โรงเรียนไม่ใช่ลูกฟุตบอล


โดย แก้วสรร อติโพธิ 

 ถาม ทำไมถึงอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายถ่ายโอนโรงเรียนให้ท้องถิ่น ของพรรคไทยรักไทย

 

 ตอบ เราไปยอมรับกันแต่แรกว่าต้องถ่ายโอนโรงเรียนแล้วมัวมาเถียงกันว่าครูต้องสมัครใจหรือไม่ซึ่งเป็นปัญหาเทียม โรงเรียนไม่ใช่ลูกฟุตบอลของใครไม่ว่าครู ท้องถิ่น หรือรัฐบาล ทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องช่วยกันทำโรงเรียนให้ดีขึ้น ถ้าท้องถิ่นมีศักยภาพดูแลได้ดีกว่ารัฐ เราก็ต้องมอบให้เขาดูแลไปไม่ว่าใครจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

 

 ปัญหาตัวจริงจึงอยู่ที่ว่าควรจะมอบให้ท้องถิ่นรับไปดูแลอย่างไรด้วยกรอบเกณฑ์อย่างไรจึงจะมีหลักประกันในคุณภาพได้ ก็ต้องมาว่ากันตรงนี้ ไม่ใช่จะโอนกันลวกๆ เตะส่งๆ กันไปเหมือนเช่นที่กำลังจะทำกันอยู่

 

 ถาม ทำไมถึงใช้คำว่า "มอบโรงเรียนให้ดูแล" แทนที่จะใช้คำว่า "ถ่ายโอนโรงเรียน"?

 

 ตอบ ถามได้แหลมคมมาก คือโรงเรียนของรัฐที่ทำอยู่ทุกวันนี้นั้น ตามรัฐธรรมนูญแล้วถือเป็นงานในหน้าที่พื้นฐานของรัฐเลยทีเดียว โดยให้ท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมให้บริการด้วยเท่านั้น เช่นในกรุงเทพฯ ก็จะเห็นโรงเรียนประถม มัธยม ทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ และของท้องถิ่นคือ กทม.ให้บริการร่วมกันอยู่ มองไปในถนนก็เห็นรถเมล์ ขสมก.ของกระทรวงคมนาคมวิ่งไปมาอยู่

 

 ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ถ้าเราจะโอนกิจการที่รัฐทำอยู่ทั้งโรงเรียนสวนกุหลาบฯ และ ขสมก.มาให้ กทม.ทำเสียเอง จะทำได้ไหม ลองตอบหน่อย?

 

 ถาม เรื่องรถเมล์น่าจะทำได้เพราะเป็นกิจการท้องถิ่นโดยแท้ รัฐบาลต้องดูแลประเทศไม่ใช่ดูแลจัดรถเมล์ให้ท้องถิ่นใด แต่โรงเรียนสวนกุหลาบฯนี่ กทม.จะทำได้ดีกว่ารัฐหรือ ถ้าโอนกันหมดแล้ว แล้วหน้าที่ของรัฐจะอยู่ตรงไหน?

 

 ตอบ ถ้า กทม.แสดงศักยภาพได้ว่าสามารถทำได้ดีกว่า เราก็น่าจะหาทางมอบให้เขารับไปทำนะ แต่รัฐจะต้องยังคงรับผิดชอบกำกับดูแล และอุดหนุนให้ กทม.จัดการให้ได้คุณภาพดีกว่าเดิมจริงๆ ทำได้อย่างนี้ก็ถือว่ารัฐยังรักษาหน้าที่ของตนอยู่ ไม่ใช่ตัดหางปล่อยวัดเตะโรงเรียนสวนกุหลาบฯเป็นลูกฟุตบอลส่งให้ กทม.เอาไปต้มยำทำแกงแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่ทำได้ ตัว พ.ร.บ.กระจายอำนาจก็เปิดช่องไว้แล้วในมาตรา 21 ว่ารัฐอาจมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของตนให้ท้องถิ่นรับไปดำเนินการแทนก็ได้

 

 ถาม เหมือนเรามอบให้เอกชนรับสัมปทานรถเมล์ไปทำใช่ไหม

 

 ตอบ ครับ คือรัฐยังคงรับผิดชอบคุณภาพมาตรฐานการเดินรถเมล์ต่อประชาชนอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องทำด้วยตนเอง หากเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว รัฐจึงโอนโรงเรียนของตนให้ท้องถิ่นไม่ได้ ได้แต่มอบหมายให้จัดการให้ดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น ถ้ามอบแล้วเลวลงแน่ๆ ก็ห้ามมอบเพราะเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องทำให้ดีไม่ใช่ทำให้เลว

ถาม แล้วทำไมกฎหมายปัจจุบันมาเขียนไว้ว่าให้โอนโรงเรียนได้

 

 ตอบ ตรงนี้ถือว่าผิดและต้องแก้ไขกันเสียใหม่ให้ถูกต้อง ต้องเติมภารกิจในลักษณะเช่นโรงเรียนนี้ไปอีกอนุมาตราหนึ่งว่าให้ทำได้โดยการมอบหมายเท่านั้น โดยต้องมีกรอบเกณฑ์แสดงความพร้อมของท้องถิ่นที่แน่ชัดว่าพร้อมจะทำให้ดีขึ้นอย่างไร และรัฐจะยังคงอุดหนุนกำกับดูแลโดยเฉพาะอยู่อย่างไร ครูจะดีขึ้นสวัสดิการค่าตอบแทนไม่ลดลง มีครูประจำวิชาครบถ้วนได้เมื่อใด ท้องถิ่นจะช่วยเพิ่มกำลังให้โรงเรียนอย่างไรบ้าง เหล่านี้ต้องทำกรอบหลักให้ชัดเจนแล้วจึงทำข้อตกลงเป็นรายท้องถิ่นไป เบี้ยวเมื่อไหร่ก็ยึดคืนมา

 

 ถาม ในฐานะที่เป็น ส.ว.แปรญัตติไปอย่างไร

 

 ตอบ ก็เสนอให้แยกบริการสาธารณะเป็นสามกลุ่มให้ชัดเจน กลุ่มแรกเป็น "งานของท้องถิ่นโดยแท้" เช่นตลาด รถเมล์ ขสมก. อย่างนี้ต้องโอนเลยในสี่ปี

กลุ่มสองก็เป็นกลุ่ม "งานที่ต้องแบ่งกันทำ" เช่นให้รัฐรับทำทางหลวงแผ่นดิน อบจ.ทำทางจังหวัดลัดเลาะเข้าตำบลเข้าอำเภอต่างๆ ส่วน อบต.ก็แยกไปทำเส้นเลือดฝอยเข้าหมู่บ้านเข้าไร่นาต่างๆ สองกลุ่มนี้กฎหมายปัจจุบันเขียนไว้แล้วก็เพิ่มเติมให้มันชัดขึ้น

แล้วเพิ่มกลุ่มที่สามลงไปคืนเป็นกลุ่ม "งานที่รัฐมีหน้าที่ต้องทำและท้องถิ่นมีส่วนร่วม" เช่นโรงเรียน โรงพยาบาล กลุ่มนี้ต้องทั่วถึงและได้มาตรฐานทางวิชาชีพพวกนี้รัฐได้แต่มอบให้ท้องถิ่นเก่งๆ รับไปทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น จากนั้นเราก็ไปวางกรอบคัดเลือกท้องถิ่นกรอบอุดหนุนและกำกับดูแลให้มันชัดเจนอีกที ดึงทุกฝ่ายมาคุยมาวางกรอบกลางกันให้ชัดเจน โดยไม่ต้องมีระยะเวลาเร่งรัดถ่ายโอนอะไรกันอีก ผมว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีและรับกันได้ในที่สุดนะครับ

ถาม พวกครูเขากลัวกันมากว่า ผู้บริหารท้องถิ่นจะก้าวล่วงมาใช้อำนาจโดยมิชอบกับครูหรือโรงเรียน ตรงนี้จะแก้อย่างไร

ตอบ เป็นความกลัวที่สมเหตุผลมาก และที่อยู่กับกระทรวงในทุกวันนี้ก็ข่มเหงรังแกกันเองหนักหนาอยู่แล้ว ทั้งโดยกระทรวงหรือโดยเขตการศึกษาทั้งหลาย เราจะไปบีบให้เขาเลือกระหว่างเสือกับจระเข้ มันก็ไม่ถูกเหมือนกัน ขั้นตอนสำคัญที่จะต้องเร่งสร้างสรรค์ขึ้นก่อนที่จะมีการพิจารณามอบโรงเรียนให้ท้องถิ่นใดรับไปดูแล หรือแม้จะไม่มีการมอบแต่ก็ต้องเร่งทำให้เป็นจริงอยู่ดี เป็นเรื่องที่ย้ำนักย้ำหนา ในแผนปฏิรูปการศึกษาแต่ยังไม่คืบหน้าไปไหนเลยรู้ไหมว่าเรื่องอะไร

ถาม เรื่องกระจายอำนาจให้โรงเรียน ใช่ไหม

ตอบ ถูกต้องแล้ว กฎหมายปฏิรูปการศึกษามันหลงทางกระจายอำนาจออกจากกระทรวงแล้ว มันไม่ไปตกที่โรงเรียน ที่จะมีคณะกรรมการโรงเรียน จากชุมชนคอยรับผิดชอบดูแลโรงเรียนอย่างเข้มแข็ง กฎหมายได้แต่เขียนให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ตัวจริงกลับไม่มีตัวตนอะไร ทำให้ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของเขตการศึกษา ที่มีการเมืองครูและการเมืองท้องถิ่นครอบงำอยู่ จนการจัดการการศึกษาตกต่ำลงทุกวัน

ดังนั้น เราต้องรื้อ ต้องดึงอำนาจให้มาตกที่โรงเรียนซึ่งมีคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนที่เข้มแข็งใกล้ชิดกับชุมชนเสียก่อน พร้อมเงินอุดหนุนที่ชัดเจนเป็นธรรมจากรัฐ ทำให้ดีจนได้ที่อย่าให้โรงเรียนและครูถูกใครรังแกได้ จากนั้นแม้จะมอบให้ท้องถิ่นใดรับไปดูแล ก็ไม่มีทางที่ผู้บริหารท้องถิ่นจะเข้ามารังแกได้ ได้แต่มีหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือโรงเรียนให้ดีขึ้นตามสัญญากับรัฐเท่านั้น

นี่ต่างหากคือการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง คำตอบต้องอยู่ที่โรงเรียนก่อน ไม่ใช่การถ่ายโอนหรือมอบหมายอะไรทั้งนั้น เรื่องเหล่านี้มันต้องมาทีหลัง

ถาม ถ้ามันยุ่งมากอย่างนี้ เราน่าจะมอบโรงเรียนให้ต่างชาติเขารับไปปฏิรูปด้วยจะดีไหมทำไปพร้อมๆ กับโครงการรถไฟฟ้ากรุงเทพเลย

ตอบ ถ้าทำจริงก็คงต้องปล่อยค่าเล่าเรียนลอยตัวด้วยนะ เพราะกลไกตลาดนั้น มันต้องได้ตามที่จ่ายและจ่ายตามที่ได้ใช่ไหม

ทำไป...ทำมา...ทางที่ดีเราน่าจะรวบรัดเปิดประมูลสากลแล้วให้สัมปทานงานปกครองประเทศแก่บริษัทเก่งๆ ในโลกไปทั้งหมดเลยจะดีกว่า ตัวรัฐธรรมนูญที่ยืนยันถึงสัญญาประชาคมนั้น เราก็ไม่ต้องมี มีแต่ตัวสัญญาสัมปทานเท่านั้นก็พอจริงไหม น่าคิดจริงๆ แนวทางฉลาดๆ แบบนี้...โอ้...จอร์จ...เราจะหมดปัญหาไปหลายอย่างทีเดียว คุณเชื่อไหม คุณเห็นเหมือนที่ผมเห็นหรือเปล่า

ถาม พอก่อนดีกว่า...เดี๋ยวจะพากันป่วยไปเสียหมด

ตอบ จริงด้วย ขอบคุณมากที่หยุดผมไว้ได้ทันท่วงที เกือบไปแล้วจริงๆ

โรคสมาธิสั้นฟุ้งซ่านเป็นอาจิณ เกินเลยเหยียดหยามผู้อื่นเป็นนิตย์นี่ เป็นแล้วหายยากเสียด้วยเสพติดจนจมลึกอีกต่างหาก น่ากลัวจริงๆ 

ที่มา : มติชนรายวัน 26 ธันวาคม 2548

(อ้างจาก http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q4/article2005dec26p3.htm)

หมายเลขบันทึก: 151341เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2007 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ  ขอบคุณครูธนิตย์ที่นำเสนอข้อมูลดี ๆ ที่เป็นประโยชน์มาให้อ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท