ความดีสีอะไร


เรื่องราวคำถาม จากความหมายแห่งความดี ยามเราเห็นสีสันและผู้คน ผ่านความคิดมุมมองของนิทานเด็ก โลกร้อยสี นิทานในสมุดบันทึกมูลนิธิเด็ก ประจำปี 2536 ด้วยผลงานสร้างสรรค์ผ่านเรื่องราวและรูปภาพ ของ เทพศิริ สุขโสภา และมุมมองแห่งบทปิดท้ายของ หมอประเวศ วะสี ถึงหนทางแห่งความดีและความงามในสังคม

ความดีสีอะไร

อ้างอิง - ภาพ http://burabhawayu.multiply.com/photos

ครั้งหนึ่งขณะนั่งเพลินเพลิน

หลืบมองไปเห็นชื่อหนังสือเด็กเล่มหนึ่ง

เขียนชื่อไว้อย่างน่ารัก เหมือนถามใจตัวเอง

หนังสือน่ารักเล่มนี้ชื่อ ความดีสีอะไร หลังจากนั้นหลายปีที่ผ่านมา ผมก็ยังไม่ได้พบหนังสือเล่มนั้น ตั้งใจว่าจะหามาอ่านแต่ก็ไม่มีโอกาส ไม่ได้เปิดอ่านเพราะหาไม่พบ ไม่รู้ว่าที่พบเห็นนั้น ยังคงมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่

แต่คำถามของปกหนังสือเล่มนั้น

ยังติดอยู่ในใจผมมานาน

จำได้ว่าครั้งหนึ่งประทับใจเรื่องราวนิทานเด็กมาก

จนมีโอกาสได้อ่านนิทาน ประกอบเรื่องราวในสมุดบันทึกมูลนิธิเด็ก ประจำปี 2536 - Diary 1993 ของ อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ซึ่งรังสรรค์ขึ้นทั้งเรื่องราวและภาพวาดงดงาม ที่ชื่อ โลกร้อยสี แต่สำหรับชื่อภาคภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า World of The Thousand Colors มีบทขึ้นต้นของเรื่องราวและรูปที่ว่า

กาลครั้งหนึ่ง โลกไร้สี มีแต่ขาวๆ ดำๆ

ต้นไม้รึก ดอกไม้รึก ผลไม้ เราไม่รู้หรอกว่าสุกหรือดิบ

ถ้าไม่บีบหรือชิม ทุกอย่างครั้งโน้นสับสนยิ่ง

นกเกาะนิ่งๆ บนต้นไม้ เราก็มองไม่เห็นแล้ว

เบื้องบนเมฆหนา มีแต่สว่างกับมืด

ฟ้า เป็นอะไรบางอย่างห่างโลก ไม่มีใครเคยเห็น

ตะวัน เพียงเรื่องราวเล่าขาน

จันทร์ เป็นเพียงตำนานบอกเล่า

ซึ่งหลายชั่วคน กว่าเมฆจะแย้มให้เห็นสักครั้ง

แต่ก็แสนเลือนลางห่างไกล

คล้ายภาพลวงตาหรือว่าฝันไป

อ่านไปยิ่งค้นพบเรื่องราว

และคำถามมากมาย

ขณะที่ใจนั่งนึกคิด

พร้อมปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับนิทานละลานตา เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ ล้วนน่ารักทั้งคำและภาพวาด จากฝีมือการสร้างสรรค์ของผู้ใหญ่ใจดี ที่มีรอยยิ้มงดงาม และมอบผลงานความงดงามนี้ เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสของมูลนิธิเด็ก คำน่ารักของเรื่องราวไล่เรื่องไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

เมื่อสีสันเริ่มต้นเข้ามา

โลก ผู้คน ต้นไม้ และสัตว์นานา

เริ่มต้นโลดแล่นหลังสีสันปรากฎและฉายแสง

เรื่องราวความงดงามของโลก เหมือนเริงระบำ ดำเนินไปพร้อมกับความหมายที่แอบซ่อนอยู่ภายในเรื่องราว เมื่อข้อเขียนสุดท้าย ในบทท้ายของเรื่องราวนิทานเด็กเรื่องงาม บอกกล่าวรายละเอียดไว้อย่างน่าฉงน เหมือนปริศนาในใจว่า

โลกท่วมท้นด้วยสี

ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีบางอย่างทั้งคนและสัตว์

สามารถซ่อนสีเดิมๆ ไว้ได้

เพราะเหตุใดใครรู้บ้าง

ยิ่งอ่านไปยิ่งได้แต่คิดตาม และไตร่ตรองเรื่องราวนิทานเด็ก ที่ผู้ใหญ่ควรได้อ่าน ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงแง่งามแห่งชีวิต ได้มองเห็นผู้คนรอบข้างชีวิต และเข้าใจว่าเราควรได้มีโอกาสเห็นถึงชีวิตอันละเอียดอ่อนเหล่านี้ ในท้ายเล่มมีบทแนะนำงดงามของอาจารย์ประเวศ วะสี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิเด็ก ที่ว่า

ระวังอย่าให้ตก "หลุมดำ"

ในทางฟิสิคส์เขารู้จักเรื่อง "หลุมดำ"(Black Hole) กันดี

"หลุมดำ" เป็นดาวที่ยุบตัวแล้วมีมวลแน่นมาก ขนาดหนึ่งลูกบาศก์เซนติเมตร มีน้ำหนักเป็นร้อยตัน เนื่องจากมีมวลหนาแน่นมาก "หลุมดำ" จึงดูดทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาใกล้มัน แม้แต่แสงก็ถูกมันดูดไปด้วย เนื่องจากมันดูดแสงเข้าไปในตัวมันหมด ไม่สะท้อนออกมา จึงไม่สามารถมองเห็น "หลุมดำ" ได้ และจึงมีชื่อว่า "หลุมดำ"

ในสังคมก็มี "หลุมดำ"

อาจเรียกว่า "หลุมดำของสังคม" (Social Black Hole)

ที่มันดูดอะไรต่อมิอะไรเข้าไปหามันหมด รวมทั้งความเป็นมนุษย์ของคนด้วย มนุษย์ควรจะได้รื่นรมย์กับสีสันหลากหลาย ของแมกไม้นานาพันธุ์ของธรรมชาติ และเปี่ยมไปด้วยความสุข กลับตกในความดำมืด ด้วยประการต่างๆ

เทพศิริ สุขโสภา

เป็นศิลปินที่พยายามใช้ศิลปะ

พาจินตนาการของเรากลับสู่ธรรมชาติแห่งความเป็นจริง

ผ่าน "โลกร้อยสี" ในไดอารี่ 2536 ของมูลนิธิเด็ก จินตนาการต้องนำหน้าความจริง ความเป็นจริงจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ตระหนัก รู้ว่าอะไรคือ "หลุมดำ" และถอนตัวหรือระวังไม่ให้ตก "หลุมดำ" มนุษยชาติจึงจะสามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติ อันมีหลากหลายมากมายด้วยสีสันอันงดงาม

ถ้าเราอยากให้เด็กๆ

ลูกหลานของเราได้มีโอกาสอยู่ในโลกนี้ด้วยศานติสุข

ต้องมาช่วยกันทำความเข้าใจว่า อะไรคือ "หลุมดำ" ของมนุษย์ และช่วยกันสร้างปัจจัยที่จะทำให้มนุษย์ทั้งมวล หลุดพ้นจากความบีบคั้น ประสบอิสรภาพ รวมทั้งอิสรภาพที่จะสัมผัส "โลกร้อยสี" ตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ โดยกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีดุลยภาพและงาม

ยิ่งอ่านคำ

ยิ่งงดงามด้วยคำถามและความรู้สึก

เหมือนชีวิตได้ย้อนกลับไปทวนความ ผ่านการอ่านนิทานเด็ก เรื่องราวแบบเด็กเด็ก อันเรียบง่ายแลงดงาม เพียงเพื่อถามตัวเองว่า มีสิ่งใดมากมายไปกว่า การถามตนเองบ้าง ยิ่งในบทหลังของหนังสือเล่มนี้ยิ่งน่าประทับใจมากถึงคำบอกกล่าว ราวของฝากแห่งสติจากใจสู่ใจ จากใจของเราสู่อีกหลากหลายใจที่เราจะสามารถมอบให้ได้

ขอมอบสีสันเป็นของขวัญฝากเฝ้า

ให้หลากสีหลายเฉดเรียงเคียงกันได้

 

หมายเลขบันทึก: 152412เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2007 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ ... คุณ Kati

  • อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ... ผู้โลดแล่นอยู่ในวัฏจักรของศิลปะมานานนับ 20 ปี ...
  • ชีวิตท่านอุทิศให้ความรู้กับเด็ก ๆ ทุกระดับ
  • แกลเลอรี่ ท่านอยู่ภายในซอยวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ และงานศิลป์ ซ่อนหลืบอยู่ตามสวนของท่าน
  • ความดีของผม ... สีเทา

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีครับ

ไปเชียงรายมาครับ ติดหนังสือของ คุณอธิคม คุณาวุฒิ ไปด้วย เพราะชอบรูปแบบการเขียนแบบนั้น มาอ่านบันทึกของพี่ก็ยิ่งคล้ายคลึง

ผมสะดุดคำว่า "หลุมดำของสังคม"(Social Black Hole)

ที่ดูดกลืนกินสรรพสิ่งเข้าไปในนั้นหาก เราขาดปัญญาที่เป็นเครื่องส่องทางชีวิต

หากผมจะจินตนาการไป ผมเห็นหลุมดำเหล่านั้นเรียงราย ละลานตา หากเดินไม่ดี มีสิทธิ์ลงไปในหลุมเหล่านั้น

เป็นเรื่องยาก...ครับ ที่ใครจะไม่ถูกกลืนกิน ท้าทายยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อถูกกลืนกินแล้ว พยายามป่ายปีนหลุมดำเหลลล่านั้นขึ้นมาอีกครา...และก้าวต่ออย่างผู้มีประสบการณ์

มูซาซิ เรียนรู้จากการเป็นทหารเลวของตน ในขณะเดียวกัน ศิลปินชั้นเลิศ ต่างก็เรียนรู้ชีวิตด้านลำเค็ญผ่านผลงานอันวิจิตรให้เราเห็น

ผมจึงคิดว่าหลุมดำ ...ไม่แปลกที่ใครจะตกลงไปเกลือกกลั้วข้างในนั้นบ้าง เพื่อที่จะก้าวต่อครับ

 

 

และ..ผมไม่รู้ว่าความดีของผมสีอะไร??

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท