ข้อสังเกตด้านจริยธรรมของน้องเดม (บางประการ)


สังคมจะดีต้องเริ่มที่บ้านเราก่อน ครอบครัวเราก่อน ไม่งั้นเหนื่อย และทำไม่ไหว เพราะสังคมจริง ๆ ใหญ่โตมาก กว้างขวางเสียเหลือเกิน แล้วก็จะเห็นดังเช่นปัจจุบัน หันกลับมาช่วยกันตรงนี้ แล้วค่อย ๆ ก้าวออกไปช่วยเหลือกันในชุมชน สังคม ต่อไป คนละไม้คนละมือครับ

     ผมได้อ่าน Blog ของอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมของเด็กที่บันทึก ใช้ KM เป็นเครื่องมือเรียนรู้เรื่องคุณธรรมจริยธรรม และเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะหากรอให้เด็กโตแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเปลี่ยนแปลง “จริยธรรมต้องทำเป็นแบบอย่าง” ผมยังเชื่ออยู่อย่างนี้ ในโลกทฤษฎีอาจจะไปไกลกว่านี้แล้ว ผมไม่ทราบแน่ชัดนัก บันทึกนี้ขอเขียนถึงลูกสาววัย 8 ขวบอีกสักครั้ง เขียนในฐานะพ่อที่ไม่อยากมองเห็นลูกไปทำร้ายใครในสังคม และไม่อยากเห็นสังคมมาทำร้ายลูกเช่นกัน ผมเชื่อเสมอว่าเราจะปกป้องลูกได้เมื่อยังเล็กอยู่ทำนั้น หากโตขึ้นแล้วในยุคปัจจุบันนี้ไม่มั่นใจ วิธีการเดียวน่าจะเป็นการปลูกฝังจริยธรรมให้เขา พยายามสื่อให้คนรอบข้างคนอื่น ๆ ช่วย ๆ กันปลูกฝังด้วย เพราะเวลาที่ลูกอยู่กับผมน้อยมาก

     น้องเดมเป็นคนรักและเคารพญาติพี่น้อง มีสัมมาคารวะต่อญาติผู้ใหญ่หรือผู้อาสุโสหรือไม่? ผมยังให้คะแนนผ่านในปัจจุบัน ดังบันทึกต่าง ๆ ที่กล่าวถึงเขามาแล้ว (คำสำคัญ “เดม”) วิธีการที่ปฏิบัติก็ตามที่เคบเขียน คือปฏิบัติให้ดูอย่างเคร่งครัด คือพาไปด้วยเมื่อเราทำ ให้เห็น ให้เขาได้ร่วมปฏิบัติด้วย

     น้องเดมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อน ๆ ไหม รวมถึงเอาเปรียบคนอื่นบ้างไหม? ประเด็นนี้ให้ผ่านเช่นกันในปัจจุบัน เท่าที่สังเกตได้ และเชื่อว่าน้องเดมไม่เคยทำ เพราะเมื่อเขาเล่าให้ฟังเราก็ชื่นชม ไม่ดุโดยเด็ดขาด อาจจะมีบ้างที่อธิบายถึงความเหมาะสม เช่นกรณีที่เคยมาเล่าเรื่องเงินของเพื่อนที่โรงเรียนหาย แล้วน้องเดมให้ยืมโดยแบ่งกันเท่าที่ตัวเองมี ว่าควรจะบอกคุณครูด้วย และที่ทำนั้นก็ดีแล้ว

     น้องเดมพูดจาไพเราะ หรือวจีสุภาพไหม? อันนี้ยังไม่ให้ผ่าน เพราะจะพูดก็ต่อเมื่อผมอยู่ด้วย ปู่ หรือป้าอร อยู่ด้วย หากลับหลังจะมีพ่อแก่ (ตา) และแม่แก่ (ยาย) บอกเสมอว่าเดมพูดจาไม่ไพเราะ ไม่น่าฟัง แต่ก็มองเห็นว่าปรับเปลี่ยนง่าย ครั้นจะอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ได้พยายามทำเป็นตัวอย่างให้ดู สิ่งนี้จะชัดเจนว่าเป็นเพราะแวดล้อมจริง ๆ ในปัจจุบันถือว่ายอมแลก เนื่องจากแวดล้อมอย่างอื่นดีมาก เช่นระบบเครือญาติ การเอื้ออาทร หรือการให้ความรักความอบอุ่น

     น้องเดมชอบพูดโกหกใหม? ประเด็นนี้ให้ผ่านในระดับที่พอใจมาก วิธีการง่าย ๆ คือฟังทุกเรื่องที่เขาเล่า แล้วเปลี่ยนเป็นประเด็นเชิงบวกก่อนใช้สนทนาเพื่อสอนเขา และที่สำคัญคือ คุยกับลูกอย่างมีเหตุมีผล ไม่ต้องโกหกลูก ก็เหมือนเป็นการทำแบบอย่างให้เห็น การโกหกเขาตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อให้หยุดร้อง หรือเพื่อเหตุผลอื่น ๆ ใด ๆ ก็ตาม ผมยึดถือมากว่าจะไม่ทำ ยอมแสดงตลก หรือ ทำอะไรเพื่อเบี่ยงความสนใจ แทนการพูดโกหก เช่น การขู่ว่า “เดี่ยวเสือมา”, “เดี่ยวผีหลอก” จะไม่ทำและบอกไม่ให้คนอื่นทำด้วย ทุกวันนี้จึงได้ฟังเรื่องเล่ามากมายที่เขาอยากเล่า เช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้เขาเล่าว่าคุณครูตรวจการบ้านเขาจากถูกเป็นผิด ส่วนของเพื่อนทำเหมือนกันแต่ตรวจให้ถูก เมื่อไปทักท้วงกลับโดนตำหนิและไม่แก้ไขให้ เขานึกโกรธคุณครูจนไม่อยากเรียนทั้งวัน (ใช้คำว่าเบื่อ) เมื่อเล่าให้ผมฟังผมก็แก้ไขให้เอง และดูเขามีความสุข ไม่ติดใจอะไรคุณครู เพราะเขาต้องการแค่แก้ให้ถูกในสมุดการบ้านเท่านั้น (เพราะเขาทำถูกจริง ๆ)

     เรื่องอื่น ๆ มีอีกหลายประเด็นน่าจะได้ทบทวนและบันทึกอีก เพื่อเป็นการ ลปรร.กัน ลึก ๆ ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ผมยังไม่ได้ทำให้เป็นแบบอย่าง เพราะหลงลืม หรือเพราะส่วนนั้นผมเองก็ยังปฏิบัติไม่ดี หรือยังไม่มีโอกาส แต่หากใครได้ช่วยกันเล่าอย่างที่อาจารย์หมอวิจารณ์ เขียนไว้ที่ ใช้ KM เป็นเครื่องมือคุยกับลูก ผมว่าจะมีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้เรานึกได้และได้นำมาใช้ปฏิบัติกับลูก ทั้งนี้ก็เพื่อตอกย้ำอีกครั้งดังที่พูดบ่อย ๆ ว่าสังคมจะดีต้องเริ่มที่บ้านเราก่อน ครอบครัวเราก่อน ไม่งั้นเหนื่อย และทำไม่ไหว เพราะสังคมจริง ๆ ใหญ่โตมาก กว้างขวางเสียเหลือเกิน แล้วก็จะเห็นดังเช่นปัจจุบัน หันกลับมาช่วยกันตรงนี้ แล้วค่อย ๆ ก้าวออกไปช่วยเหลือกันในชุมชน สังคม ต่อไป คนละไม้คนละมือครับ

หมายเลขบันทึก: 14474เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2006 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
จาก..ข้อสังเกตที่ค้นพบ
สัมผัสและการรับรู้...น้องเดมเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณของพ่อ
ด้วยรักและศรัทธา..อย่างเต็มเปี่ยมในหัวใจ
สิ่งซึ่งแสดงออก..ภายนอก..อาจถูกกระตุ้นตามวัยและบริบทรอบด้าน  แต่..หากมองลึกลงไปด้วย Mind'eye กลับสัมผัสได้ว่า
"น้องเดม..คือ..น้องเดม.."
ผู้ถูกหล่อหลอมด้วยรัก..และศรัทธา..
     ขอบคุณที่ Dr.Ka-poom เขียนถึงน้องสาว-น้องเดม (ยิ้มล๊ะซิ)
พี่มีวิธีสอนลูกที่น่าสนใจนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท