Consciousness : A Proposed Theory


หลังจากได้อภิปรายมาในบันทึกต่างๆข้างต้นแล้ว  เราก็พร้อมที่จะเสนอความคิดเป็นรูปของทฤษฎีได้  ซึ่งผมจะเสนอเป็น "ทฤษฎีการรู้สึกตัว" หรือ The Theory of Consciousness ดังนี้

การรู้สึกตัว เป็นผลของกิจกรรมของนิวโรนบริเวณเซเรบรัลคอร์เท็กซ์ทั้งหมดของสมอง โดยที่เมื่อสิ่งเร้าจากภายนอกและหรือภายในของร่างกายเข้ากระตุ้น ทำให้นิวโรนแสดงกิจกรรม เกิดคลื่นกระแสไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กไฟฟ้า  ต่อเนื่องกันไปทั่วบริเวณที่นิวโรนแสดงกิจกรรม  ผลจากกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวทำให้เกิดการรู้สึกตัว

ทฤษฎีนี้มีสองส่วน  ส่วนหนึ่งเป็นฝ่ายสสาร คือ นิวโรน กลุ่มนิวโรน รวมทั้งกิจกรรมของนิวโรนเหล่านั้น  นิวโรนเป็น เซลล์ประสาท  มีองค์ประกอบสลับซับซ้อน  มีทั้งนิวเคลียสที่บรรจุโครโมโซมซึ่งเป็นโครงสร้างของ DNA , RNA และสารอื่นๆรอบๆนิวเคลียส มีเหตุการณ์การสังเคราะห์ทางเคมี  มีสารในรูปของ ไอออน(Ion)  มีความต่างศักดิ์ของประจุไฟฟ้า  มีสารเคลื่อนเข้าออกทางผนังเซลล์ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า คลื่นกระแสไฟฟ้า เกิดการ Synapse กับตัวเซล์ตัวถัดไปยังผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าลักษณะเดียวกัน  และต่อเนื่องกันไป  ผลจากการเกิดคลื่นกระแสไฟ้ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า  กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นฝ่ายสสาร  มันเกิดขึ้นโดยเรา"ไม่เคย"รู้สึกตัวเลยว่ามันเกิดขึ้นอยู่ในหัวของเรา

จากนั้นก็ "เกิดสิ่งใหม่" ขึ้นมาในโลก สิ่งนั้นคือ "การรู้สึกตัว" หรือ Consciousness  สิ่งใหม่นี้อยู่ฝ่าย Psychology  เป็นฝ่าย อสสาร  แต่ทั้งสองฝ่ายรวมกัน ก็ยังคงเป็น Psychology อยู่

ช่วงเวลาที่ผ่านมาของ Psychology นัก"จิต"วิทยา ศึกษา"จิต"วิทยา โดยใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากบุคคลที่ "ตื่นอยู่" หรือ "มีความรู้สึกตัวอยู่" ทั้งสิ้น  แต่ "ไม่เคย" หรือ "มีน้อยมาก" ที่เข้าไป "แตะการรู้สึกตัว" ! ยกเว้น Freud และ Cognitive Psychologists จำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม  ในปัจจุบันนี้ เราเริ่มที่จะ "คิด" ถึงสิ่งที่ถูกทิ้งมานาน อีกครั้งหนึ่ง  โดยมีความหวังว่า  อาจจะมีนักวิทยาศาสตร์ทาง Mechanic, Chemistry, Neurology, Information Processor เป็นต้น เข้ามาร่วมด้วย เพื่อค้นหา  หากว่าเราพบ "ธรรมชาติ"ของมัน  และเราสามารถ"ทำเลียนแบบ"มันได้ แล้ว  "ความฝันที่จะทำให้เครื่องจักรดังเช่นหุ่นยนต์มีความรู้สึกตัวได้" ก็อาจจะเป็นจริงได้

เรื่องการรู้สึกตัวนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย นะครับ

คำสำคัญ (Tags): #theory of consciousness
หมายเลขบันทึก: 153038เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีครับท่านอาจารย์

  • อีกไม่กี่ปีจากนี้ เราอาจเห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ มารุมอธิบายเรื่องเก่าเมื่อสองพันห้าร้อยปีก่อน เรื่อง "ผัสสะ เวทนา สัญญา สังขาร"
  • ในมุมมองใหม่
  • ดังที่ท่านอาจารย์กำลังทำอยู่นี้ไงครับ...

ขอบคุณครับคุณหมอ  คำชมแบบอ้อมค้อมทำให้ผมขนลุกเลยครับ  อันที่จริง ข้อคิดเห็นของอาจารย์ และของท่านอื่น  ตลอดจนของฝากจากอาจารย์นั่นแหละครับ ที่มีส่วนสำคัญ ทำให้ผม "แวบ" แง่มุมแปลกๆผุดขึ้นใน "บ่อ"ของการรู้สึกตัวครับ  ผมจะปรับปรุงให้เป็นรูปของ "บทความทางวิชาการ" โดยการหาเอกสารอ้างอิงที่ผมได้ละเอาไว้  เนื่องจากไม่เหมาะกับการบันทึก มาเพิ่มเติมให้สมบูรณ์และตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการต่อไปครับ

ข้อสังเกตครับ  นี่เป็น"ผล"ของการ"Gotoknow.org" แท้ๆเลยครับ  คงไม่ขัดกับหลักการของคุณหมอวิจารณ์  ดร.จันทวรรณ  และ ดร.ธวัชชัย นะครับ

ไม่มีรูป

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

 

ไม่ได้เข้ามาเยี่ยมอาจารย์หลายเพลาแล้ว....

เจริญพร 

นมัสการพระคุณเจ้า

นั่นซีครับ ผมก็คิดถึง ขอบคุณครับ ที่มาทักทาย  เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งทีเป็นเรื่องสำคัญของทางพุทธศาสนา  คือ เรื่องของ "สมาธิ"  "จิตหลังความตาย"  "นิพพานเป็นเสรีภาพหรือไม่" เป็นต้น  จิตวิทยาสามารถอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด  เป็นที่น่าแปลกมากว่า ศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์ เข้ากันได้อย่างสอดคล้อง 

ในความเห็นของผม ส่วนหนึ่งที่ทำให้นักจิตวิทยา หรือนักวิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยได้เข้าไปแตะในส่วนของ "การรู้สึกตัว" อาจเป็นเพราะ วิธีการวิจัยหรือทดลอง ส่วนของสมอง หรือการทำงานของสมอง ที่จะมีผลต่อ "การรู้สึกตัว" อาจเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักมนุษยธรรมครับ

แต่ผมเห็นด้วยว่า หลายๆ อย่าง ในคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น เข้ากันได้ดีกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะจิตวิทยาอย่างมากครับ 

  • เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถวัดกิจกรรมของสมองในส่วนต่าง ๆ ได้แบบวัดจากภายนอกโดยไม่ต้องเจาะเข้าไปครับ ทำให้แก้ปัญหาเรื่องจริยธรรมได้

สวัสดี ปีใหม่ ๒๕๕๑ แด่คุณ kafaak และ คณ wwibul ครับ

และอีกประการหนึ่ง  หลังจากที่ Darwin ได้เสนอทฤษฎี Evolution Theory ขึ้นมาแล้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตทั้งหลาย มีความคล่องตัวขึ้นมากเกี่ยวกับการให้เหตุผลลงความเห็น เพราะว่าเนื้อหาสำคัญของทฤษฎี มีว่า สัตว์ต่างๆวิวัฒนาการมาจากต้นตอเดียวกัน ดังนั้น สิ่งใดที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษากับคนไม่ได้ เขาก็ศึกษากับสัตว์ แล้วลงความเห็นไปสู่คนด้วยเหตุผลว่า

          เพราะว่าคนวิวัฒนาการมาจากสัตว์

          เพราะว่าเรื่องนี้เป็นจริงกับสัตว์

          เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นจริงกับคนด้วย

เช่น นักวิทยาศาสตร์อยากรู้ว่า "อารมณ์" อยู่ส่วนใดของสมอง  เขาก็เอาแมวเป็นๆครับมาผ่าสมองแล้วค่อยๆตัดสมองออกไปทีละส่วน ครั้งแรกตัดเซเรบรัลคอร์เท็กซ์ออกไปก่อน  พบว่าแมวยังมีอารมณ์โกรธ เขาจึงตัดส่วนถัดมาให้เหลือแต่บริเวณระบบลิมบิค  แมวก็ยังมีอารมณ์โกรธอยู่  แต่พอตัดบางส่วนของระบบลิมบิคออกไป  พบว่าแมวไม่มีอารมณ์โกรธเขาจึงสรุปว่า อารมณ์โกรธของแมวอยู่บริเวณระบบลิมบิค  และลงสรุปต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้กับแมว  ก็ต้องเป็นจริงกับคนด้วย (การทดลองนี้แมวยังไม่ตายนะครับ!)

 

สวัสดีปีใหม่ 2551 ครับ :D 

ผมขอเสนอความคิดเห็นของผมต่ออีกหน่อยแล้วกันครับ

การวัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น MRI, PET (หรือแม้แต่รุ่นล่าสุดอย่าง fMRI) ก็เพียงแค่บอกนักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ได้คร่าวๆ ว่า สมองส่วนใดบ้างที่มีส่วนทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น

แต่ก็เหมือนกับโรงงานผลิตรถยนต์นั่นแหละครับ แม้เราจะขาดบางหน่วยงานไป (เช่น แอร์, วิทยุ) แต่เราก็ยังสามารถผลิตรถยนต์ได้อยู่ดี ฉันใดก็ฉันนั้น ข้อมูลกิจกรรมของสมองที่แสดงออกมานั้น บางอย่างเป็นเพียงส่วนประกอบที่สามารถตัดออกไปได้ (เพียงแต่หากปราศจากการทำงานส่วนนี้ กิจกรรมนั้นๆ อาจไม่สมบูรณ์แต่ก็เกิดขึ้นได้)

เหมือนดังที่ ดร. ไสว ท่าน comment ไว้ เกี่ยวกับการทดลองแบบที่ทำกับแมวครับ ถ้าอยากรู้ก็คงต้องตัดบางส่วนของสมองที่มีส่วนเกี่ยวพันกับกิจกรรมนั้นๆ ออกไป เพื่อดูว่าเมื่อขาดอะไรไปแล้ว กิจกรรมใดที่หายไปบ้าง

 

เราอาจรู้ว่า ส่วนใดของสมองที่มีผลต่อกิจกรรมนั้นๆ (What influences the activity) แต่อย่างไรก็ดี ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถทำให้เราเข้าใจถึงกระบวนการการเกิดกิจกรรมหลายๆ อย่างได้อยู่ดี (How the activity is influenced)

 

การศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ที่มีความผิดปรกติทางสมองผมว่าดีนะครับ แต่ส่วนใหญ่เทคโนโลยี และความรู้เหล่านี้ มักจะถูกนำไปใช้ในด้านตรงข้ามด้วย (การควบคุมพฤติกรรม การล้างสมอง ฯลฯ) นี่คือสิ่งที่ผมเป็นห่วงครับ 

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว
ครับ  ยังมีปัญหาอีกมาก  ปัญหาเหล่านี้  ถ้าได้นำมาขัดเกลาเป็น "Statement of research problems" ได้ เราก็สามารถทำวิจัย ซึ่ง "อาจใช้เป็นผลงานเสนอขอปริญญาโทเอก"ได้ทีเดียวนะครับ

ข้อคิดเห็น "สองย่อหน้าสุดท้าย" น่าสนใจครับ จึงขอต่อดังนี้

(๑) จากย่อหน้าก่อนสุดท้าย  บอกให้เรารู้ว่า "อารมณ์" มีแหล่งเกิด"ในสมอง"นี่เอง  "ไม่ใช่"สิ่งที่เทพเจ้าประทานให้

(๒) จากย่อหน้าสุดท้าย  แสดงว่า คุณkafaakคิดถึง"อิทธิพล"ของสิ่งแวดล้อม  และการนำไปใช้ "ควบคุม"เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  นั่นแสดงว่า เรากำลังไปแตะปัญหา "จิตเสรี" และ "จริยธรรมการวิจัย"

การบันทึก  และการคุยกันเช่นนี้แหละที่ทำให้นำไปสู่การค้นคว้าวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป  ซึ่งไม่มีในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงครับ

จากที่อาจารย์เสริมในข้อที่ (1) นั้น ในมุมมองของผม อารมณ์เปรียบเสมือนกับปฏิกิริยาทางเคมีอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมอง ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย เช่น การขยาย/หดเล็กลง ของรูม่านตา, อัตราการเต้นของหัวใจ, อัตราการหายใจ ฯลฯ ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวจะเกิดกับมนุษย์ทุกคน เหมือนๆ กัน เรียกได้ว่าติดตัวมาแต่กำเนิด แต่สำหรับสิ่งเร้าเดียวกันนั้น Threshold ของแต่ละบุคคล จะแตกต่างกัน เลยทำให้บางคนโกรธง่าย ในขณะที่บางคนโกรธยาก เป็นต้น

ส่วนการเรียกชื่ออารมณ์นั้น เป็นเพียงการจัดกลุ่มของปฏิกิริยาดังกล่าวเข้าด้วยกัน และกำหนดชื่อให้ เพื่อที่จะได้สามารถอ้างอิงถึงปฏิกิริยาความรู้สึกดังกล่าวได้ถูกเท่านั้นเอง

เรื่องเหล่านี้ทำให้ผมคิดว่า คนเราเปรียบเสมือน Computer ที่มีการติดตั้งระบบปฏิบัติ (Operating system) ขั้นพื้นฐาน (ซึ่งตัวโค้ดของ OS ดังกล่าวก็คือ DNA และ ยีน ของพวกเรานั่นเอง) เอาไว้แล้ว (หมายถึง เรื่องของ basic need, เรื่องของอารมณ์ ฯลฯ) และสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ เหมือนกับที่ Computer สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ และป้อนข้อมูลบันทึกเพิ่มได้ภายหลัง 

ถ้าเป็นดังย่อหน้าสุดท้ายของคุณ kafaak ก็ต้องตอบคำถามว่า "ทำไมคอมพิวเตอร์จึงไม่มีความรู้สึกตัว?"
 ไม่มีรูป

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว


คอมพิวเตอร์ แม้จะคิดได้จากคำสั่งเบื้องต้นที่เกิดจากคน แต่คอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวทางกายภาพโดยกลไกลของตัวเองได้....

นานแล้ว นั่งรถผ่านทางที่กำลังปรับปรุงถนนหลวงอยู่... เพื่อนรูปหนึ่งบอกว่า พวกปีศาจสุรานั่งก่งอยู่แถวนั้น พิจารณา รถจักรกล ที่กำลังทำถนนอยู่ ก็ได้ความคิดโพลงขึ้นมาว่า อีกเพียงชาติเดียว รถจักรกลเหล่านี้อาจมีชีวิต เพราะมันมีขาหยั่ง มีมือจับ ยกของได้ เดินหน้า ถอยหลัง เคาะ ทุบ ยืน หรือนั่ง ก็ได้... แม้จะมีกลไกลภายในตัวเองเพื่อเคลื่นไหวทางกายภาพและทำงานได้สารพัด เพียงแต่ไม่สามารถคิดเองได้ ต้องรับคำสั่งจากคน...

เมื่อรวมเครื่องจักรกลกับคอมพิวเตอร์ก็กลายเป็น หุ่นยนต์ ... และนั่นคือ พัฒนาการขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง....

เข้ามาอ่าน เห็นข้อบกพร่องในคำอธิบายและในบางความเห็นหลายกรณี... ถ้าจะค้านก็ไม่จบความ จึงนำนิทานมาเล่าต่อเล่นๆ...


เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

ขณะนี้ได้มี"ประเด็น" เพิ่มเข้ามาอีก ๒ ประเด็นคือ (๑) "ผู้สั่งคอมพิวเตอร์" ให้คิด ให้เคลื่อนไหว และ (๒) การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์

ข้อที่ชวนให้คิดอีกอย่างคือ (๑) เครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยส่วนที่เป็น Hardware (วัตถุ)  และ Software(เกี่ยวกับกระบวนการ)  การที่มันสามารถเลียนแบบกระบวนการคิดของคนได้นี้  แสดงว่า สมองเราก็มีสถานะเป็น "เครื่องกล"(วัตถุ)(Hardware) + "การคิด"(กระบวนการคล้าย Software) + "ความรู้สึกตัว"(Conscious) ! ซึ่ง คอมพิวเตอร์ "ไม่มีอย่างหลัง"

อีกประการหนึ่ง Software ทำหน้าที่เป็น "ผู้สั่ง"  และ "มนุษย์เป็นผู้ประทานให้มา" 

แต่ "ความรู้สึกตัว"ในขณะคิด นั้น เรา Theoretical Hypothesis เอาว่า "เกิดจากกิจกรรมของกลุ่มนิวโรน" ซึ่งเป็นเซลล์ของสมอง 

ถูกแล้วครับ  หุ่นยนต์ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา (R&D)!!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท