สอนร้องด้นกลอนสด "ถ่ายทอดภูมิปัญญา" เพลงอีแซว เพลงแหล่


ติดต่อขอเยี่ยมชมการฝึกซ้อมเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ได้ทุกวัน (จันทร์-ศุกร์) เวลา 16.00-17.30 น. และในวันเสาร์หรืออาทิตย์ เวลา 09.00-12.30 น. ที่ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี 72170 (นายชำเลือง มณีวงษ์ 084-976-3799)

 

สอนร้องด้นกลอนสด

ถ่ายทอดภูมิปัญญา

เพลงอีแซวด้นสด

เพลงแหล่ด้นสด

เพื่อการพัฒนาสู่อาชีพ

ชำเลือง  มณีวงษ์

(ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมการแสดงเพลงพื้นบ้าน ราชมงคลสรรเสริญ 2547)

          วันนี้ผลงานเพลงพื้นบ้านในชื่อเพลงอีแซวด้นสดเป็น 1 ใน 92 รายการ ในงานมหัศจรรย์เด็กไทย ได้จัดแสดงผลงานที่บูธ 32 ฮอล 8 อารีน่า  เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2550 ผ่านไปแล้วก็ตาม แต่ควันหลงและกลิ่นไอแห่งความพยายาม ตั้งใจของนักเรียนที่ฝึกปฏิบัติเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าคงทำไม่ได้ ให้เกิดเป็นความจริงขึ้นมา เรียกว่า เป็นรูปธรรม สามารถที่จะนำเสนอความรู้ให้แก่ผู้มาเยือนได้อย่างมั่นใจและด้วยความภาคภูมิใจ เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เด็ก ๆ เขาทำได้  

               

           แต่ว่า กว่าที่จะทำได้ก็ยากมาก  การที่เราจะสอนใครสักคน ให้ร้องด้นกลอนสดได้ เป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง แต่การที่เราจะต้องสอนให้นักแสดงทุกคนในวงเพลงอีแซวด้นกลอนสดได้ มันยากยิ่งกว่านั้นอีกหลายร้อยหลายพันเท่า ต้องทำใจให้สบายแล้วไปที่จุดตั้งต้นทำต่อไปอย่างมีความหวัง จาก 1 คน เป็น 2 คน จาก 2 คน เป็น 4 คน จนได้ทั้งคณะ (มีทั้งเก่ง ปานกลาง และอ่อน) นั่นหมายถึงว่าจะมีนักด้นสดที่เป็นแม่เหล็กอยู่  2-4 คน (หทัยกาญจน์, รัตนา, ธีระพงษ์, ยุพาภรณ์) รองลงไปก็ 8-10 คน และยังไม่ค่อยคล่องก็ 2-4 คน ส่วนรหัสลับในการด้นกลอนสดก็ไม่มีอะไรมาก อาศัยครูเป็นแม่แบบ เป็นงานที่เราทำอยู่ประจำ

หลักการของผมมีดังนี้ 

ขั้นการเรียนรู้ (ศึกษาทำความเข้าใจผังคำกลอนขั้นพื้นฐาน) 

         1. ให้นักแสดงศึกษาผังคำกลอน (กลอนหัวเดียว) ง่าย ๆ ไปก่อน เริ่มกลอน ไล

         2.  ครูร้องด้นให้เด็กฟังอย่างช้า ๆ เปรียบเทียบคำร้องกับผังคำกลอน

         3. นักเรียนบอกคำมา แล้วครูร้องด้นด้วยคำนั้น ๆ เพียงอย่างเดียว

         4.  นักเรียนชี้บอกไปที่วัตถุ สิ่งของแล้วครูร้องด้นสดอธิบาย ขยายความในสิ่งนั้น

         5.  ครูด้นสดให้ฟังโดยจับเอาบุคลิกการเคลื่อนไหวของนักเรียนมาร้อง 

ขั้นฝึกปฏิบัติ (ถอดรหัสจากคำ ออกมาเป็นสิ่งแทนให้ได้ความหมายชัดเจน) 

               1. ใช้ไหวพริบคิดตามคำ หรือชื่อที่กำหนดมาให้ อย่างรวดเร็วฉับพลัน

         2.  แปลคำที่ได้รับ (รหัส) ออกมาเป็นสัญลักษณ์หรือเป็นรูปธรรม (ถอดรหัส)

         3. นึกถึงสิ่งที่จะเชื่อมโยงกับคำเหล่านั้นให้ได้นำเอาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและแคบที่สุดมาใช้

        4.  นำเอาข้อมูลที่มีในอากาสมาร้องออกไปเลย แม้ว่าจะยังไม่ลงกลอนก็ตาม

        5.  ฝึกร้องคำเดิม ๆ ไปก่อนจนคล่องแล้วจึงร้องคำใหม่ ๆ ต่อไป 

ขั้นต่อกลอน (หาคำมาร้องให้อยู่ในกรอบความคิดอย่างรวดเร็ว ฉับไว) 

               1.  ครูเป็นผู้ร้องขึ้นต้น แล้วให้ผู้เรียนร้องต่อ (ร้องเพียงวรรคขึ้นกับวรรคลง 2 วรรค)

         2.  ครูร้อง 1 บทมี 2 วรรค วรรคหน้ากับวรรคหลังผู้เรียนร้องต่ออีก 1 บท เรื่องเดียวกัน

         3.  ผู้เรียนขึ้นมาก่อน 1 วรรค (วรรคขึ้นต้น) ครูร้องต่อในวรรคลง 1 วรรค เรื่องเดียวกัน

         4.  ฝึกร้อง ร้องบทยาว ๆ มากกว่า 1 บท โต้กันระหว่างครูกับผู้เรียน สลับกันไป

         5. โต้กลอนกันโดยไม่กำหนดหน้าที่ใครร้องได้ มาที่ไมโครโฟนร้องไปเลย คนต่อไปมาแทรกเอาเอง (ตรงนี้สนุกมาก) เมื่อฝึกร้องมาก ๆ ข้อมูลก็มาเรียงในสมองนำมาใช้ได้ 

กล่าวโดยสรุป การฝึกด้นสดเพลงอีแซว มีดังนี้

         1.  ศึกษาทำความเข้าใจผังคำกลอนขั้นพื้นฐาน ให้รู้การส่งสัมผัส

         2.  ถอดรหัสจากคำ ออกมาเป็นสิ่งแทนให้ได้ความหมายชัดเจน

         3.  หาคำมาร้องให้อยู่ในกรอบความคิดอย่างรวดเร็ว ฉับไว 

              

                คงไม่มีที่ไหนตั้งโรงเรียนสอนร้องด้นสด เพราะเท่าที่ผ่านมาการแต่งกลอนสด ว่ากลอนสด ยังมีการเขียนข้อความเป็นตัวอักษรลงในกระดาษก่อน แล้วจึงนำมาอ่านโต้กัน ในความเป็นจริงคำว่า สดจะต้องฉับพลัน ไม่มีการเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า ยิ่งถ้าเป็นการทำให้ผู้ชม ผู้ฟังประหลาดใจ เกิดความพิศวงขึ้นมาได้ จะเป็นความสดที่ไม่ต้องตอบคำถามใด ๆ อีก นั่นหมายความว่า คำร้องทุกคำ ทุกบททุกตอนจะต้องแต่งสด ๆ ในอากาศ (พื้นที่ว่าง ๆ ในอากาศคือกระดาษที่จะเขียนบทกลอน)  กระบวนการในการฝึกด้นสดนั้น จะต้องกระทำโดยที่ไม่เป็นทางการ  เพราะถ้าตั้งใจที่จะทำงานนี้ให้ได้จริง ๆ ผู้ที่เข้ามารับการฝึกอาจจะเกิดความท้อใจ เพราะการที่เราจะสร้างผลงานที่เกินเอื้อมสูงมากไปอาจจะเป็นความกดดันมายังผู้ฝึกก็ได้ โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นของการคิดคำมาร้อง สำคัญที่สุด ทั้งนี้เพราะคำที่ร้องจะต้องอยู่ในกรอบของความหมายในสิ่งที่กำหนดมาให้ และผู้ร้องจะต้องขมวดคำให้มีความกระชับรัดกุม ขอบเขตแคบที่สุด

                มาถึงวันนี้ ประสบการด้นกลอนสดที่ผมใช้ในการร้องทำขวัญนาค ผมร้องเพลงพื้นบ้านหลายชนิดบนเวที ได้ถูกถ่ายทอดไปยังนักเรียนที่อยู่ในสังกัดวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถฝึกให้ร้องด้นสดได้ดีทุกคน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็ก ๆ มองเห็นทางในการพัฒนา เพราะอย่างน้อย อิม-หทัยกาญจน์ เมืองมูล  ยุ้ย-รัตนา ผัดแสน  ท็อป-ธีระพงษ์  พูลเกิด ลูกหนู-ยุพาภรณ์ สุขเกษม ยุ-ยุวดี มูลทองชุน  แป้ง-ภาธิณี นาคกลิ่นกุล  เจ-จิระพงษ์ มามีสุข เบียร์-สหรัฐ อินทร์ละม่อม แนน-กนกพรพลายละหารและวรรณา แก้วมณี ก็คงเป็นเครือข่ายที่ดี ที่จะนำเพื่อน ๆ น้อง ๆ ไปสู่เป้าหมายอันเป็นเอกลักษณ์ของวงเพลงของพวกเราได้ 

          อิม-หทัยกาญจน์ เมืองมูล และ ยุ้ย-รัตนา ผัดแสน เป็น 2 คนแรกที่บุกเบิกเรื่องของความ คิดสร้างสรรค์ในการด้นกลอนสด  อิม จะคิดได้เร็ว หาคำมาร้องได้ฉับพลัน  ยุ้ย จะคิดได้ช้ากว่าเล็กน้อย แต่คำร้องคม เสียงร้องสดใสน่าฟังมาก เป็นนักร้องที่เสียงดีทั้งคู่ เมื่อเวลาไปเล่นเพลงจะมีผู้ชมมาข้อให้เขาร้องเพลงลูกทุ่งแถมในตอนท้ายตลอดทุกงาน ต่อมาก็ต้องยกให้ ท็อป เจ้าของเหรียญทอง เพลงลูกทุ่งชาย คนล่าสุดจากงานศิลปหัตถกรรมครั้งที่ 56 คนนี้ร้องด้นสด ๆ ได้ยาว ๆ ร้องอย่างต่อเนื่อง ไม่มีติดขัด เพียงแต่คำร้องยังไม่ลึก เพราะเขายังเด็กมาก (อยู่ ม.3/6) ส่วนคนที่มาแรงมาก ฝึกได้เร็วเป็นไวทั้งกลอนเดียว และกลอนผูก (กลอนแปด) คือ ลูกหนู-ยุพาภรณ์ สุขเกษม เสียงร้องสดใส เป็นคนเสียงดีด้นสด ๆ ไว้ใจได้ ร้องโต้กับผมได้ยาว ๆ ไม่มีติดขัดเลย

          ผมยินดีที่จะสอนวิธีการด้นสด ให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่สนใจทุกคน เพียงแต่ผู้ที่จะมาฝึกทักษะในชั้นนี้ จะต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นนักร้อง เป็นนักแสดงเพลงพื้นบ้านระดับมืออาชีพ เพราะถ้าจะมาเริ่มต้นฝึกจากผู้ที่มีประสบการณ์เป็นศูนย์ คงจะเป็นเรื่องยาก หรือคงไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร การด้นกลอนสด เป็นการต่อยอดเพลงแหล่ เพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านและเป็นการนำเอาไหวพริบ ปฏิภาณที่มีอยู่ในตัวเองออกมาให้เห็นความประหลาดที่ซ่อนอยู่ในตัวตนของเรา ไม่มีอะไรยากเกินที่เราจะสามารถฝึกฝนได้ หากแต่สิ่งนั้น ๆ จะต้องตรงกับความถนัด ความสนใจ ความชอบ และชีวิตจริงของเรา ธรรมชาติแห่งความเป็นจริงจะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้ 

               

                ติดต่อขอเยี่ยมชมการฝึกซ้อมเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ได้ทุกวัน (จันทร์-ศุกร์) เวลา 16.00-17.30 น. และในวันเสาร์หรืออาทิตย์ เวลา 09.00-12.30 น. ที่อาคาร 5 ห้อง 512 พบกับนักแสดงวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ  โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1  อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี 72170  โทร. 035-591012 (โรงเรียน) แฟกซ์ 035-592040  โทร. 035-591271 และ  084-976-3799 (นายชำเลือง มณีวงษ์)

 

หมายเลขบันทึก: 147446เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2007 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ผมขอชมจากใจจริงว่าอาจารย์เป็นคนที่เก่งจริงๆ อาจารย์เป็นคนที่มีความสามารถมากจิรงๆ ผมรู้มาว่าอาจารย์เล่นเพลงพื้นบ้านได้หลายอย่างใช่ไหมคับ ผมก็เล่นเพลงอีแซวเป็นนะคับ แต่ยังไม่เก่ง อิอิอิ.....

เห็นด้วยกับข้อความแรกครับ 
       ต้องขอยอมรับด้วยใจว่า สุดยอดแห่งบุคลากร หากไม่มีคนแบบ อ.ชำเลือง ศิลปะพื้นบ้านของเราคงหายไปจากประเทศ  ขอให้อาจารย์พยามเผยแพร่ความรู้เรื่องแบบนี้อีกน่ะครับ  โดยส่วนตัวผมเป็นนักดนตรี และชอบเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว  แต่อีกเรื่องที่อยากให้อาจารย์เพิ่มพูนความรู้ให้ คือ การทำขวัญนาคครับจากเดิมที่อาจารย์เคยเขียนไว้ คิดว่าอาจารย์น่าจะมีกลวิธีแบบอื่นอีก อยากให้ช่วยถ่ายทอดครับ


(ลูกศิษย์)

ตอบความเห็นที่ 1

  • เป็นปลื้ม เมื่อลูกศิษย์ทางเพลงเข้ามาให้กำลังใจครู
  • ครูคงยังไม่ใช่คนเก่งหรอกนะ เพราะยังต้องศึกษาเรื่องของเพลงพื้นบ้านอีกมาก
  • จนกว่าชีวิตจะหาไม่นั่นแหละ จึงจะมีคนประเมินค่า ว่าครูคือ ผู้ที่มีความสามารถในระดับใด
  • ขอให้เธอฝึกฝนต่อ ๆ ไป อย่าทิ้งเสียนะ เพราะนี่คือ แก่นแท้ของศิลปะท้องถิ่น ที่นำเอาไปหากินได้ตลอดชีวิต

ตอบความเห็นที่ 2

       ครูบรรเจิด พุ่มพันธ์สน เป็นคนเก่งของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 มีความสามารถสูงยิ่งในด้าน ICT ปั้นลูกศิษย์จนมีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ (คนอย่างนี้หาได้ยากมาก) รวมทั้งเรื่องของดนตรีสากล (ยอดเยี่ยมจริง ๆ)

  • ขอบใจ ที่เข้ามาโปรยยาหอมมาให้ครู มีลมหายใจต่อไปได้อีกยาวนาน
  • ครูยืดอกยอมรับได้อย่างเต็มที่ว่า จุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1  เราเริ่มมาก่อน (ก่อนปี พ.ศ. 2534)
  • ครูจะพยายยามเผยแพร่เรื่องนี้ต่อไปอีก แต่เมื่อมาเจอกระแสคลื่นลมพิษเข้า อาจล้า ๆ ไปบ้าง
  • เรื่องของพิธีการทำขวัญนาค จะลงเพิ่มเติมไปอีกเรื่อย ๆ เพราะในประสบการณ์ยังมีข้อมูลที่เก็บไว้อีกมาก
  • ขอให้มีความสุขกับงานนะ (ลูกศิษย์คนเก่ง)

อาจารย์ หนูเข้ามาดูแล้วหนูคิดถึงอาจารย์กะน้องๆมากเลยอะ หนูอยากไปเล่นแซวตามงานต่างอีกเหมือนเดิมเพราะมันให้ทั้งความรู้และประสบการณ์กับหนูมากมาย หนูคิดถึงอาจารย์ที่สุดในโลกเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท