คำถามที่รัฐบาลยังไม่ได้ตอบ?


โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ 

 สังคมกำลังสับสนกับการชุมนุมประท้วงของครู รวมทั้งมีการเบี่ยงเบนประเด็นว่าการชุมนุมเรียกร้องครั้งนี้ เป็นเพราะความเห็นแก่ตัวของครู

 

 หากครูเห็นแก่ตัวจริงก็ไม่จำเป็นต้องออกมาประท้วงคงยินดีถ่ายโอนไปอยู่กับ อปท.แต่โดยดี เนื่องจากในเอกสารการถ่ายโอนบอกว่า เงินเดือนของครูที่ถ่ายโอนแล้วต้องไม่ต่ำกว่าเดิม แถมอาจจะมีโบนัสอีกราว 5% หรืออาจถึง 5 เท่าของเงินเดือน หากคิดแค่เงินที่จะได้รับ ครูก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประท้วง

 

 แต่ทำไมครูยังประท้วง

 

 เพราะตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มมีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งกำหนดให้ถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัด อปท.นั้น ไม่มีการเตรียมการ ขั้นตอนที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในหน่วยงานต่างๆ ในระดับเบื้องบนว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องมีการถ่ายโอนโรงเรียน ทั้งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ไม่ได้กล่าวถึงการถ่ายโอนโรงเรียนไปสังกัด อปท.

 

 เรื่องนี้อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) นายคณิน บุญสุวรรณ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีเจตนารมณ์ ให้มีการถ่ายโอนสถานศึกษา ไปสังกัด อปท. แต่ต้องการให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

 

 คำถามที่ครูเป็นแสนๆ คนเฝ้าถาม แต่ไม่มีใครตอบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการก็ตามที ในเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนในประเด็นนี้ไว้ ทำไมกฎหมายของมหาดไทยจึงเขียนให้โอนสถานศึกษา ไปสังกัดกับกระทรวงมหาดไทย

 

 มหาดไทยคิดอะไรอยู่ หรือเห็นว่า การจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการแย่มาก จนต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหรืออย่างไร หากการศึกษาไปอยู่กับ อบจ. อบต. หรือเทศบาล อปท.เหล่านี้มีวิธีการจัดการศึกษาได้ดีกว่ากระทรวงศึกษาธิการอย่างไร น่าจะอธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรม หากเตรียมการไว้อย่างดีพร้อม

 

 กระทรวงมหาดไทยมีหลักประกันอะไรที่ทำให้เชื่อว่า หากโรงเรียนไปสังกัด อปท.แล้วโรงเรียนจะไม่ถูกแทรกแซงจากการเมือง ครูจะทำงานด้วยความสบายใจ เพราะความสบายใจ คือที่มาของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

 

 หากจะอ้างว่าการโอนสถานศึกษา เพราะคุณภาพการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดนั้นด้อยคุณภาพ แต่ทำไมเวลาประเมินผลสำเร็จในการทำงาน กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงหนึ่งที่ทำงานอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะข้าราชการครูของ สพฐ.ต่างได้รับโบนัสกันถ้วนหน้า ตั้งแต่ตัวเลขเป็นพันหรือมากกว่านั้นตามระดับเงินเดือน

 

 อีกทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่ เลขาฯสพฐ.ลงมา ก็ได้รับทั้งบำเหน็จรางวัล และคำชื่นชมมิใช่น้อย ถ้ากระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาแล้วด้อยคุณภาพจริง ทำไมไม่ลงโทษตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถึงผู้น้อยตามลำดับ ไล่เรียงมาเลย จะได้รู้ตัวว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

 

 การที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ครูยอมรับได้เพราะครูเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย ถึงการร่วมกันคิดร่วมกันทำ การกระจายอำนาจโดยหลักการแล้วดี ถ้าผู้ได้รับอำนาจไปรู้จักเหตุผลที่จะใช้อำนาจโดยยึดหลักคุณธรรม และที่มาของผู้มีอำนาจ หรือตัวแทนในท้องถิ่นที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาต้องมาด้วยความบริสุทธิ์ ปราศจากคำครหา

 

 หากครูยังไม่มั่นใจในเรื่องนี้ แทนที่จะโอนโรงเรียนไปสังกัด อปท. ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัย ไม่มั่นใจในความเชี่ยวชาญ ด้านการบริหารการศึกษาแล้ว ทำไมจึงไม่ออกเป็นกฎกระทรวง กำหนดให้มีตัวแทนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งร่วมวางแผนสนับสนุนในการจัดการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

 

 คำถามอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลไม่เคยตอบคือ แต่ละท้องถิ่นมีความพร้อมในการจัดการศึกษาแล้วหรือ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการประเมินความพร้อมของท้องถิ่นเลย

 ถึงวันนี้จริงๆ แต่ละท้องถิ่นน่าจะต้องผ่านการประเมินความพร้อมแล้ว และรู้ว่าความพร้อมของท้องถิ่นตนอยู่ในระดับไหน มีศักยภาพเพียงใด ต้องมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เป็นพยานหลักฐาน แล้วค่อยมาถามความสมัครใจของโรงเรียน ว่าโรงเรียนใดจะไปบ้าง

 

 แต่เวลาที่ผ่านมาไม่มีผลการประเมิ แล้ว จะให้โอนโรงเรียนไปสังกัด อปท.ครูที่ห่วงใยการศึกษา ก็ต้องถามหาคำตอบกันทุกคน

 

 คำถามต่อมานอกจากประเมินความพร้อมของท้องถิ่นแล้ว หากครูโอนไปสังกัด อปท. เท่ากับเปลี่ยนฐานะจากข้าราชการ เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น การเปลี่ยนฐานะก็ต้องมีกฎหมายรองรับไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน บำเหน็จบำนาญ ค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการต่างๆ ทุกอย่างมีกฎหมายรองรับแล้วหรือไม่ใช่บอกให้ไปก่อนแล้วกฎหมายจะตามมา ทำไมต้องเร่งรีบไป ในเมื่อประเทศไทยทุกอย่างต้องมีกฎหมายรองรับ รอมาได้ตั้งนาน หากยังไม่เรียบร้อยจะรอต่อไปไม่ได้หรือ?

 

 คำถามถึงมาตรฐานการศึกษา ถ้าโรงเรียนไปสังกัดทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล ซึ่งแต่ละองค์กร มีมาตรฐานในการจัดการศึกษาไม่เท่าเทียมกันแน่นอน รวมทั้งแต่ละท้องถิ่นมีจุดเน้นในที่ต่างกัน จะมีผลต่อคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันหรือไม่?

 

เมื่อนักเรียนจบชั้น ม.6 ก็ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยใช้ข้อสอบในมาตรฐานเดียวกัน แต่คุณภาพที่เด็กได้รับจากการจัดการศึกษาต่างกัน ตามความสามารถในการจัดการศึกษาของท้องถิ่น แล้วเด็กจะไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการศึกษา?

 

 ในต่างประเทศ การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาให้แต่ละท้องถิ่นจะไม่มีปัญหา เพราะแต่ละท้องถิ่น นอกจากคนจะพร้อมแล้ว มหาวิทยาลัยที่จะรองรับเด็กในท้องถิ่นหรือรัฐ มีคุณภาพและจำนวนเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งกันเข้าเรียนเหมือนในเมืองไทย

 

 หากจะตอบว่ามาตรฐานการศึกษาของแต่ละท้องถิ่นที่จัดมีมาตรฐานเดียวกัน เพราะได้รับการวางแผนการศึกษา จาก อปท.ที่ส่วนกลาง หากเป็นดังนั้นวิธีการเช่นนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากที่กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการยังให้อำนาจแก่โรงเรียนในการเขียนหลักสูตรสถานศึกษา และหลักสูตรท้องถิ่นใช้เอง โดยอิงกับหลักสูตรแกนกลาง มีเด็กนักเรียนจบหลักสูตรนี้ไปแล้วหลายรุ่น

 

 การประเมินคุณภาพการศึกษาก็ไม่เห็นมีปัญหาอันใด

คำถามต่อมาคือ กระทรวงศึกษาธิการเคยทำความเข้าใจกับครูเกี่ยวกับความจำเป็นต้องถ่ายโอนสถานศึกษา ไปสังกัดกับ อปท.มาก่อนนี้หรือไม่

ถ้าเคยชี้แจงทำความเข้าใจกับครูเป็นแสนๆ คนทั้งที่มาชุมนุม และที่อยู่แนวหลังอีกเป็นจำนวนมาก คงไม่มีเสียงคัดค้านมากมายขนาดนี้

แต่เท่าที่ได้ยินจนชินหูคือ คำชี้แจงว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องถ่ายโอนโรงเรียนให้กับ อปท. เพราะมีกฎหมายเขียนไว้ กระทรวงศึกษาธิการต้องทำตามกฎหมาย

ครูต่างงงและสงสัย ทำไมกระทรวงศึกษาธิการ ต้องทำตามกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย หากกฎหมายของกระทรวงศึกษาฯ เขียนให้โอนงานของกระทรวงมหาดไทยมาไว้กับกระทรวงศึกษาฯ ยังสงสัยว่ากระทรวงมหาดไทยจะทำตามไหม? 

การที่รัฐมนตรีอ้างเพียงว่ามีกฎหมายจึงต้องทำตาม หากกฎหมายมีข้อสงสัยว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อีกทั้งทำไมคนจึงคัดค้านเป็นแสน จะอ้างว่าคนที่คัดค้านเป็นผู้เสียผลประโยชน์แล้วเสียตำแหน่งก็คงไม่ใช่ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ประท้วงเป็นครูผู้สอน หากต้องโอนไปอยู่กับ อปท.จริงๆ ก็คงไม่เดือดร้อนมากนัก เพียงแต่คนเหล่านี้เขากังวล ถึงคุณภาพการศึกษา และกลัวการเมืองมาแทรกแซงการศึกษา เขาไม่ไว้วางใจนักการเมือง ท่านรู้หรือไม่?

อีกทั้งกฎหมายเขียนขึ้นโดยคน หากกฎหมายมีปัญหาทำให้เกิดข้อขัดแย้งของคนจำนวนมากรวมทั้งหากโอนโรงเรียนไปจริงๆ ก็ยังตอบไม่ได้ 100% ว่าคุณภาพการศึกษาจะดีกว่าเดิม หรือแย่กว่าเก่า ทำไมต้องให้ลองไปก่อน การศึกษาไม่ใช่เรื่องที่จะมาทดลองกันเล่นๆ

รู้ไหม? ทำไมครูเขาต้องประท้วง เพราะความรู้สึกอัดอั้นตันใจเหล่านี้ ทั้งภาพในอดีตที่เคยสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในฐานะครูประชาบาล ยังตามมาหลอกหลอน แม้ว่าจะผ่านไปนานนับสิบปีแล้วก็ตาม คำถามต่างๆ ที่เฝ้าถามข้อสงสัยต่างๆ นานา เป็นคำถามที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากทั้งรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ไม่มีใครสักคนประกาศตัวยืนอยู่เคียงข้างครู เหมือนมีพ่อแม่ แต่คอยขับไสไล่ส่งลูกออกจากบ้านตลอดเวลา

ความหวังดีจริงใจไม่เคยเห็น มีแต่หาหนทางเอาผิดวินัยครูที่มาชุมนุมประท้วง ทำไมไม่คิดย้อนกลับว่า ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา หากสร้างความเข้าใจ เตรียมความพร้อม หรือยอมรับความจริง ไม่ซื้อเวลา และคิดทบทวนให้ดีว่า ทำไมอยากให้โรงเรียนอยู่กับ อปท. ทำวิจัยผลดีผลเสียแล้วหรือยัง

นอกจากผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการจะไม่สนใจต่อคำเรียกร้องของครูแล้ว แม้แต่นายกรัฐมนตรียังมองครู ด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตร ด้วยการกล่าวชื่นชมตัวแทน อปท.ที่เข้าให้กำลังใจ นายกฯว่ามีความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่เล่นการเมือง และมองว่าครูเล่นการเมือง การปฏิบัติต่อครูเหมือนเป็นบุคคลชั้นสอง คำร้องขอของครูไม่น่าสนใจ ทั้งที่ตลอดเวลา ครูปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกา และทำตามความคาดหวังของสังคมเป็นอย่างดี

สังคมอาจจะมองว่า กฎหมายเขียนว่าให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ แต่เพราะเหตุใดครูจึงต้องประท้วง?

ครูประท้วงเพราะคำว่า "สมัครใจ" มีปัญหา ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อผู้บริหารโรงเรียนมัธยมไปแสดงเจตจำนงว่าสมัครในไปสังกัด อบจ.นั้น ยังไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของครูในโรงเรียนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมีการแจกเอกสารในโรงเรียนมัธยม เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีสิทธิที่จะโอนหรือไม่โอนก็ได้ แต่หากไม่โอน(เอกสารชี้แจงยกตัวอย่างงานของ รพช.) ข้าราชการเหล่านี้จะได้รับแต่เงินเดือน แต่ไม่มีงานทำ เมื่อไม่มีงานทำจึงเกิดปัญหาในเรื่องของการเลื่อนขั้นเงินเดือน และความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ถ้าในที่สุดต้องโอน ก็ต้องไปอยู่ในท้องถิ่นที่เหลือจากการเลือกของคนอื่นแล้ว

จากคำชี้แจงนี้ ทำให้เห็นปัญหาของความสมัครใจ เพราะเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการบีบบังคับในทางอ้อมให้โอน เพราะการให้เงินเดือนแต่ไม่ให้งานทำ ก็คล้ายๆ เป็นการลงโทษทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด เป็นเพียงเพราะไม่ยอมโอน หากทำดังนี้จะเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในการเลือกปฏิบัติต่อคน

การไม่มอบหมายให้ทำงาน หากเป็นงานอื่นอาจไม่กระทบต่อส่วนรวมเท่าที่ควร เพราะอัตรากำลังอาจจะเพียงพอ แต่หากเป็นครูใครไม่โอนอาจไม่ได้สอน หรือหาวิธีการกลั่นแกล้งอื่นๆ ให้ครูหมดกำลังใจในการสอน แล้วใครจะเสียผลประโยชน์ ในขณะที่ครูทั่วประเทศขาดแคลนหลายหมื่นอัตรา อีกทั้งการเอาแนวคิดนี้มาชักจูงแกมบังคับเพื่อให้เกิดความกลัว เป็นเหตุผลที่ควรจะชื่นชม?

หากรัฐปล่อยให้เกิดภาวการณ์เช่นนี้ คนส่วนน้อยในโรงเรียนมัธยมที่ไม่ยอมโอน จะถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพียงเพราะไม่สนองเจตนารมณ์ของรัฐบาล ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบที่สามารถปล่อยให้การเลือกปฏิบัติ ดำรงอยู่ในประเทศ ที่ได้ชื่อว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเวลาช้านานกว่า 70 ปี ก็ตามใจ

สภาพการณ์ในขณะนี้ ครูออกมาชุมนุมเรียกร้องเพื่อปกป้องการศึกษา กลับมองว่าครูเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

หากคำถามที่ครูเฝ้าเพียรถามผู้มีอำนาจ ได้รับการตอบด้วยความจริงใจ รวมทั้งข้อเรียกร้องของครูได้รับความเอาใจใส่ และใคร่ครวญให้ดี ย่อมจะรู้ว่า การกระจายอำนาจทางการศึกษาไม่จำเป็นต้องโอนโรงเรียนไปสังกัด อปท.เพียงอย่างเดียว เพราะนั่นคือการรวบอำนาจการจัดการศึกษานั่นเอง เพื่อใคร?

ส่วนคำถามที่สังคมเฝ้าเพียรถามคือ ทำไมครูต้องประท้วง เป็นตัวอย่างที่ดี?

ครูก็จะตอบสังคมว่า การชุมนุมประท้วงเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย หากผู้มีอำนาจให้ทำสิ่งใด หรือทำอะไรตามใบสั่ง โดยไม่ต้องรู้เหตุผล ขณะที่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมที่จะทำ หากทำเพราะถูกสั่งให้ทำ แล้วครูจะไปสอนเด็กให้รู้จักตระหนักในสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของตนเองได้อย่างไร เพราะสิทธิหน้าที่ และเสรีภาพเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ควรจะได้รับการปกป้องและรักษาไว้ และมีส่วนทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้

คำถามทุกคำถามที่ต่างฝ่ายต่างถาม หากได้รับการตอบด้วยความเอาใจใส่ ปราศจากการดูถูกเหยียดหยาม ความเข้าใจย่อมเกิดขึ้น

และนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  

ที่มา : มติชนรายวัน 26 ธันวาคม 2548

(อ้างจาก http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q4/article2005dec26p6.htm)

หมายเลขบันทึก: 151333เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2007 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับบทความนี้ น่าจะมีคำตอบให้ว่าโอนไปแล้วคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นอย่างไร  อยากทราบเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท