"บั่ว" ระบาดหนักนาข้าวเกษตรกร อุทัยธานีเสียหาย 20,000 กว่าไร่


"บั่ว" ระบาดหนักนาข้าวเกษตรกร อุทัยธานีเสียหาย 20,000 กว่าไร่

บั่ว  ระบาดหนักนาข้าวอุทัยธานีเสียหาย 20,000  กว่าไร่

แมลงบั่ว (rice gall midge, RGM)

     ชื่อวิทยาศาสตร์ Orseolia oryzae (Wood-Mason)

สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีได้รับรายงานการระบาดของบั่วทำให้นาข้าวเกษตรกรเสียหายอย่างหนัก จากการติดตามสถานการณ์พบว่ามีพื้นที่เสียหาย 2 อำเภอ 19 ตำบลได้แก่อำเภอทัพทันและหนองฉาง พื้นที่รวม 22,453 ไร่ เป็นข้าวที่ปลูกในช่วงเดือน ต.ค. ถึงเดือน พ.ย. 2550 พันธุ์ที่เสียหายส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ชัยนาท 1 และพันธุ์ 75 วัน(เรียกกันตามพื้นที่)

ตัวเต็มวัยของแมลงบั่ว  

มีลักษณะ คล้ายยุง แต่ลำตัวมีสีส้ม ยาวประมาณ 3-4 ม.ม. หนวดและ ขามีสีดำ เวลากลางวันตัวเต็มวัยจะเกาะซ่อนตัวอยู่ใต้ใบข้าว บริเวณกอข้าว และบินไปหาที่มีแสงไฟเพื่อผสมพันธุ์ วางไข่ ใต้ใบข้าวเป็นส่วนใหญ่ ในตอนกลางคืน โดยวาง เป็นฟองเดี่ยวๆ  หรือเป็นกลุ่ม ไข่มีลักษณะคล้ายกล้วยหอมสีชมพูอ่อน ยาวประมาณ 0.45 มม. กว้าง 0.09 มม. ระยะไข่ประมาณ 3-4 วัน

ตัวหนอน ที่ฟักจากไข่ จะคลานตามบริเวณกาบใบ  เพื่อแทรกตัวเข้าไปในกาบใบเข้าไปอาศัยกัดกินที่จุดกำเนิดของหน่ออ่อน ตัวหนอนมี 3 ระยะ ระยะนาน 11 วัน ขณะที่ หนอนกัดกินหน่ออ่อนต้นข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนหุ้มตัวหนอนไว้ ทำให้ข้าวแสดงอาการที่เรียกว่า หลอดบั่ว หรือหลอดธูปและจะเข้าดักแด้ภายในหลอดข้าวนั้น               

ดักแด้  จะมีระยะนาน 6 วัน เมือดักแด้จะฟักออกเป็นตัวเต็มวัยจะเคลื่อนย้ายมาอยู่ส่วนปลายของหลอดข้าวและเจาะอกเป็นตัวเต็มวัยที่ปลายหลอดนั่นเอง และทิ้งคาบดักแด้ไว้ที่รอยเปิด   ระยะ ตัวเต็มวัยนาน 2-3 วัน ฤดูหนึ่งบั่ว สามารถขยายพันธุ์ได้ 6-7 ชั่วอายุๆ ที่ 2,3 และ4  จะเป็นชั่วอายุที่สามารถทำความเสียหายให้ข้าวได้มากที่สุด               

ลักษณะการทำลาย                   

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพิ่มปริมาณของบั่ว จะมีความชื้นสูง เหมาะสมต่อการวางไข่ การฟักไข่ และการอยู่รอดโดยมากจะพบการระบาดในพื้นที่ภาคเหนือ               

ตัวเต็มวัยแมลงบั่วจะเข้าแปลงนาตั้งแต่ระยะกล้า หรือช่วงระยะเวลา 25-30 วัน เพื่อวางไข่ หลังจากออกตัวหนอน จะคลานลงสู่ซอกของใบ ยอด และกาบใบ เพื่อเข้าทำลายยอด ที่กำลังเจริญทำให้เกิดเป็นลักษณะคล้ายหลอดหอมต้นข้าวและกอข้าวที่ถูกทำลายจะมีอาการ แคระแกร็น เตี้ย ลำต้นกลม มีสีเขียวเข้ม ต้นข้าวที่ถูกทำลายไม่สามารถออกรวงได้ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงมาก ระยะข้าวแตกกอ จะเป็นระยะที่บั่วเข้าทำลายเมื่อข้าว เกิดช่อดอก แล้วจะไม่ถูกหนอนบั่วทำลาย                 

ตัวหนอน เข้าทำลายจุดกำเนิดของหน่อข้าว  โดยจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอน มีลักษณะคล้ายหลอดหอม ต้นข้าวที่ถูกทำลายจะไม่ออกรวง               

ศัตรูธรรมชาติ ในระยะไข่มีไรตัวห้ำ ชื่อ Amblyseius imbricatus จะดูดทำลายไข่ของแมลงบั่วเป็นปัจจัยที่ทำให้แมลงบั่วตายและในระยะไข่จะมีแตนเบียนPlatygaster oryzae CameronและP. foersteri (Gahn)  จะทำลายแมลงบั่วจนถึงระยะหนอนและแตนเบียน                  

พืชอาหาร ข้าว ข้าวป่า หญ้าไซ หญ้าปล้องเขียวหญ้าปล้องหิน หญ้าชันกาด และหญ้าตีนติด               

ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัด  

1. ใช้พันธุ์ข้าวที่สามารถต้านทานต่อการทำลายของแมลงบั่ว ได้แก่ กข4, กข9 ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับความนิยมจากเกษตรกร

2. ขจัดวัชพืชอาหารและพืชอาศัยรอบแปลงนาและบริเวณคันนาให้สะอาดก่อนตกกล้าหรือหวานข้าว เพื่อทำลายพืชอาศัยของแมลงบั่ว

3.  ควรปลูกข้าวหรือปักดำช่วงวันที่ 15 กรกฎาคม สิงหาคม  เพื่อลดความรุนแรงจากการทำลายของแมลงบั่ว หลักปักดำจนถึงข้าว อายุ 45 วัน 

4.       ไม่ควรปลูกข้าวโดยวิธีหวานหรือปักดำถี่ เกินไป(ระยะปักดำ 15x15 เซนติเมตร) ในพื้นที่มีการระบาดของแมลงบั่วเป็นประจำ

5.       ทำลายตัวเต็มวัยที่บินมาเล่นแสงไฟตามบ้านช่วง เวลาตั้งแต่ 19:00 – 21:00 น.

6.       สารฆ่าแมลงที่ใช้ในการป้องกันกำจัด ได้แก่ cabofuran (ฟูราดาน,คูราแทร์ 3% จี ) อัตรา 5 กก ./ไร่   Mephosfolan (ไซโตรเลน 2 % จี) อัตรา  8 กก. /ไร่  Fonofos (ไดโฟเนท 5% จี)  อัตรา 6   กก./ไร่  Trizophos(ฮอสตาธีออน 5% จี ) อัตรา 6 กก./ไร่สารเคมีชนิดเม็ดดังกล่าวใช้หว่านหลังปักดำข้าว 20-40 วัน โดยจะต้องสามารถที่จะควบคุมน้ำได้เพื่อประสิทธิภาพของสารเคมี  

ประเสริฐ 

โดย.....สะแกกรัง   

หมายเลขบันทึก: 154628เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2007 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
          นอกจากการใช้สารเคมี และวิธีการที่คุณบอก มีวิธีการอื่นอีกใหม ในการป้องกันและกำจัดเจ้าแมลงชั่วพวกนี้ เช่น วิธีคิดของภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือใช้แมลงฆ่าแมลงเป็นต้น น่าสงสารชาวนาอุทัยฯจังเลย

ในช่วงที่ไปสำรวจมีการระบาดอย่างรุนแรง ถึงขั้นเป็นหลอดหอม 4 - 5 หลอด/ต้นแล้วครับ ได้แนะนำเกษตรกรแปลงที่ระบาดรุนแรงไถปลูกใหม่ บางแปลงที่ยังไม่รุนแรงมากนักได้แนะนำให้ใช้สารเคมี เนื่องจากยังหาสารชีวภาพที่มีประสิทธิภาพยับยั้งยังไม่ได้

ที่สำคัญได้แนะนำเกษตรกรที่ทำนาหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างใกล้ชิด บ่อยๆ และสม่ำเสมอ โดยการแหวกกอข้าว หากยืนมองดูแล้วจะดูเหมือนข้าวเขียวปกติ แต่ไม่เจริญเติบโต

ขอบคุณครับ คุณสมนึก ที่เข้ามาเยี่ยมชม หากมีคำแนะนำดีๆ กรุณาช่วยแนะนำ ช่วยเกษตรกรด้วยนะครับ.

ขอบคุณพี่ประเสริฐมากครับที่นำเรื่องราวมาบอก อย่าปล่อยข้าวแม่น้ำมาชัยนาทนะ ขี้เกียจแก้ไข แล้วจะมาเยี่ยมใหม่ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท