จาก Patho OTOP สู่ R2R ที่ มอ.


จาก Patho OTOP สู่ R2R ที่ มอ.

            วันที่ ๑๑ กพ. ๔๙ เป็นวันที่ผมมีความสุขมาก     เพราะได้ไปเห็นความสำเร็จหลากหลายมิติของ KM ที่ภาควิชาพยาธิวิทยาใช้ดำเนินการโครงการ Patho OTOP     โครงการนี้ได้เคยนำเสนอในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒     และ รศ. พญ. ปารมี กับ คุณชวดี (พี่เม่ย) ได้นำมาเล่าใน บล็อก Gotoknow อยู่แล้ว
            ความสำเร็จที่ผมเห็นมีหลายมิติ     มิติหนึ่งคือกิจกรรมบางโครงการใน Patho OTOP เป็นการเอาข้อมูลจากงานประจำมาทำงานวิจัยเพื่อพัฒนางานประจำนั้นเอง     และเมื่อเกิดผลสำเร็จก็ได้ทั้งผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่เป็นผลงานทางวิชาการ และได้ผลสำเร็จสู่การพัฒนางานประจำนั้นเอง     เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่ได้ผลถึง ๔ ต่อ     คือผลต่อการพัฒนาคนเป็นประการที่ ๓    และผลต่อการสร้างบรรยากาศที่ทำงานให้เป็น “ที่ทำงานน่าอยู่” ให้ความสุข ความภาคภูมิใจ เต็มไปด้วยความสามัคคี ความเคารพซึ่งกันและกัน   
           ศ. นพ. วิญญู มิตรานันท์ อดีตหัวหน้าภาควิชา มาบอกผมว่ากิจกรรม Patho OTOP ทำให้ได้ paper ผลงานวิจัยถึง 2 paper    คือเรื่องเพิ่มคุณภาพเกร็ดเลือดที่ให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ปริมาณเกร็ดเลือดที่เอาไปให้บริการผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง ๔๐%    กับเรื่องวิธีนับ reticulocyte วิธีใหม่ที่นับได้เร็วมาก
           ผมไปฟังการประชุมกลุ่ม ๑    คุณสมแข พวงเพชร  หน่วยพันธุศาสตร์เล่าเรื่องการศึกษาข้อมูลย้อนหลังของลักษณะน้ำคร่ำ สำหรับตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์    ใช้วิธีวิเคราะห์ทางระบาดวิทยา    ได้ผลที่น่าเชื่อถือ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของน้ำคร่ำที่เจาะ ไม่ให้มีเลือดปน    ผมมองว่าน่าจะเป็นผลงานประเภท R2R อีกผลงานหนึ่ง
          ขอชักชวนให้ อ. หมอปารมีนำเรื่องนี้มาเล่าใน บล็อก อย่างย่อๆ     แบบเล่าให้คนทั่วไปฟัง    พอให้เห็นพลังของ Patho OTOP สู่ R2R

วิจารณ์ พานิช
๑๑ กพ. ๔๙
บนรถตู้ไปสนามบินหาดใหญ่  

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15666เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2006 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอคุณอาจารย์ที่แนะนำค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท