คนเดือนตุลา ในสายตาเสกสรรค์


ความเรียง ถึงคำตอบในนิยามของคนเดือนตุลา ด้วยแง่มุมของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คนเดือนตุลา ผู้ตอบคำถามและความคาดหวังของสังคมไทย ที่มีต่อตัวตนของผู้คน ซึ่งหมายรวมไปถึงบทบาทหน้าที่ ในแต่ละย่างก้าวของสังคมไทย มีคำตอบเช่นไรในมุมมองนับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง ตุลาคม 2550

คนเดือนตุลา ในสายตาเสกสรรค์

อ้างอิง - ภาพ www.semsikkha.org/.../stories/articles/23.gif

ครั้งหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2533

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนเรื่องราว

ในคำถามสังคมไทยของยุคสมัยคนเดือนตุลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนเดือนตุลาเริ่มต้นก้าวย่างจากป่าคืนเมือง กลับสู่ความยิ่งใหญ่ในทุกแวดวง ทั้งในวงการธุรกิจ นักวิชาการ ครูบาอาจารย์ นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง ในคำถามวันนั้นมีเรื่องราวถึงเสียงตำหนิติเตียน เพื่อกล่าวต่อย่างก้าวบางประการในความคาดหวังต่อคำว่า คนเดือนตุลา

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

เริ่มต้นเขียนเรื่องราวในคอลัมน์

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผู้จัดการปริทัศน์

เขียนเพื่อตอบคำ ถึงความเข้าใจส่วนตัวคล้ายอธิบายต่อคำว่า คนเดือนตุลา โดยอธิบายเนื้อหาว่า เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ก็คล้ายดั่งขบวนแถวแห่งานรื่นเริง มีการแห่แหนดั่งแตรวงงานวัด มีผู้คนจากต่างที่ต่างทาง จากนานาจุดเริ่มต้นชีวิต ออกมาร้องรำ แรกเริ่มอาจมาจากใครสักคนลุกขึ้นตีกลอง ด้วยความสนุกสนาน แล้วก้าวเดินไปเบื้องหน้า

ไม่นานก็มีผู้คนทยอยร่วมขบวนมากมาย

บ้างถือฉาบกลองนานาเครื่องดนตรี

บ้างเป่าแตรเต้นเล่นร้องรำเพลง

จากนั้นขบวนแถวเหล่านั้นก็เดินไป จนกระทั่งขบวนแถวมาถึงช่วงเวลาที่ต่างต้องแยกย้ายกันไป เมื่อวันหนึ่งความเป็นจริงของขบวนแถวจบลง ต่างคนซึ่งมีจุดเริ่มต้นในชีวิต มีเส้นทางมีจุดหมายปลายทาง ก็ไปตามเส้นทางของแต่ละคน แต่ทุกคนยังจดจำได้ถึงความประทับใจในคืนวันเหล่านั้น แม้วันนี้จะเลิกราไป 

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ในฐานะอาจารย์สอนวิชาว่าด้วยรัฐวันนั้น

พยายามอธิบายเรื่องราวผ่านคำเขียน

ในคำถามแห่งการคาดหวังของสังคมไทย เมื่อปี 2533 เมื่อมีภาพของผู้คนเดือนตุลา ต่างเริ่มต้นยิ่งใหญ่คับบ้านเมืองในวันนั้น หลายครั้งคราถูกตั้งคำถาม หลายคนอธิบายถึงอุดมการณ์แบบคาดหวัง ต่ออุดมการณ์ของความเป็นคนเดือนตุลา มีเรื่องราวบางประการส่งผ่านออกมา จากแง่มุมของคนเดือนตุลา

วันนั้นงานเขียนชิ้นเล็กวันเสาร์

อธิบายแง่มุมบางประการ

นานนับสิบกว่าปี

กระทั่งปี 2550 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ยังคงต้องกลับมาเขียนเรื่องราว ถึงคำว่า คนเดือนตุลา เมื่อเขียนลงในนิตยสาร way อธิบายมุมมองผ่านยุคสมัยนี้ ด้วยสายตาของตัวเอง ต่อสิ่งที่เรียกว่าคนเดือนตุลา ว่าเหมือนดั่งป้ายร้านค้าซึ่งปิดให้บริการไปนานแล้ว แต่ป้ายร้านค้าแห่งนี้ยังคงแขวนไว้

หลายครั้งของคำถาม

ในแต่ละความคาดหวังของสังคมไทย

ยามได้แลเห็นพฤติกรรมทางสังคมการเมือง

มักกล่าวถึงความเป็นคนเดือนตุลา ด้วยคำอธิบายแบบรวมเป็นภาพกว้าง อธิบายความหมายว่าเขาเหล่านั้นคือ คนเดือนตุลา โดยไม่ได้ขยายความมิติบางด้านอันเป็นจริง ในความเป็นคน ในความเป็นตัวตน ในแต่ละคนเดือนตุลา ว่าทุกคนต่างมีที่มา มีเส้นทาง และกำลังจะมีที่ไป ด้วยตัวตนของเขาเหล่านั้นเอง

 

ไม่ใช่เพราะเรื่องราวเหล่านี้หรือ

ที่ทำให้วันนี้คำถามแบบคาดหวังยังคงปรากฎ

ในเมื่อเราตอบคำแบบกำปั้นทุบดิน ยามจับจ้องมองดู

ถึงบทบาทแห่งหนในความเป็นคน ของคนเดือนตุลา โดยไม่ได้เชื่อมโยงสู่ความจริง หรือเชื่อมโยงสู่ความเข้าใจ ในงานรื่นเริงจากขบวนแถวงานวัดวันวาน ว่าความจริงผู้คนในวันนั้น ต่างสมัครใจที่จะออกมาก้าวเดิน และก้าวเดินไปด้วยความภาคภูมิใจ ในขบวนแถวแห่งความเป็นคนเดือนตุลา เมื่อวันหนึ่งแม้นานผ่านไปก็ยังคงภาคภูมิใจ และสวมใส่อาภรณ์ของคนเดือนตุลาไว้เสมอ

เช่นเดียวกัน

อาภรณ์ซึ่งสวมใส่ไว้นี้

บางคนก็พยายามจะถอดทิ้ง

แม้ว่าจะถอดไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ยังพยายามจะถอดสะบัด หรือวิ่งหนีหายไปจากนิยามซึ่งคนอื่นมอบไว้ให้ ท่ามกลางคนมากมายซึ่งยังคงภาคภูมิใจ สวมใส่ทั้งยามนอนยามตื่น กินข้าวอาบน้ำ ก็ยังรู้สึกตนว่าเป็นคนเดือนตุลา ยามพบปะหน้าตาใครก็ไม่วายอ้างอิงความเป็นคนเดือนตุลา ยามนี้ในห้วงเวลาที่ใครหลายคนยังคงพยายามฉกฉวยอาภรณ์เหล่านี้ไว้แนบกาย หรือไว้แอบอ้างหากิน และฉกฉวยความเข้าใจผิดของผู้คน

ผู้คนในแวดวงวันนั้น

ผู้คนซึ่งถูกกล่าวขานว่าเป็นคนเดือนตุลา

ไม่ได้มีมิติเพียงแค่ประโยคสั้นประโยคนี้เท่านั้น

พวกเขาเหล่านั้น มีมิติอันสลับซับซ้อนมากมาย บ้างก็เริ่มต้นด้วยความไร้เดียงสาทางการเมือง เพราะเชื่อมั่นในความประทับใจจากงานวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ บางคนก็เริ่มต้นเพราะผืนนาแล้ง และใบหน้าญาติพี่น้องบ้านนอกยังติดตา หลายคนเห็นกับตาถึงความไม่ยุติธรรมในโรงงาน หลายคนรับรู้ว่ากลไกบ้านเมืองวันนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ต้องตรงตามหลักวิชาเรียนซึ่งรับรู้

หลายคนเป็นเพียงคนธรรมดา

รับรู้เพียงความไม่ยุติธรรมก็เนื้อเต้น

เพราะรู้สึกถึงความไม่ถูกต้องด้วยคำว่าเราถูกรังแก

ผู้คนในขบวนแถวนี้มีมากมาย หลายคนอาจเป็นฝ่ายนำ หลายคนเป็นเพียงหน่วยรักษาความปลอดภัย บางคนเป็นเพียงคนถือถุงข้าวถุงน้ำแจกจ่าย บางคนเป็นเพียงหน่วยพยายามคนป่วย และอีกหลายบทบาท ด้วยหัวใจร่วมกันเพียงว่าต้องการต่อสู้เพื่อคำว่าความเป็นธรรม

ทุกคนต่างรับรู้ถึงความเป็นธรรม

และอยากต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม

ในแผ่นดินถิ่นเกิดและบ้านเมืองของตน

ใช่คำตอบเดียวกันในท่ามกลางความสลับซับซ้อน บ้างคนก็ฉกฉวยสถานการณ์ บางคนก็รับรู้ดีว่าเหตุการณ์จะไปจบที่ใด หลายคนควบคุมการนำไม่ได้ หลายคนพยายามขับเคลื่อนทุกสิ่ง ด้วยพร้อมจะยอมสูญเสีย มีผู้คนมากมายในขบวนแถววันนั้น ทั้งต่างจิตต่างใจต่างวิธีการก้าวเดินไป

วันนั้นมีความสูญเสีย

ที่ได้รับการสรรเสริญว่าเป็นความยิ่งใหญ่

เป็นอำนาจบริสุทธิ์ของมวลหมู่มหาประชาชน

หลังจากนั้นหลายสิบปี ผู้คนต่างก้าวเดินไปตามเส้นทางของชีวิต มีบ้างล้มตาย บาดเจ็บสูญหาย มีบ้างล้มลุกคลุกคลานกับชีวิต มีหลายคนเติบโตไปด้วยความกระท่อนกระแท่น มีหลากหลายมากมายผู้คน มากมายหนทางและคำอธิบาย สลับซับซ้อนกันไปในแต่ละตัวตน แต่ละตัวคน เมื่อในท่ามกลางสายตาของคนเดือนตุลา ยามพยายามบอกผู้คนทั่วไปคล้ายดั่งจะบอกกล่าวว่า

ด้วยเพราะคนเดือนตุลา

เป็นเช่นคนธรรมดากลมกลมทั่วไป

เป็นคนเหมือนเช่นเราเช่นท่านทั้งหลาย

 

หมายเลขบันทึก: 154624เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2007 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท