ชีวิตที่พอเพียง : 416. เดินทางกลับจากนิวยอร์ค อยู่ที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านเรา


         เช้าวันที่ 30 ต.ค. 50 ผมปรับสมอง จาก tourist mode / vacation mode ไปเป็น start working mode เพราะมีงานรออยู่ในวันที่ 31 ต.ค. และ 1 พ.ย. มากมาย     สิ่งที่ต้องฝึกก็คือ หาทางพักผ่อนบนเครื่องบินให้มากที่สุด     เพื่อให้เมื่อกลับเมืองไทยสมองและร่างกายสดชื่นพอที่จะทำงานได้ดี

        คนขับแท็กซี่แนะนำเราว่า เครื่องบินออก 11.30 น. เราออกเดินทางไปสนามบินเวลา 9 น. ก็ทัน     แต่ภรรยาผู้รอบคอบบอกว่า 8 น.   และเมื่อคืนมูราลี่แนะนำว่าควรออก 7.30 น. เพราะตอน 8 น. จะหารถแท็กซี่ยาก     ผมเห็นวิธีมองประเด็นของคน 3 คนทันที

         ผมถามตัวเองใหม่ ว่าเมืองนิวยอร์คน่าอยู่ไหม     คำตอบคือทั้งน่าอยู่และไม่น่าอยู่      ที่น่าอยู่คือมันมีอะไรๆ ให้เรียนรู้เติมเต็มส่วนที่ผมขาดได้มาก     เพราะผมเติบโตมาแบบขาดๆ วิ่นๆ     การได้มีโอกาสมาซึมซับจาก metropolitan life แบบชีวิตในนครนิวยอร์ค จึงเป็นบุญ     ผมคิดว่าถ้ามีโอกาสมานิวยอร์คอีกผมจะวางแผนไปชมพิพิธภัณฑ์ให้ฉ่ำไปเลย      และจะหาโอกาสไปชมวิถีชีวิตของคนที่ใช้วิถีชีวิตทางเลือก เช่น Amish ที่ฟิลาเดลเฟีย ด้วย    ที่น่ามาสำหรับผมคือมีที่พักอย่างสบายของลูกสาวและลูกเขยอยู่ใจกลางเมืองเลยทีเดียว

         ที่ไม่น่าอยู่คือเป็นป่าคอนกรีตที่หนวกหูมาก    สกปรกและขาดความรู้สึกสงบจากต้นไม้และธรรมชาติ     มีความพลุกพล่านและให้ความรู้สึกว่าเป็นเมืองของคนที่จิตใจพลุ่งพล่านไม่มีความสงบทางใจ    

         แท็กซี่ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ถึงสนามบิน JFK     เช็คอินของการบินไทยอยู่ที่ Terminal 4     การมีระบบ terminal อยู่แยกกันทำให้บรรยากาศของสนามบินไม่พลุกพล่าน     ผมมีความเห็นว่า การออกแบบสนามบินต้องคำนึงถึงการสร้างบรรยากาศที่รู้สึกสบาย ไม่พลุกพล่าน    เจ้าหน้าที่เช็คอินของการบินไทยเป็นคนไทยอายุสัก 50    แม้จะทำงานช้าแต่อัธยาศัยดี ให้บริการอย่างมีจิตบริการ   ช่วยขออนุญาตให้เราเข้าใช้ห้องรับรอง Oasis ที่การบินไทยมีสัญญาใช้บริการ

         ในห้องรับรองเราพบ อ. เจษฎา รอง ผอ. ศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ และ ภญ.รศ.ดร.ปลื้มจิตต์   โรจนพันธุ์  ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์  ม. มหิดล มาติดต่อเรื่องการดำเนินการเชิงพาณิชย์ของสิทธิบัตรเจลฟ้าทะลายโจร ที่คุณเฉลียว อยู่วิทยา ช่วยจดสิทธิบัตรใน 13 ประเทศ เป็นเงินถึง 5 ล้านบาท     และจะมาร่วมกับคณะสัตวแพทย์ของ U of Tennessee at Knoxville ในการวิจัยต่อเพื่อพัฒนาเป็นยาสัตว์   

         Oasis Lounge นี้ใหญ่มาก มีห้องสมุด ห้องน้ำ, free internet, อาหาร, ผลไม้ เครื่องดื่มให้กินอย่างดี     และคนไม่แน่น

สงครามยุคที่ 4
         บนเครื่องบิน ผมอ่าน นสพ. ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ 27 Oct - 2 Nov 2007 มีบทนำเรื่องสงครามแห่งอนาคตน่าสนใจมาก    เขาบอกว่าการสงครามกำลังเข้าสู่ยุคที่ 4   โดยแบ่งยุคของสงครามดังนี้
     • ยุคที่ 1 เป็นยุคที่รบด้วยทหารราบ   ใช้แนวรบ (lines)  และแถวทหาร (column) เป็นยุทธศาสตร์    นี่คือสงครามยุคนโปเลียน
     • ยุคที่ 2 รบด้วยปืนกลและปืนใหญ่ เป็นยุคสงครามโลกครั้งที่ 1
     • ยุคที่ 3 รบด้วยรถถังและเครื่องบิน  เป็นช่วงตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงสงครามอเมริกันบุกอิรักในปี ค.ศ. 2003
     • ยุคที่ 4 เป็นการรบแบบใช้เครือข่ายหลวมๆ ใช้พลังและความยืดหยุ่นของเทคโนโลยีสารสนเทศ    ไม่ได้มีเป้าหมายหลักเพื่อเอาชนะกำลังรบของข้าศึก    แต่มุ่งพุ่งเป้าเอาชนะความคิดของผู้มีอำนาจตัดสินใจของข้าศึกเพื่อทำลาย political will ในการทำสงครามของข้าศึก   เท่ากับว่าสงครามยุคที่ 4 ไม่ใช่เอาชนะด้วยกำลังฆ่าฟัน   แต่เอาชนะกันที่ความคิดหรือสมอง      ฝรั่งเขาบอกว่าสงครามสมัยใหม่เน้นที่ brain  (สมองหรือปัญญา) ไม่ใช่ที่ brawn (กล้ามเนื้อ หรือความรุนแรง)

         เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับสงครามโดยสิ้นเชิง    โดยที่ฝ่ายหนึ่งอาจชนะทุกการรบ (battle) แต่แพ้สงคราม (war)    เหมือนที่สหรัฐอเมริกาเผชิญในสงครามเวียดนาม 

         ก่อนบุกอิรัก กองทัพอเมริกันบอกว่าจะเอาชนะการรบได้แบบสายฟ้าแลบ    ซึ่งเป็นความจริงหากวัดที่รัฐบาล ปธน. ซัดดัม ฮุสเซนแตก แต่ยิ่งนับวันดูอเมริกันจะกำลังแพ้สงคราม
 
         เห็นได้ชัดว่าพลังอำนาจของอาวุธหรือเทคโนโลยีไม่ใช่ตัวตัดสินแพ้ชนะในสงคราม    ตัวตัดสินคือความเข้าใจผู้คนในประเทศคู่สงคราม    และการทำความเข้าใจกับประชาคมโลก
                      
         บทเรียนที่ได้จากการที่อเมริกันใช้พลังอาวุธที่เหนือกว่าเข้ายึดครองอิรักและอัฟกานิสถานสอนเราว่าวิธีต่อสู้กับความแข็ง  ต้องใช้ความอ่อน    คือใช้สงครามประชาชน    และที่จริงสงครามประชาชนก็มีการใช้มาเป็นพันปีในยุโรป  ใช้โดยเหมาเจ๋อตง  โดยโฮจิมินห์  และอื่นๆ
  
         สงครามสมัยใหม่มีการเปลี่ยนนิยามของคำต่างๆ หมด ได้แก่ คำว่าชนะ แพ้ การต่อสู้ความไม่สงบ การต่อสู้การก่อการร้าย สงครามกลางเมือง ฯลฯ

         ประเทศที่มีอำนาจทางอาวุธและเทคโนโลยี  ต้องต่อสู้กับอำนาจประชาชน   ต่อสู้กับความรู้สึกว่าถูกข่มเหง    และมีคนทั้งโลกจับตาดูผ่านระบบการสื่อสาร   

         สงครามสมัยใหม่ มุ่งเอาชนะหัวใจและใจคน   ไม่ใช่ชนะพลังการรบ
 
         ผมตั้งใจว่าจะนอนให้มาก     แต่ไม่สำเร็จ     ลงท้ายได้ดูหนังเพลงที่เอลวิส แสดงนำถึง 3 เรื่อง คือ  Fun in Acapulco, Blue Hawaii, GI Blue เป็น movie on demand ผู้โดยสารแต่ละคนเลือกเรื่องที่ตนอยากดูได้ตามความพอใจ    เป็นความก้าวหน้าของบริการให้ความบันเทิงบนเครื่องบินเที่ยวที่เป็นระยะทางไกลๆ
 
         ผมดูหนังเอลวิสซึ่งร่วมสมัยกับช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่น      แล้วทบทวนมุมมองของตนเองว่าเมื่อแก่ตัวลงผมมีทัศนคติต่อเอลวิส และเพลงของเอลวิสต่างกับตอนเป็นเด็กๆ อย่างตรงกันข้าม     เมื่อ 50 ปีก่อนผู้ใหญ่มองเพลงและหนังเอลวิสว่าทำให้เด็กใจแตกและนิยมความรุนแรง      ผมระมัดระวังตัวเองเต็มที่ไม่ให้เข้าใกล้ กลัวตัวเองใจแตก    แต่ตอนนี้ดูหนังฟังเพลงเอลวิสแล้วชื่นใจ

         กลับมาถึงบ้าน ได้กลิ่นดิน กลิ่นต้นไม้ ดอกไม้     ได้ยินเสียงกบเขียดร้อง     รู้สึกสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก     บอกตัวเองว่านี่คือความสุขที่ผมคุ้นเคย และรู้สึกว่าขาดหายไปตอนอยู่ในอเมริกา

วิจารณ์ พานิช
1 พ.ย. 50

หมายเลขบันทึก: 151019เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2007 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 01:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท