พอกันที CKO หน่วยงานราชการ !


การที่จะเข้าใจเรื่อง KM ได้อย่างถ่องแท้นั้น ลำพังเพียงแค่การฟังบรรยายนั้นไม่สามารถจะช่วยได้มากนัก ทางที่ดีจะต้องมีเวทีให้บรรดา CKO เหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ด้วย

     ผมมักจะแนะนำหน่วยราชการเสมอว่า การทำ KM นั้นจะต้องเริ่มกันที่ผู้บริหารระดับสูง คือเริ่มจากผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็น CKO (Chief Knowledge Officer) ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะ CKO นอกจากจะต้องเป็น "Role Model" คือจะต้องทำตัวเป็น "แบบอย่าง" แก่ทุกคนแล้ว CKO ยังต้องเป็น "คุณเอื้อ" คือจะต้อง "เอื้อ" ระบบ "เอื้อ" โครงสร้าง และ "เอื้อ" ทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็น

     นอกจากนั้นบทบาทที่สำคัญที่สุดของการเป็น CKO ก็คือการ "นำการเปลี่ยนแปลง" เพราะ KM ตามแนวของ สคส. นั้น เป็นการทำ KM เพื่อให้หน่วยงานสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ ซึ่งหมายความว่าเป็นการสร้าง "วัฒนธรรมใหม่" ให้เกิดขึ้นในองค์กร เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้คนทำงานใส่ใจในการเรียนรู้ (Learning Culture) เป็นวัฒนธรรมที่คนมีความห่วงใย เอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน (Caring Culture) มีการแบ่งปันความรู้ให้กันและกัน (Sharing Culture) และที่สำคัญก็คือมีการสร้างขวัญและกำลังใจด้วยการให้คำชมเชยหรือสิ่งตอบแทน เป็นการให้รางวัล สนับสนุนคนที่ทำงานดี มีใจให้เพื่อนและหน่วยงาน (Shining Culture)

     ผมพบว่าผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานราชการ ยังมักติดอยู่กับหลักการ "เห็นชอบ มอบรอง" อยู่เสมอ จะเห็นได้ว่าเรื่อง CKO นี้ก็เช่นกัน อธิบดีหลายท่านไม่ยอมเป็นเอง แต่มักจะมอบหมายให้ รองอธิบดี ทำหน้าที่นี้แทน โดยที่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าตนเองนั้นต้องทำอะไรบ้าง ในคำสั่งแต่งตั้งก็มักจะเขียนกันไว้อย่างกว้างๆ และเนื่องจากหน่วยงานระดับกรมยังมีหน่วยงานในสังกัดอีกเป็นจำนวนมาก หน่วยงานใต้สังกัดเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมี CKO ด้วยเช่นกัน เพื่อมาทำหน้าที่ผลักดัน KM ในหน่วยย่อยเหล่านั้น

     Workshop แรกที่ สคส. แนะนำเพราะเห็นว่าสำคัญและจำเป็นยิ่ง ก็คือ การนำ CKO ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นระดับกรม หรือหน่วยงานย่อยมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ และการที่จะเข้าใจเรื่อง KM ได้อย่างถ่องแท้นั้น ลำพังเพียงแค่การฟังบรรยายนั้นไม่สามารถจะช่วยได้มากนัก ทางที่ดีจะต้องมีเวทีให้บรรดา CKO เหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ อาทิเช่น การตั้งเป้าหมาย KM(Knowledge Vision) การทำแผนที่ความรู้ (Knowledge Mapping) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) และการสร้างคลังความรู้ (Knowledge Assets) เป็นต้น ในปัจจุบัน สคส. สามารถย่นย่อ Workshop นี้ให้เหลือเพียง 1 วันเท่านั้น เพราะทราบดีว่าการที่จะให้ผู้บริหารระดับสูงมาอยู่ใน Workshop หลายวันนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง

     แต่ถึงแม้จะเป็น Workshop เพียงแค่ 1 วัน สิ่งที่เกิดขึ้นจริงใน Workshop นี้ที่ทำให้ผมเริ่มจะ "ถอดใจ" ก็คือ ถึงแม้ว่าจะนัดแนะกับทีมที่จัดงานนี้ดีแค่ไหนก็ตาม พอถึงวันจริง สิ่งที่มักจะปรากฏก็คือมี CKO ตัวจริงมาเข้าร่วมแค่เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งนั้นกลายเป็นผู้แทนที่ได้รับมอบหมายมาทั้งสิ้น และที่แย่กว่านั้นก็คือ พวกตัวจริงที่ว่านี้บางคนก็อยู่ได้เพียงแค่ครึ่งวัน หลายคนบอกว่าต้องขอตัวกลับก่อนเพราะว่าช่วงบ่ายมีประชุม สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือการที่ท่าน "CKO ใหญ่" ที่อุตส่าห์ถ่อสังขารมา "เปิดงาน" (มาอ่านสิ่งที่คนเขียนเตรียมไว้ให้ท่าน) แทนที่ท่านจะอยู่ทำความเข้าใจในเรื่อง KM (สักนิดหนึ่งก็ยังดี) กลายเป็นว่าเมื่อท่านกล่าวเปิดงานเสร็จ ท่านก็มักจะจากไปในทันที โดยที่ไม่มี "การเรียนรู้" ใดๆ เกิดขึ้นเลย

     ...ผมเองก็ได้แต่เกิดความรู้สึกสงสารขึ้นมาในใจ...ไม่รู้เหมือนกันว่าควรจะสงสารใคร? ...ตัวท่าน CKO, ลูกน้องของท่านที่อยู่ในหน่วยงาน, ผู้ที่จัดงาน, หรือว่าตัวผมเองที่ "หลวมตัว" เข้ามาพัวพันด้วย !?!

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14691เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เรียนท่าน อ.ดร.ประพนธ์ ที่นับถือ

 นอกจาก "เห็นชอบมอบรอง"ยังแถมด้วย " เห็นด้วย ผู้ช่วยทำ " หลายหน่วยงาน หรือ แม้แต่จังหวัด " สนใจแค่ ทำตามตัวชี้วัด กพร และ ต้องการแค่ คะแนน ครับ"

 ที่นี่ประเทศไทยครับ " แห่ ตามแฟชั่น " ครับ

JJ

 

ต้องอาศัยความพยายาม ความอดทน เวลา และกลยุทธ์ค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุด ผมว่าท้าทายดีครับ ช่วงแรก ๆ พยายามชกลม (bottom up) ไปก่อน พอสุกงอมดีแล้วค่อยลองหาทางให้มีการนำไป top down ถ้าโชคดี (เราไม่สุกงอมไปเองซะก่อน) เมื่อไรที่ bottom up และ top down สามารถ tune เป็นคลื่นเดียวกันได้ ผมว่าจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้ภาคภูมิใจกันทั่วทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นความฝัน เป็นความพยายามของผมเองในขณะนี้ครับ เน้นว่าไม่ใช่มาจากความสำเร็จใด ๆ บางแห่งที่เขาโชคดีที่สามารถ top down ได้เลยก็น่าจะประสบความสำเร็จได้โดยเหนื่อยน้อยกว่า

เห็นด้วยกับอาจารย์วิบูลย์ค่ะ ว่าเรื่องนี้ท้าทายดี ทำให้เรายิ่งต้องคิดหากลยุทธ์ที่จะทำให้สำเร็จ อาจารย์ประพนธ์อย่าเพิ่งท้อนะคะ

แค่เริ่มต้นของKMในส่วนราชการ ก็ไม่เป็นไปตามกฎหลัก 3 ข้อของSnodenแล้ว โดยข้อ 1 คือ สมัครใจ ไม่ใช่บังคับ แต่ของราชการนี่บังคับ ไม่ใช่สมัครใจ และตัว กพร. เองก็ไม่ค่อยชัดเจนนัก

ผมอาจจะใช้คำพูดผิด และทำให้เข้าใจผิดได้ คำว่า top down ของผมในที่นี้หมายถึงว่า number one เขาเอาด้วย ลงมือลุยด้วยตนเอง เป็นแบบอย่างให้คนอื่นได้ คนทำงานข้างล่างก็จะเหนื่อยน้อยลง คงไม่ได้หมายถึงว่าจะไปใช้อำนาจบังคับให้ทำ KM ครับ ถ้าบังคับก็คงไปไม่รอดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนในมหาวิทยาลัย ผมเห็นด้วยกับอาจารย์หมอพิเชฐครับในเรื่องความสำคัญของการสมัครใจ และเราต้อง identify ให้ได้ว่าเขาและเธออยู่ที่ใดกันบ้าง เพื่อดึงมาสร้างเครือข่ายของกัลยาณมิตร และขยายวงต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร อย่างที่โรงพยาบาลบ้านตากทำจนประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง อาจจะเป็นทำนองนี้ ใช่ไหมครับ

ผมอยากเรียนรู้จากต้นแบบ คือ "กพร และ สถาบันเพิ่มฯ" จริงๆแล้ว "หน่วยงานใด มีประสบการณ์ที่เรียกว่า Tacit เรื่อง KM อย่างไรบ้างครับ" น่าจะเล่าให้เราฟังใน Blog บ้างจะได้เกิด Best Practice ที่ว่า KM ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กร ( กพร/สถาบันเพิ่มฯ)

JJ

คนเป็น CKO  ก็ไต่เต้ามาจากตำแหน่งเล็ก ๆ  เป็นวัฒนธรรมการทำงานที่หลอมให้เขาเป็นอย่างนั้น หรือ ลืมตัวกันแน่ ไม่รู้จะโทษอะไรดีค่ะ    น่าเห็นใจระบบราชการไทยจริง ๆ   เห็นใจเราก็ยิ่งต้องอดทนและทำให้เขาปรับเปลี่ยนให้ได้ แม้จะรู้สึกหงุดหงิดเต็มทีก็ตาม

ที่จริงก็น่าสงสาร CKO เหมือนกันนะค่ะ เพราะเห็นแต่มีงานอะไรก็ไม่ทราบเต็มตลอดวัน

สำหรับตัวเองแล้ว งานพิธีเปิดต่าง ๆ  แสดงความยินดี วันเกิดหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ไปโชว์ตัวเท่าไร ซึ่งผู้บริหารหลาย ๆ คนมองว่านี่เป็นจุดสำคัญที่ต้องให้ประชากรเห็นหน้าไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ว่าผู้บริหารเป็นใคร

CKO จริง แค่ตัดสินใจวัน ๆ ก็หมดเวลาทำงานแล้วเหมือนกันค่ะ

เป็นอีกความเห็นหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมน่าจะหวังผลที่คนรุ่นหลังเป็นหลัก คงต้องมีใครสักคนสักกลุ่มที่ต้องยอมเหนื่อยและเสียสละเพื่อคนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นกว่าในรุ่นของตน เหมือนเตรียมความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้กับพื้นดิน เพื่อเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามต่าง ๆ จะได้เจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น

ก็ทำกันไปครับ ยึดแนวพระราชดำริ ๑๔ ประการที่ท่าน รัฐบุรุษ บรรยายที่ ม.ราชภัฐดุสิต  และ พระบรมราโชวาท ครับ  ( Link )

 

กราบขออภัย เขียนชื่อ มหาวิทยาลัยท่านผิดไปครับ ที่ถูกต้อง คือ "มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต"

JJ 

เรียนอาจารย์ประพนธ์

              KMของกรมควบคุมโรคก็คล้ายๆกันค่ะแต่ก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ   ในส่วนของสถาบันบำราศนราดูรต้องช่วยกันทั้งรองและผู้อำนวยการ   ไม่อยากให้อาจารย์ถอดใจเพราะในระบบราชการจะมีปัจจัยที่ท่านอธิบดีอาจจะไม่มีเวลา   ถ้าบังคับท่านรองทั้งหลายได้น่าจะดีขึ้น

                                                 อัจฉรา  เชาวะวณิช

เพิ่งผ่านการอบรม KM 3 วัน ของหน่วยเหนือมา ก็กำลังงงอยู่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี วันที่ 1 สำหรับ CKO แต่ CKO ไม่ไป  วันที่ 2-3 สำหรับคุณอำนวย ส่วนตัวผมไปทั้ง 3 วัน (เพราะถูกสั่งให้เข้าประชุม) แรกๆไปในฐานะคุณกิจ แต่วันสุดท้ายได้เป็นคุณอำนวยและคุณกิจไปในตัว แต่ที่หนักใจคือต้องไปหา CKO เนี่ยหนักใจจริงๆ ตัวเราก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง แล้วจะไปถ่ายทอด+เกลี้ยกล่อมหัวหน้าได้อย่างไร แล้วอีก 2 เดือนต้องมีการนำเสนอ มีข้อแนะนำบ้างไหมเนี่ย 

 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท