"ป้าอยากใส่ฟัน....แต่ไม่อยากถอนฟันค่ะ++"


“สุขภาพดี” จึงเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และการให้คุณค่าของผู้ที่เป็นเจ้าของสุขภาพมากเท่าๆกับ ( หรือมากกว่า ) ที่จะสภาวะทางกายล้วนๆ

วันนั้นเป็นวันอาทิตย์  ผมลงทำงานคลินิกแห่งหนึ่งแถวศรีนครินทร์

มีคนไข้คนหนึ่ง  ผมได้รับ Refer มาจากพี่เจ้าของร้านที่เป็นหมอจัดฟัน

คนไข้เป็นอาม่า  อายุ 74 ปี แข็งแรงทีเดียว....พูดจ้อเลย...

แกมาพบคุณหมอเจ้าของร้านก่อน เพราะอยากจะทำฟันปลอม  แต่สภาพภายในช่องปากของอาม่านั้น ฟันบนมีอยู่ 4 ซี่ ฟันล่างเหลือแต่ฟันหน้าล่าง 3 ซี่ ทุกซี่มีการสึกบริเวณรอบคอฟัน เหงือกมีการอักเสบ มีหินน้ำลาย....

 คือ สภาพช่องปากเช่นนี้ยังไม่เหมาะในการทำฟันปลอม พี่เจ้าของร้านก็แนะนำให้อาม่าถอนฟันออก ให้เหลือฟันเขี้ยวบนสักซี่หนึ่ง  ฟันล่างให้เอาออกหมดเลย  เพราะประเมินแล้วว่าเก็บไว้ในอนาคตก็คงต้องถอนออกในที่สุดอยู่ดี

แต่ อาม่า เป็นอาม่าที่กลัวถอนฟันมากกกก++++

หัวเด็ดตีนขาด...อาม่าก็จะไม่ยอมถอนฟัน...ต่อรองขอพิมพ์ปาดแล้วใส่ฟันเลยได้ไหม???? คุยกันไป-มาก็กลับอยู่ประเด็นเดียว ในที่สุดพี่เขาก็ขอร้องให้ผมคุยกับแกแทน

ผมจึงได้พูดคุยกับอาม่า.....(วันนั้น เกือบชั่วโมงที่คุยกันเฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร) แต่การพูดคุยอย่างละเอียดเป็นเวลานานๆเช่นนี้ ทำให้ผมทราบอีกมิติหนึ่งของคนไข้ ที่คุณหมอหลายๆคนมองข้ามไป...

อาม่าเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนแกเคยปวดฟัน ไปหาหมอ หมอก็จับแกถอนฟัน ไม่ฉีดยาชาด้วย....แกก็รู้สึกกลัวฝังใจ...ไม่อยากถอนฟันอีกแล้ว

ส่วนฟันปลอมที่แกอยากได้  แกบอกว่าไม่ต้องการอะไรมาก เพราะแกอายุมากแล้ว ไม่อยากให้แน่นปึก หรือ อยู่ทนนาน 30 ปีหรอก แต่ขอร้องไม่อยากถอนฟัน

แล้วแกก็เล่าชีวิตแกกับลูกสาว ว่าเดี๋ยวแกจะไปเที่ยวกับลูกสาวตอนปีใหม่นี้ จะได้มีฟันใส่"ตอนถ่ายรูปกับลูก......"

ได้ฟังแล้วผมรู้สึกเลยว่า  เรามองข้ามอะไรไปแล้วล่ะ++

เรามองเห็นแต่โรค คือเขาไม่มีฟัน

จะทำฟันให้สมบูรณ์ ก็ต้องถอนฟัน abutment ที่ไม่แข็งแรงออก

โดยลืมมองมิติความเป็นมนุษย์ ลืมมองบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน 

คุณป้าอยากมีฟันปลอมใส่.....ไม่ได้อยากถอนฟัน

เรามีความจำเป็นต้องรักษา ให้สมบูรณ์สุดขีดด้วยหรือไม่?

แล้วถ้าเราไม่รักษาเขาให้ Perfect เขาจะไม่กลับไปเป็นคนมีสุขภาพดีหรือเปล่านะ?

            ในความเป็นจริงคงมิใช่เช่นนั้น  คนที่ไม่ได้เข้าถึงความสมบูรณ์สุดขีด คงไม่ใช่คนมีสุขภาพดีในอุดมคติ Perfect health และขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะถือว่าเป็นคนเจ็บป่วยทั้งหมด ดังนั้น  เราจึงมีคำกล่าวถึงสุขภาพในอีกระดับหนึ่งที่เรียกว่า Normal health”
            คนที่มีสุขภาพปกติ“Normal health”  อาจไม่ได้หมายความถึงการที่มีความสมบูรณ์สุดขีดของกาย   จิต สังคม และปัญญา แต่อาจจะมีความบกพร่องเล็กๆน้อยๆในแต่ละองค์ประกอบของสุขภาพ แต่ความบกพร่องเล็กๆน้อยๆเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลกระทบ หรือรบกวน ดุลยภาพของสุขภาพ
 
คำว่าสุขภาพดี  จึงไม่ได้หมายความแค่ว่า  การไม่มีโรค
 
แต่หมายรวมไปถึง ดุลยภาพที่เคลื่อนไหวระหว่างหน่วยของชีวิต  สังคม วัฒนธรรมและระบบนิเวศน์  และเป็นอันเดียวกับศีลธรรมหรือจริยธรรม   ซึ่งหมอประเวศ วะสี เคยให้คำจำกัดความของสุขภาพเอาไว้อย่างน่าฟัง ท่านกล่าวไว้สั้นๆว่า สุขภาพ คือ ดุลยภาพ ซึ่งหมายถึงเป็นภาวะที่มีความสมดุลในทุกๆองค์ประกอบ  สุขภาพที่ดีจึงมิใช่การมีสภาพทางกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ      ที่อยู่ในสภาวะที่ดีพร้อม สูงสุด และหยุดนิ่ง แต่เป็นการเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาของมิติทั้ง 4 ที่ต่างก็มีความสัมพันธ์    เชื่อมโยงระหว่างกันและกันอย่างสลับซับซ้อนและสมดุล ดังนั้น ถ้ามองในมุมมองใหม่นี้แล้ว  สุขภาพขึ้นอยู่กับ การให้คุณค่าของเจ้าของสุขภาพมากเท่าๆกับเป็นเรื่องของสภาวะภายนอกล้วนๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่ ไม่เกี่ยวข้องกับความคิดอารมณ์และความรู้สึก……สุขภาพ ที่ดีจึงมิได้หมายถึงสภาวะอุดมคติที่ทุกคนต้องมีเหมือนกัน แต่หมายถึงความพอเหมาะที่ต่างกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขชีวิตของทุกคน
 
 คนที่เป็นโรคก็อาจมีสุขภาพดีได้  ถ้าเขาอยู่ในสังคม วัฒนธรรมและดำรงชีวิตที่เป็นสุข หรือคนที่ไม่เป็นโรค ก็อาจเป็นคนที่มีสุขภาพไม่ดีได้เช่นกัน  ถ้ามองกันด้วยความหมายเช่นนี้  สุขภาพที่ดีอาจมิใช่สภาวะแห่งความสมบูรณ์แบบที่มีหนึ่งเดียวไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขใดๆ  หากแต่สุขภาพที่ดีสามารถมีได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป  คำว่า สุขภาพดี จึงเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความคิด  อารมณ์  ความรู้สึก  และการให้คุณค่าของผู้ที่เป็นเจ้าของสุขภาพมากเท่าๆกับ ( หรือมากกว่า ) ที่จะสภาวะทางกายล้วนๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์  และความรู้สึก   สุขภาพที่ดีของคนงานก่อสร้างกลางเมืองหลวงย่อมไม่น่าเป็นสิ่งเดียวกับสุขภาพที่ดีของทันตแพทย์ หรือ การมีฟันผุสัก 7 ซี่จาก 28 ซี่ สำหรับทันตบุคลากร อาจจะเป็นสุขภาพที่สุดแสนจะย่ำแย่ แต่สำหรับคนอื่นๆอาจจะเป็นสุขภาพที่ดี ก็เป็นได้  ในแง่นี้ สุขภาพที่ดี จึงมิได้หมายถึงสภาวะที่เป็นอุดมคติที่ทุกคนต้องมีเหมือนๆกัน  แต่หมายถึง ความเหมาะสมพอดีที่แตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของชีวิตของแต่ละคน

เราจะทำอย่างไรดีหนอ....ถ้าป้าไม่ทำตาม Ideal Treatment plan เราจะเป็นหมอเถื่อนไหมหนอ???

หลังจากฟังอาม่าเล่ามาเกือบชั่วโมง และครุ่นคิดอีกสักพักหนึ่ง

ก็เลยวางแผนการรักษาแบบ Alternative treatment plan ขึ้น โดยบอกอาม่าไปว่า ถ้าอาม่าไม่อยากถอนฟัน อาม่าก้คงต้องพยายามรักษาเหงือกและฟันที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นหลักให้ฟันปลอมยึด

โดยอาม่าต้องมาอุดคอฟัน และรักษาเหงือกก่อน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วหมอจะทำฟันปลอมให้  แต่อาจจะไม่แน่นมากนะ แต่หมอจะพยายามทำให้ดีที่สุด

ให้อาม่ากลับไปคิดก่อน 1 สัปดาห์

อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา

อาม่าก็มาอีก....และก็มาคุยๆๆๆอีกกว่า1ชั่วโมง

"ไม่อุด ไม่ขูดไม่ได้เหรอ ทำฟันปลอมเลยไม่ได้เหรอ  แถวๆท่าพระจันทร์ก็มีรับทำฟันปลอม  ไม่เห็นต้องอุด ขูดอะไรเลย"

วันนั้นก็ต้องนั่งอธิบายกันอีกกว่าชั่วโมง  เรื่อง หมอฟัน กับช่างทันตกรรม ที่บางคนเรียกหมอเถื่อน ว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร  ซึ่งวันนั้น อาม่าก็ยังไม่ทำการรักษาอะไร.......(อีกแล้ว)

 ......

.......

หายไปสองสัปดาห์

ในที่สุดเมื่อวาน.........ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น   อาม่ากลับมาอีกครั้ง  คราวนี้ตัดสินใจเริ่มทำการรักษาแล้ว  ยังไงก็เอาใจช่วยผมด้วยนะครับ

ให้ทำฟันปลอมให้อาม่าได้สำเร็จด้วย .......สู้ๆๆๆๆๆ(^_^)

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 149175เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2007 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบอบคุณอาจารย์ณัฐวุธ

  • อ่านแล้วแวะมาขอบคุณครับ...

อนาคตของโลกเราคงจะหนีความจริงที่ว่า 'People need voice & choice.' หรือ "คนเราต้องการมีสิทธิ์มีเสียง" และต้องการมีทางเลือกได้ยาก

  • นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องทันตกรรมทางเลือก (alternative dentistry) ... ขอขอบคุณครับ

รายงานความก้าวหน้า....

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา  อาม่ามาเตรียมสภาพช่องปาก อุดฟัน และขูดหินปูนแล้วครับ

 เดี๋ยววันพฤหัสนี้จะให้อาม่ามาพิมพ์ปากครั้งแรกครับ...

อาม่ายัง Happy อยู่ครับ (^_^)

สวัสดีปีใหม่ ขอให้มีความสุข สดขื่น สมหวัง ค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณหมอณัฐวุธ

เข้ามาอ่านบันทึกค่ะ เป็นบันทึกเรื่องเล่าที่น่าสนใจมากค่ะ

ถ้าหากอยากจะขออนุญาตหยิบยกบางส่วนของเรื่องเล่า นำไปเล่าต่อในการประชุมวิชาการของ ม.ช ที่จะจัดปลายเดือนนี้ได้ไม๊คะ เพราะตอนนี้ตัวเองกำลังเตรียมเนื้อหาอยู่ค่ะ และสัญญาว่าจะ reference ที่มาของเนื้อหาที่นำไปใช้ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

อ่านแล้วประทับใจจังเลยค่ะ

คุณหมอน่ารักจัง ^0^\/

ขอบคุณที่เขียนบทความดีๆแบบนี้นะครับ ขอนำไปลงที่เว็บผมได้ไหมครับ iqsiam.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท