BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๓๓


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๓๓

ดูกรลูกนายบ้าน สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงพึงด้วยสถาน ๕ คือ

  • ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑
  • ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑
  • ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑
  • ด้วยความเป็นผู้ไ่ม่ปิดประตู ๑
  • ด้วยให้อามิสเนืองๆ ๑

ในสามข้อแรก ก็คือการตั้งกาย วาจา และใจ ประกอบด้วยเมตตาต่อสมณพรามณ์นั่นเอง... ซึ่งอรรถกถาขยายความสั้นๆ ว่า การไปวัด นิมนต์พระสงฆ์ ช่วยกรองน้ำให้ และนวดมือนวดเท้าให้ท่าน เป็นต้น ชื่อว่า ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา... การเห็นพระภิกษุมาบิณฑบาตแล้วก็สั่งคนโน้นคนนี้ให้ใส่บาตร การให้สาธุการ และการทักทายท่านโดยความเคารพ เป็นต้น ชื่อว่า ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา... การดำริว่า ขอพระเถระที่มาถึงบ้านเรา จงเป็นผู้ไม่มีเวร เป็นผู้ไม่เบียดเบียน เป็นต้น ชื่อว่า ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา

คำว่า เมตตา แปลว่า ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข... เมื่อถือเอาทำนองนี้ อาจขยายความว่า สำหรับญาติโยมแล้ว ต้องปรารถนาให้พระ-เณร อยู่เป็นสุขเสมอ ไม่ว่าทางกาย วาจา หรือใจก็ตาม... ทำนองนี้ 

............

ข้อว่า ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู ท่านขยายความว่า กุลบุตรแม้เปิดประตูอยู่ แต่ไม่ได้ถวาย ไม่ต้อนรับผู้มีศีลทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ปิดประตู นั่นเอง... แม้นว่ากุลบุตรจะปิดประตูทั้งหมด  แต่ต้อนรับผู้มีศีล ก็ชื่อว่า เปิดประตู อยู่นั่นเอง...  ตามนัยนี้  จะเห็นได้ว่า คำว่า  ปิด หรือ เปิด นั้น  เป็นสำนวนเพื่อใช้แทนการยินดีต้อนรับหรือไม่ยินดีต้อนรับ  มิใช่การแพ่งถึงประตูโดยตรง...

ท่านยังขยายความเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้มีศีลมาถึงประตูเรือน ไม่ควรกล่าวสิ่งที่ มีอยู่ ว่า ไม่มี .... ดังนี้จึงชื่อว่า ผู้ไม่ปิดประตู ...

ประเด็นนี้ ท่านย้ำเฉพาะว่า ผู้มีศีล นั่นก็คือ เฉพาะสมณพรามณ์หรือพระ-เณรผู้มีศีลเท่านั้น ... ส่วนพระเณรที่ไม่มีศีล ทุศีล หรือ มีศีลชั่ว ก็ตาม ไม่สงเคราะห์เอาตามนัยนี้... วิธีการของผู้ทุศีลหรือมีศีลชั่วนี้ ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคน่าสนใจ ดังเรื่องย่อๆ ว่า...

อลัชชีภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปสู่เรือนที่คุ้นเคยกันเพื่อจะได้ฉันอาหารสักมื้อ... หญิงแม่เรือนไม่อยากจะถวายจึงบอกว่า ข้าวสารหมด แล้วก็แกล้งไปหาข้าวสารที่เรือนข้างเคียง... อลัชชีรูปนี้จึงเข้าไปตรวจดูภายในเรือน เห็นอ้อยท่อนหนึ่งพิงอยู่ที่ซอกประตู มีน้ำอ้อยงบในภาชนะ  ปลาแห้งก็มีอยู่ในตะกร้า ข้าวสารในหม้อก็มี และยังมีเปรียงในกระออม (เนยหรือนมเปรี้ยวในขวด)... หลังจากสำรวจเสร็จสรรพแล้วก็กลับมานั่งที่เดิม...

เมื่อหญิงเจ้าของเรือนกลับมาพลางบอกว่า หาข้าวสารไม่ได้ ... อลัชชีเจ้าก็เอ่ยขึ้นว่า ดูกรอุบาสิกา อาตมาเห็นลางก่อนแล้วว่า วันนี้จะไม่ได้ฉันที่นี้ ... เจ้าเรือนสงสัยจึงถามว่า ลางอะไรกัน เจ้าข้า ?

ภิกษุรูปนี้จึงขยายความว่า  อาตมาเห็นงูคล้ายๆ ท่อนอ้อยซุกอยู่ที่ซอกประตู ... คิดจะตีมัน จึงแพ่งมองอีกที มันก็แผ่พังพานคล้ายๆ กับปลาแห้งที่เก็บไว้ในตะกร้า... งูตัวนั้นถูกซัดด้วยก้อนดินและก้อนหิน ซึ่งก็คล้ายๆ กับก้อนน้ำอ้อยงบที่เก็บไว้ในภาชนะ ... และแล้วมันก็ตั้งท่าจะกัดก้อนดิน จึงได้ง่าปากแยกเขี้ยวออกมา ซึ่งคล้ายๆ กับเมล็ดข้าวสารในหม้อ.... และพองูตัวนี้เกิดอาการโกรธจัด ก็มีน้ำลายเจือพิษไหลออกมาจากปาก ซึ่งคล้ายๆ กับเปรียงที่อยู่ในกระออม... ดังนี้

หญิงเจ้าของเรือนก็คิดว่า เราไม่อาจหลอกคนหัวโล้นได้ จึงจำเป็นต้องหุงหาข้าวปลาอาหารด้วย ลาง ต่างๆ ตามที่อลัชชีขยายความไว้....

ดังนั้น การไม่ปิดประูตูตามข้อนี้ ท่านประสงค์เอาเฉพาะ ผู้มีศีล เท่านั้น แม้นถ้าเป็นอลัชชีภิกษุตามตัวอย่างที่ยกมา ผู้เขียนว่าต้องปิดประตูเหมือนกัน (...............)

.......

และข้อสุดท้าย ด้วยให้อามิสเนืองๆ ท่านขยายความว่า ด้วยการถวายข้าวต้มข้าวสวยเป็นต้น ต่อผู้มีศีลทั้งหลาย อย่างสม่ำเสมอ... ประมาณนี้

ตามที่เล่ามาทั้งหมด หน้าที่ของญาติโยม (กุลบุตร) ที่พึงบำรุงพระ-เณร (สมณพราหมณ์) อาจสรุปได้สั้นๆว่า เมตตาท่านด้วยกาย วาจา และใจ ช่วยเหลือท่านเมื่อท่านร้องขอ และตามปกติก็ถวายปัจจัย ๔ ให้ท่านสามารถเป็นอยู่ได้ .... แต่เน้นเฉพาะ ท่านผู้มีศีล เท่านั้น ซึ่งอรรถกถาขยายความประเด็นนี้ไว้ 

ส่วนหน้าที่ของพระ-เณรที่จะอนุเคราะห์ญาติโยม จะนำมาเล่าในตอนต่อไป.... 

หมายเลขบันทึก: 141524เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2007 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการขอรับ

  • ผมอ่านการอธิบายเมตตาจากอรรถกถาแล้วทำให้เข้าใจลักษณะเมตตาเพิ่มขึ้น แต่เสียดายว่าหลักสูตรนักธรรมหรือหนังสือที่เขียนปัจจุบันไม่ค่อยใช้อรรถกถามาช่วยเสริมส่วนมากใช้อัตตโนมติว่ากันไป
  • บางท่านก็ใช้กลอนว่าไป ทำให้คิดถึงเทศน์สังกาส ทางภาคอีสานที่นักปราชญ์เขียนว่าพอพุทธศาสนาล่วงไปสองพันห้าร้อยกว่าปีคนจะไม่สนใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าตรงๆ แต่จะสนใจคำสอนของเกจิอาจารย์
  • ผมต้องขออนุโมทนาที่ท่านได้ช่วยเปิดพระไตรปิฏกและอรรถกถามาอธิบายนิยามศัพท์เมตตาให้รู้
  • กราบขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท