เส้นสายลายมือนั้นสำคัญอย่างไร


“เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหง หาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้”

เส้นสายลายมือนั้นสำคัญอย่างไร                          

          ภาษาไทยมีพัฒนาการมากว่า ๗๐๐ ปีแล้ว นับแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย ใส่ลายสือไท ไว้บนศิลาจารึก  เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๕  ดังความในจารึกว่า 

                          เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕  ศกปีมะแม  พ่อขุนรามคำแหง หาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทยนี้  ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้                           

                          นี่คือหลักฐานแรกและชิ้นเดียวที่พาคนไทยย้อนกลับไปสู่โลกอดีตที่ชัดเจนที่สุด  และลายสือไทนั้นก็คือต้นแบบ อักษรไทย ที่มีความงดงาม ประณีต  และเป็นเสมือนมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าที่สะท้อนรากเหง้า ตัวตนของคนไทยได้ชัดเจนที่สุด 

             ผมเกริ่นนำด้วยข้อความที่ภูมิใจเป็นที่สุด  โดยเฉพาะคำว่า ลายสือไทย  นั้นประทับใจผมมาก  เพราะต้องวาดต้องเขียนเป็นลายเส้นตัวอักษร และต้องเขียนป็นลายที่งดงาม เราจึงเรียกการเขียนลวดลายตัวอักษรอย่างงานศิลป์นี้ว่า  ลายมือ 

  

ความสำคัญของเส้นสายลายมือ

                 ๑. เส้นสายลายอักษร คืองานศิลปะ  คือมีความงาม  คนไทยสมัยก่อนให้ความสำคัญกับลายมือมาก เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารก่อนจะมีการคิดประดิษฐ์เครื่องพิมพ์  การเขียนสื่อสารจึงต้องเน้นให้อ่านออก และแสดงความตั้งใจเขียนเพื่อให้คนอ่านเกิดความนิยมเชื่อถือ   ยิ่งถ้าเขียนสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องสำคัญอย่างเช่น  การเขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสนาเรื่องราชการ  วรรณคดี  หรือประวัติ ตำนานต่างๆ ก็จำเป็นต้องประณีตงดงาม ดังจะเห็นได้จาก การจารึกบนแผ่นศิลา บนจารใบลาน การเขียนบนกระดาษสมุดไทย การเขียนกระดานชนวน 

ล้วนแล้วดูงดงามประณีตราวกับงานศิลปะทีเดียว

 

                ๒. ลายมือบ่งบอก อัตลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะของผู้เขียนว่าเป็นผู้มีลักษณะนิสัยอย่างไร เป็นคนเรียบร้อย   ละเอียด  หรือสะเพร่า   มีความตั้งใจในการเขียนแค่ไหน นอกจากนั้น  ยังบ่งบอกภูมิรู้ ภูมิปัญญาของผู้เขียนในเรื่องนั้นๆ ได้อีกด้วย 

 

                ๓. ลายมือสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  ลายมือคือร่องรอยรูปลักษณะตัวอักษรของคนแต่ละยุค  การรักษารูปลักษณ์อักษรไทยไว้ก็เป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

 

                ๔. ลายมือแสดงถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความตั้งใจ ความจริงใจของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน เราจึงนิยมใช้เขียนคำอวยพร คำไว้อาลัย เขียนจดหมาย เขียนบันทึกย่อ หรือแม้แต่เขียนถ่ายทอดเป็นวรรณกรรม

                 ๕. ลายมือเสมือนบันทึกคำพูดที่กล่าวไว้ในขณะนั้น เป็นตัวแทนของบุคคลหากลายมือนั้นเป็นของบุคคลสำคัญด้วยแล้ว ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เช่น ลายพระราชหัตถเลขาของพระเจ้าแผ่นดิน  ลายมือของรัฐบุรุษ หรือของกวี เป็นสิ่งสมควรแก่การเก็บรักษาไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ 

การประยุกต์การคัด- เขียน ลายมือพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

  

 

                      การเขียน  เป็นทักษะทางภาษาที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการสื่อสารของมนุษย์  หากเราเขียนไม่ถูกต้อง ไม่สะอาด เรียบร้อย มีการขีดฆ่าขูดลบ หรือลายมืออ่านไม่ออก การสื่อสารก็เป็นปัญหามาก  นอกจากนี้ยังพบว่า ยังมีการนำเอาการเขียนไปประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์ ที่เรียกว่า  การเขียนบำบัด  ดังคำอธิบายตอนหนึ่งว่า (หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๒ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๗)

 

                การเขียนเป็นวิธีการการบำบัดการเจ็บป่วยทางอารมณ์ที่ดีมากๆ วิธีหนึ่งที่ หลายคนอาจจะ ไม่ได้นึกถึงมาก่อน และถึงแม้ว่า จะไม่ได้อยู่ในภาวะที่เจ็บป่วยหรือทุกข์ใจ การเขียนบันทึก เป็นประจำทุกวัน ก็ทำให้เรารู้จักตัวเอง มากขึ้น และมีโอกาส ได้ทบทวนการกระทำ การตัดสินใจ หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ เช่น การบันทึกอารมณ์ชั่ววูบที่เกิดขึ้น แทนการ โต้ตอบ ด้วยคำพูด ในที่สุดจะทำให้เรา เป็นคนที่สามารถ จับได้ไล่ทันอารมณ์ ของตัวเอง และสามารถ ควบคุมสติ รวมถึงจัดการ กับความยุ่งเหยิง ในระบบความคิด ตลอดจน จัดวางแผนชีวิต ของตนเอง ได้เป็นระบบชัดเจนมากขึ้นโดยกลไกของการเขียนนั้น เมื่อเราจรดปากกา ลงบนกระดาษ สมองก็จะเริ่มสั่งการ กระบวน ความคิด เหตุผล ตรรกะ ความเข้าใจ ในการใช้ภาษา ทัศนคติ ประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหมด จะสอดประสานและประมวลผล ออกมาเป็นตัวอักษร เป็นถ้อยคำเพื่อแสดงอารมณ์ บอกเล่า เหตุการณ์ ความคิดเห็น ตลอดจนความรู้สึกที่ซ่อนเร้นในจิตใต้สำนึก การบำบัดด้วยการเขียน ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีเงื่อนไข ของเวลา สถานที่ และไม่จำเป็นต้องเก่งภาษา แต่ข้อจำกัดของ การบำบัดแบบนี้อยู่ที่ตัวผู้บันทึกเอง นั่นคือผู้บันทึก จะต้องซื่อสัตย์ต่อจิตใต้สำนึก และ บันทึก เรื่องราว อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา อย่าเขียนโดยมีความคิดว่า สักวันหนึ่ง จะมีคนอื่นมาอ่าน เพราะนั่น จะเป็นการปิดกั้นอิสระ ในการเปิดเผย ตรวจสอบ และ การพัฒนาตัวเอง

 

                นอกจากนี้ การคัดลายมือ ก็สามารถพัฒนาอารมณ์ ความรู้สึกของตนได้เป็นอย่างดี ดังความตอนหนึ่งว่า  (หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๒ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๗)


                             การเขียนโดยไม่สนใจความหมาย แต่จดจ่ออยู่ที่การตั้งใจลากเส้นแต่ละเส้นขึ้นเป็นตัวอักษร หรือที่เรียกกันว่า การคัดลายมือ ถือเป็น การเขียนบำบัด แบบหนึ่ง เพราะการเขียนแบบนี้ เปรียบเสมือนการสร้างงานศิลปะจากเส้น ซึ่งทำให้ผู้เขียน เกิดสมาธิ อารมณ์ที่ร้อนรน จะสงบลง และเย็นขึ้น วิธีเขียนแบบคัดลายมือเหมาะกับช่วงเวลาที่วุ่นวาย ต้องการรวบรวมสมาธิ หรืออยากจะ ผ่อนคลาย ปลีกตัวจากความหมกมุ่น การลงมือลากเส้นอย่างตั้งใจแบบคัดลายมือนี้ จะเบี่ยงเบน ความสนใจจากเรื่องต่างๆ ที่ค้างสมองอยู่ มาจดจ่อ อยู่ที่กระดาษ นอกจากนี้ เส้นตรง และ ความเป็นระเบียบของตัวอักษรที่คัด ยังช่วยสร้างระบบทางความคิดและจิตใจ ให้ผู้เขียน โดยไม่รู้ตัวอีกด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียน ควรเป็นดินสอ ปากกาหมึกซึม หรือปากกาคอแร้ง ที่ต้องจุ่มหมึก เวลาเขียน เพราะอุปกรณ์ เหล่านี้ ต้องใช้ความตั้งใจ ในการเขียน ทำให้ง่ายต่อการรวบรวมสมาธิ และ สามารถ เห็นน้ำหนักในการเขียน ซึ่งจะบอกถึงอารมณ์ของผู้เขียน ได้ชัดเจนขึ้น ไม่ควรใช้ ปากกาลูกลื่น เพราะจะควบคุมเส้นได้ไม่ดี    ส่วนข้อความที่จะใช้ คัดลายมือจะเป็นข้อความอะไรก็ได้ แต่เพื่อเป็นกุศโลบายในการทำใจ ให้นิ่ง ก็ควรหาข้อความ ประเภทคำคม บทกวี หลักธรรม หรือจะเป็น บทเพลงที่ชอบก็ได้การคัดตัวอักษรภาษาไทยควรคัดตัวบรรจง ถ้าเป็นอักษรภาษาอังกฤษ ให้คัดตัวอักษรที่เป็น ตัวเขียน เพราะมี การลากเส้น แบบต่อเนื่อง และไม่ว่า จะเป็นตัวอักษร ภาษาใดก็ตาม ควรคัดตัวเต็มบรรทัดหรือตัวใหญ่กว่านั้น เพื่อให้เกิดความรู้สึก มั่นคงเวลาลากเส้น

             ที่เขียนเล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า  เส้นสายลายมือนั้นสำคัญมาก หากสถาบันการศึกษา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญในการช่วยพัฒนาลายมือในการเขียนหนังสือ ผมว่า เราจะสามารถรักษามรดกอันล้ำค่านี้ไว้ เป็นประจักษ์พยานว่า ชาติไทย เป็นชาติที่มีความประณีต งดงาม อีกทั้งยังมีคุณค่าสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติได้ครับ     
หมายเลขบันทึก: 146456เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2007 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับ อ.กรเพชร 

และในที่สุดวิชาคัดไทย ก็ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ การเขียนโดยไม่สนใจความหมาย แต่จดจ่ออยู่ที่การตั้งใจลากเส้นแต่ละเส้นขึ้นเป็นตัวอักษร หรือที่เรียกกันว่า การคัดลายมือ ถือเป็น การเขียนบำบัด แบบหนึ่ง น่าสนใจมากครับ มันคงมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้เด็กสมัยรุ่นพวกเรามีความรู้สึกนึกคิดในความรับผิดชอบ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความอดทน มากกว่าเด็กปัจจุบัน

สวัสดีค่ะอ.กรเพชร

น่าสนใจมากนะคะที่การเขียนเป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง แต่มาคิดๆ ดู ก็เห็นจริงตามค่ะ รวมถึงการเขียนเป็นการสื่อถึงนิสัยของผู้เขียนด้วย  แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้ตัวเองไม่ค่อยได้เขียนด้วยลายมือเสียแล้ว (พิมพ์เอาเยอะกว่าค่ะ)  ลายมือก็เลยออกจะไม่ค่อยเป็นระเบียบสม่ำเสมอ เพราะขาดการฝึกฝนค่ะ  แต่ก็ยังพยายามเขียนสะกดให้ถูกต้อง เพื่อรักษาภาษาไว้ค่ะ

สวัสดีค่ะพี่กรเพชร

พี่เดินเร็วเหลือเกินค่ะ  แอมแปร์วิ่งตามไม่ทัน  : )
บันทึกพี่กรเพชรตรงจุดปัญหาใหญ่ของครูภาษาไทยเลยค่ะ    แอมแปร์สอนเด็กครุศาสตร์เอกไทยด้วย   สอนเด็กนิเทศศาสตร์ด้วย  ต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของเด็กกันสนุกสนานเลย 

สอนเด็กนิเทศ  ต้องปราดเปรียวปรู๊ดปร๊าดพูดทีเฮที  ไม่ต้องเชิญ เธอก็พร้อมภูมิใจเสนอแย่งครูพูดหน้าชั้นกันหน้าสลอน    สอนครูภาษาไทย  ต้องเนิบนาบนุ่มนวล  ระมัดปากระวังคำ  ไม่เผลอพูดว่า "โอเค" บ่อยๆ    อิอิ  วิธีสื่อสารกับเด็กสองกลุ่มนี้ต่างกันเยอะอยู่ค่ะ

กลไกที่เรา  ส่งสาร  จากสมองไปสู่มือ   จากมือลงบน สื่อ กระดาษ แล้วตาก็  รับสาร  บนสื่อกระดาษ ส่งสารกลับเข้าสมองอีกที    เป็นการสื่อสารกับตนเอง อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด   (ขอโทษค่ะพี่กรเพชร   แอมแปร์เปลี่ยนเรื่องหน้าตาเฉย  ตามประสาครูไฮเปอร์  : )  )

ความเป็นธรรมชาติ ย่อมดีต่อจิตใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลผลิตของธรรมชาติ  การเขียนด้วยมือ  ลงบนกระดาษ  เป็นการสื่อสารผ่านเครื่องมือที่เป็นกลไกอื่นที่มิใช่ร่างกายของเราเพียงชั้นเดียว   ลายมือของมนุษย์ที่จารลงบนกระดาษ  จึงเป็นผลผลิตจากกลไกธรรมชาติ   (และกระดาษก็ทำมาจากต้นไม้)

ต่างกับตัวพิมพ์ที่ปรินต์จื๊ดๆๆๆลงบนกระดาษ  เพราะผ่านกลไกอิเล็กทรอนิกส์    ลายพิมพ์นั่นเป็นของเครื่องจักรกล  ที่ตัวคนพิมพ์ยากที่จะมีจิตนิ่ง สงบ  เพราะการใช้เครื่องกลไกส่งผ่านสาร   มีภาวะรบกวนความสงบของจิตใจเยอะ 

การพิมพ์ไดอารีออนไลน์ ก็อาจจะทำให้ใจ"นิ่ง  และสงบ" ได้น้อยกว่าการเขียนลงใน ไดอารีที่เป็นกระดาษ   : )

การดูทีวี จึงอาจทำให้จินตนาการของเรา "หยาบ" และเป็นธรรมชาติน้อยกว่าการอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ......  เพราะกลไกอิเล็กโทรนิกส์ที่ว่องไวแต่ฉาบฉวย     

และเพราะกลไกการวัดผลและประเมินผลของระบบการศึกษา  ที่ให้ความสำคัญกับ "ชิ้นงาน"   (วัตถุ-รูปธรรม) มากกว่า "พฤติกรรมภายใน"   (จิตใจ - นามธรรม)   ของคน มังคะ  จึงทำให้ห้องเรียนของเด็กรุ่นไทยหลัง  ห่างการฝึกคัดลายมือ.....  ทักษะที่จะทำให้ใจนิ่ง ละเอียด  ประณีต  อย่างไกลออกไปทุกที

จบแบบงงๆจนได้อีกแล้วอะค่ะพี่กรเพชร : )

สวัสดีครับP

          ชอบน้องแอมแปร์ก็ตรงที่เขียนมายาวๆ ให้พี่ได้อ่านเพลินๆ นี่แหละ  แต่สงสัย  "ครูไฮเปอร์"  กับ "ครูไฮเตอร์" อย่างพี่นี่จะไปด้วยกันได้ไหมเนี่ย!  เพราะพี่ชอบซักผ้าให้ขาว แต่เนื้อผ้าก็ไม่ขาวดั่งใจ หรือผ้ามันดำถาวรไปแล้วก็ไม่รู้นะ  พี่พูดกับผ้าทีไร เวียนหัวทุกที  เพราะเขาไม่สนไฮเตอร์เสียแล้ว 

สวัสดีครับP

           ผมสอนเรื่องนี้แก่นักศึกษาแล้วให้เขาลองเขียนดู บ่นกันพึมพำเลย เพราะเขาละทิ้งเรื่องการคัดเขียนอย่างมีสมาธิมานานจนกลายเป็นพวกสมาธิสั้นกันไปหมด ครับ คงต้องเคี่ยวเข็ญกันต่อไปอีกนานครับ

สวัสดีครับP

      ครับผมเองต้องกลับมานั่งเขียนใหม่อีกครับ เพราะเริ่มชินกับการพิมพ์เกินไป ตอนนี้ก็ยังเขียนบันทึกด้วยลายมืออยู่ครับ แต่น้อยครั้ง คงต้องรื้อฟื้นกันอีกเดี๋ยวนี้สมาธิผมก็เริ่มสั้นแล้ว

หนูยังชอบเขียนอยู่ เพราะการเขียนมันถ่ายทอดความรู้สึกเราได้ดีกว่า อย่างเช่น ร่างจดหมาย เขียนบท หรือเขียนคำโฆษณา หนูเป็นประเภทชอบทำมือค่ะ

นอกจากงานเขียนแล้ว งานออกแบบก็ควรจะเขียนด้วยเช่นกัน เดี๋ยวนี้เด็กๆ ที่ทำงานด้วยกันร่างแบบด้วยมือไม่เป็นแล้ว เอะอะก็ใช้คอมยันเต มันทำให้จำกัดความคิด เพราะถ้าไม่ชำนาญเครื่องมือก็จะยิ่งหาวิธีทำง่ายๆ งานก็จะออกมาไม่หลากหลาย ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ เด็กจบอาร์ตมาวาดรูปไม่เป็น หุ หุ เดี๋ยวนี้สอนกันยังไง ใช้แต่คอม นอกเหนือจากงานคอมพิวเตอร์แล้วทำอะไรไม่เป็นเลย

สวัสดีครับP

          นั่นแหละครับ บทลงโทษของเทคโนโลยีที่มนุษย์กำลังป้อแป้ แพ้ภัยมันไปทุกที กำลังแขน ขา และสติปัญญากำลังถูกจำกัดด้วยความสามารถของเทคโนโลยี มนุษย์กำลังคล้ายเครื่องจักรไปหมด ศิลปะ วิญญาณของมนุษย์ถูกขายไปตั้งแต่เจ้าคอมพิวเตอร์ตัวแรกกำเนิดขึ้น  ยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมบริโภคเทคโนโยด้วยแล้ว ไม่ยากที่จะตกเป็นทาสของมัน เพราะตัวเองก็ไม่สามารถสร้างขึ้นได้  ได้แต่ซื้อ ซื้อ และซื้อ  เอามนุษย์ตัวเปล่าไปปล่อยเกาะ ไร้เทคโนโลยีดูสิ จะสามารถมีชีวิตได้อย่างไร  นอกจากต้องกลับไปใช้สัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ตามเดิมเมื่อ 50-100 ปีที่แล้ว 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท