คณิตศาสตร์การเงิน: เงินเฟ้อระยะยาวของประเทศไทยเป็นเท่าไหร่ ?


ท่านใดมีเกร็ดประวัติศาสตร์ราคาสินค้าหรือกรณีทำนองนี้ไหมครับ ลองเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะได้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการวางแผนต่าง ๆ ได้ ให้เป็นการทำ KM แบบมุขปาฐะที่ใช้งานได้จริง

ตามปรกติแล้ว ข้อมูลเงินเฟ้อรายปี อาจพอหาได้ไม่ยากนัก เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเผยแพร่ข้อมูลอยู่แล้ว

แต่ข้อมูลเฉลี่ย ในระยะยาวมาก ๆ ผมยังหาไม่เจอ ทั้งที่คิดว่า เป็นตัวเลขน่าสนใจ

ที่ว่าน่าสนใจ เพราะ ใครก็ตาม ต้องการวางแผนเกษียณ ไม่ว่าจะอยู่ที่อายุเท่าไหร่ ตัวเลขที่มองข้ามไปแล้วทำให้แผนล้มเหลวเหมือนไม่มีแผน ก็คือเงินเฟ้อนี่แหละ โดยต้องใช้แทนค่าตามสูตรต่อไปนี้

ยอดเงินออมที่ต้องมี(เพื่อให้อยู่ยั่งยืน) = 1200 คูณ ค่าใช้จ่ายรายเดือน หารด้วย (ร้อยละผลตอบแทนต่อปีของการลงทุน - ร้อยละเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปี)  

ดังนั้น เมื่อไม่เจอข้อมูลดังกล่าว คำนวณเองก็แล้วกัน แก้ขัดไปก่อน

สูตรคำนวณไม่ยากครับ ถ้าคิดว่า เงินเฟ้อเป็นการโตแบบทบต้น (exponential growth)

ร้อยละเงินเฟ้อ =

100 x [ LN (ราคาปัจจุบัน/ราคาอดีต)] / (เวลาปีปัจจุบัน - ปีอดีต)

โดย ln เป็น logarithm ฐาน e ซึ่งมีในเครื่องคิดเลข หรือใช้ spreadsheet เช่น excel ก็ได้ 

ที่เหลือ เป็นเรื่องของรายละเอียดในการกดเครื่องคิดเลข

 เช่น สมัยปี 2515 ผมจำได้ว่า ข้าวราดข้างบ้าน จานละ 5 บาท

ห่างมา 35 ปี (2550) ราคาข้าวราดแบบนั้น ประมาณ 25 บาท

แทนค่า ได้ เงินเฟ้อ (ข้าวราด) = 100 % x [ LN(25/5) ] / 35

หมายเหตุ: กรณีนี้ เวลาทำใน Excel อาจพิมพ์เข้าไปว่า

        = 100 * LN(25/5) / 35

หรือถ้าใช้โปรแกรมเครื่องคิดเลข ให้กดตัวเลข 25/5 แล้วกดปุ่ม [ln] แล้วหาร 35 อีกที แล้วตามด้วยคูณ 100

หรือนั่นคือ เงินเฟ้อจากฐานคิดเป็นข้าวราด คือ 4.6 % (รอบ 35 ปี)

เอาอีกสักตัวอย่าง

เคยอ่านผ่านตาจากหนังสือบันทึกอัตชีวประวัติของ อาจารย์สมศรี สุกุมลนันทน์ เล่าว่า ปี 2481 เงินเดือน ป.ตรี ราว 110 บาท ส่วนปัจจุบัน ประมาณ 6500 บาท

ลองแทนค่าดู จะได้เงินเฟ้อ 5.9 % (ในรอบ 70 ปี)

คุณแม่ผมจำได้ว่า ปี 2496 ทองหนักหนึ่งบาท ราคา 200 บาท ในขณะที่ปีนี้ ขึ้นไป 13000 บาท

กรณีนี้ ก็จะได้ว่าเงินเฟ้อจากฐานคิดราคาทองคำ - "ทองเฟ้อ" คือ 7.7 % (ในรอบ 54 ปี)

ดูเหมือนว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาว จะอยู่แถว ๆ 6 % ?

อย่าพอใจแค่นี้นะครับ ถ้าท่านผู้อ่านมีข้อมูลราคาย้อนยุคนาน ๆ หน่อย ต่อให้ไม่เป็นทางการก็ไม่เป็นไร เกิดไม่ทันก็ไม่เป็นไร ลองไปถามคนเฒ่าคนแก่ที่รู้จักให้ลองเล่าสู่กันฟัง ผมจะกดเครื่องคิดเลขให้เองครับ

 

หมายเลขบันทึก: 149329เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2007 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ อ.วิบุล

น่าสนุกจังค่ะ เริ่มที่ราคาก๋วยเตี๋ยวสมัยปาป๊ายังเด็กนะคะ ปี 2498 ผัดไทยห่อละห้าสิบตังค์ ปัจจุบัน 20 - 35บาท

เงินเดือนแม่สมัยบรรจุปกศ.สูงปี 2505 ..600 บาทปัจจุบันไม่ทราบค่ะเพราะปกศ.สูงรู้สึกจะไม่มีแล้ว เอาใหม่นะคะ  ^ ^

ทองสมัย 2505 บาทละ 400 ปัจจุบัน 13,000..ค่ารถเมล์ปี 2500 ในกทม.สุดสายแพงสุด 1 บาท ปัจจุบันสุดสายไม่ทราบราคาค่ะ

หมูที่ ชร.ปี 2510 กก.ละ 14 บาท ปัจจุบัน 90 บาท

ไว้เบิร์ดนึกออกอีกจะเข้ามาคุยด้วยอีกทีนะคะอาจารย์  ^ ^

 

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ
  • ลองมาวิเคราะห์ดูนะครับ ว่าจะเห็นอะไร...

"เริ่มที่ราคาก๋วยเตี๋ยวสมัยปาป๊ายังเด็กนะคะ ปี 2498 ผัดไทยห่อละห้าสิบตังค์ ปัจจุบัน 20 - 35บาท"

เทียบเท่าเงินเฟ้อ 7.1 % - 8.2 % (2498-2550)

...แสดงว่า คนรวยยุคหน้า แทนที่จะซื้อ long position กองทุนทองคำ ควรมา long futures ของก๋วยเตี๋ยว จะรวยพอกัน !

"ทองสมัย 2505 บาทละ 400 ปัจจุบัน 13,000"

เทียบเท่าเงินเฟ้อ 7.4 % (2505-2550)

"หมูที่ ชร.ปี 2510 กก.ละ 14 บาท ปัจจุบัน 90 บาท"

เทียบเท่าเงินเฟ้อ 4.6 % (2510-2550)

..แบบนี้ ควรขาย short future หมู ไปซื้อ long future ก๋วยเตี๋ยวซะให้เข็ด...

 

 

 

สวัสดีค่ะ อ.วิบุล

เบิณ์ดหัวเราะก๊ากๆด้วยความสนุกกับเศรษฐศาตร์เงินเฟ้อข้างกระทะผัดไทยที่อาจารย์นำเสนอให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากเลยค่ะ ก๋วยเตี๋ยวปรุงสำเร็จขึ้นราคาได้มากกว่าหมูที่เป็นตัวๆ

เอาดัชนีไข่ไก่ - น้ำมันเบนซิน กับมาม่าบ้างนะคะ อิ อิ อิ

ไข่ไก่ 2514 ฟองละ 0.75 บาทปัจจุบัน 2.50 - 3.20 บาท

น้ำมันเบนซินปี 2532 ที่ ชร. ลิตรละ 9.20 ปัจจุบัน 34 บาทค่ะ

มาม่าปี 2520 ซองละ 1.50 บาท ปัจจุบัน 6 บาท..อาจารย์เก่งนะคะทำเอาดัชนีเงินเฟ้อของรัฐบาลหงายท้องไปเลย..ชอบใจจริงๆค่ะ  ^ ^

 

"อาจารย์เก่งนะคะทำเอาดัชนีเงินเฟ้อของรัฐบาลหงายท้องไปเลย..ชอบใจจริงๆค่ะ"

  • คุณเบิร์ดเข้าใจโยนเผือกร้อนใส่มือคนอื่นนะครับ เล่นเอาผมหัวเราะไม่ค่อยออกเลย แหะ แหะ แหะ (หัวเราะพอเป็นพิธี เพื่อสาธิต)
  • ดัชนีที่ภาครัฐทำไว้ จะแม่นยำสูง เพียงแต่ไม่ได้ย้อนยุค เขาทำเป็นระยะสั้น ก็ใช้จับชีพจรเศรษฐกิจมหภาคระยะสั้นได้ แต่พวกหญ้าฝอยหญ้าแพรกอย่างผม คงไม่ได้สนใจหยิบไปใช้เหมือนกรณีของค่าเฉลี่ยระยะยาวมาก ๆ 

เข้าประเด็นดีกว่า...

"ไข่ไก่ 2514 ฟองละ 0.75 บาทปัจจุบัน 2.50 - 3.20 บาท"

เทียบเท่าเงินเฟ้อ 3.3% - 3.9 % (2514-2550)

"น้ำมันเบนซินปี 2532 ที่ ชร. ลิตรละ 9.20 ปัจจุบัน 34 บาทค่ะ"

เทียบเท่าเงินเฟ้อ 6.9 % (2532-2550)

"มาม่าปี 2520 ซองละ 1.50 บาท ปัจจุบัน 6 บาท"

เทียบเท่าเงินเฟ้อ 4.5 % (2520-2550)

 

น่าสนใจว่า...

  • ของกินส่วนใหญ่ เฟ้อไม่แรง เท่าของที่กินไม่ได้
  • ก๋วยเตี๋ยว จึงเป็นของกินระดับสูง เพราะเฟ้อตามภาวะราคาทองคำ ควรใช้เป็นดัชนีชี้วัดความหรูหราในสังคมได้
  • ในอนาคต ใครจะ "เอารุ่ง" ร้านอาหาร จึงควรพิจารณาการขายก๋วยเตี๋ยวเป็นพิเศษ
  • ...(ผมสรุปถูกไหมนี่ >.<)

 

สวัสดีครับอาจารย์

ผมมีความคิดอยู่อย่างที่น่าจะอธิบายได้ว่าทำไมก๋วยเตี๋ยวถึงมีอัตราเงินเฟ้อสูงครับ

นั่นก็คือ

เพราะคนไทยไม่พกเหรียญบาทและเหรียญสตางค์ครับ ดังนั้นการขึ้นราคาเลยทำทีละห้าบาท สิบบาท

น่าคิดไหมครับที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ยังมีเหรียญหนึ่งเพนนี (หนึ่งสตางค์เมืองไทย) หรือว่าญี่ปุ่นก็มีเหรียญร้อยเยน ผมไม่แน่ใจว่าเหรียญหนึ่งเยนมีไหมนะครับ

เหรียญพวกนี้นั้นเอามาใช้ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้ครับ

อันนี้ความคิดของผมเองนะครับ แต่ตามหลักเศรษฐศาสตร์เงินเฟ้อแสดงว่าอัตราการว่างงานน้อยนะครับอาจารย์

ขอบพระคุณครับ

คุณ P  ไปอ่านหนังสือ

  • เรื่องก๋วยเตี๋ยว ผมไม่แน่ใจว่า ตัวเลขราคา จะบังเอิญเป็นเพราะ "การสุ่มตัวอย่าง" อาจไม่ดีพอนัก เช่น ตอนเด็กเจอร้านขายถูกมากเกิน ตอนโต ก็เจอร้านที่ขายแพงมากเกิน ? เลยทำให้ตัวเลขอาจสูงไป ?
  • ใครมีความชำนาญเรื่องทานก๋วยเตี๋ยว กรุณาเพิ่มเติมข้อมูลด้วย จะเป็นพระคุณ...
  • ส่วนเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค ผมไม่มีความรู้ ก็ขอฟังอย่างเดียวครับ

สวัสดีครับ น้องต้น P  ไปอ่านหนังสือ

 

  • ไม่กี่วันก่อน เห็นข่าวแวบ ๆ เรื่องภาครัฐพยายามผลักดันเรื่องทำนองเดียวกับที่น้องต้นว่า คือ จะให้มีเหรียญใช้พออะไรสักอย่าง
  • "...เหรียญพวกนี้นั้นเอามาใช้ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้..."
  • เพิ่งมานึกได้ตอนกลับมาดูบล็อก
  • ก็น่าคิดอยู่นะครับ ว่าจะทำได้ผลหรือเปล่า...

มีการคาดการณ์กันว่า ไตรมาส 2 ของปี 2009 เศรษฐกิจของอเมริกาจะดีขึ้น  และทุกอย่างอาจจะดีขึ้น ราคาน้ำมันคงจะลงมาบ้าง ถ้า หลายๆประเทศ ยกเลิกการอุดหนุน   และหวังว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ระดับไม่เกินที่ธปท  คาดการณ์ไว้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท