ทำไมจึงจำเป็นต้องจัดสัมมนาอาจารย์ประจำศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต?


เราไม่อยากเห็นสถาบันการศึกษาที่ร่วมโครงการละทิ้งการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ดีๆ นี้ นำพาหลักสูตรนี้ "กลับเข้าห้องเรียน" ตามมาตรฐาน "การสอน" แบบ "ห้องเรียน" ที่ยึดถือ "วิชา" เป็นตัวตั้ง ไม่ได้ยึดเอา "ชีวิต" เป็นตัวตั้ง ซึ่งหากสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติในโครงการนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติแล้ว เราเกรงว่า "วิญญาณ" ของโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตจะค่อยๆ เลือนหายไปจากสถาบันการศึกษานั้น

นักการศึกษาพูดถึงปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาเพื่อชีวิต แต่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจที่จะทำจริง บางคนก็ได้แต่พูดสรรเสริญตัวปรัชญาของมัน แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เริ่มต้นอย่างไร การศึกษาเพื่อชีวิตของปวงชนอย่างแท้จริงนั้นมีวิธีการอย่างไร 

เมื่อวานนี้(๒๓ พย.๕๐) ที่ประชุมของผู้ประสานงานจังหวัดโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตในสังกัด มรภ.พระนคร ได้ยกเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ มรภ.พระนครจะไม่ทำในภาคการศึกษานี้ (๒/๒๕๕๐) นั่นคือ จะไม่จัดอบรมสัมมนาอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ประจำศูนย์เรียนรู้

ผมจึงขอให้ผู้ที่มีหน้าที่ประสานกับ มรภ.พระนคร ขอให้มหาวิทยาลัยดังกล่าวจัดการอบรมสัมมนาดังกล่าวอย่างที่เคยทำมาใน ๓ ภาคการศึกษาที่ผ่านมาด้วย

เหตุผลเบื้องต้นที่ต้องจัดมีดังนี้

๑. เพื่อให้อาจารย์หลักและอาจารย์ศูนย์ได้ทำความรู้จักกัน

๒. เพื่อให้อาจารย์ประจำศูนย์ได้รู้จักกันเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในการเรียนการสอนวิชานั้นๆ และกับวิชาอื่นๆ (การบูรณาการระหว่างวิชา)

๓. เพื่อความเข้าใจร่วมกันของอาจารย์หลัก(จากมหาวิทยาลัยและ สสวช.) กับอาจารย์ประจำศูนย์เรียนรู้ทั้งในด้านเนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนการสอน การประเมินผล

๔. เพื่อสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานของอาจารย์ประจำศูนย์เรียนรู้

๕. เพื่อให้การเรียนการสอนมีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกันในทุกศูนย์

ทั้ง ๕ ข้อข้างบนเป็นเหตุผลที่ มรภ.พระนครน่าจะเข้าใจ ส่วนเหตุผลที่ "ลึก" ไปกว่านั้นที่ผมได้สื่อกับทุกมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการนี้อยู่ตลอดเวลา และรู้สึกว่าเขาเข้าใจดีมาก และเรียกร้อง สสวช.ให้ช่วยทำเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย และผมได้ย้ำเรื่องนี้อีกครั้งในที่ประชุมเมื่อวานนี้ ดังนี้

๑. ในโครงการมหาวิทยาลัย เราออกแบบให้มีอาจารย์ประจำศูนย์เรียนรู้ เราเรียกพวกเขาในชื่อเต็มว่า"อาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ประจำศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต" ซึ่งก็คือ วิทยากรกระบวนการนั่นเอง แม้แต่ละแห่งจะเรียกย่อว่า อาจารย์ผู้ช่วยบ้าง อาจารย์ช่วยสอน อาจารย์คู่คิด อาจารย์พิเศษ อาจารย์ศูนย์ ฯลฯ แต่บทบาทหน้าที่ของเขาก็เป็นอย่างเดียวกัน นั่นคือเป็นผู้จัดกระบวนการให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ เราเห็นว่าเขาเหล่านั้นเป็นตัวจักรสำคัญมากในกระบวนการเรียนการสอนของโครงการนี้ (ผมมักเรียกพวกเขาว่าพระเอกนางเอกตัวจริง) เราอยากให้เขาเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ครูผู้ถ่ายทอดความรู้ กับ ครูผู้จัดกระบวนการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ทั้งด้วยตนเอง ด้วยกลุ่ม และที่สำคัญคือด้วยการผ่านการปฏิบัติ การจะเป็น "ผู้จัดกระบวนการ" ให้คนเกิดการเรียนรู้นี้จำเป็นต้องมีเวทีให้ผู้ที่จะไปจัดกระบวนการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันด้วย

๒. ในใจเราลึกๆ แล้ว เราไม่อยากให้มีการแบ่งแยกว่าคุณเป็นอาจารย์เจ้าของวิชา ซึ่งจะว่าไปแล้วส่วนใหญ่ก็เป็นวิชาของคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ของฉันหรอก หรือฉันเป็นอาจารย์ช่วยคุณสอน ช่วยคุณตรวจการบ้าน ช่วยคุณประเมิน ฯลฯ เราอยากให้ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสอน ร่วมกันทำหน้าที่เป็น "อาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้" เป็นวิทยากรที่ช่วยกันจัดกระบวนการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เพราะไม่มีอาจารย์หรือวิทยากรคนไหนไป "เรียน" แทนผู้เรียนได้ แต่ละคนต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองเท่านั้น เราทำได้เพียงการสอน (การจัดกระบวนการ) เท่านั้น

๓. การที่ สสวช. ไปชวนมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้มาร่วมมือกันทำโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตนี้ ก็เพื่อให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันจัดการศึกษาได้เปิดมุมมองใหม่ เห็น "ตลาด" การศึกษาที่กว้างขึ้นกว่าตลาดการศึกษาเพื่อฝึกเยาวชนไปประกอบอาชีพ หรือเพื่อยกวิทยะฐานะของผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่แล้ว ว่ายังมี "ผู้ใหญ่" ที่ทำงานแล้ว มีครอบครัวแล้ว อีกมากมายมหาศาลที่ร้างราจากการเรียนไปนาน หรือพยายามเรียนในหลักสูตรในสถาบันการศึกษาต่างๆ แล้วไม่สำเร็จ และต้องการกลับมาเรียนโดยขณะเรียนก็ยังคงดำเนินชีวิตครอบครัวและการงานต่อไปตามปกติ แต่เขาขาดโอกาส ขาดหลักสูตรและกระบวนการเรียนการเรียนสอนที่เหมาะสม กระทรวงศึกษาและนักการศึกษาก็พูดถึงปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาเพื่อชีวิต แต่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจที่จะทำจริง บางคนก็ได้แต่พูดสรรเสริญตัวปรัชญาของมัน แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เริ่มต้นอย่างไร การศึกษาเพื่อชีวิตของปวงชนอย่างแท้จริงนั้นมีวิธีการอย่างไร เรานำโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตนี้ไปให้สถาบันการศึกษาเหล่านั้นได้เห็นและได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติร่วมกันไปกับเรา ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เราจึงไม่อยากเห็นสถาบันการศึกษาที่ร่วมโครงการละทิ้งการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ดีๆ นี้ นำพาหลักสูตรนี้ "กลับเข้าห้องเรียน" ตามมาตรฐาน "การสอน" แบบ "ห้องเรียน" ที่ยึดถือ "วิชา" เป็นตัวตั้ง ไม่ได้ยึดเอา "ชีวิต" เป็นตัวตั้ง ซึ่งหากสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติในโครงการนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติแล้ว เราทั้ง สสวช. ภาคี และศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตทั้งหลายก็เกรงว่า "วิญญาณ" ของโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตจะค่อยๆ เลือนหายไปจากสถาบันการศึกษานั้น เหมือนอย่างที่เคยเกิดมาแล้วกับมหาวิทยาลัยหนึ่ง และเราก็เชื่อว่านักศึกษาของโครงการนี้ก็คงไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้นด้วย

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

๒๔ พ.ย.๒๕๕๐



ความเห็น (3)
  • มาให้กำลังใจอาจารย์
  • จากการพูดคุยกับหลายท่าน
  • ประเด็นสองประเด็นนี้สำคัญนะครับ
  •  เพื่อให้อาจารย์หลักและอาจารย์ศูนย์ได้ทำความรู้จักกัน

    ๒. เพื่อให้อาจารย์ประจำศูนย์ได้รู้จักกันเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในการเรียนการสอนวิชานั้นๆ และกับวิชาอื่นๆ (การบูรณาการระหว่างวิชา)

  • เพราะอาจารย์จากส่วนกลางจะได้มีการรู้จักกับอาจารย์ในภูมิภาค

  • ได้ทำงานแบบร่วมมือกันครับ

ขอบคุณอาจารย์ P  ขจิต ฝอยทอง มากครับที่เข้ามอ่านให้ความเห็นและสำหรับกำลังใจ

ผมอยากให้อาจารย์บรรลุจุดประสงค์เร็วๆครับ ที่อาจารย์บอกว่า ในโครงการมหาวิทยาลัย เราออกแบบให้มีอาจารย์ประจำศูนย์เรียนรู้ เราเรียกพวกเขาในชื่อเต็มว่า"อาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ประจำศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต" ซึ่งก็คือ วิทยากรกระบวนการนั่นเอง  "ผมอยากได้อย่างนี้จริง ๆ ครับ"

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท