Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แนวคิดเรื่องสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี


ที่สำคัญที่ได้บอกแก่พวกเขาก็คือ รัฐและสังคมไม่ควรทอดทิ้งให้พวกเขาแก้ไขปัญหา “อย่างโดดเดี่ยว” รัฐและสังคมควรจะลงมาเข้าใจพวกเขาและพยายามสร้างเครื่องช่วยให้เขามีศักยภาพที่จะแก้ไขปัญหาได้ ก็ย้อนมาบอกคุณลัดดาและอาจารย์โก๋อีก นี่แหละคือ “โจทย์พัฒนา” สำหรับทั้งสองท่าน

          ในสองปีหลังมานี้ อ.แหววตั้งใจที่จะเป็น "แม่ทัพหลัง" ให้ลูกศิษย์และมวลมิตร และงานที่สนใจน้อยมาก ก็คือ งานศึกษาธุรกิจสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่คราวนี้ อ.โก๋ว่าน่าสนใจ เอาก็เอาตาม อ.โก๋ (อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์) และคุณลัดดา (นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย) ไปคุยเรื่องสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับสังคมไทยที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐

         ตื่นแต่ตีสาม อ.โก๋มารับที่บ้านตั้งแต่ตีสี่ ไปขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมือง เครื่องขึ้นตอนหกโมง ไปถึงอุบลเจ็ดโมงเช้าคนอุบลฯ นั้น ต้อนรับแขกด้วยอาหารเช้า เลยได้ทานโจ๊กถั่วเขียวไป ในขณะที่ฟังเจ้าหน้าที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฯ เล่าถึงสถานการณ์ด้านวัฒนธรรมที่เกิดจากความแพร่หลายของสื่อเกมส์คอมพิวเตอร์ไป บางปัญหาที่ได้รับฟัง ก็ทำเอาสำลักโจ๊กถั่วเขียว อาทิ เรื่องส่วยๆๆๆๆๆ ที่ผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตต้องเผชิญ

             แล้วต่อมา ก็ถึงเวลาไปคุยกับจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านผู้ว่าฯ มอบท่านรองผู้ว่าฯ มาคุยกับเรา เรามักจะเรียกการพูดคุยแบบนี้ว่า FRIENDLY VISIT แต่บางที เรื่องที่คุยกันก็หนักอยู่ มีอาจารย์สองท่านจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (อาจารย์รัตน์ รุ่งรัตน์ ธนบดีธาดา และ อาจารย์ น๊อต ทรงวุฒิ สารสาริน) มาร่วมพูดคุย ปัญหาที่ร้านเหล้าหรือร้านเกมส์ก่อให้เกิดแก่เด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่เราอึ้งกันทุกฝ่าย นอกเหนือไปจากเรื่องส่วยที่คุณลัดดาขอให้ทางจังหวัดเข้าคุ้มครองผู้ประกอบร้านอินเทอร์เน็ต ท่านรองผู้ว่าฯ รับฟังทุกเรื่อง ออกแนวน่ารักมาก เพราะไม่เข้าข้างข้าราชการแบบไม่มีเหตุผล ออกแนวกลางๆ รับผิดชอบที่จะแก้ไข รวมถึงป้องกันทุกปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ต และเด็กเยาวชน ว่ากันว่า จะยกร่างยุทธศาสตร์เพื่อสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยของจังหวัดอุบลฯ เองทีเดียว น่าชื่นชม และน่าติดตาม

             ออกจากศาลากลางจังหวัด ก็ไปแวะคุยกับภาควิชาการ อันได้แก่ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นั่งฟังท่านอาจารย์สองท่านเล่าถึงสถานการณ์ด้านวัฒนธรรมในจังหวัดนี้ แล้วก็พาเราไปเที่ยวคุยกับชาวบ้านร้านตลาด ฟังชาวบ้านไป ก็มีโอกาสซื้อของฝากด้วยล่ะ คนที่ไม่เคยทำงานวิจัย คงไม่เข้าใจ ซื้อของ ๓๙ บาท จะทำให้สัมภาษณ์ได้เป็นชั่วโมง เวลาที่มีความรู้สึกดีให้กัน อุดหนุนกันแล้ว ความอยากเจรจาก็จะมีมากค่ะ และแล้ว เราก็ได้คุยกับชาวบ้านตัวจริง ลูกจ้างในร้านขายผ้า ขายของฝาก คนทำงาน R&D อย่างเรา คุยได้ทุกที่อยู่แล้ว สรุปว่า ชาวบ้านก็ฟ้องเราว่า ลูกหลานของเขาติดเกมส์จนแทบจะไม่ทำอะไรเลย เกมส์จึงเป็นสื่อไม่สร้างสรรค์และไม่ปลอดภัยได้

               พอเที่ยง ก็ไปกินข้าวที่ ร้านอินโดจีน ซึ่งขายอาหารเวียดนาม อร่อยมากกกกก และก็คุยกัน วางแผนการพัฒนากลไกการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์แลพปลอดภัยให้อาจารย์ทรงวุฒิและอาจารย์รุ่งรัตน์ไปด้วย เรียกว่า ทั้งกินและทำงาน รูปแบบการทำงานแบบนี้ จะช่วยคลายความตึงเครียดของงานได้ โปรดสังเกต พอทานข้าวเที่ยงเสร็จ ก็ดูเหมือนจะได้ร่างหลักสูตรการอบรมกฎหมายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ต และแทบจะมองเห็นหน้าวิทยากรที่จะมาฝึกอบรมให้ด้วยซ้ำ และนอกจากนั้น อ.โก๋ ยังดูจะเห็นความเป็นไปได้ที่จะจับมือกับอาจารย์รัตน์และอาจารย์น๊อตที่จะสร้าง กิจกรรมนักศึกษาเพื่อกระตุ้นการสร้างสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย สำหรับนักศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี ดูเถอะ กินเยอะ ก็จะได้งานเยอะ

            หลังจากนั้น ก็ตามคุณลัดดาไปโรงแรมอุบลบุรี เพื่อดูสถานที่จัดสัมมนาของกระทรวงวัฒนธรรม ตอนนี้ ข้าพเจ้าเริ่มง่วง แอบนอนที่ล๊อบบี้โรงแรม โรงแรมสวยงามมาก เลยหลับเอาดื้อๆ อายุมากขึ้น พอบ่ายๆ ก็ทนง่วงไม่ค่อยไหวพอบ่ายสามโมงก็ไปถึงโรงแรมเนวาดาที่เอเซียซอฟท์จัดงานแนะนำเกมส์คอมพิวเตอร์ออนไลน์ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย ที่ประทับใจ ก็คือ เกมส์ของคุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ ซึ่งสร้างสรรคเกมส์สัญชาติไทย ซึ่งมีชื่อว่า “PROJECT ONE” ดูตึงตังสนุกสนาน เราคิดออกทันทีถึงการส่งเสริมการขายเกมส์นี้ให้แก่หนุ่มน้อยผู้สร้างสรรค์นี้ เรื่องของการทำธุรกิจเพื่อสังคมนั้น เป็นสิ่งที่รัฐไทยคิดไม่ค่อยออก กระซิบบอกอ.โก๋ว่า นี่ล่ะ โจทย์วิจัย ของอาจารย์โก๋ และน้องจิ๊บ แห่ง สสส.

             นอกจากนั้น ยังได้ฟังคุณลัดดาและอาจารย์โก๋พูดถึงโครงการสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยที่จะนำผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตไปสู่ เอกสิทธิ์ในการประกอบการ ยิ่งรับผิดชอบต่อสังคม ยิ่งมีเอกสิทธิ์ในการประกอบการ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การประกอบการร้านอินเทอร์เน็ต ก็คือ โอกาสที่คนธรรมดาๆ ซึ่งไม่มีทุนมากนัก สามารถประกอบการได้ หากไม่มีส่วย ก็คงพอมีกำไร อยู่ดีกินดี มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

         ไม่ชอบแค่ประโยชน์เดียวที่มีการขู่จะจับผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ยอมรับล่ะว่า การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิด ไม่ควรทำ แต่ในบรรยากาศที่พวกเขามานั่งฟังในเวที ก็แสดงว่า เขาอยากเป็นผู้ประกอบการที่ดี การขู่จะจับแบบนี้ น่าจะมิใช่การกระทำที่ฉันท์มิตร ใจร้ายมากไปหน่อย อยากให้คนทำลองพิจารณาดู ค่าลิขสิทธิ์ที่อาจแพงไป คงจะทำให้นักลงทุนตัวน้อยแบกรับไม่ไหว ทางออกแบบสมานฉันท์มีอยู่อีกมาก การประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนนั้น ควรเจรจากันด้วยความเอื้ออาทรในที่สุด ข้าพเจ้าก็ทนไม่ไหวที่จะขอพูดกับผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย จึงได้ทบทวนโอกาสที่ผู้ประกอบการดังกล่าวจะถูกจับ ซึ่งก็มีแค่ ๓ ปัญหาใหญ่ๆ (๑) ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ (๒) ยอมให้เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เล่นเกมส์นานจนเป็นภัยต่อสุขภาพ และ (๓) เปิดร้านเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด และก็ได้อธิบายถึงการแก้ไขแต่ละปัญหา ที่สำคัญที่ได้บอกแก่พวกเขาก็คือ รัฐและสังคมไม่ควรทอดทิ้งให้พวกเขาแก้ไขปัญหา อย่างโดดเดี่ยว รัฐและสังคมควรจะลงมาเข้าใจพวกเขาและพยายามสร้างเครื่องช่วยให้เขามีศักยภาพที่จะแก้ไขปัญหาได้ ก็ย้อนมาบอกคุณลัดดาและอาจารย์โก๋อีก นี่แหละคือ โจทย์พัฒนา สำหรับทั้งสองท่าน กว่าจะพูดจบ ก็ทำให้ผู้จัดงานเขาเสียเวลาขายไปมากทีเดียว ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วย ไม่เจตนาจะรบกวน แต่ก็อยากขอบริจาคเวลาที่จะพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างสุขภาวะแก่คนกลุ่มหนึ่งในสังคม คงจะไม่โกรธกันจนเกินไปนะคะหากผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตมีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม พวกเขาก็คงทำหน้าที่ดูแลให้ร้านของเขาเป็น พื้นที่แห้งการเรียนรู้เรื่องราวที่สร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับมนุษย์ในสังคมไทย

           วินาทีที่งดงามของวันนี้ จบลงด้วยการรู้จักคุณเพชรสิริ เหลืองไพโรจน์ แห่ง MICROSOFT ซึ่งแสนสวยและยังมีแนวคิดที่งดงามเอื้ออาทรต่อสังคม เธอเล่าเรื่องการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ให้แก่สังคมไทยหลายโครงการ

          ก่อนขึ้นเครื่องบิน ยังได้ไปซื้อหมูย่อ แหนมใบมะยม และอื่นๆ จากร้านแม่ฮาย หอบของฝากที่กินได้นี้ไปฝากแม่ที่ กทม. นึกถึงหน้าแม่ที่ยิ้มรับ แม่ชอบทานอาหารประมาณนี้มากเลย และที่เรากับคุณลัดดาบอกกันว่า อย่างน้อย ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำ เราก็ได้อุดหนุนเศรษฐกิจชุมชนของจังหวัดอุบลราชธานี แม้ของที่เราเอาไปนี้ จะต้องแช่ตู้เย็นไปอีกเป็นเดือน เพราะที่ซื้อมาครั้งที่แล้วที่พิษณุโลก ก็ยังกินไม่หมดเลย

           นั่งเครื่องบินกลับ กทม. เหนื่อยจนหมดรูป ข้างซ้ายก็คือ คุณลัดดา ข้างขวา ก็คืออาจารย์โก๋ เราสัญญากันว่า เราจะทำให้ดีที่สุดเพื่อการสร้างและพัฒนาสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยที่อุบลราชธานี   

-----------------------------------------------------------

มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในรูปของ VDO ด้วยค่ะ 

-----------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 146646เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2007 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านแล้วเห็นภาพของความวุ่นวายเลยนะคะ..

และถึงแม้ว่าสำหรับเตือน ภาษาของกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหู แต่คราวนี้ตั้งใจแล้วว่า..จะลองดูสักตั้งค่ะ อะไรก็คงไม่น่าจะเกินความตั้งใจที่จะปลูก "ต้นไม้แห่งความรู้" เนอะ..อาจารย์

แล้วจะถามบ่อยๆ อาจารย์ก็ต้องตอบทุกคำถาม ตามที่สัญญานะคะ :-)

แม้จะเพิ่งมาเห็นบันทึกนี้ และไม่ได้หวังว่า อ.แหวว จะกลับมาเปิดบันทึกนี้ดู เพราะเห็นมีหลายบล๊อก แต่ก็รู้สึกดีที่ อ.แหวว เข้าใจ

ลูกชายผมก็เปิดร้านอินเทอร์เน็ตและเกมส์ เมื่อสองวันมานี้เขาเล่าว่ามีผู้ปกครองคนหนึ่งเดินเข้ามาในร้านถามเด็กว่า อายุเท่าไหร่ ทีละคน แล้วตำหนิลูกชายผมว่าปล่อยให้เด็กเล็กเข้ามาเล่นเกมส์ได้อย่างไร ลูกชายผมตอบว่า ผมทำตามกฎหมายทุกอย่าง กฎหมายไม่ได้ห้ามเด็กเล็กเล่นเกมส์ และเกมส์ที่ให้เล่นก็ไม่มีความรุนแรง ไม่มีระเบียบไหนบังคับเด็กเล็กให้เล่นเกมส์เลย เขาเลยบอกว่าได้ อยากได้แบบนั้นก็ได้..เหมือนจะลองดี

ร้านเน็ตของลูกชายมีคณะกรรมการมาตรวจสอบแล้ว ผ่านการได้รับใบอนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่ยังชมว่าตรวจมาทั้งวันหลายสิบร้าน มีร้านที่ได้มาตรฐานอยู่ ๓ ร้าน ร้านนี้เป็น ๑ ใน ๓ เพราะกระจกที่ร้านเป็นกระจกใส เปิด-ปิดตามเวลาที่ราชการกำหนด ไม่ให้พูดคำหยาบภายในร้าน เกมส์ในร้านที่เด็กเล็กเล่นก็เป็นเกมส์แบบเด็กๆไม่มีความรุนแรง ในร้านไม่มีเวบลามก สามารถตรวจสอบได้ เดี๋ยวก็ตั้งโปรแกรมไม่ให้เด็กดาว์นโหลดเกมส์มาเล่นเองด้วย เรารับผิดชอบสังคมจริงๆ ที่ให้ลูกทำร้านเกมส์เพราะเรารู้สึกว่า เราสามารถทำร้านเกมส์ดีๆ สะอาด ปลอดภัย ให้เด็กๆได้

ก็แค่มาบ่นๆเท่านั้นแหละครับ อิอิ

มาบ่นอีกก็ดีค่ะ

จะได้ทราบว่า มีคนสนใจเรื่องสือปลอดภัยเหมือนกัน

เล่าให้ อ.โก๋ฟังแล้วค่ะ ว่า อัยการชาวเกาะก็มีแนวคิดเรื่องร้านเกม จะได้หาโอกาสทำงานกันที่ภูเก็ตสักตั้งค่ะ

ปีหน้าค่ะ เฮกัน

น่าสนใจครับ อาจจะต้องหาเวลคุยกันสักรอบ หากเป็นไปได้จะลองลงพื้นที่ครับ ไม่รูว่าที่ภูเก็ตมีชมรม หรือ สมาคม ร้านเกมคาเฟ่ไหมครับ

ปัญหาที่เจอในภูเก็ตมีอะไรมากที่สุดครับ ในเรื่องที่เกี่ยวกับร้านเกม

ที่ภูเก็ตมีการกำหนดเวลาเปิด ปิด กี่โมงเหรอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท