ปาฐกถาเรื่อง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ – ตอนที่ 6


....ทำให้ผู้อื่นเห็นว่ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลใหม่ ซึ่งมิได้เดินตามรางวัลโนเบลหรือรางวัลอื่น....

                  บทความก่อนหน้านี้ ปาฐกถาเรื่อง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”  ตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3, ตอนที่ 4, ตอนที่ 5

                                         ****************************************
ปาฐกถาเรื่อง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”  โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ

ตอนที่ 6

                     ในการเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับรางวัลต่อที่ประชุมกรรมการมูลนิธิฯ ครั้งแรกนี้     ผมรู้สึกว่ากรรมการมูลนิธิฯ บางท่านมีข้อข้องใจว่าเหตุใดทั้งสองท่านจึงได้รับการเสนอชื่อ    ซึ่งต้องมีการอธิบายเป็นเวลานาน  และทำให้ผมเห็นว่าความคิดของคณะกรรมการรางวัลนานาชาตินี้มีความห่างไกลกับความคิดของกรรมการมูลนิธิฯ  บางท่าน   ซึ่งจะต้องระมัดระวังอย่าให้แตกต่างกันมากนัก   คณะกรรมการของมูลนิธิฯ บางท่านจะคิดในแนวที่ว่ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นแบบรางวัลโนเบลของประเทศไทย  ซึ่งจะเป็นรางวัลสำหรับงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่มีความยอดเยี่ยม   แต่มิได้คิดถึงการใช้ประโยชน์เท่าใดนัก   แต่คณะกรรมการรางวัลนานาชาติคิดถึงการใช้ประโยชน์เป็นเรื่องใหญ่และอาจจะพร้อมที่จะนำความคิดใหม่เข้ามาใช้   ทางปฏิบัติของผมอันหนึ่งที่จะแก้ไขในเรื่องนี้ก็คือ   ทำให้ผู้อื่นเห็นว่ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลใหม่  ซึ่งมิได้เดินตามรางวัลโนเบลหรือรางวัลอื่น 

                      เราพยายามที่จะให้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลมีเอกลักษณ์ ของรางวัลและมีคุณค่าเฉพาะ  ซึ่งแตกต่างจากรางวัลอื่นไปตามสมควร   ในสหรัฐอเมริกามีรางวัลอยู่รางวัลหนึ่ง  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย     เขามีจุดหมายที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างหนึ่งคือจะพยายามให้รางวัลกับบุคคลซึ่งเขาคิดว่าจะไปได้รางวัลโนเบลต่อไปและเขาจะภูมิใจมาก  ถ้าทายถูก      ซึ่งมีผู้พยายามนำความคิดนี้มาให้คณะกรรมการรางวัลนานาชาติผู้หนึ่งแต่ไม่สำเร็จ  เพราะท่านมีภรรยาซึ่งทุพพลภาพ ท่านจึงไม่อาจทอดทิ้งภรรยามาเมืองไทยในเวลานานเกินไป    

                     ผมได้ถามท่านว่า เมื่อรางวัลโนเบลตั้งขึ้นใหม่ๆ  นั้น ประชาชนชาวสวีเดนมีปัญหาอะไรบ้าง   ท่านตอบผมว่าเรื่องที่ 1 คือ ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้เงินนั้นออกนอกประเทศ   ควรเป็นเงินที่ให้รางวัลคนสวีเดนในประเทศมากกว่า  เรื่องที่ 2 คือ เขาเห็นว่า รางวัลนั้นมีมูลค่าน้อยเกินไป   ควรมีมูลค่าสูงกว่ารางวัลที่ได้ในขณะนั้น ซึ่งเป็นเวลา 70-80 ปี มาแล้ว คำถามข้อที่ 3 ซึ่งเป็นคำถามที่ถามกันมากในเมืองไทยคือเมื่อไร คนสวีเดนจะได้รางวัลบ้าง  ผมเรียนถามท่านว่าแล้วคนสวีเดนได้กี่คน  ท่านตอบว่า “ 6 คน “   ซึ่งก็นับว่าเป็นจำนวนที่น้อย      เมื่อคิดถึงผู้ได้ รับรางวัลโนเบลในระยะที่มีรางวัลโนเบลนั้น   คำถามข้ออื่นก็เป็นคำถามซึ่งเรา ได้ยินในตอนที่มีข่าวรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเช่นกัน     

                   ในเรื่องการเพิ่มรางวัลมหิดลให้ยิ่งสูงขึ้น    ก็มีคณะกรรมการรางวัลนานาชาติหลายคนไม่เห็นด้วย   ท่านเหล่านั้นบอกว่าค่าของรางวัลควรเป็นไปตามความสามารถของประเทศที่จะจ่ายได้  เพราะรางวัลนี้ก็ถือว่าเป็นการที่ประเทศเสียสละ แบ่งมาจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ   อยู่แล้ว  การที่จะให้รางวัลมากเกินไป  ประเทศไทยก็จะมีเงินไปจ่ายในกิจการอื่นน้อยลงไปด้วย

                                                                                                                     (โปรดติดตามต่อไป)
                           ****************************************
ที่มา : บทความพิเศษ  ปาฐกถาเรื่อง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”  โดย ณัฐ ภมรประวัติ พ.บ.    จาก สารศิริราช  ปีที่ 54 ฉบับที่ 9 กันยายน  2545
หมายเลขบันทึก: 14368เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2006 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท