาสและปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ก็ย่อมทำให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จอย่างสูงได้เช่นกัน 

ปัจจัยแห่งประสิทธิภาพการเรียนรู้
      เพื่อที่จะให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ผู้เรียนต้องพยายามใช้กลวิธีการเรียนรู้ที่เน้นย้ำด้านหลักการปฏิบัติเป็นสำคัญ แต่ถ้าจะถามว่า มีกลวิธีใดบ้างที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางการเรียนรู้สูงสุด ? ขอตอบแบบขวานผ่าซากเลยว่าไม่มี” ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลนั้น ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบหลายๆประการ คือ
      1. มีประสบการณ์สูง
          ประสบการณ์ของมนุษย์เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ประสบการณ์บางอย่างอาจมีความหมายต่อบางคนมาก แต่แทบจะไม่มีความหมายต่อคนอื่นเลย และประสบการณ์เหล่านี้มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้มากน้อยต่างกัน ตามแรงจูงใจและพื้นฐานทางจิตใจของแต่ละบุคคลหรือของผู้เรียนแต่ละคน
      2. มีความจำดี
          แน่นอนอย่างยิ่งว่า บุคคลที่มีความจำดีกว่า เร็วกว่า แม่นยำกว่า นานกว่า และสามารถรำลึกถึงความจำหรือเรียกความจำมาใช้ได้เร็วกว่าและเป็นระเบียบกว่า ย่อมมีประสิทธิภาพทางการเรียนรู้สูงกว่าบุคคลที่มีความจำด้อยกว่า
      3. มีสติปัญญาดี
          ความมีสติปัญญาดี สามารถเข้าใจบทเรียนได้อย่างรวดเร็ว ย่อมเป็นการได้เปรียบกว่าผู้อื่น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
      4. มีความเข้าใจดี
          หมายถึง รู้อย่างละเอียดลึกซึ้งในบทเรียนที่ได้เล่าเรียนและศึกษามา

        ดังนั้นผู้เรียนคนใดสามารถครอบครองหรือมีพรสวรรค์ด้านปัจจัยเหล่านี้ย่อมได้เปรียบกว่าผู้เรียนที่ด้อยกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆอีกด้วยดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทที่ผ่านมา


เทคนิคการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
      เทคนิคหรือวิธีการเรียนที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด น่าจะเป็นการผสมผสานของวิธีการเรียนที่หลากหลายเข้าด้วยกัน และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผู้เรียน สาระการเรียนรู้ และความสะดวกของเวลาและงบประมาณ
      ดังนั้น เทคนิคการเรียนรู้จึงเป็นศิลปะหรือกลวิธีอย่างหนึ่งที่ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้เพื่อช่วยตนเอง เพื่อให้การเรียนรู้ของเขามีประสิทธิภาพมากที่สุด
      แต่ถึงแม้ว่าจะมีเทคนิคการเรียนรู้ที่ดีเลิศและมีประสิทธิภาพมากเพียงใดก็ตาม ถ้าหากว่าปราศจากองค์ประกอบหลายๆประการตามลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้รวมอยู่ด้วย เทคนิคเหล่านั้นก็ไร้ค่าอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ
1. ความสนใจของผู้เรียน
2. ความตั้งใจของผู้เรียน
3. วิธีการสอนของผู้สอน
4. ความถนัดของผู้เรียน
5. ประสบการณ์ของผู้สอน
6. บุคลิกของผู้สอน
7. ความยากง่ายของวิชาหรือสาระการเรียนรู้
8. หนังสือและอุปกรณ์
จะเห็นได้ว่า ความสนใจ ความตั้งใจและอุปนิสัยของผู้เรียนนั้นมีผลอย่างมากต่อกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล
      เทคนิคการเรียนรู้ที่ดีนั้นต้องสอดคล้องกับลักษณะการสอนของผู้สอนด้วย ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญคือ ผู้เรียนต้องพยายามใช้ประสบการณ์ของตนเองให้มีค่ามากที่สุด ไม่ใช่อาศัยการฟังและจดบันทึกอย่างเดียว ครูผู้สอนมีเทคนิคหรือวิธีการสอนแบบใด ผู้เรียนก็ต้องมีเทคนิคการเรียนรู้ที่สอดคล้องกันควบคู่ไปด้วย บางครั้งผู้เรียนอาจจะใช้เทคนิคใดเทคนิคหนึ่งที่สอดคล้องกับเทคนิคการสอนของผู้สอน แต่บางครั้งอาจต้องใช้เทคนิคการเรียนรู้ที่ผสมผสานกันเพื่อให้เหมาะสมกับเทคนิคการสอนของผู้สอน การเรียนการสอนจึงจะสนุก ไม่เบื่อหน่ายและได้ผลเป็นอย่างดี
สำหรับตารางการเปรียบเทียบศิลปะหรือกลวิธีการเรียนต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างการนำเสนอ ผู้เรียนอาจจะค้นหาวิธีการอื่นๆมาประยุกต์ใช้ก็ได้ ที่สำคัญต้องเลือกกลวิธีที่ตัวเองถนัดและสอดคล้องกับวิธีการสอนของผู้สอน และสาระการเรียนรู้ด้วย

ตัวอย่างเปรียบเทียบเทคนิคการเรียนการสอน

เทคนิคการสอน
เทคนิคการเรียน
แบบบรรยาย
การจดโน้ต การอ่าน การเข้าชั้นเรียน
แบบอภิปราย
การอ่าน การฟัง การซักถาม
แบบฝึกหัด/ปฏิบัติ
การทดลอง การจำ การทบทวน
ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
การใช้ตำราเรียน การขีดเส้นใต้ การใช้ห้องสมุด การสัมภาษณ์ การทำโครงเรื่อง และรายงาน
แบบสัมมนา
การเขียน การอภิปราย การฟัง การพูดหรือซักถาม
แบบกลุ่มแก้ปัญหา กลุ่มย่อย
การอ่าน การจำ การพูด การฟัง
แบบศึกษาดูงาน
การเขียนรายงาน การจดบันทึก การจำ

จะเห็นได้ว่า เทคนิคการสอนอย่างหนึ่งอาจต้องใช้เทคนิคการเรียนรู้หลายๆอย่างมาผสมผสานกัน จึงจะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จได้

การสร้างประสิทธิภาพในการเรียน
      ไม่ว่าผู้สอนจะมีเทคนิคการสอนอย่างไร และผู้เรียนจะมีเทคนิคการเรียนแบบใด ผู้เรียนก็จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์การปฏิบัติตลอดชีวิตการเรียนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้านการเรียน การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ ตอนแรกๆอาจจะยาก เพราะไม่เคยชิน แต่เมื่อทำไปจนเคยตัวมันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ง่ายและสนุก ซึ่งมีกฎข้อบังคับง่ายๆ ดังนี้คือ
      1. แบ่งเวลาสำหรับการเรียนรู้ให้เป็นสัดส่วน เมื่อใดเป็นเวลาเรียน เมื่อใดเป็นเวลาท่องจำ และเมื่อใดเป็นเวลาทบทวน เป็นต้น เมื่อถึงเวลาเรียนก็เรียนอย่างตั้งใจ พยายามรักษาเวลาเรียนให้ดีที่สุด อย่าสนใจเรื่องอื่นขณะอยู่ในเวลาเรียน และจงปฏิบัติตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ให้ได้ทุกวัน (เน้น คือ เวลาเรียน ต้องตรงเวลา)
      2. หาสถานที่เรียนที่เหมาะสม เช่นห้องเรียน ห้องสมุด มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่ใช่สถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน สถานบันเทิง เป็นต้น (เน้น คือ สถานที่ ต้องเหมาะสม”)
      3. พยายามบังคับใจให้แน่วแน่ต่อการเรียน ไม่วอกแวกหรือเถลไถล จนกว่าจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี (เน้น งานเสร็จ”)
      4. จัดทำตารางกำหนดงานประจำวันและปฏิบัติตามงานที่ได้กำหนดไว้ในตารางให้เสร็จ อย่าเป็นคนที่พลัดวันประกันพรุ่งเป็นอันขาด และถ้าสามารถปฏิบัติมากกว่างานที่ได้กำหนดไว้ในตารางก็เป็นการดียิ่ง (เน้นงานประจำ”)
      5. การกำหนดงานในตารางแต่ละวันควรกำหนดให้เหมาะสมกับความสามารถ เวลา และความกระฉับกระเฉงผู้เรียนเป็นหลัก (เน้น ความเหมาะสม”)
      6. อย่าปล่อยจิตใจให้ว่างเปล่า อย่ามัวแต่วิตกกังวล และท้อแท้ จงเรียน...เรียน...เรียนเป็นประจำ (เน้น ชนะใจตนเอง”)
ดังนั้น การสร้างนิสัยการเรียนดี จึงจำเป็นต้องฝึกฝน อดทน และมีสติอยู่เสมอ และเมื่อมาผนวกกับเทคนิคการเรียนที่ดี ก็จะทำให้ผู้เรียนมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้ดีอย่างไม่มีขีดจำกัด อินชา อัลลอฮฺ

หมายเลขบันทึก: 15728เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2006 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ข้อ 7. อย่าเรียนเฉพาะในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ    เรียนทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัว  เรียนรู้เพื่อที่จะสร้างชุดความรู้อยู่บ้านตัวเองได้อย่างมีความสุข (ถึงแม้จะโก้ก็ตาม)
ธวัช หมัดเต๊ะ ศิษย์เก่ารุ่น 2

แก้ไข  (ถึงแม้จะไม่โก้ก็ตาม)  คำว่า "ไม่" ตกไปครับ

ตอนนี้ข้าพเจ้าท้อมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ไม่รู้ว่าจะทำยังงัยดี

เรียนภาษาอังกฤษมา 3 ยังไม่ผ่านเลย

เหนื่อยใจจริงๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

วิธีสอนแบบเดิม ๆ เด็กก็ไม่อยากเรียน ไม่รู้จะทำไงให้ดึงดูดใจเด็กมากกว่านี้ ช่วยแนะนำก้วยนะคะ

ฉันรู้สึกว่าช่วงนี้ฉันไม่ค่อยรู้เรื่อง

สักเท่าไร อยากเป็นคนเรียนเก่งๆจัง

จะได้เรียนเข้าใจทุกๆอย่าง

by jup

ผมเป้นคนกำลังเริ่มต้นกับความมุ่งมั่นตั้งใจครั้งใหม่..

...พวกพี่ๆมีข้อปฏิบัติในการใช่ชีวิตประจำวันอย่างไรบ้างคับในแต่ล่ะวัน(วันหยุด)

ช่วยตอบในfacebookด้วยนะคับ....ผมรอคำตอบอยู่คับ.........

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท