โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน


ระเบียบวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน

 

 

โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน

 

ระเบียบวาระแห่งชาติ  เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน

 

                ผมได้ไปนิเทศนักศึกษาฝึกงานที่สำนักวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และได้เข้าพบปะพูดคุยกับคุณบพิตร  วิทยาวิโรจน์  ผู้อำนวยการ  ท่านได้เล่าถึงงานสำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงวัฒนธรรม นั่นคือ

 

"โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน"

 

ผมเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและน่านำมาขยายเผยแพร่ให้ทุกท่านทราบเพราะเราก็คือสมาชิกคนหนึ่งในชุมชน การที่รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำริริเริ่มทำขึ้นมาก็หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกคนในชุมชนของตนมาช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

 

                          หลักการดำเนินงาน

 

               ตามนโยบายของรัฐบาลด้านพัฒนาสังคมที่ว่า "ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีสันติสุขอย่างยั่งยืนบนฐานของวัฒนธรรมไทยและใช้สื่อทุกรูปแบบในการสร้างสรรค์สังคม รักษาสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาติและความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อเชิดชูคุณค่าและจิตวิญญาณของความเป็นไทย ตลอดจนสร้างความสามัคคี เอื้ออาทร สมานฉันท์ของสังคมประเทศชาติ"   กระทรวงวัฒนธรรมจึงดำริโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนขึ้นในทุกจังหวัดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในท้องถิ่นในรูปแบบบูรณาการในทุกมิติของวัฒนธรรม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชาติตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล  จึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้โครงการดังกล่าว เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ และสั่งการให้กระทรวง กรมที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนการบริหารโครงการ สนับสนุนงบประมาณตามความจำเป็น รวมทั้งกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการด้วย (สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๑๕ พ.ย.๕๐)

 

                   การดำเนินงานจัดกิจกรรม

 

   ๑.ด้านคลังสมอง (ภูมิปัญญาท้องถิ่น)  เป็นการสำรวจ รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน จัดทำทำเนียบประวัติ ผลงานให้เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการสืบค้นและเป็นฐานข้อมูลใช้ในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

 

    ๒. ด้านการถ่ายทอดเรียนรู้วัฒนธรรม (ส่งเสริมอาชีพทางศิลปะและวัฒนธรรม)   เป็นการรวบรวมกลุ่มอาชีพ กลุ่มสนใจในกิจกรรมส่งเสริมรายได้ในชุมชน การกินดีอยู่ดี และการสร้างความมีสุขตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

 

    ๓.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต (การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม)    เป็นแหล่งรวบรวมบุคคลที่เป็นตัวอย่างด้านการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ร่วมมือจัดกิจกรรมทางศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี วัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน ร่วมมือกันให้ความรู้ถ่ายทอดไปสู่เด็กและเยาวชน ประชาชนให้เข้าใจคุณค่าในเรื่องดังกล่าว

 

    ๔.ด้านลานดนตรี กีฬาและวัฒนธรรม(ลานวัฒนธรรม)   เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ศิลปะ กีฬาและการละเล่นของท้องถิ่นที่หลากหลายและมีคุณค่า

 

    ๕. ด้านพิพิธภัณฑ์ชุมชน   เป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหมู่บ้าน ท้องถิ่น บุคคลสำคัญ ผู้ทรงภูมิปัญญา บรรพบุรุษ เครือญาติ ประวัติ ความเป็นมาการดำรงชีพ การทำมาหากิน  เป็นแหล่งรวบรวมและแสดงมรดกทางวัฒนธรรม

 

    ๖. ด้านศูนย์สารสนเทศและห้องสมุดชุมชน    เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลเรื่องราวจากการสืบค้น จดบันทึก จัดระบบการให้บริการ  การศึกษาเรียนรู้ ค้นคว้าจากสื่อทุกรูปแบบ

 

การบริหารโครงการ

 

      บริหารโดยคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากจังหวัด  ประกอบด้วย  ที่ปรึกษา  ประธานกรรมการ (มาจากผู้นำชุมชนจากการเลือกสรรกลั่นกรองของชุมชน)  กรรมการ (บุคคลที่เป็นตัวแทนหมู่บ้านต่างๆ)  กรรมการและเลขานุการ(คนในท้องถิ่นที่มีความรู้ ความสามารถ เข้าใจโครงการ และมีทักษะประสานงาน)

 

        ความจริงยังมีรายละเอียดอีกมาก  หากใครสนใจสามารถเข้าไปศึกษา ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัดหรือที่กระทรวงวัฒนธรรม  เขามีหนังสือคู่มือดำเนินการตามโครงการอย่างละเอียด พร้อมด้วยตัวอย่างโครงการนำร่อง

 

         ผมลองเข้าไปศึกษาดูแล้ว  เห็นว่าโครงการนี้จะสัมฤทธิผลได้อยู่ที่ความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกฝ่าย  คณะกรรมการบริหารโครงการก็ต้องเข้มแข็ง องค์กรปกครองท้องถิ่นก็ต้องเข้าใจ ให้การสนับสนุนเต็มที่ ที่สำคัญกระทรวงวัฒนธรรมต้องมีคณะทำงานประสานงาน ติดตามโครงการ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ คอยชี้แนะ แก้ไขปัญหาเขา เข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันอย่างสำคัญ  แต่ที่เป็นหัวใจของโครงการคือ  สมาชิกในชุมชนต้องเกิดความสำนึกว่าเป็นเรื่องของพวกเขาเอง ต้องรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ  เป็นสิ่งที่เขาได้ประโยชน์อย่างเต็มที่  และ....ต้องไม่ทุจริตคอรัปชั่น กีดกัน และนำโครงการมาเล่นเป็นเกมการเมืองครับ 

 

ระเบียบวาระแห่งชาติครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์หัวใจคนไทยอีกครั้งว่า "สมานฉันท์" กันจริงๆ หรือไม่ 

หมายเลขบันทึก: 152845เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2007 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • สวัสดีคะอาจารย์

โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน การดำเนินกิจกรรมน่าสนใจนะค่ะ พ่อเคยเล่าโครงการคล้าย ๆ ลักษณะนี้ให้ฟัง มีเรื่องคุยต่อกับพ่อแล้วคะว่าโครงการที่พ่อเล่านั้นมีกิจกรรมอะไรบ้าง ขอบพระคุณคะอาจารย์

สวัสดีคะอาจารย์

การพัฒนาที่ไม่ละเลยฐานวัฒนธรรมนั้น เป็นการพัฒนาที่เน้นความยั่งยืน(Sustainable development) ไม่แปลกแยก ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญา (Local wisdom)หรือความรู้ท้องถิ่น (Indigenous knowledge)

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งคะ โดยเฉพาะเยาวชน(นศ.) ที่มาจากชุมชน โดยเฉพาะ ม.ราชภัฏ  หากได้เรียนรู้วัฒนธรรมตนเองแล้ว นอกจากจะเป็นการจัดการความรู้แล้ว ยังเสริมความภาคภูใจในตัวตนของเขาด้วย

กิจกรรมแบบนี้ ออกแบบให้ดี จะได้ประเด็นการคิดต่อเพื่อการพัฒนาที่สอดคล้องกับศีกยภาพชุมชนมากมาย

ขอให้กำลังใจอาจารย์คะ

โครงการแบบนี้ น่าสนับสนุนกันมากค่ะ แต่เมื่อประชุมแล้ว มีการขับเคลื่อนต่ออย่างไรบ้างคะ ไม่ใช่เงียบไปเลยนะคะ

สวัสดีครับP

          ผมกำลังสอนภาษาไทยแก่นักศึกษาในโครงการพัฒนาบุคลากรของกรมการปกครอง ซึ่งมาจากผู้นำท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ก็ติดตามโครงการนี้อยู่ครับโดยสนับสนุนให้ท่านเหล่านั้นทำรายงานมาเสนอครับ คงได้ข้อมูลที่น่าสนใจนำมาเล่าให้ อ.หมู ฟังต่อไปครับ

สวัสดีครับP

          วัฒนธรรม เป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาแม้จะมีนักวัฒนธรรมมาก ผู้สนใจก็มาก ผู้เกี่ยวข้องมีทุกภาคส่วนเรียกว่าทุกคนในชาติ เพราะวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน ดังนั้น การที่มีโครงการใหญ่แบบนี้และเป็นระเบียบวาระแห่งชาติจึงเป็นเรื่องที่สมควรร่วมมือ สนับสนุน และปฏิบัติอย่างจริงจังครับ

สวัสดีครับP

        สิ่งที่คุณ sasinanda เป็นห่วง ผมก็เป็นห่วงครับ เพราะมีหลายโครงการหายเงียบไปและไม่ได้รับการพัฒนา สนับสนุน อย่างต่อเนื่องเลย ติดตามต่อไปครับ โดยเฉพาะรัฐบาลหน้าจะทำต่อหรือไม่อย่างไร

  • อาจารย์ค่ะ

ที่บ้านพ่อทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุคะ ซึ้งเกี่ยวข้องกับชุมชนอยู่แล้ว พ่อเล่าเรื่องงานให้ฟังบ่อย ๆ มีการทำโครงการลักษณะนี้เช่นกัน และตัวเองก็สอนในวิทยาลัยฯเพื่อชุมชนด้วย ขอบคุณนะค่ะและเป็นการดีทีเดียว ถ้าอาจารย์นำข้อมูลมาเขียนให้อ่านต่อ ขอบคุณคะ

บพิตร วิทยาวิโรจน์

ขอบพระคุณท่านอาจารย์กรเพชร และทุกท่านที่แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โครงการนี้เน้นกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพื่อชุมชนและประชาชน ลำพังหน่วยงานภาครัฐคงไม่มีทางขับเคลื่นอได้เอง ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายครับ

เจริญพรอาจารย์ ตามที่วัดของอาตมาภาพได้ดำเนินการเปิดศูนย์ "โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน" มาแล้วกว่า 2 ปีแล้ว เปิดทำการอบรมให้แก่เยาวชน ให้ความรู้มาแล้วพอสมควร แต่โครงการดังกล่าวมีปัญหามากเหลือเกิน อาตมาก็รอวันที่โครงการนี้ฟื้นฟูเป็นโครงการที่สามารถเป็นประโยชน์แก่ชุมชนได้ แต่มันเหมือนฟ้าจะไม่ประทานพร เพราะยังไม่เห็นหน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยเหลือเลย บางครั้งต้องพึ่งนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพลเข้าช่วยเหลือ จริงอยู่ลำพังหน่วยงานภาครัฐคงไม่มีทางขับเคลื่อนได้เอง ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย แต่ภาครัฐคงต้องดำเนินการสนับสนุนโครงการนี้บ้าง โอกาสนี้อาตมาจึงเจริญพรมาขอคำชี้แนะจากอาจารย์ เพื่อที่จะทำโครงการนี้ให้มั่นโครงและเป็นชุมชนพอเพียงตามนโยบายรัฐบาลได้ เจริญพรอาจารย์

วัดบ้านไร่ ต.ดอยเต่า อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ 50260 โทร 082-1875892

วัฒนธรรมที่ดีงาม จะก่อให้เกิดคุณธรรม ที่เป็นจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ การใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสรรสร้างสังคมไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าคุณเข้าใจ แต่ส่วนใหญ่จะใช้การบังคับ ให้มี ให้เกิด เป็นการสรางภาพ และเป็นภาพลวงตา นั่น น่าจะไม่ใช่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท