ในสมัยพุทธกาล พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา ได้จำพรรษาที่วัดเชตวันฯ กรุงสาวัตถี เมื่อถึงเวลาออกพรรษา ท่านกราบทูลลาพระพุทธองค์ เพื่อจาริกไปที่อื่น มีภิกษุตามมาส่งท่านมากมาย ทำให้ท่านทักทายไม่ทั่วถึง
พระภิกษุรูปหนึ่ง น้อยใจและโกรธพระสารีบุตรที่ไม่ได้ทักทายตน บังเอิญชายมุมผ้าสังฆาฏิของพระสารีบุตรไปถูกพระรูปนั้นเข้า เพราะภิกษุจำนวนมากเบียดเสียดกันมาส่งพระสารีบุตร ภิกษุนั้นจึงนำไปฟ้องพระพุทธองค์เกินความจริง
พระพุทธองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสารีบุตรเข้าเฝ้า
พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องอยู่แล้ว แต่ทรงปรารถนาให้พระสารีบุตรประกาศท่ามกลางสงฆ์ ให้เห็นว่า ท่านมีลักษณะถ่อมตนเพียงไร
พระสารีบุตรยกอุปมาตัวท่านว่า เป็นผู้ไม่ถือตัวอย่างไร เช่น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ หากกระทบกระทั่งภิกษุใดก็โดยมิได้เจตนา ...
ข้าพระองค์เปรียบเหมือน "ดิน"
ใครจะเทของสะอาดหรือไม่สะอาดลงดินก็ตาม ดินก็ไม่เคยยินดียินร้ายอะไรเลย
เหมือนท่านที่ใครจะกราบไหว้บูชา หรือ ด่าว่าท่านอย่างไร ท่านก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ตื่นเต้น ไม่ฟูขึ้น หรือ แฟบลง
ข้าพระองค์เปรียบเหมือน "โคเขาขาด"
ปกติโคมีเขา จะต่อสู้ป้องกันตัวด้วยเขาของมัน แต่ถ้าโคเขาขาดแล้ว จะถูกยั่วแหย่อย่างไร ก็ไม่สู้ใครเลย
เหมือนท่านที่ใครจะด่าว่า หรือ ทำร้ายท่านอย่างไรก็ไม่โกรธ ไม่ว่า
ข้าพระองค์เปรียบเหมือน "ผ้าเช็ดเท้า"
เมื่อใครมาถึงก็ขึ้นเหยียบ แล้วเช็ดเหมือนท่านที่ใครจะด่าว่า เหยียบย่ำอย่างไร ก็ไม่โกรธ
ข้าพระองค์เปรียบเทียบเหมือน "เด็กจัณฑาล"
คนจัณฑาลเป็นชนชั้นต่ำที่สุดในอินเดียที่ชนชั้นอื่นรังเกียจและดูถูก เมื่อหลงเข้าไปในหมู่บ้านอื่นจะถูกทุบตี ขว้างปา ด่าว่า ก็ยอมรับสภาพของคนจัณฑาล
ฝ่ายภิกษุที่มาฟ้องพระพุทธองค์นั้น นั่งฟังพระสารีบุตรอุปมาชีวิตท่านแล้ว เกิดร้อนใจที่ใส่ร้ายพระสารีบุตรด้วยคำเท็จจึงก้มกราบขอโทษพระสารีบุตร
พระพุทธองค์ทราบสรรเสริญพระสารีบุตรว่า มั่นคงเหมือนแผ่นดิน เหมือนเสาหิน ไม่แสดงอาการยินดียินร้าย เป็นผู้คงที่และมีวัตรดี ใสเหมือนน้ำที่ไม่มีโคลนตม บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
เรื่องนี้สอนว่า ...
ความอ่อนน้อมถ่อมตนมีประโยชน์มากมาย
ทำให้อยู่เป็นสุข ไม่มีศัตรู
ได้กัลยาณมิตร ได้ยศ เป็นผู้น่านับถือ
น่าเคารพกราบไหว้
ทำให้ได้ที่พึ่งทั้งชาตินี้และชาติหน้า
เหมือนพระสารีบุตรอรหันตสาวก
แบบอย่างของบุคคล
ผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
ที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องสรรเสริญแล้ว
ความถ่อมตน ไม่แข็งกระด้าง
จึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง
ขอบคุณข้อเขียนดี ๆ จาก หนังสือ ชื่อ นิทานโชคดี "ฝึกตนดี" เล่ม ๓ โดย สายฝน ศิลปพรหม
ผมนึกถึงเรื่องนี้ได้จากการตรวจเมล์ของผมจากเมล์ของคุณ Conductor และอาจารย์แป๋ว ในวันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงและไม่รอบคอบของผู้ที่ตอบความคิดเห็นและผู้ที่โจมตี
คุณ Conductor และ อาจารย์แป๋ว แสดงถึงความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ความอดทนอดกลั้นในการตอบปัญหาข้อสงสัยอย่างใจเย็น และผ่านปัญหานี้ได้อย่างดีที่สุด :)
ผมจึงอยากใช้เรื่องนี้เป็นอุทธาหรณ์เตือนสติท่านผู้แสดงความคิดเห็นในเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะใน Gotoknow หรือชีวิตประจำวันของท่านว่า ต้องอ่านให้รอบคอบ ใช้ "ความอ่อนน้อมถ่อมตน" ของท่านในการตอบปัญหาเรื่องราวต่าง ๆ ... แล้วท่านจะพบว่า "สงคราม" จะไม่เกิดอย่างแน่นอน
บันทึกนี้คงเป็นบันทึกสุดท้ายในปี 2550 นี้ ...
อีกชั่วโมงกว่า ก็เป็นปี 2551 แล้ว
หวังว่า "ความอ่อนน้อมถ่อมตน" คงเป็นพรอันประเสริฐที่ผมจะมอบให้ท่านและกัลยาณมิตรทั้งหลายของผมนะครับ
บุญรักษา ... ทุกท่าน และสวัสดีปีใหม่นะครับ