สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๔๓. ชายคาภาษาไทย (๒๒)_(๑)


มาณฑวยมุนี
พระเกษมราชสุภาวดีศรีมณธาดูลราช /
ขุนหลวงพระไกรศรีราชสุภาวดีศรีมณธาดูลราช

         ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งเป็นทำเนียบกำหนดสถานภาพทางการเมืองและสังคมของคนไทยสมัยโบราณ ในประมวลกฎหมายตราสามดวงมีรายนามของเจ้ากรมฝ่ายยุติธรรมอยู่สองท่าน คือ พระเกษมราชสุภาวดีศรีมณธาดูลราช เจ้ากรมแพ่งเกษม และขุนหลวงพระไกรศรีราชสุภาวดีศรีมณธาดูลราช เจ้ากรมแพ่งกลาง ทั้งสองท่านมีศักดินา 3000 สังกัดกรมวัง เจ้ากรมแพ่งเกษม มีหน้าที่หลักในการดูแลความถูกต้องของตัวบทกฎพระไอยการและวินิจฉัยตีความกฎหมาย อย่างเช่น ในกรณีนายบุญศรีร้องเรียนเรื่องอำแดงป้อมผู้ภรรยาไปมีชู้แล้วกลับเป็นฝ่ายขอหย่า จนทำให้เกิดการชำระกฎหมายกันครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านหลังผู้เป็นเจ้ากรมแพ่งกลางทำหน้าที่กำหนดบทปรับหรือบทลงโทษ

         โดยปกติแล้ว ข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์สูงในสมัยก่อนมีราชทินนาม หรือ นามอันพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ราชทินนามบอกหน้าที่รับผิดชอบของข้าราชการท่านนั้น การตั้งราชทินนามนั้นอาจเป็นการบอกหน้าที่โดยตรงก็ได้ เช่น นายรีบเร็วรวด และ นายท้าวทุกแดน (แปลว่า นายถึงทุกแดน) ในกรมมหาดไท ซึ่งฟังดูชื่อก็รู้ทันทีว่า เป็นม้าเร็ว หรือ พระทุกขราษฎร์ ก็บอกว่า รับร้องทุกข์ราษฎรผู้รู้สึกว่า ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินคดี ราชทินนามของข้าราชการผู้ใหญ่มักบอกหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ เช่น สร้อยราชทินนามของเจ้ากรมแพ่งทั้งสองที่มีว่า “ราชสุภาวดี ศรีมณธาดูลราช” สร้อยแรก “ราชสุภาวดี” (1)  นั้นเข้าใจความหมายไม่ยาก แปลเพียงว่า “ผู้เป็นใหญ่ (ราช) แห่งสุภาตระลาการทั้งหลาย” แต่สร้อยที่ตามมา คือ “ศรีมณธาดูลราช” นั้นดูจะเป็นเรื่องต้องวินิจฉัยในทางนิรุกติประวัติ

         เมื่อราชทินนามนี้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชำระกฎหมายตราสามดวง ราชบัณฑิตยสถาน นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภารตศึกษาทั้งสองท่าน คือ ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล และ ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ก็นึกถึงเรื่องของพระราชา “มันธาตา” (หรือ มันธาตฤ) แห่งราชวงศ์อิกษวากุ ในคัมภีร์ปุราณะ พระราชาพระองค์นี้มีชื่อเสียงเพราะประสูติจากการที่พระราชบิดาไม่มีพระราชโอรสจึงได้ขอให้ฤๅษีตั้งพิธี อินทรไทวตะ เมื่อประสูติแล้วจึงได้ดื่มนมที่พระอินทร์ประทานโดยดื่มจากนิ้วหัวแม่เท้าของตนเอง เรื่องสำคัญของพระราชาพระองค์นี้คือ ตอนที่พระกฤษณะแปลงกายเป็นพระอินทร์ลงมาสนทนาเรื่องราชธรรมกับพระองค์ เรื่องราวของมันธาตฤยังอยุ่ในตำนานพุทธเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมหรือกฎหมายเลย พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ได้ตรวจดูในนารทสมฤติ หรือ คัมภีร์ฤๅษีนารอทว่าด้วยกระบวนการพิจารณาความ ได้พบนามของฤๅษีสำคัญ คือ มาณฑวย ผู้ถูกเอ่ยอ้างถึงว่า ไม่เอาโกรธเอาโทษแก่ผู้ที่กล่าวหาท่านว่า เป็นผู้ร้าย ดูจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง สำหรับชื่อท่าน มาณฑวย ก็สามารถเพี้ยนไปเป็น มณธาดุลราช ได้ กล่าวคือ มาณฺฑวฺย พัฒนาเป็น มณฺฑวฺย  > มณฑวย (รูปเขียนแบบไทย) > มณธว > มณธา ส่วน ดุลราช นั้นมาจาก ตุลราช (ราชาแห่งความเที่ยงธรรม) ผู้เขียนรับเรื่องจากพลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ ไปค้นคว้าต่อ และได้ทราบเนื้อความว่า ข้อเสนอของท่านน่ายอมรับทีเดียว

         เรื่องนี้เป็นตำนานที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์มหาภารตยุทธ์ เมื่อตอนที่ไวยสัมปยนะได้เล่าให้ชนเมชยะหลานของอรชุนฟังถึงความเป็นมาของเจ้าชายวิทุระ (วิทูร) ว่า เจ้าชายแห่งวงศ์กุรุที่มีชื่อเสียงอุโฆษท่านนี้แท้จริงแล้วคือ ธรรมราช กลับชาติมาเกิด ธรรมราช ในศาสนาพราหมณ์เป็นชื่อเรียกหนึ่งของ ยมราช เพราะ ยมราช เป็นเทพผู้รักษา “ธรรม” หรือ กฎหมาย หรือ ความยุติธรรม

         เรื่องในคัมภีร์ มหาภารตยุทธ มีอยู่ว่า พระเจ้าศานตนุ แห่งวงศ์กุรุ ครองเมืองหัสตินปุระที่ใกล้ฝั่งน้ำคงคา ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ไปประพาสและพบหญิงงามผู้หนึ่ง ซื่งเปิดเผยว่า นางคือ เทวีแห่งแม่น้ำคงคา และนางรู้ตัวว่า ชะตาชีวิตทำให้นางได้อภิเสกสมรสกับพระองค์ พระเจ้าศานตนุมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ในการอภิเสกสมรสนั้น นางขอให้พระราชสวามีไม่ตั้งคำถามที่แสดงความกังขาในพระนางเลย ทุกๆ ปี ตลอด 7 ปีที่ทรงเป็นพระมเหสีของพระเจ้าศานตนุ พระนางมีพระราชโอรสปีละหนึ่งพระองค์ แต่พระนางคงคากลับโยนพระราชโอรสทิ้งลงยังแม่น้ำคงคา เมื่อมาถึงปีที่ 8 พระนางมีพระราชโอรสอีก คราวนี้พระเจ้าศานตนุผิดสัญญากลับถามนางว่า ทำไมจึงโยนพระราชโอรสลงยังแม่น้ำ พระนางจึงตรัสว่า พระเจ้าศานตุผิดสัญญาที่จะไม่ถามอะไรเลย แต่ก่อนพระนางจะจากไป ได้ทรงเล่าให้ฟังว่า พระนางได้ทรงพบพระเจ้าศานตนุมาก่อนในราชสำนักของเทวราชหรือพระอินทร์ พระนางเกิดเสน่หาและปรารถนาจะอภิเสกกับพระองค์ แต่บรรดาเทพทั้งหลายไม่เห็นด้วย พระนางจึงถูกส่งลงมายังโลกมนุษย์เพื่อให้ได้อภิเสกกับพระเจ้าศานตนุสมความตั้งใจ


 พระนางเล่าว่า พระราชโอรสที่ประสูติแก่พระเจ้าศานตนุนั้น แท้จริงแล้วคือ วสุเทพ ทั้งแปด ซึ่งถูกกำหนดให้มาเกิดบนพื้นโลก เพราะฉะนั้น เมื่อประสูติแล้ว นางจึงโยนพระราชโอรสทั้งเจ็ดลงพระแม่คงคา เพื่อให้กลับคืนสู่โลกสวรรค์ ส่วนองค์สุดท้ายนี้ พระนางตั้งพระนามให้ว่า เทววรัตตะ แต่นางจะพาพระราชโอรสไปยังสวรรค์เพื่อฝึกหัดอบรมให้เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมืองต่อไป แล้วพระนางก็จากไป

         พระเจ้าศานตนุได้ไปที่ฝั่งน้ำคงคาทุกปีเพื่อรอคอยการกลับมาของพระราชโอรส จนถึงปีที่ 16 พระองค์ก็ได้พบชายหนุ่มผู้หนึ่ง ซึ่งแผลงศรได้อย่างแม่นยำขนาดกำหนดทิศทางแม่น้ำคงคาได้ ทันใดนั้น ได้ทรงพบพระนางคงคายืนอยู่ข้างพระราชโอรส พระนางได้กล่าวว่า พระนางมาส่งมอบพระราชโอรสผู้ชำนาญในศรศาสตร์เสมอด้วยปรสุราม และมีความเชี่ยวชาญในพระคัมภีร์ไตรเพท

         เทววรัตตะทรงเป็นอุปราชของเมืองหัสตินปุระ แต่พระเจ้าศานตนุไปหลงรักและอภิเสกกับพระนางสัตยาวตี พระราชบิดา

ของพระนางสัตยาวตีได้ขอให้พระเจ้าศานตนุประกาศให้พระโอรสที่ประสูติด้วยพระนางสัตยาวตีเป็นรัชทายาท คำร้องขอนี้สร้างความลำบากพระทัยแก่พระเจ้าศานตนุมากและเทววรัตตะก็ทรงรู้สึกได้ พระองค์ได้เสด็จไปหาพระราชบิดาของพระนางสัตยาวตี และสัญญาว่า จะไม่รับราชสมบัติเพื่อแสดงความเคารพรักพระราชบิดา ไม่เพียงแต่เท่านั้น พระองค์ยังตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ทรงอภิเสกกับหญิงใดเพื่อให้พระราชบิดาของพระนางสัตยาวตีพอใจ นอกจากนั้นยังเปลี่ยนพระนามไปเป็น ภีสมะ (แปลว่า ผู้ไม่ตระบัดสาบาน) ฝ่ายพระนางสัตยาวตีมีพระราชโอรสสองพระองค์ องค์โตคือ จิตคันทะ และองค์เล็กคือ วิจิตรวีระ ต่อมาวิจิตรวีระได้ทรงเติบโตขึ้นสมควรแก่การอภิเสกสมรส ภีสมะได้ไปร่วมในพระราชพิธีสยุมพรคือ การเลือกคู่ของพระธิดาแห่งกษัตริย์แห่งแคว้นกาสี บรรดากษัตริย์ทั้งหลายที่เสด็จมาร่วมการสยุมพรไม่มีใครขัดข้องที่ภีสมะได้มาให้พระธิดาทั้งสามของกษัตริย์แห่งกาสีได้เสี่ยงทายเลือกคู่ แต่ครั้นได้ทราบว่า ภีสมะเสด็จมาเป็นตัวแทนให้พระอนุชาต่างมารดา ต่างก็พากันประท้วง ภีสมะจึงได้ท้าทายให้เปลี่ยนจากการที่พระธิดาจะเลือกคู่มาเป็นการประลองยุทธ์ ในการประลองยุทธ์ภีสมะสามารถเอาชนะบรรดากษัตริย์ที่มาร่วมการสยุมพรได้ทั้งหมดรวมทั้งพระราชาแห่งแคว้นศัลวะ ซึ่งนางอัมพาได้เสี่ยงทายพวงมาลัยให้เรียบร้อยไปแล้ว ดังนั้นตามกติกา ภีสมะจึงได้เป็นเจ้าของพระธิดาทั้งสามพระองค์   ภีสมะทรงนำนางทั้งสามกลับมายังเมืองหัสตินปุระ

        ครั้นกลับมาถึงเมืองของพระองค์แล้ว ภีสมะก็ประกาศท่ามกลางความแปลกใจของผู้คนทั้งหลายในราชสำนักให้วิจิตรวีระทรงอภิเสกสมรสกับพระธิดาแห่งแคว้นกาสีที่พระองค์ได้เป็นรางวัลกลับมา ในเวลานั้นเอง นางอัมพาได้ทรงพระกรรแสง ภีสมะทรงถามถึงสาเหตุ นางได้ทูลว่า นางนั้นได้เสี่ยงพวงมาลัยให้แก่พระราชาแห่งศัลวะไปแล้ว ภีสมะไม่ทรงทราบเรื่องนี้มาก่อนจึงถือว่า พระองค์กระทำผิดประเพณีที่ไปพรากนางอัมพาจากบุคคลที่นางได้เสี่ยงพวงมาลัยให้ ดังนั้น ภีสมะจึงทรงแสดงความรับผิดชอบโดยจัดเครื่องราชบรรณาการสิ่งของอันสมควรส่งนางไปคืนยังพระราชาแห่งศัลวะ แต่พระราชาแห่งศัลวะไม่ยอมรับนางโดยอ้างว่า พระองค์เป็นฝ่ายแพ้ขัดขวางภีสมะมิได้ ภีสมะได้นางไปจากการประลองยุทธ์และนางได้ไปสู่เรือนของเมืองหัสตินปุระแล้ว พระราชาแห่งศัลวะทรงเห็นเป็นการผิดประเพณีจากแง่มุมของพระองค์

         นางอัมพาจึงถูกส่งตัวคืนมายังหัสตินปุระอีกครั้งหนึ่ง ภีสมะขอร้องให้วิจิตรวีระอภิเสกกับนางอัมพาเพื่อแก้ปัญหา แต่วิจิตรวีระทูลว่า แม้ไม่เคยไม่เชื่อฟังคำร้องขอของภีสมะเลย แต่คราวนี้จำต้องปฏิเสธ เพราะไม่ทรงทำพระทัยได้ที่จะรับนางอัมพาเป็นพระชายา เนื่องจากทราบว่า นางได้มีชายอื่นครองพระทัยนางอยู่แล้ว นางอัมพาอยู่ในฐานะลำบากที่ทรงอภิเสกกับวิจิตรวีระก็ไม่ได้ อภิเสกกับพระราชาแห่งศัลวะก็ไม่ได้ กลายเป็นขัตติยนารีที่เสียเกียรติยศ นางจึงขอให้ภีสมะอภิเสกสมรสกับนางเสียเอง ภีสมะมีข้ออ้างว่า ได้สัญญาไว้เป็นมั่นคงแล้วที่จะครองชีวิตโสดตลอดไป นางเศร้าพระทัยที่ถูกทอดทิ้งให้เป็นสตรีหม้ายตั้งแต่ยังไม่อภิเสก ทั้งที่หาใช่ความผิดของนางไม่ หลังจากเดินทางไปมาระหว่างหัสตินปุระและแคว้ากาสี และรอหาผู้รับนางเป็นคู่อยู่หกปี แต่ก็ไม่สำเร็จ นางถือว่า ภีสมะต้องรับผิดชอบในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด นางจึงคิดแก้แค้นที่ภีสมะทำให้นางได้รับความอับอาย

         ด้วยความตั้งใจมั่นที่จะแก้แค้น นางอัมพาได้หันเข้าหาการบำเพ็ญตบะและสวดอ่อนวอนขอพรจากพระศิวะ ณ ป่าหิมวันต์ โดยยืนขาเดียวอยู่บนปลายหัวแม่เท้า พระศิวะทรงพระราชทานสร้อยศอเป็นรูปดอกบัวและบอกแก่นางว่า ใครก็ตามที่สรวมสร้อยศอนี้แล้วจะรบชนะภีสมะได้ นางจึงนำสร้อยศอนั้นไปขอให้บรรดากษัตริย์ทั้งหลายสวมสู้กับภีสมะ แต่ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดรับอาสา นางจึงไปขอร้องพระราชาแห่งเมืองธรุบทพระราชาแห่งธรุบทก็ไม่รับที่จะอาสา นางจึงจากเมืองนั้นมาและเอาสร้อยศอนั้นห้อยไว้ ณ เสานอกกำแพงเมือง เพื่อรอว่า จะมีผู้กล้าหาญมาช่วยนาง แต่ไม่มีผู้ใดกล้าแม้แต่จะแตะต้องสร้อยศอรูปปทุมทองนั้น

        ด้วยพระทัยที่แตกสลาย นางอัมพาได้ไปหาปรสุรามฤาษี ผู้ได้ชื่อว่า เอาชนะกษัตริย์ทั้งหลายมาแล้วถึง 21 ชั่วคน นางได้ขอให้ปรสุรามฤาษีช่วยให้นางได้อภิเสกกับภีสมะ ปรสุรามฤาษีก็ช่วย ปรสุรามฤาษีท้ารบกับภีสมะแต่ไม่สามารถเอาชนะได้ จึงรามือไป เหตุที่เป็นดังนี้เพราะภีสมะเป็นโอรสของเทวีแห่งคงคาจึงเป็นอมตะ จะตายเมื่อใดก็ขึ้นกับการกำหนดวันตายของตนเองเท่านั้น

         นางอัมพาได้กลับไปบำเพ็ญเพียรใหม่ พระศิวะจึงมาปรากฏพระองค์และบอกนางว่า ภีสมะจะต้องตายเพราะนางเป็นเหตุในภพหน้า นางอัมพาจึงกระโดดปลิดชีวิตตนเองโดยการกระโจนเข้ากองไฟ ก่อนที่จะตายนางได้โยนสร้อยศอที่พระศิวะพระราชทานไปค้างยังเสาหน้าปราการเมืองของพระเจ้าธรุบท เมื่อนางตายแล้วจึงได้ไปเกิดเป็นพระธิดาของพระเจ้าธรุบท เหตุที่จะได้ไปเกิดใหม่เป็นพระธิดาของพระเจ้าธรุบทก็เนื่องมาจาก แต่เดิมพระเจ้าธรุบทไม่มีพระราชโอรส จึงทำพิธีสวดมนตร์ขอพรจากพระภควันศิวะ พระศิวะกลับพระราชทานพระราชธิดาให้ พระเจ้าธรุบทได้กราบทูลว่า พระองค์ต้องการพระโอรส แต่พระศิวะยืนยันว่า พระธิดานั้นต่อไปภายหน้าจะกลายเป็นชาย พระเจ้าธรุบททรงทราบว่า นางอัมพาได้โยนสร้อยศอไว้ ณ เสากำแพงเมืองของพระองค์ แต่ก็ทรงไม่หวั่นอะไรเพราะพระภควันศิวะได้สัญญาว่า ท้ายที่สุดแล้วพระองค์จะได้พระราชโอรส เมื่อนางอัมพาไปเกิดใหม่นั้นได้เกิดเป็นหญิง แต่พระเจ้าธรุบทให้ประกาศว่า ทรงได้พระราชโอรสและทรงให้พระอัครมเหสีปกปิดในเรื่องนี้ แม้แต่พระนามพระธิดาก็พระราชทานตั้งให้เป็นพระนามชายคือ ศิขัณฑี การเลี้ยงดูพระธิดาก็ให้เป็นแบบพระราชกุมาร เมื่อถึงวัยอันควรอภิเสก พระเจ้าธรุบทได้จัดให้ศิขัณฑินได้แต่งงานกับพระธิดาของพระเจ้าหิรัณยวรมัน เจ้าแคว้นทสรรณาส    แต่พระธิดาพบว่า พระสวามีกลับเป็นหญิงเช่นเดียวกัน นางจึงได้ฟ้องไปยังพระราชบิดา พระเจ้าหิรัณยวรมันทรงกริ้วถึงกลับเตรียมทัพจะยกไปตีเมืองพระเจ้าธรุบท

         ฝ่ายศิขัณฑีนั้นทรงกลุ้มพระทัยมากที่เป็นเหตุจะให้เกิดสงคราม นางได้คิดฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา นางได้เดินทางเข้าป่าและมีความโศกเศร้าอย่างหนัก ในคราวนั้นได้มียักษ์ตนหนึ่งเห็นนางโศกเศร้านักจึงไต่ถามที่มาของความทุกข์ ยักษ์ตนนั้นมีความเห็นอกเห็นใจนางยิ่งนัก จึงตกลงสลับเพศกับนางโดยมอบลิงคเพศให้ ด้วยเหตุนี้ ศิขัณฑีจึงได้เปลี่ยนเพศเป็นชายตามที่พระภควันศิวะได้ทรงให้คำสัญญาไว้แก่พระเจ้าธรุบท และเมื่อถึงการพิสูจน์ว่า เป็นหญิงหรือชาย ศิขัณฑีจึงเป็นผ่านการพิสูจน์ได้ ในภายหลังเมื่อราชวงศ์กุรุแตกเป็นฝ่ายอธรรมกับฝ่ายธรรม ภีสมะไปอยู่ฝ่ายเการพ ในขณะที่ศิขัณฑีไปเป็นแม่ทัพคนหนึ่งให้แก่ฝ่ายปาณฑพ เมื่อรบกันที่ทุ่งกุรุเกษตร ภีสมะทราบว่า ศิขัณฑีมีกำเนิดเป็นหญิง เพราะฉะนั้นจึงไม่ฆ่าศิขัณฑีเพราะจะเป็นบาป ทำให้ตนเองตกเป็นเหยื่อของคลื่นเกาทัณฑ์ที่ฝ่ายปาณฑพยิงเข้ามาจนธนูนับร้อยปักค้ำร่างอยู่ เนื่องจากภีสมะเป็นอมตะสามารถเลือกวันตายตนเองได้ เขาจึงรอถึงการรบวันสุดท้ายเมื่อฝ่ายปาณฑพชนะเรียบร้อยแล้วจึงได้เลือกเวลาตายเอง เป็นอันว่านางอัมพาในร่างของศิขัณฑีแก้แค้นภีสมะได้สำเร็จ.

         ขอย้อนกลับไปยังต้นเรื่องอีกครั้งหนึ่งยังเมืองหัสตินปุระ เมื่อได้อภิเสกกับนางทั้งสองที่ภีสมะได้มาจากการประลองยุทธ์ชนะกษัตริย์ทั้งหลายที่เมืองกาสี (พาราณสี) แล้วไม่นาน วิจิตรวีระก็ทรงพระประชวรสิ้นพระชนม์ ทั้งที่ยังมิได้มีพระราชโอรส ทำให้พระนางสัตยาวตีพระอัครมเหสีของพระเจ้าศานตนุห่วงใยมากว่า ราชวงศ์กุรุอาจขาดผู้สืบต่อ พระนางจึงขอให้ภีสมะรับพระชายาเดิมทั้งสองพระองค์ของวิจิตรวีระไว้เป็นพระภริยา กระนั้นก็ตาม ภีสมะก็ยังยืนยันว่า ปรารถนาจะครองความเป็นโสดตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ เนื่องจากพระนางยังมีพระโอรสเหลืออีกพระองค์หนึ่ง ผู้ซึ่งประสูติด้วยฤๅษีตนหนึ่งซึ่งพระนางลักลอบได้เสียด้วย พระโอรสพระองค์นี้มีนามว่าเวทวยาสะ ครองเพศพราหมณ์ พระนางจึงของให้ทำหน้าที่สร้างผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล เวทวยาสะก็ทรงให้ความร่วมมือในครั้งแรก พระนางสัตยาวตี ได้จัดหาให้นางอัมพิกามาร่วมประเวณีด้วยกับเวทวยาสะ นางอัมพิกาเกิดตกใจเมื่อได้เห็นหนวดเคราอันรุงรังและกิริยาอันงุ่มง่ามแบบฤๅษีของเวทวยาสะ นางจึงปิดตาไม่ยอมมองอะไรเลย เวทวยาสะจึงทำนายว่า พระราชโอรสที่จะประสูติมาจะแข็งแรงประดุจช้างสารถึง 1000 เชือกรวมกัน แต่จะมีพระเนตรบอด พระนางสัตยาวตีทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเจ้าชายธฤถรัสตร์ จะไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้

         พระนางสัตยาวตีได้พยายามครั้งที่สอง พระนางจัดให้นางอัมพลิกาได้สังวาสกับเวทวยาสะ เมื่อนางพบเวทวยาสะก็รู้สึกกลัวเช่นเดียวกับนางอัมพิกา แต่นางกลัวจนตัวนั้นซีดขาวไป ทำให้พระโอรสองค์ที่สองของเวทวยาสะ ซึ่งทรงพระนามว่า ปาณฑุ นั้น ประสูติมาแข็งแรงและเฉลียวฉลาดดี แต่มีผิวพรรณด่างขาวเป็นหย่อมๆ ทั้งพระวรกาย

         พระนางสัตยวตีทรงโทมนัส และพยายามเป็นครั้งที่สามที่จะให้ได้ผู้สืบวงศ์ที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ดังนั้นจึงทรงกลับไปขอร้องนางอัมพิกาอีกครั้งหนึ่ง นางอัมพิกานั้นเหลือร้าย รับคำแต่ไม่รับทำ กลับส่งนางคนรับใช้มาแทนตน พระโอรสที่ประสูติมาจากนางคนรับใช้นี้ คือ วิทูร (วิทุระ) มีความเหมาะสมทุกประการ กล่าวคือ รูปงามและปราดเปรื่อง เป็นผู้แต่งคัมภีร์สำคัญ และทรงชำนาญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องกฎหมายและจารีตประเพณี แต่ทรงหมดคุณสมบัติที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์เพราะอยู่ในวรรณะศูทร กล่าวคือ พระราชมารดามีชาติกำเนิดเป็นหญิงรับใช้ และนางคนรับใช้นี้ยังเป็นชายาลับของเจ้าชายวิจิตรวีระ ซึ่งเป็นพระเชษฐาของเวทวยาสะด้วย ในขณะที่พระราชบิดาก็ไม่ได้เป็นวรรณะกษัตริย์ เพราะผู้ให้กำเนิดเป็นฤๅษีเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เจ้าชายวิทูร จึงถือว่า เป็นผู้รับบาปหนัก ไวยสัมปยนะได้เล่าให้ชนเมชยะฟังถึงความเป็นมาว่า

         ครั้งหนึ่ง เมื่อพระฤๅษีผู้มีชื่อเสียงนามว่า มาณฑวยมุนี ทรงบำเพ็ญตบะอยู่ ได้มีทหารกลุ่มหนึ่งของพระราชาเมืองนั้นได้ติดตามคนร้ายที่หลบหนีเข้ามายังที่พำนักของท่าน ทหารติดตามคนร้ายมาเพราะว่า คนร้ายได้ขโมยอัญมณีหลวงมา พวกทหารได้สอบถาม มาณฑวยมุนี หลายประการว่า เห็นคนร้ายหรือไม่ พบสิ่งของที่คนร้ายขโมยมาหรือไม่ มาณฑวยมุนีก็มิได้ตอบแต่ประการใด เพราะอยู่ระหว่างการเข้าฌาณ พวกทหารได้พบอัญมณีหลวงตกอยู่ในที่พำนักนั้น จึงนำตัวมาณฑวยมุนีมายังพระราชวัง กราบทูลแก่พระราชา พระราชาพิจารณาตามหลักฐานแวดล้อมแล้ว ก็ทรงตัดสินไปเลยว่า มาณฑวยมุนีเป็นโทษ รับสั่งให้ลงโทษประหารโดยการเสียบประจาน พวกทหารนำมาณฑวยมุนีไปเสียบไม้หลาว โดยเสียบผ่านรูทวาร เพื่อให้ตายอย่างช้าๆ ผู้คนได้ข่าวและรู้จักมาณฑวยมุนีว่าเป็นใคร จึงรีบไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชารีบเสด็จมา ในขณะเดียวกัน มาณฑวยมุนีออกจากฌาณ จึงพบว่า ตนนั้นถูกเสียบอยู่โดยไม่รู้ตัว การที่มาณฑวยมุนีไม่ตายเพราะบรรลุญาณชั้นสูง พระราชารีบมาขอโทษว่า ทำไปโดยไม่ทราบว่า ท่านเป็นใคร พระราชาได้ทรงพยายามดึงไม้เสียบนั้นออกจากพระฤๅษีด้วยพระองค์เอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องตัดไม้ส่วนที่พ้นจากรูทวารออกมาทิ้งเสีย มาณฑวยมุนีมิได้ถือโทษแก่พระราชาแต่อย่างใด

         มาณฑวยมุนี ได้สมัญญาว่า อานิมาณฑวยมุนี เพราะว่า มีไม้หลาวเสียบค้างอยู่ในกาย ท่านไม่สามารถนั่งบำเพ็ญตบะดังก่อน จึงต้องเดินเป็นวงรอบเพื่อบำเพ็ญพรต จนในที่สุดได้บรรลุญาณชั้นสูงสุด เมื่อบรรลุญาณชั้นสูงสุดแล้ว พระมหาฤๅษีได้เหาะไปยมโลก เมื่อไปถึงนั้น เห็นธรรมราช หรือ ยมราช เทพผู้พิทักษ์ความยุติธรรมทรงประทับเหนืออาสน์อยู่ จึงถามว่า ตนเองมีบาปอย่างไรจึงต้องรับกรรมมีไม้เสียบอยู่ในกายอย่างนี้ ธรรมราชได้ไขปัญหาว่า เพราะในสมัยที่เป็นเด็ก มาณฑวยมุนีได้กระทำบาปไว้คือ ได้จับแมลงปอมาตัดหางแล้วเอาหนามเสียบก้นแมลงปอผูกกับเถาวัลย์เป็นเรื่องสนุก ทำให้แมลงปอทนทุกข์ทรมาณบินไปที่ใดไม่ได้ มาณฑวยมุนีบอกว่า จำเรื่องนี้ไม่ได้และอยากทราบว่า ตนได้ก่อเรื่องตั้งแต่เมื่อใด ธรรมราช ตอบว่า เมื่อตอนอายุได้ 12 ปี เมื่อได้ฟังดังนี้แล้ว มาณฑวยมุนี ก็กล่าวว่า ธรรมราช เป็นผู้รักษาความยุติธรรม แต่ไม่รู้จักว่า เกณฑ์ลงโทษต้องเหมาะสมกับโทษและความสมควรได้รับโทษ จึงได้กำหนดเป็นเกณฑ์ว่า เด็กที่อายุตั้งแต่ 14 ปีลงมา กระทำความผิดด้วยไร้เดียงสาและความคะนองในการเล่น ไม่ถือว่า เป็นบาป จะลงโทษหนักอย่างกระทำบาปมิได้ เพราะฉะนั้น จึงสาปให้ธรรมราชไปเกิดเป็นคนในวรรณะศูทรหนึ่งพันชาติ จึงจะพ้นบาปที่ก่อไว้แก่ท่านจากการที่ตัดสินและลงโทษผิดทำนองคลองธรรม 
 
          เรื่องราวของมาณฑวยมุนีนี้ ทำให้มีการนำชื่อท่านมาเป็นสัญลักษณ์ของความเที่ยงธรรมในการตัดสินคดีความ และเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเอามาเป็นราชทินนามของเจ้ากรมแพ่งทั้งสอง เพราะต้องตัดสินโทษของผู้กระทำผิดอย่างเที่ยงธรรม หากตัดสินผิดก็จะเกิดผลกระทบต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์  (มีต่อ)

----------------------------------------------------------------------------------------

(1) คงเลียนแบบ “สภาปติ” อันเป็นตำแหน่งราชการยุติธรรมเขมรโบราณมา

        

หมายเลขบันทึก: 155784เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2007 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท