ประวัติการทอดกฐิน


กฐิน
ประวัติที่เกิดการทอดกฐิน

         

                มีประวัติจากเรื่องที่พระพุทธองค์จะทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐิน  ในพระบาลีวินัยปิฎก  โดยนัยว่า  สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวัน  ครั้งนั้น ภิกษุ ๓๐ รูป  ชาวเมืองปาไฐยยะ (อยู่ด้านทิศปัจฉิม  ในแคว้นโกศล) เดินทางมา  ด้วยหวังจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  แต่มาไม่ทันเหตุเพราะใกล้วันเข้าพรรษา  จึงพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกตในระหว่างพรรษานั้น  ไม่ผาสุก  เพราะลำบากด้วยที่อยู่ในฐานะเป็นอาคันตุกะ  และต่างก็มีใจรัญจวนถึงพระบรมศาสดา  ด้วยคิดว่า  แม้จะจากเมืองมาอยู่ ณ ที่ใกล้แล้ว  ก็ยังมิได้ถวายบังคมเบื้องบาทมูลแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาดังใจประสงค์                ครั้นออกพรรษาแล้ว  ภิกษุเหล่านั้นต่างก็รีบออกเดินทางมายังพระเชตะวัน  ในระหว่างทาง  พื้นภูมิภาคยังเป็นหล่มเป็นโคลนตม  ภิกษุทั้งหลายเหยียบย่ำมาตามทาง  โคลนตมและน้ำตามหลุมตามบ่อก็กระเซ็นขึ้นเปื้อนจีวรและร่างกาย  ฝ่าแดดกรำฝน  ทนความลำบาก  จีวรเนื้อผ้าหยาบของภิกษุเหล่านั้น  เปียกน้ำฝนน้ำโคลนก็อุ้มน้ำไว้หนักอึ้ง  ลำบากแก่ร่างกายยิ่งแล้ว  แต่พวกภิกษุทั้ง ๓๐ ก็พากันมาถึงพระเชตะวัน  ครั้นแล้วได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค  พระองค์ทรงปราศรัยตรัสถามความเป็นไปแล้ว  ตรัสธรรมมีกถา  ภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล  ในลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงดำริถึงความสำลากของภิกษุเหล่านั้น  และเห็นว่าการกรานกฐินนั้นพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ทรงอนุญาตมา  ดังนั้นจึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์  แล้วตรัสอนุญาตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาว่า  ให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้  ในเมื่อออกพรรษาแล้ว  นางวิสาขาได้ทราบพระพุทธานุญาตแล้วได้จัดถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก                การทอดกฐินเป็นกาลทาน  ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้คือ  ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑  ถึงวันขึ้น  ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒  ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้  หากทอดก่อนหรือหลังกำหนดนี้ ไม่นับว่าเป็นการทอดกฐิน                ผู้ประสงค์จะทอดกฐินทำอย่างไร?                พุทธศาสนิกชนทั่วไป  ถือกันว่าการทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลใหญ่  เพราะเป็นกาลทาน  ทำได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง  และต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้  ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว  พึงปฏิบัติดังนี้                จองกฐิน  เมื่อจะไปทอดกฐิน ณ วัดใด  พอเข้าพรรษาแล้วพึงไปนมัสการสมภารเจ้าวัดนั้น  กราบเรียนท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน  แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น  เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน  การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ  หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน                เตรียมการ ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว  เมื่อออกพรรษาแล้ว  จะทอดกฐินในวันใดก็กำหนดให้แน่นอน  ครั้นได้กำหนดวันทอดกฐินแล้ว  เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน  คือไตรจีวร  พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มีศรัทธามากน้อย
คำสำคัญ (Tags): #ประวัติ#กฐิน
หมายเลขบันทึก: 141492เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2007 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท