ใช้"ส้ม"สอนให้เด็ก"ฟังเป็น"


คะแนนหรือเกรดที่ได้น้อยนั้นเป็นเพราะเหตุจากไม่ฟังให้ดี ไม่ใช่เพราะเด็กๆ ไม่มีสติปัญญา เพราะฉะนั้น การที่ภาคการเรียนนี้เป็นภาควิมังสา ซึ่งหมายถึงการใคร่ครวญ ไตร่ตรอง และพิจารณาให้รอบคอบ เด็กๆ ควรมองให้เห็นปัญหาของตนเองเสียแต่ตอนนี้ ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเดินทางไปไม่ถึงความสำเร็จตามหลักอิทธิบาทสี่
 


หลังจากที่ได้เสนอความคิดเรื่องการใช้"การฟัง"เป็นต้นทางของการสร้างวินัย และความมีหัวใจนักปราชญ์ไปแล้ว คุณครูเนาวนิจ ซึ่งสอนวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในชั้นมัธยม ได้ทดลองนำแนวทางที่เสนอแนะไว้ไปขยายผล แล้วบันทึกบรรยากาศในห้องเรียนกลับมานำเสนอให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนผู้สนใจ ดังต่อไปนี้

 

เช้าวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เด็กๆ ชั้น ๗ เริ่มต้นการเรียนด้วยการคัดพระพุทธพจน์

ขันตี  ธีรสฺสลงฺกาโร”

ขันติ เป็นคุณสมบัติของนักปราชญ์



บททดสอบที่หนึ่ง

ครูถามเด็กๆ ว่า คำใดในพุทธพจน์ที่แปลว่าขันติ และคำใดแปลว่านักปราชญ์  จากนั้นถามต่อว่า ขันติเกี่ยวกับการเป็นนักปราชญ์อย่างไร  และให้ตัวแทนนักเรียน ๕ คน ที่ครูจะสุ่มเลือกออกมาแสดงความเห็นในหัวข้อนี้โดยที่คนอื่นจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี  กิจกรรมนี้จะเป็นการทดสอบเรื่องการฟังต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม เริ่มต้นนักเรียนจะมีคะแนนอยู่กับตัว ๑๐ คะแนน แต่เมื่อมีปัญหาในการฟังก็จะถูกเตือนและหักคะแนนการฟังเป็นครั้งๆ ไป นอกจากนั้นมีกติกาเพิ่มว่า เมื่อคนแรกพูดแล้ว  คนที่สองจะต้องทวนสิ่งที่เพื่อนคนแรกพูดเสียก่อนจึงค่อยแสดงความเห็นของตนเอง  จากนั้นเมื่อคนที่สามมาพูดก็ต้องทวนสิ่งที่เพื่อนคนแรกและคนที่สองพูดก่อน  แล้วจึงแสดงความคิดเห็นของตน  เด็กๆ จะต้องทำเช่นนี้เรื่อยไปจนครบทั้งห้าคน



เด็กๆ ต้องพยายามฟังเพื่อนพูดเพราะไม่รู้ว่าตนจะถูกเรียกเป็นลำดับต่อไปหรือไม่



นักเรียนคนแรก เสนอว่า การที่เรามีขันติ มีความอดทนก็จะทำให้เราสามารถฟัง คิด ถาม และเขียนได้ และจะเป็นผู้มีความรู้



นักเรียนคนที่สองออกมายืนอึกอัก และต้องให้เพื่อนช่วยเพื่อทวนสิ่งที่คนแรกได้พูดไป แต่ก็พูดได้ไม่ครบถ้วนนักเมื่อพูดถึงคุณสมบัตินักปราชญ์ แล้วเสนอว่าการมีขันติทำให้เรามีความรู้



คนที่สามคือทวนสิ่งที่นักเรียนทั้งสองคนพูดไปด้วยอาการติดขัด  เพื่อนต้องคอยช่วยเมื่อพูดผิด  แต่ต่อมาก็เสนอว่าขันติทำให้เรามีปัญญา



คนที่สี่  เมื่อพูดมีอาการอึกอัก และลำดับความคิดไม่ได้  เพื่อนในห้องคอยช่วยจนพูดทวนได้ทั้งหมด  แล้วเสนอว่าการมีขันติทำให้เราเรียนสิ่งที่เราต้องเรียนได้



คนที่ห้า ออกมาพูดแทนเพื่อนซึ่งเจ็บคอ  เธอพูดทวนสิ่งที่เพื่อนพูดทั้งหมดได้ชัดเจน แล้วเสนอต่อว่าการมีขันติทำให้เรามีความอดทนแม้จะต้องเรียนรู้สิ่งที่เรายังไม่อยากเรียนรู้



ครูให้นักเรียนคนที่หกออกมาสรุปทั้งหมด แต่ก็ยังพูดทวนได้เฉพาะประเด็นที่นักเรียนสองคนแรกพูดแล้วติดขัด  ครูจึงให้คนอื่นช่วยกันพูดจนครบประเด็น  จากนั้นให้ทุกคนลองเขียนสรุปด้วยภาษาของตัว เอง  แล้วครูจึงอธิบายเพิ่มเติมว่าการไม่ตั้งใจฟังทำให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง  และได้ชมนักเรียนคนแรกว่าสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ฟังในวันนี้คือเรื่องขันติ เข้ากับคุณสมบัติของนักปราชญ์คือ สุ จิ ปุ ลิ ซึ่งได้เรียนไปเมื่อวานนี้  ได้อย่างดีมาก  แสดงให้เห็นว่ามีการฟังอย่างตั้งใจมาตลอดสองวัน และใช้ความคิดใคร่ครวญ  เมื่อเห็นคำว่านักปราชญ์ในพระพุทธพจน์แล้วจึงสามารถมองลึกไปจนเห็นคำว่าสุ จิ ปุ ลิ ในนั้นด้วย (เป็นด้านที่ไม่ปรากฏ)



บททดสอบที่สอง

ครูให้เด็กๆ ทดสอบเรื่องการฟังอีกครั้ง โดยแจกส้มให้กับนักเรียนแถวละ ๑ ผล  แล้วตั้งกติกาว่าให้เด็กๆ ปฏิบัติตามคำสั่งไปทีละขั้นตอน



เริ่มต้นจากการให้เด็กที่นั่งหัวแถวใช้ตาดูและใช้มือสัมผัสส้มนั้นแล้วส่งต่อให้เพื่อนไปจนจบแถว  คนที่ได้ส้มแล้วให้เขียนบรรยายเกี่ยวกับส้มลูกนี้ว่าเป็นอย่างไร



ขั้นที่สอง เด็กๆ ต้องดมกลิ่นส้ม แล้วเขียนบรรยาย



ขั้นที่สาม เด็กที่หัวแถวต้องแกะส้มแล้วหยิบชิมหนึ่งชิ้น แล้วส่งต่อๆ กันไป  แล้วเขียนบรรยาย

ครูบอกว่าจะเฉลยให้เด็กๆ เห็นปัญหาเรื่องการฟังของเด็กๆ ในห้องนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง  โดยเลือกให้นักเรียนแถวที่สี่บอกข้อความที่แต่ละคนเขียนบรรยายเกี่ยวกับส้มเมื่อใช้ตาดูและมือสัมผัส  เด็กนักเรียนสี่คนระบุเกี่ยวกับสีและผิวของส้ม สติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่ บางคนระบุได้น้อยมาก  พูดถึงเฉพาะสีของส้ม  ในขณะที่อีกคนบรรยายได้ละเอียดมากถึงลายบนผิวส้ม (จนเพื่อนๆ โห่ และครูก็ตัดคะแนนไปเป็นระยะ โดยแจ้งเด็กๆ ว่าที่ตัดเพราะมีปัญหาในการฟัง คือ ไม่มีมารยาท – แล้วครูก็โดนโห่บ้าง – เป็นโอกาสที่ครูจะหักคะแนนต่อ :)



ครูเลือกแถวที่สองให้บอกว่าเขียนบรรยายเรื่องกลิ่นอย่างไรบ้าง  บ้างบอกสั้นๆ ว่า มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว  บ้างก็บอกว่าด้านนอก (เปลือกส้ม) ไม่มีกลิ่น แต่ด้านในมีกลิ่นส้ม  อีกคนตอบว่ามีกลิ่นเปรี้ยว  นักเรียนหญิงคนหนึ่งบอกว่า คิดว่ามีกลิ่นเปรี้ยวและหอมด้วยแต่ไม่แน่ใจเพราะตนเป็นหวัดอยู่



ครูเลือกแถวหน้าให้บอกว่ารสชาติส้มเป็นอย่างไร  นักเรียนชายสองคนบอกว่ารสเปรี้ยวอมหวาน บางคนบอกว่ากลิ่นเหม็นเปรี้ยว 



ครูบอกเด็กๆ ว่าปัญหาการฟังของเด็กๆ ก็คือ เริ่มตั้งแต่เมื่อบอกให้บรรยายเกี่ยวกับส้มลูกนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่เด็กๆ ระบุในแต่ละประเด็นด้วยข้อความสั้นๆ เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเพื่อนบรรยายได้ละเอียดก็กลับโห่ฮา  ต่อมาเมื่อให้ระบุกลิ่นก็มีเพียงคนเดียวที่พยายามเปรียบเทียบกลิ่นของเปลือกส้มและผิวด้านใน  และเมื่อต้องระบุเรื่องรส ก็ระบุเพียงรสที่ลิ้นสัมผัสได้ แต่ไม่ขยายความว่าเมื่อส้มผ่านจากปากลงไปที่คอแล้วรู้สึกอย่างไร  ส่วนคนที่บ่นหิว เมื่อทานส้มแล้วมีใครรู้สึกแปลกๆ ในท้องบ้างหรือไม่  และที่ต้องพิจารณาให้ดีก็คือ คนที่บอกว่ารสของส้ม “เหม็นเปรี้ยว”  เพราะเป็นการไม่ฟังให้ดีว่าครูถามเรื่องกลิ่นหรือรส  เมื่อฟังไม่ดีก็ทำให้ตอบผิด



ทั้งหมดนี้คือปัญหาเรื่องการฟังของเด็กๆ  ซึ่งมีผลไปถึงการเรียนการสอบในทุกๆ วิชา  ถ้าเด็กๆ เห็นคะแนนในสมุดพกก็ควรจะมองให้เห็นว่าคะแนนหรือเกรดที่ได้น้อยนั้นเป็นเพราะเหตุจากไม่ฟังให้ดี ไม่ใช่เพราะเด็กๆ ไม่มีสติปัญญา  เพราะฉะนั้น การที่ภาคการเรียนนี้เป็นภาควิมังสา ซึ่งหมายถึงการใคร่ครวญ ไตร่ตรอง และพิจารณาให้รอบคอบ  เด็กๆ ควรมองให้เห็นปัญหาของตนเองเสียแต่ตอนนี้ ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเดินทางไปไม่ถึงความสำเร็จตามหลักอิทธิบาทสี่



เด็กๆ ทำท่าเข้าใจและดูเหมือนหลายคนจะเข้าถึงสิ่งที่ครูพูด  แต่มีหลายคนที่ยังพูดไม่รู้ฟัง และคอยชวนเพื่อนข้างๆ คุยจนครูต้องเตือนว่าคะแนน ๑๐ คะแนนที่มีอยู่ในตอนต้นได้หมดไปแล้ว และต้องขอตัดคะแนนที่ได้เมื่อวานต่อ  เด็กๆ หัวเราะกันใหญ่  และเงียบลงได้อีกครู่หนึ่ง



ท้ายชั่วโมง

ครูซักถามเรื่องหัวข้อหนังสือทำมือที่เด็กๆ จะต้องเขียนส่งในปลายภาค และขอให้เด็กๆ ส่งหัวข้อเรื่องในสัปดาห์หน้าเพื่อเริ่มต้นทำโครงงานและเก็บข้อมูล  จากนั้นยกตัวอย่างเรื่องที่พี่ชั้น ๘ เขียนไว้เมื่อปีที่แล้ว ว่าเขียนเรื่องอะไร และมีมุมมองอย่างไรกับเรื่องที่ตนเองเขียน  ครูพูดเชื่อมโยงถึงเรียงความชิ้นที่สองของเด็กๆ ที่ทำได้ดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ มีบางคนที่เห็นโครงสร้างงานของเพื่อนที่ครูนำมาเป็นตัวอย่างในการปรับแก้งานเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว  ก็สามารถเขียนเรื่องที่มีโครงสร้างของเรียงความได้ถูกต้อง  นอกจากนั้น ครูพูดถึงการเขียนเรียงความของเด็กๆ หลายคนที่ได้นำเสนอมุมมองหรือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่เขียนได้อย่างดี คือมีการระบุข้อคิดเห็นหรือแสดงความรู้สึกต่อเรื่องที่เขียนจากมุมมองของตนเอง  ซึ่งทำให้คนอ่านประทับใจ เช่น งานเขียนเรื่อง “ความทุกข์ของฉัน” ที่พูดถึงสุนัขที่ตายจากไป งานเขียนเรื่อง “เพื่อนที่ดีที่สุด” ที่พูดถึงเพื่อนชาวไต้หวันที่สนิทกันเมื่ออยู่โรงเรียนเก่า  งานเขียนเรื่อง “เพลงที่เพราะที่สุด” ที่พูดถึงเพลงที่ชอบและให้รายละเอียดเกี่ยวกับเพลงได้ว่าก่อให้เกิดความรู้สึกชอบได้อย่างไร



ครูให้เด็กๆ ทดลองเขียนเรื่องหนึ่งเรื่องให้ยาวที่สุดภายในเวลา ๑๐ นาทีที่เหลืออยู่  โดยลองดูว่าเมื่อถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเวลาแล้วจะเขียนอะไรออกมาได้มากแค่ไหน  เด็กบางคนต่อรองเรื่องจำนวนบรรทัด เรื่องไม่อยากเขียน เรื่องไม่มีหัวข้อ  ครูอนุญาตให้เป็นหัวข้ออิสระ  ส่วนคนที่ไม่อยากเขียนเรียงความจริงๆ ให้ทำย่อความบทความ ๒ เรื่องให้เสร็จ คือเรื่อง “ปาร์ตี้บาร์บีคิว” และเรื่อง "ใส่บาตร”  เด็กใช้เวลาทำงานอย่างตั้งใจและไม่ส่งเสียงรบกวนใดๆ เมื่อถึงกำหนดครูให้รีบสรุปเรื่องและส่งงานโดยไม่ให้กลับไปทำต่อที่บ้าน  ส่วนการบ้านวันนี้เป็นการคัดไทยจากเอกสาร บทประพันธ์คัดสรร – ๓  เด็กๆ บ่นกันตามเคย แต่ครูบอกว่าการคัดการเขียนเหมือนการฝึกกระบี่ของจอมยุทธ์  ต้องฝึกฝนบ่อยๆ จนกระบี่กับใจประสานกันเป็นหนึ่งเดียว เด็กๆ หัวเราะ (คงคิดว่าครูโม้อีกตามเคย) แล้วเราก็แยกย้ายกันไปทานกลางวัน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14739เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น้องใหม่ที่น่ารัก พี่ว่าน่าจะรวบรวมเพชรแห่งประสบการณ์ไว้ทุกตอน รวมเล่มเป็นคัมภีร์ยกระดับการฟัง การรู้ และการตื่น

จะขอนำไปประยุกต์ให้นักการเมืองลองหัดฟังเสียงคนไทยตาดำๆ ดูบ้าง ได้ผลอย่างไรจะรายงานให้คณูใหม่ทราบครับ

ขอเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับบทประพันธ์คัดสรรน่าจะมีบทกลอนตัวอย่างให้บ้างนะค่ะเพราะดิฉันหรือเด็กบางคนอาจจะต้องการดูตัวอย่างบทประพันธ์บ้างนะค่ะขอจบเพียงเท่านี้นะค่ะ  ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท