หลักสมถะกรรมฐาน 40 เบื้องต้น


เมื่อเข้าใจถึงปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติจะเข้าใจ เมื่อเข้าใจจะเข้าถึง เมื่อเข้าถึงก็จะเป็น เมื่อเป็นก็หมดสงสัย ว่า "โพธิ" นั้น อยู่ในตัวเรานั่นเอง

การปฏิบัติธรรม โดยเน้นไปที่การนั่งสมาธินั้น มีหลายรูปแบบมากมายไปหมด นับเป็นพันๆ วิธี ครูอาจารย์บางรูปก็บอกว่าเป็นแสนวิธี การนับในที่นี้ นับรวมหมดไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด เพราะสมาธิเป็นคำกลางๆ ไม่จำกัดเฉพาะศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง

 เมื่อเรามองไปที่ศาสนาพุทธ นับตามแบบคัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็จะมีสมถะ 40 วิธี ใน 40 วิธีหลัก ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยในการฝึกแตกต่างกันไป ในความแตกต่างนั้น ได้ถูกแปลกันโดยสมาธิยาจารย์ แต่ละรุ่นว่า เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยบ้าง เข้ากับถิ่นฐานของคนบ้าง เข้ากับประสบการณ์ของสมาธิยาจารย์บ้าง เข้ากับภาษาของคนบ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้ จากวิธีหลัก 40 วิธี ก็จะแตก แยก ย่อย ออกไปนับจำนวนแขนงย่อยเยอะแยะไปหมด ทำให้ลูกศิษย์รุ่นหลังๆ หลงลืมหลักว่าสมาธิที่ตนเองฝึกนั้น เป้าหมายคืออะไร

 เพราะการฝึกสมาธินั้น เป็นเรื่องทางนามธรรม เป็นเรื่องของใจ ไม่สามารถจับต้องเหมือนดั่งวัตถุได้ เมื่อผู้ปฏิบัติพบประสบการณ์แปลกประหลาด ที่เป็นประสบการณ์ของใจ ก็มักจะยึดถือว่าสิ่งนั้น ที่ตนเองปฏิบัตินั้นถูกต้อง จนไม่สืบสาวราวเรื่องไปยังอดีตว่า สมาธิยาจารย์รุ่นแรก สอนหลักอะไรไว้ ทำให้เกิดการเลือนลาง เพี้ยนของวิชาไป ทำให้ต้นวิชาเดิมดับสูญไป เหมือนดังที่วิชาธรรมกายประสบมาในอดีต เพียง 500 ปีหลังพระบรมศาสดา พระสมณโคดมพุทธเจ้า ผู้เป็นเสิศยิ่งกว่าใครในโลก ทรงดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน

เมื่อวิชาดับสูญ กว่าจะค้นพบขึ้นมาใหม่ ก็ต้องรอผู้มีบารมีธรรมนั้นมาเกิด มาปฏิบัติ มาอุทิศตนจนเข้าถึงวิชานั้น เมื่อเข้าถึงก็เริ่มเผยแพร่ ผู้ไม่เข้าใจก็ต่อต้าน เป็นปกติ เพราะทุกคนก็รักหวังดีต่อศาสนาด้วยกันทั้งนั้น แต่บางครั้งก็ไปยึดติดที่ตัวบุคคล ไม่ยึดติดที่ธรรม

เรามารู้จักเรื่องสมถะกันดีไหม ขอนำตำราวิชาธรรมกายชื่อว่า แนวเดินวิชาหลักสูตรมรรคผลพิสดาร 2 หลวงพ่อวัดปากน้ำ โดยคุณลุงการุณย์ บุญมานุช ที่ท่านขยายความไว้มาให้อ่านกัน โดยสังเขป

หลักสูตรสมถะหรือโลกียธรรม

(๑.) กสิณ ๑๐

(๒.) อสุภะ ๑๐

(๓.) อนุสสติ ๑๐

(๔.) พรหมวิหาร ๔

(๕.) อรูปฌาน ๔ (อรูปกรรมฐาน ๔)

(๖.) อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑

(๗.) จตุธาตุววัตถาน ๑

     เรียกสมถะมีภูมิ ๔๐ หรือเรียกอารมณ์สมถะ ๔๐ หรือ สมถะ ๔๐ หรือโลกีย์ ๔๐ ก็สุดแต่จะเรียก

ความหมายของคำในทางปฏิบัติ

     สมถะ แปลว่า ใจหยุด ใจนิ่ง

     วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง

     สมถะเป็นหลักสูตรเบื้องต้น ส่วนวิปัสสนาเป็นหลักสูตรชั้นสูง ถ้าเรียนสมถะไม่ได้ ก็หมดหวังในหลักสูตรวิปัสสนา

     กล่าวถึงการเรียนหลักสูตรสมถะ ถ้ากำหนดนิมิตไม่ได้ แปลว่าเรียนไม่ได้ คือทำอะไรไม่ได้เลย คำบาลีที่ว่า จิตฺตํ ภาวิยติ ซึ่งแปลว่า ต้องทำจิตให้เป็นขึ้น มีความหมายอย่างไร ? หมายความว่าต้องทำนิมิตให้เกิดขึ้นได้ พอนึกก็เห็นได้โดยใจ เขากำหนดให้ทำกสิณ ๑๐ อย่าง เราก็ต้องทำได้ คือกำหนดนิมิตได้ จึงจะหมายถึง ว่าจิตทำเป็นแล้ว

     สมถะ แปลว่า ใจหยุด ใจนิ่ง หมายความว่า ใจไม่รับอารมณ์ที่เป็นกิเลส ถ้าใจยังคิด ยังนึก แปลว่าใจยังไม่หยุด

     “หยุด” หมายความว่า หยุดคิดหยุดนึก แล้วใจจะรวมเป็น “หนึ่ง” เหมือนรถยนต์เบรค ภาวะเช่นนี้แสดงว่าใจเริ่มใสแล้ว แล้วสภาพใจจะราบเรียบ ไม่เป็นคลื่น ไม่เป็นลูกคลื่น สภาพใจจะนิ่งเหมือนน้ำนิ่งไม่มีกระแสลมสัมผัส ช่วงนี้เองจะกำหนดนิมิตได้ เกิดอุคคหนิมิตเป็นดวงใส ต่อจากนั้นสภาพใจจะใสขึ้นเองเป็นอัตโนมัติ นึกขยายดวงใสให้เล็กก็ได้ขยายให้ใหญ่ก็ได้ แปลว่าทำปฏิภาคนิมิตได้แล้ว

     ความยากอยู่ที่ทำนิมิตเท่านั้น ถ้าทำนิมิตไม่ได้ ก็เข้าจุดเริ่มต้นของสมถะไม่ได้ ดังนั้น ครูผู้ฝึกต้องมีเทคนิควิธีหลายอย่าง ต้องเรียนรู้กันมาก การฝึกทางใจไม่ว่าที่ใด ? ล้มเหลวทั้งนั้น ! แปลว่า ครูผู้ฝึกเรียนรู้มาน้อย ไม่เหมาะแก่การเป็นครู สมถะและวิปัสสนาในทางปฏิบัติ

     ในการปฏิบัตินั้น ท่านใดเห็นนิมิตแล้ว ดวงนิมิตที่เห็นจะเป็นสื่อให้เห็นดวงธรรมที่แท้จริง คือดวงใสที่ศูนย์กลางกายของเรา ๖ ดวงธรรม กายละ ๖ ดวงธรรม แล้วเห็นกายมนุษย์ละเอียดของตัวเราเอง (กายฝัน) เห็นกายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด กายพรหมหยาบ (กายรูปพรหมหยาบ) กายพรหมละเอียด (กายรูปพรหมละเอียด) กายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมละเอียด คือเห็นดวงธรรมในกายๆละ ๖ ดวงธรรม ตั้งแต่กายมนุษย์ตัวเรา จนมาถึงกายอรูปพรหมละเอียด รวม ๘ กาย นี่คือหลักสูตรสมถะหรือโลกียธรรม

     ครั้นมาถึงกายอรูปพรหมละเอียดแล้ว เห็นธรรมมาเป็นลำดับ ก็มาเห็นกายธรรม ตั้งแต่กายธรรมเล็กไปจนถึง กายธรรมใหญ่ คือ กายธรรมโคตรภูหยาบ กายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาหยาบ กายธรรมพระโสดาละเอียด กายธรรมพระสกิทาคามีหยาบ กายธรรมพระสกิทาคามีละเอียด กายธรรมพระอนาคามีหยาบ กายธรรมพระอนาคามีละเอียด กายธรรมพระอรหัตหยาบ กายธรรมพระอรหัตละเอียด รวม ๑๐ กายธรรม

เป็นหลักสูตรวิปัสสนาหรือโลกุตรธรรม

ทำไมหลักสูตรสมถะจึงมีมากมายปานนั้น ?

     โดยเฉพาะเรื่องกสิณ ๑๐ – อสุภะ ๑๐ – อนุสสติ ๑๐ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะแก่จริตของคน เช่น คนใจบาป ก็ต้องให้เพ่งอสุภะ คนใจบุญสุนทาน ก็ให้เพ่งอนุสสติ เป็นต้น วัตถุประสงค์ของนิมิตก็เพื่อให้เกิดความสงบทางใจก่อน เพราะถ้าไม่กำหนดอะไรเลยนั้น การพัฒนาใจก็ล้มเหลว เนื่องจากปกติใจของเราคิดอะไรๆ ไปร้อยแปดไม่มีโอกาสสงบระงับเลย เมื่อใจเกิดความสงบแล้ว การพัฒนาใจจึงทำง่ายขึ้น

     แต่ที่พวกเราเพ่งดวงแก้วขาวนั้น เป็นอาโลกกสิณ คือเอาแสงสว่างเป็นนิมิต ท่านใช้ดวงแก้วขาว เพราะเหมาะกับจริตของคนทุกประเภทนั่นเอง

หลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายเนื้อวิชาทั้งสมถะและวิปัสสนา ได้แจ่มแจ้ง ท่านอื่นทำไม่ได้เพราะปฏิบัติไม่ถึง

     เนื้อหาสาระของความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติทางใจ ทั้งหลักสูตรสมถะและหลักสูตรวิปัสสนา มีอยู่ในตำราแล้ว เป็นตัวหนังสือภาษาไทยไม่มากนัก นั่นเป็นทฤษฎี นั่นยังเป็นปริยัติ ยังไม่ลงสู่การปฏิบัติ การบอกรายละเอียดแห่งวิธีการปฏิบัติไม่มี ! นี่คือทางตัน ! จะหวังพึ่งผู้เป็นเปรียญธรรมให้อธิบายชี้แจงแนวทางปฏิบัติ ท่านก็จนปัญญา เพราะท่านเรียนภาษาให้แปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทยเท่านั้น เนื้อหาและอรรถรสแห่งธรรมนั้น บอกไม่ได้ เพราะไม่มีรายละเอียดในบาลีอย่างนั้น นี่คือทางตันของมรรคผลนิพพาน

     แต่พวกเราดวงยังดี ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านอธิบายได้หมด ตั้งแต่ความรู้ปริยัติลงสู่การปฏิบัติ หลวงพ่ออธิบายได้หมดชี้แจงได้หมด ทำให้มรรคผลนิพพานโล่งโปร่งใสในตอนนี้

     ที่แปลกใจกันมากก็คือ หลวงพ่อเทศน์ด้วยการแปลบาลีอย่างคล่องตัว แล้วขยายความเป็นภาษาไทย จากนั้นโยงเรื่องเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ปฏิบัติทั้งภาคสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป

     ในยุคนี้เอง ตำราภาคปฏิบัติของศาสนาได้รับการเคาะฝุ่น เอาออกมาเรียนรู้ นำสู่ประชาชน ทำให้หมอน้ำมนต์และหมอไสยศาสตร์เสื่อมไป เพราะไม่ใช่ความรู้ทางปฏิบัติของศาสนา นับว่าหลวงพ่อท่านเป็นผู้บุกเบิกให้สมถะและวิปัสสนาได้รับการฟื้นสภาพให้มีการเรียนรู้กันมาตราบเท่าทุกวันนี้

     สรุปให้เห็นชัดว่า การปฏิบัติหลักสูตรสมถะนั้น มีการปฏิบัติกันได้บ้าง แต่ไม่เต็มรูปแบบของหลักสูตร นี่คือประวัติการเรียนก่อนยุคหลวงพ่อ จะก่อนสักกี่ร้อยยุคก็ตาม ส่วนหลักสูตรวิปัสสนานั้น ไม่มีเกจิอาจารย์ใดทำได้เลย ! ไม่ว่าก่อนยุคของหลวงพ่อสักเท่าไรก็ตาม

     หลักสูตรสมถะก็คือเรื่องการกำหนดนิมิต นิมิตเป็นสื่อให้เห็นธรรม เราทำได้เพียงแค่เห็นนิมิต แต่การจะไปเห็นธรรมนั้นไม่มีความสามารถจะทำได้ แต่ไหนแต่ไรก็เป็นอย่างนี้ แต่หลวงพ่อท่านทะลุเห็นธรรมได้เลย จึงเข้าหลักสูตรวิปัสสนาได้ ก็ต้องว่าเป็นบารมีธรรมของท่าน

     ทำไมจึงว่าหลักสูตรวิปัสสนายาก ? ตอบว่า ที่ว่ายากเพราะต้องถึงกายธรรม และอาศัยรู้และญาณทัสสนะของกายธรรมไปรู้เห็น จึงจะเรียนได้ เพราะเป็นเรื่องของใจทั้งนั้น ใจหยาบคือขันธ์ ๕ ใจละเอียดมองเห็นยากแล้ว ได้แก่ใจในรูปแบบของอายตนะ ๑๒ – ธาตุ ๑๘ – อินทรีย์ ๒๒ ซึ่งเป็นใจละเอียด ต้องอาศัยรู้ญาณทัสสนะของกายธรรมช่วย จึงจะรู้เห็นได้ พอข้าพเจ้าชี้แจงมาถึงตรงนี้ ท่านเห็นเหตุผลที่ชี้แจง เห็นความจริงที่ชี้แจงให้ทราบ ท่านหมดข้อข้องใจ ถามว่ายุคใดและอาจารย์ใดบ้างที่เห็นกายธรรม ? สืบถอยหลังไปเถิด ก็จะได้คำตอบว่า ไม่มีเลย ! แต่ก็ดังกันไปตามเรื่องตามบรรยากาศ จนชื่อเสียงของเกจิอาจารย์นั้นตกทอดมาถึงยุคของเรา เราหลงว่าเกจิอาจารย์ผู้นั้นเก่ง เพราะเราเชื่อตามกันมา เชื่อตกทอดกันมา ครั้นข้าพเจ้าตรวจสอบเข้า ไม่เป็นจริงตามความเชื่อที่ว่านั้น จึงขอทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียแต่วันนี้

     มีหลายท่านถามข้าพเจ้า ถามว่าองค์นั้นกระดูกขาวเป็นแก้วแล้ว เป็นพระอรหันต์ไปแล้วใช่ไหม ? ข้าพเจ้าตอบว่าการไปอยู่ในอายตนะนิพพาน เราไปอยู่ด้วยกายธรรม ก็เมื่อไม่เห็นกายธรรมและไม่ได้ฝึกละสังโยชน์ ๑๐ จะได้เป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร ? มันผิดตำรา ! แต่การที่กระดูกขาว แปลว่ากิเลสของท่านน้อยแล้ว แปลว่าใกล้แล้ว ต้องกลับมาเกิดอีก ต้องมาเห็นกายธรรมให้ได้ แล้วละสังโยชน์ ตอนนั้นจึงพิจารณากันใหม่ ข้าพเจ้าตอบไปอย่างนั้น ดังนั้นในชาตินี้เราจงจ้องให้เห็นกายธรรมไว้ก่อน เรียนให้ได้ ! ฝึกให้ได้ ! เรื่องอื่นว่ากันทีหลัง จึงจะถือว่าเป็นความคิดที่ฉลาด !

 

 

หมายเลขบันทึก: 148827เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2007 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หลักในการฝึกกสิณ ๑๐ ทำอย่างไรจึงจะได้ผล ?

     ๑. อ่านบทบัญญัติให้เข้าใจ ต้องอ่านให้เข้าใจ อ่านทีละตอน ตีความไปด้วย คำศัพท์ใดไม่เข้าใจ ให้รีบค้นคว้า เป็นคำศัพท์เฉพาะหรือว่าเป็นคำศัพท์ทั่วไป จดความหมายไว้ ภาษาที่เขาใช้ เราอ่านเข้าใจหรือไม่ ? ถ้าไม่เข้าใจ อย่าทิ้งความไม่รู้เอาไว้ ต้องถามผู้รู้ ลำดับต่อมา เป็นการอ่านเอาความ ให้เป็นความรู้ชี้ชัดออกมา สรุปย่อยออกมา

     ๒. ให้รู้วิธีปฏิบัติว่าเขามีวิธีฝึกอย่างไร ? ตั้งแต่ต้นจนปลาย เมื่อปฏิบัติจริงแล้ว ไม่ต้องเปิดตำราอีก เพราะเราเรียนรู้มาแล้ว มีกี่ขั้นตอน ? ขั้นตอนใดทำอย่างไร ? จำขั้นตอนได้แล้ว ท่องวิธีปฏิบัติให้จำได้ เพราะเราต้องฝึกตามนั้น

     ๓. ให้รู้วิธีวัดผลว่าตำราเขาเสนอวิธีวัดผลไว้อย่างไร ? อ่านให้เข้าใจ แล้วทำให้ได้ มีกี่ขั้นตอน ? ขั้นตอนไหนทำอย่างไร ? ตั้งกฎเกณฑ์ออกมา แล้วทำตามนั้น

     ๔. กำหนดเวลาฝึก การฝึกแต่ละครั้งใช้เวลานานเท่าไร ? ตกลงกันเสียก่อน อย่าทำอะไรตามใจตัวเอง จงทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด

     ๕. ท่านที่เป็นครูสอนต้องมีความรู้ในการอธิบาย ต้องสันทัดในการแสดงอุปกรณ์การสอน เตรียมความรู้ไว้ให้ดี พูดให้สั้น ให้ได้เนื้อได้น้ำ กล่าวความรู้ก่อน ว่าความรู้เฉพาะเรื่องนี้มีอย่างไร ? จบแล้วแสดงวิธีฝึก แสดงอุปกรณ์การฝึกให้ผู้เรียนได้เห็นเพื่อประกอบความเข้าใจ จบแล้วให้ฝึกจริง โดยครูผู้ฝึกพูดนำ จนกว่าจะจบเนื้อหาการฝึกของบทเรียนนั้น ครั้นครบเวลาฝึก ให้ตรวจสอบผลการปฏิบัติ ว่าใครทำได้ ? ใครมีปัญหา ? เรียกว่าเป็นขั้นตอนการวัดผล คนที่ผ่านการตรวจจากครูแล้ว ให้แยกชั้นไปเรียนชั้นสูงต่อไป ส่วนท่านที่ยังไม่ผ่านการฝึก คงให้ฝึกชั้นเดิมต่อไปก่อน

     กฎเกณฑ์ ๕ ข้อนี้ เป็นข้อเสนอแนะ ท่านต้องทำได้ บางสำนักไม่ได้ความเลย ! มีวิธีสอนที่เลวมาก ! สอนไม่เป็น ไม่มีอุปกรณ์ อีกทั้งวัดผลก็ทำไม่เป็น แต่อยากจะเป็นครูเขา พูดมากไปอย่างนั้นเอง น่าสงสาร ! ศาสนาของเราเจริญไม่ได้ ก็เพราะผู้เป็นครูไม่พัฒนาการสอน ทำให้การสอนไม่มีประสิทธิภาพ นี่คือความล้มเหลว !

อธิบายวิธีการฝึกกสิณ ๑๐

     คำว่า “กรรมฐาน” ท่านแปลว่า ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิตมี ๒ อย่างคือ สมถกรรมฐาน เป็นอุบายให้สงบใจ และวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายให้เรืองปัญญา

     คำว่า “กสิณ” เป็นสมถกรรมฐานว่าด้วยอารมณ์ ที่กำหนดธาตุ ๔ คือ ปฐวี (ดิน) อาโป (น้ำ) เตโช (ไฟ) วาโย (ลม) และว่าด้วยวรรณะ (สี) คือ นีล (สีเขียว) ปีต (สีเหลือง) โลหิต (สีแดง) โอทาต (สีขาว) และว่าด้วยอากาศ (ที่ว่าง) และอาโลก (แสงสว่าง) รวมเป็น ๑๐ อย่าง

อุปกรณ์ประกอบการสอน

     ควรมีภาพถ่ายแสดง ด้วยการติดภาพถ่ายไว้ ควรเป็นภาพสีธรรมชาติ หรืออุปกรณ์ที่เป็นของจริงที่เรานำมาแสดงให้ผู้เรียนได้ดู อย่าสอนโดยไม่มีอุปกรณ์ประกอบการอธิบาย

วิธีฝึก

     ให้ผู้ฝึกดูกสิณทีละอย่าง วันนี้จะเรียนกสิณอะไร ? ก็เอาอุปกรณ์อย่างนั้นนำออกมาแสดง การเพ่งแบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน

     ขั้นตอนแรก เพ่งดูด้วยสายตาของเรา มองไปแล้วนึกให้สิ่งนั้นเป็นวงกลม และให้เกิดภาพกสิณประเภทนั้น โดยใจของเรานึกให้เห็น นึกให้เป็นมโนภาพขึ้น มองแล้วต้องนึกได้ทันที และต้องนึกให้เป็นวงกลมให้จงได้ ! และสิ่งนั้นต้องเหมือนของจริงทุกอย่าง สีอะไรก็ต้องเหมือนสิ่งนั้น นี่คือการเพ่งขั้นตอนแรก เป็นการเพ่งนอกคือเพ่งนอกกายของเรา

     ขั้นตอนที่สอง เป็นการเพ่งในกายของเราเอง ให้นึกเอามโนภาพนั้น เลื่อนไปตามฐาน ๗ ฐานในกายของเรา ดังนี้

     a. ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก (หญิง – ปากช่องจมูกซ้าย , ชาย - ปากช่องจมูกขวา) บริกรรมในใจ สัม มา อะ ระ หัง ๓ ครั้ง ต่อไปเลื่อนนิมิตไปฐานที่ ๒

     b. ฐานที่ ๒ เพลาตา คือตรงรูน้ำตาออก (หญิง – เพลาตาข้างซ้าย , ชาย – เพลาตาข้างขวา) บริกรรมในใจ สัม มา อะ ระ หัง ๓ ครั้ง ต่อไปเลื่อนนิมิตไปฐานที่ ๓

     c. ฐานที่ ๓ จอมประสาท คือเส้นด้ายขึงตึงจากกระหม่อมแทงตรงลงมาในกระโหลกศีรษะ เส้นด้ายอีกเส้นหนึ่ง ขึงตึงจากดั้งจมูกตรงไปที่ท้ายทอย เส้นด้ายตัดกันตรงไหน ? จุดนั้นคือ “จอมประสาท” ให้เลื่อนดวงนิมิตมาที่จอมประสาท ท่องในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง ๓ ครั้ง ต่อไปเลื่อนดวงนิมิตไปฐานที่ ๔

     d. ฐานที่ ๔ ปากช่องเพดาน (เพดานปาก) คือจุดหมายที่เราสำลักอาหารหรือสำลักน้ำ หมายความว่า อาหารหรือน้ำผ่านไปเป็นปกติเราจะไม่สำลัก แต่ถ้าบังเอิญอาหารหรือน้ำมาหยุดอยู่ตรงนั้นเราสำลักทันที จุดหมายที่เราสำลักคือปากช่องเพดาน เลื่อนดวงนิมิตมาไว้ที่ฐานที่ ๔ นี้ ท่องในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง ๓ ครั้ง ต่อจากนั้นเลื่อนดวงนิมิตมาที่ฐานที่ ๕ ต่อไป

     e. ฐานที่ ๕ ปากช่องลำคอ จุดหมายที่เรียกว่าปากช่องลำคอ อยู่ในหลอดลำคอ เหนือลูกกระเดือกนิดหนึ่ง ท่องในใจ สัม มา อะ ระ หัง ๓ ครั้ง จากนั้น เลื่อนดวงนิมิตไปฐานที่ ๖ ต่อไป

     f. ฐานที่ ๖ ฐานของศูนย์กลางกาย (โบราณเรียกสิบ) อยู่ในท้องของเรา ระดับเดียวกับสะดือตัวเรา เส้นด้ายเส้นหนึ่งขึงตึงจากสะดือทะลุข้างหลัง เส้นด้ายอีกเส้นหนึ่ง ขึงตึงจากสีข้างขวาตรงไปสีข้างซ้าย เส้นด้ายตัดกันตรงไหน ? ตรงนั้นคือฐานที่ ๖ เลื่อนดวงนิมิตมาอยู่ตรงฐานที่ ๖ นี้ ท่องในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง ๓ ครั้ง จากนั้นเลื่อนดวงนิมิตมาฐานที่ ๗ ต่อไป

     g. ฐานที่ ๗ คือศูนย์กลางกาย ตรงนี้ง่ายแล้ว เพียงนึกเลื่อนดวงนิมิตจากเส้นด้ายตัดกันขึ้นมาประมาณ ๒ นิ้วมือตัวเอง แล้วดวงนิมิตก็มาสู่ฐานที่ ๗ ทันที จากนี้ไปเป็นการฝึกที่แท้จริงแล้ว คือให้ท่องในใจ สัม มา อะ ระ หัง เรื่อยไป ลืมเรื่องลมหายใจเข้าออกของตัวเอง ไม่นึกไปเรื่องอื่นใดทั้งหลายทั้งปวง ไม่ส่งใจไปรับอารมณ์ใดทั้งสิ้น นึกให้ใจสงบระงับ ไม่ซัดไม่ส่าย นึกให้ดวงนิมิตขาวขึ้นและใสยิ่งขึ้น ไม่ว่านิมิตนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม หน้าที่ของเราคือนึกให้ขาวและนึกให้ใสสถานเดียว ! นี่คือเคล็ดลับ !

การเกิดอุคคหนิมิต

     คือกสิณนั้นแปลงสภาพเป็นดวงใส ลืมตาก็เห็น แม้หลับตาก็เห็นได้โดยใจ แปลว่าประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว ในขั้นตอนที่ทำอุคคหนิมิตได้นั้น สภาพใจของเราเกิดความสงบมากแล้ว ใครที่ยังทำดวงกสิณให้เกิดดวงใสไม่ได้ จงภาวนา สัม มา อะ ระ หัง อยู่เช่นนั้นต่อไป จะนานแค่ไหนก็ต้องอดทนฝึกต่อไป ถ้าทำอุคคหนิมิตไม่ได้ ถือว่ายังไม่ผ่าน จะไปเรียนบทอื่นไม่ได้ ! ความยากอยู่ที่ว่าเราทำอุคคหนิมิตได้หรือไม่ ? ถ้าทำได้ ! แปลว่าเราไปฝึกชั้นสูงของหลักสูตรต่อไปได้แล้ว

การทำปฏิภาคนิมิต

     เป็นการฝึกขั้นตอนต่อมา คือทำอุคคหนิมิตให้เป็นปฏิภาคนิมิต วิธีทำไม่ยากแล้ว เพียงแต่นึกให้ดวงอุคคหนิมิตเล็กได้ใหญ่ได้ ก็ผ่านการฝึกแล้ว วิธีฝึกคือ ส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงอุคคหนิมิตนั้น แล้วนึกให้ใหญ่ แล้วดวงอุคคหนิมิตก็ขยายใหญ่ตามใจที่เรานึก พอนึกให้เล็ก แล้วดวงอุคคหนิมิตก็เล็กตามที่ใจเรานึก เพียงเท่านี้ก็ผ่านการฝึกแล้ว

 

หลักของการฝึกกสิณ ๑๐

     ต้องเพ่งให้ขาวให้ใสเข้าไว้ ตามที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกสิณอะไร ? ต้องเพ่งให้ขาวและให้เกิดความใสให้ได้ ! จึงจะถือว่าบรรลุเป้าตามกฎเกณฑ์ ครั้นมาถึงการเพ่งอวัยวะในร่างกาย ก็ถือกฎเกณฑ์อย่างเดียวกัน ต้องให้ขาวและให้ใสจึงจะใช้ได้ ! กสิณธาตุ ๔ ก็ต้องให้ขาว แม้กสิณสี ก็ต้องให้ขาวเช่นเดียวกัน

 

การฝึกที่ยากขึ้น

     ตำราบอกว่า เมื่อทำดวงกสิณใสได้แล้ว ต่อไปนี้ท่านให้เอากายมนุษย์ (ในที่นี้คือกายมนุษย์ละเอียด หรือเรียกอีกชื่อว่ากายฝัน) พอเรานึกเอากายฝันของเราไปนั่งในดวงกสิณ เราก็เห็นกายฝันของเราไปปรากฏในดวงกสิณทันที เราเห็นโดยใจของเรา กายฝันของเราหน้าตาเหมือนเรา คือเหมือนกายมนุษย์ตัวเรานี้ ดวงกสิณจะขยายใหญ่ กว้าง ๒ วา หนา ๒ คืบ ไปอยู่ที่ก้นของกายฝันของเรา ทำหน้าที่เป็น “ฌาน” ให้แก่เรา พากายฝันของเราไปไหนก็ได้ ตามที่เราปรารถนาจะไป คือทำหน้าที่เป็นพาหนะนั่นเอง จะให้พลิกคว่ำ พลิกหงายก็ได้ ให้เป็นปล่อง ให้เป็นช่อง ทำได้ตามใจนึก

 

อานิสงส์ของอุคคหนิมิต

     คือเป็นสื่อให้เราเห็นดวงธรรมของเรา อุคคหนิมิตเป็นดวงใส พอเกิดความใสเต็มที่แล้ว ก็จะเห็นดวงปฐมมรรคของเราเอง ซึ่งดวงธรรมนี้ก็อยู่ที่ศูนย์กลางกายของเรานั่นเอง การเข้าสู่ดวงปฐมมรรคนั้นเร็วมาก เราดูไม่ทันระหว่างดวงธรรมกับดวงกสิณ เราแทบจะแยกกันไม่ออก เพราะเป็นดวงใสเหมือนกัน แต่ดวงธรรมมีขนาดเล็ก เพียงเท่าฟองไข่แดงของไก่ สมัยก่อนฝึกกันแค่ ๓ ดวงธรรม เรียกดวงปฐมมรรค – ดวงทุติยมรรค – ดวงตติยมรรค พอส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงตติยมรรค ก็จะเห็นกายของเรา ในยุคท้ายๆ นี้ ฝึกกัน ๖ ดวงธรรม คือดวงปฐมมรรค-ดวงศีล-ดวงสมาธิ-ดวงปัญญา-ดวงวิมุตติ-ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

 

วิธีฝึกเดินวิชา ๑๘ กายแบบ ๓ ดวงธรรม เมื่อเห็นดวงปฐมมรรคแล้ว

ลำดับแรก

     หยุดนิ่งกลางดวงปฐมมรรค ท่องใจหยุดในหยุด จะเห็นจุดศูนย์กลางของดวงธรรม มีลักษณะเป็นจุดใสเท่าปลายเข็ม ท่องใจหยุดในหยุด จุดใสเท่าปลายเข็มจะว่างออกไป เห็นดวงใสที่ ๒ ซ้อนดวงใสที่ ๑ ; ดวงใสที่ ๒ คือดวงทุติยมรรค หยุดนิ่งกลางดวงทุติยมรรค เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม ท่องใจหยุดในหยุด แล้วจุดใสเท่าปลายเข็มว่างออกไป เห็นดวงใสที่ ๓ ซ้อนดวงใสที่ ๒ ; ดวงใสที่ ๓ คือดวงตติยมรรค ส่งใจนิ่งกลางดวงตติยมรรค เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม ส่งใจนิ่งลงไปที่จุดใสเท่าปลายเข็ม แล้วจุดใสเท่าปลายเข็มจะว่าง ในว่างใสนั้นก็เห็น “กายมนุษย์ละเอียด (กายฝัน) ”

ลำดับสอง

     จากกายมนุษย์ละเอียดเข้าหากายทิพย์ จงเอาใจของเรามองปากช่องจมูกกายมนุษย์ละเอียด (ท่านหญิงส่งใจมองปากช่องจมูกซ้าย ท่านชายมองปากช่องจมูกขวา) ท่องใจว่า “หยุดในหยุด” แล้วเลื่อนใจมองเพลาตาของกายมนุษย์ละเอียด (หญิงซ้าย - ชายขวา) ท่องใจหยุดในหยุด จากนั้น เลื่อนใจไปที่จอมประสาทของกายมนุษย์ละเอียด ท่องใจหยุดในหยุด จากนั้น เลื่อนใจมองผ่านปากช่องลำคอของกายมนุษย์ละเอียด มองลงไปในท้องของกายมนุษย์ละเอียด ท่องใจหยุดในหยุด ก็จะเห็นดวงปฐมมรรค ดวงทุติยมรรค และตติยมรรค เหมือนที่ฝึกในตอนต้นนั้น พอส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงตติยมรรค เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม ส่งใจมองจุดใสเท่าปลายเข็ม แล้วจุดใสเท่าปลายเข็มจะว่าง ในว่างนั้น ก็เห็นกายทิพย์หยาบของตัวเรา ใส่ชฎาเครื่องทรงเหมือนตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ หน้าตาของกายต้องเหมือนเราทุกประการ เพียงแต่ใส่ชฎาและมีเครื่องทรงวาววับ

ลำดับสาม

     จากกายทิพย์หยาบเข้าหากายทิพย์ละเอียด มีวิธีการฝึกแบบเดียวกับลำดับสอง จะเห็นกายทิพย์ละเอียดมีรัศมีสว่างกว่ากายทิพย์หยาบ

ลำดับสี่

     จากกายทิพย์ละเอียดเข้าหากายรูปพรหมหยาบ (กายปฐมวิญญาณ) ทันใดที่เห็นกายรูปพรหม เป็นกายใส่ชฎา เครื่องทรงเหมือนตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ และเกิดแผ่นฌานที่ก้นกายด้วย เป็นแผ่นใสกลม ๔ แผ่น เรียกว่ารูปฌาน (กายรูปพรหมนี้ ทุกวันนี้เรียกสั้นๆ ว่ากายพรหม)

ลำดับห้า

     จากกายรูปพรหมหยาบเข้าหากายรูปพรหมละเอียด เป็นกายใส่ชฎา เครื่องทรงเหมือนตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ มีแผ่นฌานที่ก้นกาย ๔ แผ่น มีรัศมีสว่างกว่ากายรูปพรหมหยาบ

ลำดับหก

     จากกายรูปพรหมละเอียดเข้าหากายอรูปพรหมหยาบ การเข้าสู่กาย เข้าตามฐานตามที่กล่าวแล้ว เป็นที่เข้าใจแล้ว จึงไม่กล่าวถึงอีก บัดนี้ ! เราอยู่กับกายรูปพรหมละเอียด จะเข้าสู่กายอรูปพรหมหยาบ ก็ส่งใจเข้าไปในกายรูปพรหมละเอียด แล้วลำดับดวงธรรม ๓ ดวง ตามวิธีการที่กล่าวแล้ว ขณะเดินวิชาให้ท่องใจไปด้วยตามที่กล่าวนั้น พอถึงดวงธรรมที่ ๓ คือดวงตติยมรรค ส่งใจนิ่งลงไปที่กลางดวงธรรม เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม พอเห็นจุดใสเท่าปลายเข็มว่าง ก็เห็นกายอรูปพรหมหยาบ พร้อมทั้งมีแผ่นฌานที่ก้นกาย ๘ แผ่น คือมีทั้งรูปฌาน ๔ แผ่น และอรูปฌาน ๔ แผ่น รวมเป็น ๘ แผ่น หลวงพ่ออธิบายว่า ทันทีที่เกิดกาย แผ่นฌานก็เกิดขึ้นทันใดพร้อมกันไม่ก่อนไม่หลัง

ลำดับเจ็ด

     จากกายอรูปพรหมหยาบเข้าหากายอรูปพรหมละเอียด (กายปฐมวิญญาณละเอียด) ก็เดินวิชาตามแนวเดียวกัน ตามกฎเกณฑ์เดียวกัน ส่งใจนิ่งเข้าสู่กายตามฐาน แล้วหยุดนิ่งกลางดวงธรรม ๓ ดวง ในกายของอรูปพรหมหยาบ ก็จะเห็นกายอรูปพรหมละเอียด และที่ก้นกายของกายอรูปพรหมละเอียด มีแผ่นฌาน ๘ แผ่น กายอรูปพรหมละเอียด รูปร่างหน้าตาเหมือนตัวเราทุกประการ ใส่ชฎาและเครื่องทรงเหมือนตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ มีรัศมีสว่างกว่ากายอรูปพรหมหยาบ

ลำดับแปด

     จากกายอรูปพรหมละเอียดเข้าหากายธรรมโคตรภูหยาบ จนถึงกายธรรมพระอรหัตละเอียด เดินวิชาแนวเดียวกัน ส่งใจเข้าหากายอรูปพรหมละเอียดแล้ว ลำดับดวงธรรม ๓ ดวง พอถึงดวงตติยมรรค ส่งใจนิ่งกลางดวงธรรม แล้วจุดใสเท่าปลายเข็มจะว่าง ในว่างนั้นก็จะเห็นกายธรรมโคตรภูหยาบ เป็นพระพุทธรูปขาวใส เกตุดอกบัวตูม จากกายธรรมโคตรภูหยาบเข้ากายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาหยาบ กายธรรมพระโสดาละเอียด กายธรรมพระสกิทาคามีหยาบ กายธรรมพระสกิทาคามีละเอียด กายธรรมพระอนาคามีหยาบ กายธรรมพระอนาคามีละเอียด กายธรรมพระอรหัตหยาบ กายธรรมพระอรหัตละเอียด รวม ๑๐ กายธรรม ทุกกายธรรมมีแผ่นฌานที่ก้นกาย ๘ แผ่น

     สรุปการเดินวิชา เราเดินวิชาครบ ๑๘ กายแบบ ๓ ดวงธรรม เหตุผลที่ใช้แบบดวงธรรม ๓ ดวง เพราะเป็นหลักสูตรสมถะ ถ้าเป็นหลักสูตรวิปัสสนาก็ใช้แบบดวงธรรม ๖ ดวง คือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ดวงปฐมมรรค) ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ วิธีเดินวิชาก็แบบเดียวกัน เพียงแต่เพิ่มดวงธรรมขึ้นเท่านั้น กฎเกณฑ์อื่นก็อย่างเดียวกัน ท่านใดจะเดินวิชาแบบ ๖ ดวงธรรมก็ทำได้ ไม่ขัดข้องอะไรเลย !

 

บทเรียนได้แสดงวิธีนำไปใช้โดยเป็นความรู้ที่ยากขึ้น

     เราสรุปความรู้กันก่อน เราฝึกมาถึงตรงนี้ เราได้เห็นกายโลกีย์และกายธรรมแล้ว รวม ๑๘ กาย มี ๓ กายที่ไม่มีฌานที่ก้นกาย คือกายมนุษย์ละเอียด (กายฝัน) กายทิพย์หยาบและกายทิพย์ละเอียด โดยไม่นับกายมนุษย์หยาบคือตัวเรานี้ ส่วนกายนอกเหนือจากนี้ มีแผ่นฌานที่ก้นกายทั้งหมด ได้แก่ กายรูปพรหมหยาบและกายรูปพรหมละเอียด มีแผ่นฌานที่ก้นกาย ๔ แผ่น นั่นคือ มีรูปฌาน กายอรูปพรหมหยาบและกายอรูปพรหมละเอียด มีแผ่นฌานที่ก้นกาย ๘ แผ่น นั่นคือ มีทั้งรูปฌานและอรูปฌาน และกายธรรมทั้งหมดทุกกายธรรมก็มีแผ่นฌาน ๘ แผ่น คือมีทั้งรูปฌานและอรูปฌาน

     ฌานมีลักษณะเป็นแผ่นใส ทำหน้าที่เป็นพาหนะให้แก่กาย เมื่อกายจะไปไหนก็นั่งฌานไป โบราณท่านพูดว่าเข้าฌานไป ถ้าไม่มีฌานก็ไปไหนไม่ได้ กล่าวถึงกายมนุษย์ละเอียดคือกายฝันของเรา และกายทิพย์หยาบ – กายทิพย์ละเอียด ไม่มีแผ่นฌาน แต่บทฝึกท่านสั่งให้ใช้กายฝันไปไหนโดยใช้ฌาน และใช้กายทิพย์เข้าฌานไปเที่ยวนรก เพราะเหตุนี้ เราจึงต้องมาสร้างฌานให้แก่กายทั้ง ๓ ก่อน หมายความว่าฌานโดยธรรมชาติไม่มี เราก็สร้างฌานจำลองขึ้น หลวงพ่อท่านสอนไว้แล้ว

นี่เป็นตัวอย่างคัดมาจากหนังสือให้ท่านอ่าน คงไม่เอามาหมดจะมากเกินไป ทำให้เราขี้เกียจอ่าน

เราได้ความรู้อะไรบ้าง อย่างน้อยท่านก็ได้ข้อมูลในการอธิบาย สมถะกรรมฐานในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่ที่เราเคยอ่าน ไม่มีผู้ใดอธิบายแบบนี้ เมื่อไม่มีใครอธิบายแบบนี้ เราก็เรียนกันไปแบบนั้น ได้อารมณ์ฌาน แต่ไม่เห็นแผ่นฌาน แสดงฤทธิ์ได้ ทำอะไรได้ พอผสมคาถาอาคมเข้าไปก็ขลัง แต่อย่าเพิ่งดีใจ ต้องศึกษาให้เห็นฉากหลัง ว่าใครมาทำให้ของเหล่านั้น ขลัง มีปาฏิหาริย์ เพราะเรื่องเหลานี้น่าตื่นเต้นมาก ผมเองก็ชอบมากเรื่องเหล่านี้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ตื่นเต้นมาก เพราะยังมีอะไรๆ อีกหลายอย่างในไส้ในเรื่องพวกนี้

แต่ถ้าไม่มีผู้ศึกษาเรื่องเหล่านี้ไว้ ก็คงเข้าสู่วัฏจักรแห่งการเสื่อมนั่นเอง ส่วนท่านอ่านแล้วแปลกใจ ว่ามีการอธิบายสมถะแบบนี้ด้วยเหรอ ก็อยู่ที่ตัวท่านจะปล่อยผ่าน หรือศึกษาเพิ่มเติม

ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม ขอให้เห็น จำ คิด รู้ ทุกดวง ทุกกาย จงเป็นธาตุขาวธรรมขาว ธาตุใส ธรรมใส สามารถ กำจัดทุกข์ กำจัดภัย กำจัดโรค ได้จริงๆ เทอญ

อยากจะเป็นวิชาธรรมกาย ขอให้มาฝึกเบื้องต้นคือวิชา 18 กายก่อน แล้วค่อยต่อยอดเรื่องเหล่านี้ เพราะวิชา 18 กายเป็นพื้นฐานของวิชาธรรมกายทั้งหมด

 

ผมได้ข่าว จากเพื่อนๆที่ชอบนั่งสมาธิ ได้ยินเรื่องราวของพวกคุณเหมือนคนแถวบ้านผมเลย

ผมได้เข้าไปดู ตามคำแนะนำของเพื่อนที่เว็ปนี้

dmc.tv/pages/casestudy/2549-08-28.html

มีหลายคนเขาบอกว่าเป็นคุณกับพวก

แต่ผมเชื่อพระที่บอกอย่างว่า

"การที่เราจะสังเกตหยาบๆว่า คนที่อ้างตัวว่ารู้เห็นธรรมะละเอียดนั้น ก็ดูที่เขามักชอบอวดอ้างว่า ตัวเองเห็นนั่นเห็นนี่, เป็นนั่นเป็นนี่ ตลอดเวลา พร่ำเพรื่อ แตกต่างจากคนอื่น เพื่อให้คนอื่นหันมาชื่นชมยกย่อง ทั้งๆที่สิ่งที่พูดนั้นไม่ตรงกับความจริง เนื้อหาผิดเพี้ยน โดยไม่เลือกกาลเทศะ เหมือนแท็งก์น้ำเปล่าที่ตีดัง"

เพราะลักษณะของคุณ เหมือนกับ

สำนัก เจ้าพ่อพญาเสือ18โคลง แถวบ้านผม เนี่ย พูดเหมือนคุณเลย ลุงบูรณ์แก ชอบคุยโว้ชอบสอนคนเรื่องกรรมฐาน สอนเรื่องกสินได้ คนก็หลงเชื่อแห่ไปขอหวย ไปฝึกสมาธิ กันเต็ม นึกว่าแกเป็นผู้วิเศษ แถมยังชอบเอาตำราปราบมาร มาอ้างด้วย คนก็ยิ่งเชื่อกันไปใหญ่

แถมเคยบอกด้วยว่าได้เข้ายานหรือขี่ยานอะไรเนี่ย ไปพบหลวงพ่อปากน้ำ ไปเรียนวิชชาธรรมกายกับท่านมา ที่สำนักพญายม ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่นั้น แล้ว ท่านสอนวิชชา 69กาย เหนือกว่าวิชชา 18 กาย ปราบโครตมารได้หมด ให้ลุงบูรณ์แก แต่เพียงผู้เดียว คนอื่นไม่ได้เพราะบุญบารมีไม่ถึง แถมแกยังเขียนตำราคล้ายๆกับพวกคุณเนี่ย มีเป็น เถือกเถ้าเหล่ากอ ร้อยใส้ เข้ากลาง ดับหยาบไปเกิดละเอียด ทำกายให้ใส หยุดไปกลางใจทำใจ ให้ใส มีดวงใส 6ดวง ต่อ 1กายอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมดฟังแล้วคล้ายๆกันเลย

ตอนนี้โดนโครตมารปราบไปแล้ว เพราะไปหลอกจับนมสาว ล้วงของลับ โดนพ่อแม่ของเด็ก แจ้งจับ ตอนนี้ติดคุกไปแล้ว แต่ไม่ออกข่าว เพราะอยู่บ้านนอก

คุณเองก็ระวัง โดนโครตมารมันปราบเอานะ อย่างงี้ต้องวิชชา 138 กาย เอา2เท่าไปเลย

ตอนนี้วิชชาของหลวงพ่อปากน้ำท่านดังจริงๆ เห็นได้ยินมาหลายสำนักแล้ว เพิ่งมาเจอสำนักใหม่แบบออนไลน์ แต่ยังเน้น 18 กายอยู่

ขอบคุณความรู้ทางพระศาสนา

ช่วยกันปฏิบัติรักษาไว้ครับ

พระกัมมัฏฐานมี 40 วิธี ชอบอย่างไหนทำตามอย่างนั้น

ข้ามพ้นการแบ่งแยกสายได้ถือว่าผ่านในระดับหนึ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท