สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๔. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๓)


         ผมได้อธิบายให้เพื่อนอาจารย์ที่สอนวิทยาศาสตร์ฟังว่า ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมสามารถทำให้ท่านเห็นคุณค่าของกาพย์เห่เรือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเพียง ๔ บรรทัดที่ท่านยังจำมาท่องให้ผมฟัง โดยเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทยและวิวัฒนาการของภาษาไทย เช่น

1. คำว่า “น้ำปลาญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ” ในกาพย์เห่เรือนี้ แสดงว่า คนไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์คุ้นเคยกับสิ่งที่ในปัจจุบันเราเรียกทั่วไปว่าซีอิ๊วญี่ปุ่น ดีและบางทีจะถือเป็นของชั้นสูงราคาแพง ในสมัยนั้นคงเห็นว่า เป็นเครื่องปรุงแบบเหยาะเหมือนน้ำปลาจึงได้เรียกว่า น้ำปลา ไปด้วย นี่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่า คนไทยได้ติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่น แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ ไม่คบค้ากับชาติยุโรป ยกเว้นวิลันดาจดหมายเหตุของชาวตะวันตกที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 2 และ 3 ตลาดที่กรุงเทพฯ ก็ดูเหมือนตลาดอยุธยาในสมัยก่อนหน้านั้น คือมีสินค้าจากหลายประเทศเข้ามาค้าขาย ดังที่เขียนเล่าไว้ใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง
2. เพียงเห็นคำว่า มัสมั่น และ ยี่หร่า เราก็พอจะเอามาพูดคุยกันได้ว่าคนไทยคบชาวต่างชาติหลายชาติและซึมซับวัฒนธรรมของชาติเหล่านั้นเข้ามาด้วย มัสมั่น เป็นแกงมุสลิม ส่วน ยี่หร่า นั้น นักภาษาทราบดีอยู่ว่า ไม่ใช่คำไทยแต่เป็นเสียงที่เพี้ยนมาจาก zira หรือ ชีรา ซึ่งเป็นคำที่แขกอินเดียฝ่ายใต้ หรือ พวกทมิฬ ใช้เรียกเครื่องเทศชนิดหนึ่ง คำนี้ผ่านเข้าสู่ภาษามอญ รูปเขียนว่า ชียฺยา อ่านว่า จียา ไทยรับมาเป็นยี่หร่า
3. ในแง่ของวัฒนธรรมอาหาร คนไทยไม่เคยแพ้ใคร เพราะทำเสร็จแล้วยังมา “วางจานจัดหลายเหลือตรา” ในที่นี้เราก็ได้ความรู้ว่า ตรา ที่ใช้มาจนถึงรัชกาลที่ 5 แปลว่า กำหนด หรือ นับ
4. ที่บอกว่า “แกงแก้วตา” กับ “ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา” ถือว่า ความน่ารักและเสน่ห์ของหญิงไทยสมัยก่อนขึ้นอยู่กับความช่ำชองในการทำอาหาร ผมเห็นว่า ข้อมูลจากวรรณคดีทำให้นักประวัติศาสตร์ศึกษาเรื่องสังคมและวัฒนธรรมได้ดีมากจริงๆ
เมื่อผมอธิบายชัดเจนอย่างนี้ อาจารย์ท่านนั้นก็บอกว่า เข้าใจคุณค่าของวรรณคดีไทยมากขึ้นทีเดียว เสียดายที่ครูไม่ได้สอนให้ชัดเจนอย่างนี้ เลยทำให้มองว่า วรรณคดีเป็นเรื่องน่าเบื่อ ท่านถือโอกาสกระเซ้าว่า ต่อไปนี้จะแบ่งเวลาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ที่ผมแนะนำให้เสมอไปเผื่อวรรณคดีไทยบ้าง

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ต.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 141672เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2007 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท