ตำนานเพลงพื้นบ้านยุคใหม่ (ตอนที่ 2) วิธีการฝึกหัดเพลง


จะใช้ยุทธวิธีใดเป็นเรื่องของความรักศรัทธาในรูปแบบ วิธีการนั้น ๆ

 

ตำนานเพลง

พื้นบ้านยุคใหม่

ที่มีมายาวนานกว่า 16 ปี

เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ

(ตอนที่ 2) วิธีการฝึกหัดเพลง

แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

         ในตอนที่ 2 นี้ ผมขอเล่าเรื่องของการฝึกหัดเพลง โดยในตอนท้ายของบทความ ผมได้นำเอารายละเอียดจากใบความรู้ที่ทำไว้เป็นแผ่นพับ ขนาด 3 พับ (6 หน้า) มาลงเอาไว้ด้วย แต่เป็นข้อมูลที่จัดทำมานาน ได้มีการปรับปรุงให้ข้อมูลทันสมัยเป็นปัจจุบัน

          ถ้ากล่าวถึงการฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพลงชนิดไหน เพลงประเภทใด มีแนวทางในการฝึกหัดอยู่ 2 ทาง คือ 

         1. ฝึกหัดแบบนักวิชาการ  วิธีการนี้จะต้องมีหลักวิชาเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย  จะต้องยึดหลักการที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น ผู้ฝึกหัดจะต้องเรียนรู้จากโน้ตสากล ฝึกหัดอย่างนักร้องอาชีพ ฝึกการออกเสียง ฝึกการร้องด้วยระดับเสียงที่พอเหมาะ  ฝึกร้องหลายคนด้วยระดับเสียงเดียวกันในเรื่องของจังหวะ เครื่องดนตรี ต้องมีมาตรฐานตามหลักวิชาทั้งหมด เครื่องดนตรีต้องตีให้จังหวะตามตัวโน๊ตทั้งสิ้น แต่ว่าวิธีการนี้ไม่ค่อยปรากฏผลผลิตที่น่าชื่นชม หรือมีความแพร่หลาย  อาจเป็นเพราะมัวแต่หลงหลักการจนลืมเอกลักษณ์และที่มาของเพลงพื้นบ้านว่า มาจากคนเก่า ๆ รุ่นปู่ย่าตายายหรือเก่าก่อนกว่านั้นเสียอีก การฝึกหัดเพลงพื้นบ้านเก่า ๆ โดยวิธีการใหม่ ๆ ที่ทันสมัยอาจไปไม่ถึงแก่นแท้หรือความตั้งใจ เพราะได้แต่ความรู้ ได้ฝึกหัด แต่ขาดจิตวิญญาณ ในความเป็นนักเพลงที่เริ่มต้นด้วยใจรัก เคารพ ศรัทธาในตัวบุคคลแบบสมัยก่อนมาเป็นจุดรวมหัวใจนักแสดงให้รวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่นและมั่นคงยั่งยืนนาน

          2. ฝึกหัดแบบนักเพลงโบราณ วิธีการนี้จะต้องมีเสาหลักที่เป็นที่ยอมรับในวงการนักเพลงอาชีพว่า เป็นครูเพลง มีลูกศิษย์ลูกหาเข้าไปขอฝึกหัดเพลงพื้นบ้านอย่างต่อเนื่องและดำเนินวิถีชีวิตนักเพลงพื้นบ้านมายาวนานจนมีความมั่นคงในแขนงงานด้านนี้ วิธีการฝึกหัดแบบนี้ ไม่ต้องมีตัวโน๊ต ไม่ต้องมีเครื่องดนตรี ไม่ต้องมีทฤษฎี มีเพียงหลักการแบบเก่า ๆ ที่อยู่กับตัวบุคคลแห่งภูมิปัญญา ครูนำเอาความรู้ที่มีมาสอนศิษย์ต่อกันเป็นทอด ๆ โดยการจับข้อมือ ยกครูด้วยพานกำนลก่อนที่จะทำการฝึกหัดเพลง ส่วนการเรียนรู้ก็สอนกันแบบคำต่อคำ ทำท่าทางตามแบบครู นำเอาเนื้อเพลงไปท่อง แล้วมาว่าเพลงตามครู (ศิษย์ครูไหนก็จะออกมาเหมือนครูผู้นั้น) จึงเรียกได้ว่าศิษย์มีครู พอฝึกหัดได้ระยะหนึ่งก็ให้ตามครูเพลงไปดูการแสดง ณ เวทีจริง จดจำรูปแบบลักษณะลีลาของนักเพลงรุ่นพี่ ๆ แลัวนำเอามาฝึกหัด ปรับปรุงตนเอง (ผู้เรียนเป็นสำคัญ) เริ่มจากเป็นลูกคู่ไปก่อน ต่อมาค่อยหาจังหวะร้องแทรกไปทีละน้อยจนสามารถต่อกลอนกับนักเพลงรุ่นครูได้

          วงเพลงที่ปรากฏเป็นตัวเป็นตน เป็นคณะรับงานแสดงอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี  รุ่นบรมครูที่ฝึกหัดลูกศิษย์จนออกไปรับใช้สังคมได้ เหลือเพียงไม่กี่ท่าน (อยู่ได้เพราะชื่อเสียง) ได้แก่ ขวัญจิต ศรีประจันต์, ขวัญใจ ศรีประจันต์, สุจินต์  ศรีประจันต์, ลำจวน  สวนแตง, นกเอื้ยง  เสียงทอง,  นกเล็ก ดาวรุ่ง ส่วนนักเพลงที่รองลงไปทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมงานในวง ถ้าในวงการ การศึกษา หรือว่า วงเพลงในโรงเรียน วงที่รับงานแสดงเป็นอาชีพหารายได้จริง ๆ ผมว่า น่าจะมีเพียง 1-2 วงเท่านั้น เพราะเท่าที่ติดตามดู  บางคณะ มีชื่อเสียงมาก แต่ไม่สามารถเรียกศรัทธาจากผู้ชมให้มาติดต่อไปแสดงได้  เพราะยังขาดอะไรบางอย่างที่ผู้ชมต้องการ  หรือในบางวง ทำการแสดงได้เพียง 30 นาที ไม่น่าที่จะเรียกได้ว่า เป็นนักแสดงเพียงแต่ได้เรียนรู้มาเท่านั้น คงต้องพัฒนากันต่อไปให้ถึงจุดที่จะใช้คำแทนวงเพลงของตนได้ว่า คือ ผู้แสดงมืออาชีพจริง ๆ

          การพัฒนาไปสู่มืออาชีพ เป็นไปได้ยากมาก เพราะผู้ที่ทำวงจะต้องตามเก็บข้อมูลจากนักเพลงพื้นบ้านรุ่นครูแล้วนำเอาวิธีการ กระบวนการในการแสดง รวมทั้งเนื้อหาในเวลาของการทำหน้าที่บนเวทีที่จะทำให้ผู้ชมเกาะติดขอบเวทีชมเราได้ตลอดเวลา 3-4 ชั่วโมง ที่ทำการแสดงได้นั้น เป็นสิ่งที่ยากมาก ผมขอลำดับขั้นตอนของการพัฒนาที่จะสามารถมุ่งไปสู่เวทีการแสดงได้อย่างมืออาชีพ  ดังนี้ 

     1.     ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านอย่างใดอย่างหนึ่งฝึกหัดอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดระยะ

   2.     ให้โอกาสนักแสดงได้แสดงความสามารถบนเวทีเพื่อหาความชำนาญบ่อย ๆ

   3.     ส่งเสริมความสามารถโดยการร่วมกิจกรรมประกวด ประชัน แข่งขันในรายการต่าง ๆ

   4.     เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญ ๆ ผ่านสื่อสารมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์

   5.     รับงานแสดงและมีรายการแสดงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการได้เข้าไปร่วมงานระดับสูง 

         ในทุกขั้นตอนจะต้องกระทำอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการในการวางแผน  ปฏิบัติงาน  ประเมินผลงาน และปรับปรุงเพื่อการพัฒนาความสามารถของนักแสดงอยู่ตลอดเวลา รูปแบบของการฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ท่านจะใช้ยุทธวิธีใดเป็นเรื่องของความรักศรัทธาในรูปแบบ วิธีการนั้น ๆ เพียงแต่ว่า เมื่อการดำเนินงานเสร็จสิ้นลงแล้ว  ผลผลิตของท่านเดินหน้าไปได้ในขั้นใด  หรือหยุดนิ่งอยู่ที่การฝึกหัดโดยไม่มีความก้าวหน้าอีกเลย  เด็ก ๆ ได้มีโอกาสพัฒนาต่อไปหรือไม่  ได้เข้าร่วมประกวดแข่งขัน ได้รับรางวัล (มากน้อยไม่สำคัญ)  ได้เข้าสู่ถนนสายความบันเทิง เป็นที่รู้จักในวงการสื่อบ้างหรือไม่ และที่สำคัญที่สุด  มีงานแสดงอย่างต่อเนื่องหรือไม่  ถ้าไม่มีหรือมีน้อย (งานช่วย งานวาน งานขอ) ไม่สามารถประกันอนาคตของวงเพลงได้ และกิจกรรมที่ได้เข้าไปร่วมงานอยู่ในระดับใด (ท้องถิ่น จังหวัด ประเทศ นานาชาติ) การพัฒนาจึงเป็นการก้าวขึ้นสู่ความมีชื่อเสียง และมีผลประโยชน์คืนกลับมายังเยาวชน ทำให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เฉกเช่นบรรพบุรุษที่เป็นตำนานเพลงรุ่นเก่า ที่ผ่านมา   (ติดตามตอนที่ 3)

ชำเลือง  มณีวงษ์  โล่รางวัลความดีคู่แผ่นดิน จากรายการโทรทัศน์ ช่อง 5 ปี พ.ศ. 2549. 

 

หมายเลขบันทึก: 153171เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ชอบมากเลยครับพี่
  • ดีใจที่ได้อ่านบันทึกเกี่ยวกับบ้านเรา
  • ทำเสียงเหน่อๆๆนะครับ
  • ตอนนี้ ผอ เขตที่เมืองกาญจน์ เป็นอาจารย์ผมเอง
  • ฮ่าๆๆๆ
  • ไม่ค่อยได้เจอกันเสียหลายวัน (คิดถึงจังเล๊ย)
  • ขอโทษน้องแอ๊ดด้วย พี่ไปอยู่กรุงเทพฯหลายปี ตอนนี้แทบจะพูดสุพรรณฯไม่ได้เหล๊ย
  • ต้องขอขอบคุณ อาจารย์ขจิต ฝอยทองมากครับที่เข้ามาให้กำลังใจ
  • ดีใจด้วยครับ ที่มีครูเก่า ได้เป็นคนใหญ่คนโตของเมืองกาญจน์
  • เปิดตำนาน มี 5 ตอนนะ (ขอให้สุขใจไปด้วย)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท