ถือกะบองส่องทางไปกินกะบอง ถ้าบ่ลำจะถูกตีด้วยกระบอง


ที่บ้านลุงมา เชื้อคำฮด หรือ สหายลุงเจริญ ที่ ทุกวันนี้ยังทำและใช้กะบองจุดให้แสงสว่างอยู่ครับ

คำพ้องเสียงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาไทยเรา ดังเช่น คำว่ากะบอง (กระบอง) ที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้

กะบองของชาวอีสาน

หมายถึงไต้ หรือคบเพลิง ซึ่งใช้จุดเพื่อให้แสงสว่างในสมัยก่อนยุคที่น้ำมันก๊าด จะมีเข้ามาจำหน่าย ปัจจุบันเมื่อมีไฟฟ้าเข้าถึง บทบาทของกะบองจึงถูกใช้เป็นเชื้อไฟสำหรับก่อไฟเพราะ ติดไฟได้ง่าย แต่ถึงกระนั้น ที่บ้านลุงมา เชื้อคำฮด หรือ สหายลุงเจริญ ที่บ้านพังแดง ดงหลวง ทุกวันนี้ยังทำและใช้กะบองจุดให้แสงสว่างอยู่ครับแม้ลูกๆจะติดไฟฟ้าให้แล้วก็ตาม

ขั้นตอนการทำกะบอง เริ่มที่การเจาะต้นยางให้เป็นแอ่งเล็กๆ แล้วรวบรวมน้ำมันยางใส่กระบอกไม้ไผ่มาเก็บไว้ จากนั้นจัดการหาวัสดุที่ติดไฟง่าย เช่น นุ่น ขอนดอก (อย่าสงสัยว่าดอกอะไร เพราะขอนดอกแปลว่าขอนไม้ผุๆ) นำมาคลุกเคล้ากับน้ำมันยาง แล้วนำไปบรรจุในภาชนะ อาจใช้กระบอกไม้ไผ่ หรือใช้ใบไม้ห่อให้เป็นท่อนๆก็ได้ แต่ที่พบในเมืองกำปงธม เขาใช้เปลือกไม้ห่อเป็นแท่งๆ ดูแปลกไปอีกแบบครับ 

กะบองที่มุกดาหาร ส่วนมากข้ามมาจากฝั่งลาว ราคาห่อละ 5 บาท 

กะบองเมืองเขมร ใช้เปลือกไม้ห่อ ราคาแท่งละ 1 บาท 

การทำงานพัฒนาที่ดงหลวง บ่อยครั้งที่ต้องจัดประชาคมหรือเวทีชุมชน ในยามค่ำคืน การได้ถือกระบองคุยกับชาวบ้านก็ได้บรรยากาศอีกแบบครับ(ว่าไปแล้วนายแบบก็หล่อดีนะ)

กะบองของชาวเหนือ

คำว่ากะบองในภาษาคนเมือง มีความหมายหนึ่งที่หมายถึง อาหารประเภทผัก ผลไม้ชุบแป้งทอด ปรุงให้มีรสเผ็ดเล็กน้อย พืชผักที่มักนำมาทำกะบอง ได้แก่ ฟักทอง มะละกอ ปลีกล้วย ทุกวันนี้ไม่ค่อยพบเห็นกะบอง วางขายในตลาด เป็นเพราะวัฒนธรรมการกินของคนเหนือรุ่นใหม่เปลี่ยนไป (หรือว่าเป็นเพราะผู้เขียนไม่ค่อยได้ไปตลาด)   

กระบอง หรือตะบองของชาวภาคกลางคิดออกแต่รำกระบี่กระบอง กระบองของเห้งเจีย ของยักษ์วัดแจ้งนั่นแหละครับ 

ปิดท้ายด้วย เรื่องเล่าเจี้ยก้อมของชาวเหนือ(ให้สมกับบันทึกของคนแซ่เฮ)เป็นเรื่องของบทสนทนาในวงข้าวระหว่างพ่อตาคนเหนือ กับลูกเขยคนไทภาคกลางที่ลูกสาวเพิ่งพามาไหว้พ่อตา แม่ยาย ครั้งแรก จึงไม่รู้ภาษาคำเมือง

พ่อตาถามขึ้นว่า ผัวอี่หน้อย ของกิ๋นคาบนี้ลำกะว่าบ่ลำ (กับข้าวที่จัดเตรียมให้นี้มื้อรสชาดอร่อยดีหรือไม่)

ถ้าจะบะลำก้า แม่ละอ่อนสูเอากะบองมาหื้อเปิ้นกำลอ(ดูท่าจะไม่ถูกปาก งั้นลองเอากะบองทอดมาให้ชิมสิ)

ลูกเขยได้ยินอย่างนั้น ก็ผลีผลามลุกขึ้นรำป้อทันทีทันควัน เพราะกลัวถุกตีด้วยกระบองครับท่านผู้ชม

หมายเลขบันทึก: 145362เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2007 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีครับ


เรื่องนี้คุ้นๆ ครับ แต่อ่านทีไรก็ขำทุกที

ขอบคุณครับ ;)

  • อย่าลืมถือไปจุดกะบองที่ดงหลวงด้วยนะครับพี่
  • ความจริงเอาอะไรหอม ๆใส่ น่าจะได้กลิ่นหอม ๆนะครับ
  • เอ้ จะพยายามหาเรื่องนี้มาเขียนต่อดีกว่า
  • สวัสดีค่ะ คุณpaleeyon
  • ตกลงที่ดงหลวง เราจะใช้กะบองกันใช่มั้ยคะ ป้าแดงจะได้ไม่ต้องเอาไฟฉายไปค่ะ

 

สวัสดีครับ น้องออต และป้าแดง ที่ดงหลวงมีกะบองประกอบฉากแน่ครับ แต่ต้องวานทั้งสองท่านเป็นพนักงานเขี่ยขี้ไต้ไม่งั้นมันจะดับครับ ขอบคุณท่านธวัชชัย ที่แวะมาทักทายกันบ่อยๆครับ

อ้ายเจ้า

     พี่องุ่นคนสวยชอบก่อไฟด้วยกระบอง   แต่ซื้อมาแล้วเก็บไม่ใช้ค่ะ  กลัวหมด อิอิ

     นี่มีเหลืออยู่  สองท่อน อุตส่าห์ตัดใจแพคใส่กล่องไปดงหลวง   เสียดายมัดกล่องแล้ว ไม่งั้นเอาเก็บที่เดิมชัวร์

    

  • มาเห็นแล้ว  ชอบแล้ว
  • ขอนำเข้าแพลนเน็ต
  • จะตามอ่านครับ

สวัสดีครับ P ท่านครู

ด้วยความยินดีครับผม

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท