แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
ผมได้รับเชิญจาก สศช. เข้าร่วมสัมมนาระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เรื่อง "แนวคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10" ในวันที่ 9 - 11 ก.พ.49 ซึ่งผมเข้าไม่ได้เพราะติดนัดหมดทั้ง 3 วัน จึงคิดจะแสดงความคิดเห็นไว้ในบล็อกเพราะผู้จัดบอกว่าวัตถุประสงค์ของการจัด Focus Group ครั้งนี้ก็เพื่อ "ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ร่วมกับตัวแทนระดับผู้นำความคิดจากทุกภาคส่วนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้มีแนวคิดของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศ ทั้งนี้ผลที่ได้จากการสัมมนาระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มดังกล่าว จะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ต่อไป"
เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ผมจึงเข้าเว็บไซต์ของ สศช. www.nesdb.go.th และคลิกหัวข้อ การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้ข้อมูลโดยสังเขปพอที่ผมจะเสนอความเห็นในประเด็นที่ยังมีการพูดถึงกันน้อย หรือมองข้ามกันไป คือแนวคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่สังคมอุดมปัญญา (Knowledge - based Society) โดยเราไม่เอาอย่างฝรั่งที่คิดอยู่แค่ความรู้ เราจะไปถึงปัญญาที่เดียว โดยที่มีวิธีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เน้นที่ปัญญาปฏิบัติ เน้นการส่งเสริมให้เกิดปัญญาจากการปฏิบัติ นำไปสู่ปัญญาเพื่อการปฏิบัติ เป็นปัญญาที่สร้างขึ้นโดยผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่ยุทธศาสตร์ทุนส่วนที่ 4 คือทุนทางปัญญาผ่านกลไกการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทั้งแผ่นดิน วิธีการดำเนินการมีอยู่ในเว็บไซต์ www.kmi.or.th, หนังสือ การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ, หนังสือ การจัดการความรู้ กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข, และบล็อก gotoknow.org
วิจารณ์ พานิช
30 ม.ค.49