ควันหลงจากการใช้ Skype หลังจากห่างหายไปโดยเจตนา


ความรู้ที่มากับการแก้ปัญหา และได้เผชิญความยากลำบากด้วยตัวเอง มักจะแน่น และอยู่ทน กว่าสิ่งที่ได้จากการ พูดๆ ฟังๆ แบบที่นิยมทำกันอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า "ห้องเรียน" ครับ.

    ผมขอประกาศความแค้นอีกครั้ง .. ไม่ใช่แค้นใครที่ไหนครับ  แค้นใจตัวเองเช่นเคย ... ลองคิดดูสิครับ เมื่อคืนวานนี้ ผมใช้เวลาตั้งแต่ 20.39 น. - 23.17 น. เพื่อทดลองอะไรบางอย่าง  ดึกมากชักง่วงเลยเข้านอนก่อน  ตื่นมาตี 3 เขียนบันทึกเรื่องราว  ลง Blog โดยไม่ได้ทำใน Notepad ก่อน อย่างที่เคยสอนคนอื่นเขา เพราะคิดว่าเขียนนิดเดียว เดี๋ยวก็ส่งแล้ว  แต่พอเอาเข้าจริง ผมว่าไปจนถึงตี 5 ครับ  แล้วก็คลิก ส่งขึ้นไป .. เรียบร้อยอีกแล้วครับ  หมดสิ้น ไม่เหลือหลอ ระบบตัดการ Login ทำให้ข้อมูลหายเกลี้ยงเช่นเคย  จึงต้องมาทบทวนความคิด และนั่งเขียนอยู่ที่ ภูพิมาน อาราญาน่ารีสอร์ท ที่ปากช่อง โคราชในขณะนี้ครับ 
    ผมมาร่วมประชุมสัมมนากับเหล่ามิตรสหายชาว ศึกษาศาสตร์ จันทรเกษมครับ รวม 3 วัน 2 คืน ... มา 17 กลับ 19 ธค. 50 ครับ
    พูดถึงเรื่อง Skype นี้ .. นานมาแล้ว น้องบ่าว ยอดชาย นาย ขจิต ฝอยทอง ได้แนะนำให้ผมรู้จัก และได้ทดลองใช้สื่อสารกับเขา ตามที่มีปรากฏใน บันทึกนี้  ของท่าน กามนิตหนุ่ม
    หลังจากนั้นไม่นานผมก็ได้ทดลองแบบขยายผลต่อ โดยการลองทำดูหลายรูปแบบ และได้เขียนบอกกล่าวไว้บ้างแล้วในบันทึกเหล่านี้

   ความจริง Skype มี Function การใช้งานได้มาก และหากวางแผน และเชื่อมโยงเครือข่ายบุคคลให้ดีๆ ก็สามารถนำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอน และการทำงานอื่นๆได้เป็นอย่างดี  แถมประหยัดจนแทบไม่มีค่าใช้จ่ายเลย นอกจากค่าเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ไม่น่าเชื่อว่าจากจำนวนผู้ใช้ Skype ประมาณ 95 ล้านคนในไตรมาสแรกของปี 2006  จำนวนผู้ใช้ได้เพิ่มขึ้นเป็น ประมาณ 246 ล้านคนเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2007 ที่ผ่านมา ( ข้อมูลจาก : http://en.wikipedia.org/wiki/Skype )


    แล้วทำไมผมจึงหยุดใช้ Skype ?

               มีเหตุผล 3-4 ประการครับ

  • การพูดคุยกับคนหมู่มาก  ใช้เวลามาก  กระทบต่อการทำภารกิจหลักๆ  และผมก็มีเรื่อง มีปัญหาหนักๆให้ต้องคิดต้องทำมากขึ้น
  • เมื่อเกิดเครือข่ายกว้างไปในระดับนานาชาติ  ทำท่าจะเพลินกับการแสวงความรู้ความคิด จนต้องมาหยุดคิดและถามตัวเองว่า ...  " รู้ไปทำไมนักหนา ?"
  • เกรงใจคู่สนทนาถ้าใช้เวลาสั้นเกินไปในการพูดคุยแต่ละครั้ง
  • ผมมองเห็นช่องทาง และวิธีการประยุกต์ใช้ในการทำงานค่อนข้างชัดเจนแล้ว

      ส่วนมากในระยะหลังผมก็ใช้ทักทายเพื่อนสนิท แบบใช้แทนโทรศัพท์บ้าง นานๆครั้งครับ  แต่คืนก่อนที่ใช้เวลาถึงเกือบ 3 ชั่วโมง สื่อสารกับ เพื่อนซี้ คือ อ. สุนทร  ไชยชนะ ผอ.สำนักวิทยบริการ มรภ.สกลนคร ก็ด้วยต้องการทดลองอะไรเพิ่มเติมครับ  เราลองเล่นบทบาทสมมติกันครับ เช่นสมมติเป็นครู-นักเรียน เป็นวิทยากรทางไกล  เป็น Business Partner ฯลฯ  แล้วทดลองสื่อทางเสียง พร้อมๆกับส่ง และแลกเปลี่ยนไฟล์ ข้อมูลให้กันและกัน ทั้งเนื้อหาสาระ รูปภาพ และภาพเคลื่อนไหว แล้วก็ซักถาม อธิบายความในสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีอยู่ในมือเหมือนๆกัน  ได้ผลดีน่าพอใจมาก แต่ก็มาสะดุด ตอใหญ่ ตอนที่เพื่อนส่งไฟล์ภาพขนาดเกือบ 2 Mb. มาให้ผมครับ
     Speed Meter ของการ Download บอกเราทั้งสองคนให้ได้เห็นพร้อมๆกันว่า จะต้องใช้เวลาถึงกว่า 50 นาที จึงจะ Load เสร็จ  ผมจึงให้เพื่อนไปทานข้าวเสียก่อน  ตัวเองก็เอางานอื่นมาทำในช่วงที่รอ 
     ในที่สุดภาพดังกล่าวก็มาถึง หลังจากรอมาเกือบชั่วโมงครับ  และสุดเซ็ง เมื่อ ภาพนั้นกลายเป็นสิ่งที่เพื่อนผมหยิบไฟล์ผิด ส่งมาให้  ผมก็ไม่ลดละความพยายาม  บอกให้เขา Resize ภาพให้เหลือสักประมาณ 100 Kb. จะได้ส่งเร็วขึ้น  ได้ผลครับ รูปที่ต้องการส่งมาถึงภายใน 3-4 นาที  แต่พอลองขยายดูรายละเอียด  เพื่อทำความเข้าใจอะไรๆให้ชัดเจน ก็เหลวครับเพราะรายละเอียดของภาพต่ำเกินไป  มันต้องเป็นภาพต้นฉบับเดิมเท่านั้น จึงจะใช้ได้ผล .. ขนาดเกือบ 2 Mb. และ ต้องรออีกร่วมชั่วโมง  ผมเริ่มคิดว่า แย่ ไม่ไหวแน่ อย่าดีกว่า ฯลฯ

      และแล้ว  ผมก็คิดได้  หาย "ฉลาดน้อย" ครับ !

      ผมคิดว่าการที่เราใช้ระบบการสื่อสาร  หลายรูปแบบพร้อมๆกัน คือทั้งพูดด้วยเสียง ส่งไฟล์ไปมา และ พิมพ์ข้อความตอบโต้กัน น่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การ Load ภาพช้ามาก  คิดได้จึงบอกเพื่อนให้ลองส่งภาพใหญ่มาอีกครั้ง และผมจะลอง คลิก Icon รูปโทรศัพท์ เพื่อตัดระบบการสื่อสารทางเสียงชั่วคราว 
      เชื่อมั้ยครับ ... จากเดิมที่มี Speed การถ่ายโอนข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 500 B/s และใช้เวลา Load ร่วมชั่วโมง 
      ความเร็วได้เปลี่ยนไปอยู่ที่  ระดับ 24,000 - 29,000 B/s โดยใช้เวลา Load ภาพไม่ถึง 5 นาที
     Load ภาพเสร็จผมก็ Click Icon รูปโทรศัพท์ อีกครั้ง ต่อระบบเสียงคุยกันต่อได้ทันทีครับ 

     ความรู้แค่นิดเดียว ชนิดเส้นผมบังภูเขานี้ ช่างใช้เวลานานมากในการได้มา  แต่ผมไม่เสียดายเวลาครับ  เพราะ เชื่อมั่นเสมอมาว่า ...

    ความรู้ที่มากับการแก้ปัญหา และได้เผชิญความยากลำบากด้วยตัวเราเอง มักจะแน่น และอยู่ทน กว่าสิ่งที่ได้จากการ พูดๆ ฟังๆ แบบที่นิยมทำกันอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า "ห้องเรียน" ครับ.

หมายเลขบันทึก: 154340เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 23:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 . สวัสดีค่ะท่านอาจารย์... P  Handy   ที่เคารพ

 . ศิษย์เข้ามาเยี่ยมอาจารย์ค่ะ

 . แล้วก็ต้องขออณุญาตนำคาวมคิดเห็นท้ายบันทึกของอาจารย์ไปใช้เป็นคติด้วยนะคะ

 . ศิษย์ขอบคุณมากค่ะ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท