ทำไมคนไทยไม่ใช้ของไทย


การนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างมีความจำเป็นจะต้องผลักดันกันอย่างจริงจัง เราต้องการนักพัฒนาที่รักในตัวผลิตภัณฑ์ และสามารถทำให้คนอื่นเชื่อเหมือนที่เค้าเชื่อ

เราคงหลีกเลี่ยงกระแสโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ ตราบใดที่โลกยังหมุนไป เทคโนโลยียังคงมีต้นน้ำจากต่างชาติ คนไทยก็คงต้องซื้อ ต้องใช้ ของนอกเป็นธรรมดา บนโลกแห่งไซเบอร์สเปซตอนนี้ใครนึกอะไรไม่ออกก็มักจะถามอาจารย์กู (เกิล) แต่ทำไมไม่มีคนถามอาจารย์ชาวไทยชื่อเท่ห์ๆ ว่า สรรสาร (Sansarn) บ้างเลย มีใครรู้จักเสิร์ชเอ็นจิ้นตัวนี้ไหมครับ?

สรรสารหรือ sansarn.com เป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นสัญชาติไทยตัวหนึ่งที่วิจัยพัฒนาโดยเนคเทคเมื่อ... (นานมาแล้ว) ซึ่งทางผู้พัฒนากล่าวว่าระบบนี้เน้นเฉพาะเว็บไซต์ภาษาไทยเป็นหลัก ด้วยจุดเด่นคือความสามารถในการค้นคืนภาษาไทยได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากเทคนิคการตัดคำภาษาไทยแล้ว ยังมีคุณลักษณะต่างๆที่ทำให้การค้นคืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การแนะนำคำที่ใช้ค้นคืน (Query Suggestion) และการแก้คำค้นคืนที่สะกดผิด (Query Approximation) เป็นต้น แต่กระนั้นสถิติจาก Truehits.net ไว้ระบุว่า ในเดือน กันยายน 2550 มีปริมาณการใช้ Google 93.1% ในขณะที่ Sansarn ไม่ถึง 0.01% เสียด้วยซ้ำ

สาเหตุหลักอาจจะเป็นเพราะการโปรโมตที่ยังไม่เพียงพอ และฐานข้อมูลที่ยังใหญ่สู้ต่างชาติไม่ได้ เพราะระบบเสิร์ชเอ็นจิ้นไม่ใช่แค่โปรแกรม แต่มันคือแพลตฟอร์ม ที่จะต้องมีการรวบรวมเว็บไซต์และประมวลผลเนื้อหาในแต่ละเว็บไซต์ การที่เข้าไปค้นแล้วเจอ อันดับแรกต้องมีข้อมูลดิบให้ค้นก่อน และที่น่าเสียใจคือ"เราไม่มี" การนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างมีความจำเป็นจะต้องผลักดันกันอย่างจริงจัง เราต้องการนักพัฒนาที่รักในตัวผลิตภัณฑ์ และสามารถทำให้คนอื่นเชื่อเหมือนที่เค้าเชื่อ

จากประวัติ Google เริ่มจากงานวิจัยเล็กๆ ของนักศึกษา Stanford 2 คน คือ Larry Page และ Sergey Brin พวกเค้าทำให้มหาวิทยาลัยเชื่อว่าเทคโนโลยี PageRank เป็นสิ่งที่จำเป็น และเค้าสามารถทำให้ Silicon Valley เชื่อเหมือนที่เค้าเชื่อ จนกระทั่ง search engine กลายเป็นแก่นของธุรกิจ และได้สร้างรูปแบบธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมซึ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาออนไลน์ด้วย Adword และ Adsenses ตำนานเรื่องนี้ยิ่งติดตามยิ่งสนุก แต่ผมอยากจะมีเรื่องเล่าตำนานของไทย ให้พวกเราคนไทยฟัง ด้วยภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่มากกว่าครับ แล้วคุณหละคิดอย่างไร How do u think?

หมายเลขบันทึก: 139177เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (43)

สวัสดีค่ะ คุณ TheInk

ต้องบอกว่าไม่เคยเข้าไปใช้งาน sansarn.com  มาก่อนค่ะ เพิ่งจะทราบเหมือนกันว่าเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นสัญชาติไทย

ถ้ามองในมุมของทางด้าน Usability การออกแบบหน้าตาเว็บไซต์มีผลอย่างมากคะ ที่ส่งผลต่อการใช้งานของผู้ใช้คะ

สวัสดีค่ะ

ที่คนไทย ยังไม่ค่อยทราบเรื่อง สรรสาร เป็นเพราะอ่อนประชาสัมพันธ์มั๊งคะ

พูดถึงเรื่อง usability นี่คุ้นๆ ว่ามีใครบางคนติดผมว่าจะไปตรวจสอบเว็บให้ผมนะ อืมมมม... เจ้าตัวจะเจ้าได้ไหมเนี่ย ^_^

อ้อคุณ P มะปรางเปรี้ยว
ประเด็นการใช้งานเว็บไซต์ ตัว Google เองเคยได้รับคำชมเป็นอย่างมากเรื่องของ "ความง่าย" ไม่ว่าจะต่อการใช้งานหรือการเรียนรู้ครับ แค่กล่องให้ใส่ input ช่องเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับการค้นหาข้อมูล เพราะผู้ใช้ไม่ได้ต้องการของตบแต่งอื่นๆ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ผมว่าเราจะได้เห็น GUI ใหม่ๆ จากเสิร์ชเอ็นจิ้นในไม่ช้าครับ

สวัสดีครับคุณ P sasinanda

ยินดีที่ได้รับความคิดเห็นครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเรื่องการประชาสัมพันธ์ครับ
แต่ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ software ต่างชาติโดยเฉพาะอเมริกาได้เปรียบมากคือเรื่องภาษาและจำนวนผู้ใช้ที่พูดภาษานั้นๆ อเมริกันทำซอฟต์แวร์ภาษาอังกฤษขายได้ทั่วโลก ในขณะที่คนไทยทำซอฟต์แวร์ภาษาไทยก็ใช้กันได้แค่คนไทยไม่กี่ล้านคน และด้วยความเชื่อบางอย่างก็ทำให้คนอีกหลายๆ คนไม่เชื่อในศักยภาพของสมองคนไทยด้วยกันเอง ถึงแม้จะสามารถทำให้คนรู้จักได้เยอะแต่ไม่อาจเปลี่ยนใจผู้บริโภคได้ก็ไร้ความหมายครับ

เคยใช้จำนวนครั้งนี่นับนิ้วได้เลยครับ

 

เพิ่มเติม : การเข้าเว็บสรรสาร สามารถพิมพ์คำว่า 'สรรสาร' เพืื่อเข้าเว็บได้เลยครับ อยู่ในโครงการชื่อไทยไม่มีดอท 

ประสิทธิภาพมันสู้ Google ไม่ได้น่ะครับ

การใช้งานก็ยังยาก

ถามว่าทำไมคนไทยไม่ใช้ของไทย ก็ด้วยเหตุผลเหมือนกับว่า ทำไมต้องใช้ Windows ไม่ใช้ Linux TLE ผมว่ามันก็เป็นเหตุผลเดียวกัน

ผมว่าการออกแบบหน้าเว็บยังไม่ดึงดูดใจเลยอ่ะครับ

และการค้นหาข้อมูลยังสู้ Google ไม่ได้ ทำให้เวลาคนมาค้นหาแล้วไม่ได้ข้อมูลที่ต้องการ เขาก็คงไม่กลับมาอีกอ่ะครับ

www.bangkoksleep.com นี่ก็เป็นเว็บค้นหาที่พัก ที่ออกแบบให้ดูง่าย และค้นหาแบบเชิงลึกที่น่าสนใจทีเดียวครับะ

 

 

ผมอ่านหัวเรื่อง นึกว่าจะเป็นประเด็น เรื่อง "การบ้ายี่ห้อฝรั่ง" แต่พออ่านๆ แล้วมาวิเคราะห์ ก็มานึกได้ว่า ในโลก IT นี่มันมีปัจจัย ที่ไม่เข้าข่าย "บ้ายี่ห้อ" เหมือนกันครับ

ไม่เหมือน กับ ทีวี ธานินท์ กะ โซนี่

ไม่เหมือน กับ เสื้อผ้า fbt กับ ไนกี้

สินค้าและบริการไอที นั้น "เข้าถึงคนทั่วโลก ได้ในเวลาเดียวกัน" ครับ

ผมคิดว่า มันไม่มีคำว่า ของในประเทศ กับของต่างประเทศ ครับสำหรับเรื่อง IT เพราะว่าตอนนี้ โลกทั้งโลกอยู่บน platform เดียวกันหมด

ต้องบอกว่าแนวคิดของ google จริงๆ นั้น เค้าไม่ได้คิดแค่เรื่อง pagerank และ search engine ครับ ลองศึกษาดีๆ แล้วแนวคิดเค้าใหญ่กว่านั้นมากครับ

เพราะฉะนั้นถ้าจะเทียบ สรรสาร กับ google search มันคงเทียบกันไม่ได้ครับ

เหมือนบอกว่าทำไม ดื่มโค้ก ไม่ดื่ม โอเลี้ยง ซึ่งเหมือนกัน 

ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความคิดเห็นครับ

คุณ Nz สำหรับชื่อไทยไม่มีดอทหรือ "นิภา" เดี๋ยวนี้ใช้ไม่ได้กับทุก ISP นะครับ ถ้าต้องการจริงๆ ต้องดาว์นโหลด Plug-in มาติดตั้งครับ

คุณ จากใจจริงเลย ความเห็นเรื่อง mismatch fight โดยส่วนตัวเรื่อง Windows กับ Linux TLE ผมว่ามันเกี่ยวกับโปรแกรมและ format ของข้อมูลด้วยครับ ที่ทำให้คนไม่ย้ายจากสิ่งที่เขาคุ้นเคยไปยังสิ่งใหม่ (จะบอกว่าตอนนี้ผมใช้ Ubuntu อยู่ครับ)

คุณ msdn ผมลองเข้าไป www.bangkoksleep.com แล้วหละครับ ดีครับมี map ของ mappointasia ด้วย

คุณ kla เห็นด้วยกับเรื่องโลกาภิวัฒน์ โลกไร้พรหมแดน ที่ IT ไม่ได้แบ่งว่าของไทยหรือของต่างชาติครับ แต่สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อคือเรื่องของโอกาสและการยอมรับ ผมก็ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับสรรสารนะครับ แค่พอดีเคยไปรู้เบื้องหลังการทำงานของกลไกภายในของมันว่ามันถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานของภาษาไทย ภาษาที่ไม่ได้แบ่งคำด้วยเว้นวรรค ภาษาที่มีการตัดคำ ตาก.ลม ตา.กลม ไม่เหมือนกัน ถ้ามีโอกาสลองอ่านดู http://www.sansarn.com/aboutsansarn.php นะ ผมว่า feature มันเยี่ยมมากเลย

โอเค กลับมาที่ประเด็นเรื่องการให้โอกาส

ผมขอยกตัวอย่าง iPod มาเปรียบเทียบ
มีใครรู้ไหมครับว่า ทำไม iPod ไม่รองรับภาษาไทย
ผมเคยคุยกับคน Apple และได้คำตอบว่า เพราะภาษาไทยอยู่ใน 3rd-tier ซึ่งมีผู้ใช้อยู่จำนวนน้อย
ถ้าอยากให้มีภาษาไทยใน iPod ก็ต้องมีคนไทยใช้มันเยอะๆ
แต่ถ้าไม่มีภาษาไทย คนไทยบางกลุ่มก็คงไม่ซื้อ iPod (พวกที่คำนึงประโยชน์ใช้สอย ไม่ได้สนใจเรื่องความเท่ห์)
มันก็ประมาณไก่กับไข่ที่ว่า จะรอให้คนใช้เยอะๆ ก่อนแล้วคอยใส่ภาษาไทยใน iPod หรือ ใส่ภาษาไทยก่อนแล้วคนไทยจะซื้อเยอะ

ใน case ของ sansarn.com ที่หาข้อมูลไม่เจอ ไม่ใช่ว่า engine ไม่ดี
แต่น่าจะเป็นเพราะฐานข้อมูลเล็ก และสาเหตุหลักที่ฐานข้อมูลเล็ก ก็เพราะคนไม่ใช้ ไม่รู้จะไปลงทุนทำไม (อันนี้ผมสันนิษฐาน)
ดังนั้น ถ้ามีคนใช้ ถ้ามีคนเห็นคุณค่า เสียงตอบรับที่กลับไปยังผู้พัฒนาและผู้ใหญ่ในสังคม ก็คงจะทำให้ software ไทยตัวนี้ไปได้ไกลกว่านี้อีกเยอะครับ

 

เอาให้ตรงสุดคือ ไม่รู้จัก

แต่ก็ไม่ได้ใช้ Google the Evil เป็นหลัก

คุณ TheInk 

ผมเข้าใจเรื่อง feature การตัดคำภาษาไทย ซึ่งมันยาก และต้องใช้ algorithm + data structure + rules + corpus + test + optimization ที่ซับซ้อน อีกทั้งยังต้องเร็ว อีกด้วย นับถือผู้พัฒนาครับ

แต่ถ้าพัฒนา algorithm แล้วไม่มีคนใช้ เพราะมันไม่ practical ในการใช้งานจริง มันอีกเรื่องนึงนะครับ

อย่าง iPod ครับ ผมมองเป็นเรื่อง long tail อ่ะครับ คนใช้ภาษาไทย (ในโลก) มันน้อย ปริมาณยอดขาย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็น้อย (apple store ก็ไม่มาเปิด) หมายความง่ายๆ คือ ถ้าขายไม่ได้เลยในประเทศนี้ เค้าก็ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ อันนี้เป็นเรื่องธุรกิจเต็มตัวครับ

แต่ก็ยังมีคนซื้อ เพราะเห็นว่าอวดสาวใน fitness ได้ (เท่ห์อ่ะ) แต่เพิ่งเห็นว่าภาษาไทยไม่ได้ ก็เืดือดร้อนไป hack กันเอง เผอิญมัน hack ได้ด้วยสิ (iPhone ก็เข้าข่าย) คงไม่มีใครถึงกับขว้าง iPod ทิ้งเพียงเพราะ "มันไม่มีภาษาไทย" หรอก เค้าก็ยังทนใช้ มันกับ itune กันทั้งๆ ที่ไม่ค่อยชอบนั่นล่ะ มองมุมนี้ คือ ซื้อมาแล้ว เสียตังแล้ว คืนไม่ได้ ยังงัยก็ต้องใช้ให้คุ้มล่ะ

ยิ่งถ้ามองมุมนี้ ผมยิ่งเห็นว่าเรื่องเว็บ หรือบริการ กับสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ มันยิ่งต่างกันครับ

ตัวอย่าง

keyword "วัดพรแก้ว"  (พิมพ์ผิด)

จริงๆ จะหา "วัดพระแก้ว"

ใ้ช้ sansarn เจอ 1 เว็บ ไปที่ pdf เอกสารทอดกฐิน ที่โคราช ในเบอร์ 942 ของวัดที่เข้าร่วมโครงการมี "วัดพรแก้ว" อยู่

ใช้ google เจอ 842 เว็บ 8 ใน 10 อันแรก เกี่ยวกับ "วัดพระแก้ว" หมดเลยครับ มี 2 อันที่เป็น "วัดพรแก้ว" ซึ่งก็เข้าไม่ได้ เพราะมันบอกว่ามี malware (อีกนั่น)

แล้ว ถ้าผมจะ search ต่ออีก สำหรับ "วัดพระศรีสรรเพ็ชร" แต่ก็ไม่มั่นใจตัวสะกด แล้วผมใช้ google อย่างเดียวดีกว่า เรียกว่าผม "ไม่ให้โอกาส" กับ sansarn หรือเปล่าครับ

ส่วนตัวผมเห็นว่า ผมให้โอกาสแล้ว กับ 2-3 keyword เปรียบเทียบกับผลที่ได้รับ แล้วไม่พอใจ ก็เลยหันกลับไปใช้ google เหมือนเดิม ไมต้องเสียอะไร

ทิ้งท้ายครับ  ผมไม่ได้เป็นทาส google, apple, microsoft, หรือ อะไรหรอกนะ ผมก็คนไทย นิยมไทยครับ

แต่การใช้ google แทนที่จะเป็น sansarn มันคงไม่ทำให้ผมโดนตราหน้าว่าเป็น พวก "ไม่ให้โอกาสคนไทย บูชาฝรั่ง" มั้งครับ 

ดีครับ นานๆ จะมีคนมาแสดงความคิดเห็นให้สมกับชื่อ blog "How do u think?" หน่อย
ก็อยากให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันครับ เพราะการแสดงความคิดเห็นของทุกคนมีค่าและเป็นประโยชน์ทั้งนั้น
ถ้าเราจะสู้กันด้วยความคิด ทะเลาะกันด้วยมุมมอง ผมว่ามันดีกับสังคมโดยรวมนะ

อย่างคุณ kla ต้องยอมรับว่า เยี่ยมครับ งั้นผมจะขออนุญาตเถียงต่อ ไม่ว่ากันนะ ^_^

โอเค อันดับแรกผลการค้นหาจาก sansarn "ไม่ได้เรื่อง" เห็นด้วยครับ!
แล้วจะปล่อยให้มันไม่ได้เรื่องต่อไปหรือ งบประมาณประเทศชาติที่ถูกใช้ไปกับงานวิจัยตัวนี้ เงินภาษีของราษฎรมีค่าแค่นี้เองหรือ
ถ้าไม่ใช่ นักวิจัยควรจะทำเช่นไร? มีข้อเสนอแนะไหมครับ?

ถัดมา การที่เราจะใช้สินค้าหรือบริการของต่างประเทศ แล้วไม่ใช้ของไทย สาเหตุจากความ"ไม่ได้เรื่อง"
ผมก็ว่าไม่ผิด และคงไม่มีใครไปตราหน้าว่าเป็นพวกบูชาฝรั่งหรอกครับ
ในฐานะผู้บริโภค เรามีสิทธิที่จะเลือก ที่จะใช้ ของที่เราชอบ ที่เราว่าดี
และที่สำคัญเราไม่ได้ถูกผูกขาดว่าใช้ยี่ห้อนี้ แล้วห้ามใช้ยี่ห้อนั้น จริงไหมครับ? อะไรดีใช้ไปเถอะ ไม่ว่ากันอยู่แล้ว

ขอยกตัวอย่าง Social Bookmark แล้วกัน (ใกล้ตัวดี)
ในปัจจุบันที่ฮิตๆ มีชื่อของไทย ก็จะเป็น duocore.tv และ zickr.com ใช่ไหมครับ?
สมมติว่า คนทำตั้งใจทำเพื่อให้คนไทยมีบุ๊คมาร์คออนไลน์ไว้แชร์เนื้อหาดีๆ กัน
แล้วผู้ใช้กลับมองว่า "โฮย มันลอกเค้ามา อย่าไปใช้มันเลย ไปใช้ digg.com หรือ del.icio.us ดีกว่า"
มันน่าเสียใจไหมครับ???

แต่กระนั้นถ้าผู้พัฒนาสามารถทำให้คนอื่นเชื่อได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือเว็บไซต์ที่เค้าทำดีจริง สามารถโน้มน้าวคนรอบข้างและขยายผลไปถึงทุกคนในสังคมได้ ผมก็เชื่อว่า เราจะได้เห็นผลงานดีๆ ที่ไม่ได้ทำแล้วทิ้ง อีกมากมาย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป

ดังนั้นจุดนี้ผมมองว่าถ้านักวิจัยมีความเชื่อศรัทธาในงานของตน และสามารถสื่อสาร ทำให้คนรอบข้างเชื่อได้ว่ามันมีคุณค่า
The product is gonna prove itself ...

 

Sansarn โดยส่วนตัวรู้จักมานาน แต่การพัฒนาถือว่าช้ามาก และคงไม่มีวันตาม searchengin ของต่างประเทศ ได้ทัน อันนี้ผมเข้าใจระบบการทำงาน และเงินทุน ต้องได้รัยการสนับสนุน และการทำงานอย่างจริงจัง คนไทยเราเก่งแต่ไม่ได้รับการผลักดันเท่าที่ควร

 ทำไมเราเราถึงไม่อุดหนุน ของถาวรคอมพิวเตอร์

ทำไมเราไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าของธานินทร์ และอีกหลายๆ บริษัทที่ล้มไป 

ต่ออีกหน่อยค่ะ

จริงๆแล้ว เหตุผล มันอยู่ตรง มีคนใช้น้อย การลงทุนมากๆไม่คุ้มค่ะ

ทำไมใช้น้อย

ก็เพราะภาษาอังกฤษ เป็นภาษาสากลไปแล้ว มันคุ้มค่าการลงทุน

ดิฉันเคยไปเยอรมัน คนที่นั่น พูดภาษาอังกฤษดีมาก ทั้งๆเขาก็ชาตินิยม ที่ฝรั่งเศสก็เหมือนกัน แต่ก่อน หาคนพูดอังกฤษได้น้อย แต่เดี๋ยวนี้ เป็นธรรมดา ใครๆก็พูดได้ ซึ่งแต่ก่อน แอนตี้ภาษาอังกฤษกันมาก

ไม่ได้มีอะไรหรอกค่ะ เป็นเรื่องของความเป็นสากลมากกว่าค่ะ ไม่ได้เกี่ยวกับ ชาตินิยมอะไร

"สรรสาร"ออกแบบมาเพื่อภาษาไทยโดยเฉพาะก็จริง แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทั้ง Google และ Yahoo ก็ search ภาษาไทยได้แล้ว (แต่ไม่รู้ว่าจะได้เท่าสรรสารก็ตาม หรือว่าอาจจะดีกว่าสรรสาร?).

สรรสารอาจจะต้องไปจับตลาด search engine ภายในองค์กรอะไรแบบนั้นแทน. แต่ก็จะมีคำถามตามมาอีกเหมือนกันว่าทำไม ไม่ใช้ Apache Lucene เพราะว่าตอนนี้ Lucene ก็ใช้กับภาษาไทยได้ อีกทั้งเป็น free/open source software ไม่ต้องขออนุญาตคนนั้นคนนี้ ก่อนจะเอาใช้ แถมยังแก้ไขปรับปรุงเองนี้. 

สถานการณ์แบบนี้ผมนึกไม่ออกว่าจะ promote อะไร? อาจจะใช้ประโยชน์จากลัทธิชาตินิยมก็คงช่วยอะไรไม่ได้มาก ถ้าหากผลิตภัณฑ์มันแตกต่างกันมากเกินไป.

P del.icio.us และ digg กับ duocore.tv เอามาเทียบกันยากครับ เพราะว่า del.icio.us ไม่มีรายการทีวี. คนทั่วไปก็คงไม่ใช้ duocore.tv หรือ digg ไว้เป็น bookmark ของตัวเอง.  สรุปว่า del.icio.us ไม่ได้แข่งขันกับ digg และ duocore.tv โดยตรงอยู่แล้ว. เท่าที่ผมทราบ digg ก็ไม่มี รายการทีวี ที่มาคนมาพูดๆกัน ที่เป็นจุดเด่นของ duocore.tv? ถ้าใช่ digg กับ duocore.tv ก็ไม่ได้แข่งขันกันตรง.
 
มากไปกว่านั้น digg และ del.icio.us ไม่มี ui ภาษาไทย. แต่ Yahoo search engine และ Google search engine มี  ui ภาษาไทย. 2 กรณีจึงนำมาเปรียบเทียบกันได้ยากเหมือนกัน.
 
งานวิจัยหลายอย่างใช้ภาษีของประชาชนมาวิจัย แต่พอวิจัยเสร็จแล้ว ก็เป็นสิทธิบัตร หรือลิขสิทธิที่รอไว้ขายนายทุน. (เท่าที่เห็นปัจจุบันส่วนมากเป็น model นี้ใช่หรือเปล่า?) ถ้าขายแล้วได้กำไรก็ดีสำหรับรัฐ?  ประชาชนก็ได้ส่วนที่เป็นกำไร?

ผมเพิ่งจะรู้จักเว็บ sansarn.com เป็นครั้งแรกนะครับเนี่ย 

ถ้าจะให้เกิดการพัฒนาผมคงต้องขอพูดความรู้สึกตรงๆที่เห็นนะครับ 

 

 ผมว่าประเด็นเรื่องชื่อนี่มีผลกับผมนะเนี่ย ชื่ออ่านยากครับ สัน-สาน ผมว่า สนุก, กระปุก, กูเกิ้ล อ่านง่ายกว่ามากครับ ง่ายในการจดจำและบอกต่อ

ความน่าใช้เป็นปัจจัยแรกของผมนะครับ  ความประทับใจแรก มีผลอย่างมากในการดึงคนเข้ามาใช้งานครั้งต่อๆไปด้วยครับ อันนี้ sansarn สอบตกครับ 

ต่อมาเป็นความง่ายในการใช้งาน คือไม่ต้องเรียนรู้การใช้งาน 

อย่างของ Google ผมว่าเค้าทำให้ใช้งานง่ายๆ หน้าแรกเว็บไม่มีอะไรมาก แค่ช่องค้นหาอย่างเดียว ซึ่งตรงประเด็นที่ผู้ใช้เข้ามาใช้งาน 

สรรสาน มีอะไรมากเกินไปหรือเปล่าครับ ดูแล้วไม่เน้นที่ search ซักเท่าไหร่ คือเนื้อหาอื่นมาดึงความสนใจไปซะเยอะแล้วครับ

อีกจุดนึงที่ผมอยากให้มีคือเรื่องของ Concept 

อย่างที่ผมเห็น Google เค้าจะใช้ลูกเล่นเรื่องสีสันจากตัว Logo มาเล่นในเว็บ แล้วก็ใช้คำว่า Goooooogle มาเล่นกับตัวผลการค้นหา แค่นี้ก็ดูน่ารักน่าใช้แล้วครับ

และผมว่าควรใส่ช่อง search เอาไว้ทุกๆหน้าบนเว็บเลยครับ เพื่อให้ง่ายในการเข้าถึง

 สีสันที่เลือกใช้ก็ควรจะเป็นสไตล์ของ Web 2.0 น่าจะเหมาะกว่า ถ้าอยากให้คนทั่วๆไปหันมาใช้กัน โดยเฉพาะวัยรุ่น

เรื่องรูปภาพ background หลังชื่อเว็บนี่ ผมว่าดูแล้วมันโบราณน่ะครับ เห็นรูปนี่แล้วผมรู้สึกไปก่อนแล้วว่า มันคงเป็นเว็บเก่าแก่และไม่อัพเดท -_-'  

แต่สุดท้ายแล้วหน้าตาจะดีแค่ไหน ถ้าไม่ฉลาดจริงๆ ก็คงยากที่จะให้คนเปลี่ยนใจจากของที่ดีอยู่แล้วอย่าง Google นะครับ 

 

เอาใจช่วยครับ หวังว่าวันนึงผมจะกลับมาใช้ที่นี่อย่างสบายใจ 

โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าการตลาดและการประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเว็บไซต์
แม้ว่าโครงการนั้นจะเป็นโครงการที่ไม่ได้แสวงหากำไรก็ตาม แต่ถ้าเราไม่วาง STP (segmentation, target, position) ให้ถูกต้องก็คงจะไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้
มันเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันพอสมควรว่า งานวิจัย เริ่มจาก demand หรือ supply ก่อนดี
ถ้าสำหรับผู้ประกอบการ ผมคิดว่า "ถ้าต้องการเงิน" ก็ต้องมองว่าจะได้เงินจากไหน อะไรที่ตลาดจะซื้อ
แต่ถ้าสำหรับภาครัฐ ผมอยากให้ทำสิ่งที่นักวิจัยอยากทำ อะไรก็ได้ขอให้ทำให้เสร็จ แล้วแจกจ่ายให้คนอื่นเอาไปทำต่อ

คุณ P वीर ผมชอบประโยคนี้จัง "งานวิจัยหลายอย่างใช้ภาษีของประชาชนมาวิจัย แต่พอวิจัยเสร็จแล้ว ก็เป็นสิทธิบัตร หรือลิขสิทธิที่รอไว้ขายนายทุน. (เท่าที่เห็นปัจจุบันส่วนมากเป็น model นี้ใช่หรือเปล่า?) ถ้าขายแล้วได้กำไรก็ดีสำหรับรัฐ?  ประชาชนก็ได้ส่วนที่เป็นกำไร?"
จะเป็นไปได้ไหมที่งานวิจัยซอฟต์แวร์เหล่านั้นจะเป็น opensource ที่กลับมาให้คนไทยใช้ ได้ให้คนไทยที่รู้วิธีใช้ เอาไปทำประโยชน์คืนให้สังคม

ส่วนอันนี้ขอเสริมครับ
del.icio.us จะแข่งกับ digg หรือเปล่า ตอบยาก! ไม่อยากเดาใจคน แต่วัตถุประสงค์ที่เอามาใช้งานชัดเจนว่าเพื่อโปรโมต เว็บเพจ ใครใคร่เอาไปทำ bookmark ส่วนตัวก็แล้วแต่ชอบหนะครับ ของอย่างหนึ่งมันมีอรรถประโยชน์ได้หลายอย่างครับ
ส่วน digg มีรายการ TV ไหม ลองดูอันนี้นะครับ http://revision3.com/diggnation/ คุ้นๆ Kevin Rose เจ้าของ digg ไหมครับ
เค้าเรียกว่ามี inspiration ครับ

และขอเสริม คุณ P kritsada เรื่องการที่ sansarn จะกลายมาเป็น searchengine ที่แข่งกับต่างชาติไหม
ผมเชื่อว่ามันอยู่ที่ความเชื่อของนักพัฒนา ถ้าเค้าคิดว่าเขาทำได้ เขาจะหาวิธีให้ทำให้ได้ครับ
ยกตัวอย่าง baidu.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์สัญชาติจีน เคยได้ยินมาว่า เว็บตัวนี้ท้าชน Google ได้เลย
แต่ไม่ทราบว่าเค้าเรียกว่า ชาตินิยม หรือเปล่านะครับ
ก็ถ้าโปรแกรมมันดี มันจะพิสูจน์ตัวเองครับ

สำหรับ ความคิดเห็นของคุณ dogdoy ผมว่าถ้าผู้พัฒนามาอ่านคงชื่นใจนะครับ อย่างน้อยยังมีคนให้โอกาสเค้าอยู่

 

ผมมีเพื่อนเป็นนักพัฒนาหลักของสรรสารครับ เพื่อนคนนี้เราเรียนจบมาด้วยกัน ตอนปี 4 ก็เป็นรูมเมทกัน เรียกว่ารู้จักกันดีพอสมควร แล้วไอ้หมอนี่ก็มักจะวานให้ช่วยทดสอบสรรสาร เมื่อมีการเพิ่มระบบใหม่อยู่เสมอๆ

ระดับกำลังภายในและสติปัญญาของหมอนี่ จัดอยู่ในขั้นเทพ สามารถอดหลับอดนอนติดต่อกันได้หลายคืน ผมรู้ดีว่าภายใน 2 ปีนี้เขาทุ่มเทให้กับสรรสารอย่างเต็มที่ ... แต่ !! เขาเป็นหนึ่งในโปรแกรมเมอร์ของสรรสาร จากทั้งหมดจำนวน 1 คน รวมที่ปรึกษาด้านอัลกอริทึมอีก 1 คน รวมแล้วปัจจุบันสรรสารทำกันอยู่ทั้งหมด 2 คนครับ (ข่าวล่าสุดที่ผมรู้) ในขณะที่ Google Corp. มีวิศวกรที่ดูแลด้าน Search Engine อยู่หลายร้อยหลายพันคน แต่ละคนจบมาจากมหาวิทยาลัยระดับโลก และมีความเฉพาะทางมากกว่า

สรรสารและลินุกซ์ทะเล มีจุดร่วมที่เหมือนกันอยู่หลายประการ ผู้เชี่ยวชาญลินุกซ์บอกว่า "TLE must die" ผมมองว่าสรรสารก็อยู่ในข่ายเดียวกัน  ... ผมว่าความคิดแบบ "ระบบปฏิบัติการแห่งชาติ" หรือ "ระบบค้นหาแห่งชาติ" ค่อนข้างเชยครับ ปัจจุบันควรจะเป็น "ระบบปฏิบัติการของโลก" หรือ "ระบบค้นหาของโลก" แม้ว่าคนทำจะเป็นฝรั่งหัวแดงก็ตาม ... ต้องยอมรับความจริงครับ ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาจากฝรั่ง โอกาสที่เขาทำแล้วจะประสบความสำเร็จย่อมมีมากกว่าเรา ... แต่ถ้าพูดถึง ดนตรีไทย อาหารไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย เราย่อมเจ๋งกว่าวันยังค่ำ .. ผมว่าผัดไทยข้างถนนที่ปรุงโดยแม่ค้าชาวบ้านธรรมดา อร่อยกว่าผัดไทยที่ปรุงโดยเชฟฝรั่งมือหนึ่งครับ ... ไม่ใช่การหลอกตัวเอง แต่มันคือการยอมรับความจริง

สุดท้าย โครงการใดๆ ก็ตาม ที่ดำเนินการภายใต้การควบคุมของรัฐบาลไทย ไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น ความจริงอีกอย่างที่เราต้องยอมรับคือ ระบบเรามีปัญหา คุณลุงที่นั่งหัวโด่กุมอำนาจบริหาร ไล่ลงมาตั้งแต่นายกฯ รมว.ICT รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ฯลฯ ไม่ว่ายุคสมัยไหน เรายังไม่เจอคนที่มีวิสัยทัศน์ด้านนี้จริงๆ สักคน ยังหาบุรุษผู้เกาถูกที่คันไม่ได้สักคน คงอีกหลายปีครับกว่าคนยุค next generation จะขึ้นมากุมอำนาจบริหาร

มดงานทำงานแทบตาย แต่นโยบายเบื้องบนไม่สอดคล้อง ผลสำเร็จก็คงเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ ... ผมเชื่อในศักยภาพของเพื่อนผม ถ้าเขามีโอกาสได้ทำงานกับเอกชน Baidu 2 ก็อาจเกิดครับ

ขอบคุณครับที่ให้โอกาสร่วม ลปรร. 

P coreduo.tv แข่งกับ revision3.com ไม่ใช่ digg.com เปล่า?
 
open source software จาก Nectec หรือจากสถาบันการศึกษาไทย ผมก็เห็นอยู่บ้างครับ แต่ว่าน้อยมากๆๆๆๆ.  ดูคล้ายๆกับว่า Nectec และหน่วยงานของสภาบันการศึกษาจะเลือก model แบบทุนนิยมจ๋าๆ เอางานภาษีมาลงทุน จดสิทธิบัตร  ขายงานให้เอกชน เป็นหลัก หละมั้ง. เอาชนในที่นี้ก็รวม google เองก็ได้!!!  ดีไม่ดี sansarn ก็อาจจะถูก google หรือ yahoo ซื้อก็ได้ถ้าน่าซื้อ. 
คำถามก็อาจจะถูกแปลงมาเป็นว่าไมเราควรใช้ sansarn เยอะๆ.  เพื่อ google จะได้ซื้อ sansarn แล้ว สถาบันวิจัยต่างๆก็ได้เงิน จะได้ใช้ภาษีของประชาชนลงทุนน้อยลง แบบนั้นหรือเปล่า?

ก่อนอื่นต้องขอบคุณ คุณ P ต้นกล้า ครับ

ขณะที่ไม่ใช่ผู้พัฒนาเองยังออกมา ลปรร. ให้เราได้ทราบกัน
ผมเข้าใจว่าบัณฑิตใหม่มักมีคำถามกับตัวเองเรื่องทำงานแทบตายแล้วได้อะไรครับ ช่วงผมเรียนจบตรีใหม่ๆ ผมก็เป็น
สุดท้ายผมเลือกที่จะเลือกทางเดินของตัวเอง มากกว่าที่จะให้ใครกำหนด หรืออยู่ใต้กฏของใครๆ
ไม่ได้บอกว่าเป็นทางที่ถูกต้องนะครับ เพราะหนทางของ entrepreneur มันไม่ได้โปรยด้วยดอกกุหลาบเสมอไป


ส่วนคุณ P वीर ^_^ ท่าทางจะชอบตอบ 2 ครั้งนะครับ (แอบโดดงานมาเล่น blog หละสิ)
ไงผมขอเสริมนะครับ

coreduo.tv อืมมม... รู้สึกจะเป็นของ intel แน่นอน
แต่ถ้า duocore.tv จะแข่งกับใคร ตั้ง STP ว่าอย่างไร หรือจะ go inter ไหม เจ้าของเว็บเค้าน่าจะตอบได้ดีกว่าผมนะครับ

ว่าแต่ทำอย่างไรให้ google ซื้อ sansarn น่าคิดครับ ว่าจะซื้อไปแล้วทำอะไรต่อ
ถ้าถามผม ผมอยากเห็น Google ทะลุผ่าน search ธรรมดา กลายเป็น search แบบ AI และเป็นเว็บต้นแบบอีกตัวในยุคเว็บ 3.0 จริงๆ ครับ เพราะเค้าน่าจะมีศักยภาพที่สุดในตอนนี้
ผมอยากเห็นโลกเราพัฒนา และมีเครื่องมือให้เล่น ให้ใช้อีกเยอะๆ ครับ

 

ต้องขอขอบคุณทุกท่าน ทุกความเห็น ที่พูดถึงสรรสาร ผมถือว่าทุกความเห็นเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น โดยตลอดสองปีที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าเพราะผมหาเรื่องใส่ตัวเองหรือเปล่า หลังจากที่ เข้ามารับช่วงพัฒนาโปรเจคนี้จากนักพัฒนารุ่นก่อน และุืุืถือโอกาสยกเครื่องสรรสารใหม่ทั้งหมด เนื่องจากปัญหาเชิงเทคนิคของโครงสร้างเดิม ทำให้แม้ปัจจุบันในทีมจะมีอยู่หลายคน แต่รายละเอียดระดัีบการทำงานของระบบ กลับตกอยู่ผมคนเดียว และโดยสถานภาพแล้ว ทีมสรรสารไม่ได้รับผิดชอบเฉพาะตัว sansarn.com แต่รับผิดชอบด้าน Search Technology ทั้งหมดซึ่งคอยสนับสนุนโปรเจคอื่นๆ อยู่ รวมไปถึงองค์กรบริษัทภายนอกที่ต้องการนำ Search Technology ไปใช้ จนทำให้ระยะหนึ่ง sansarn.com หลุดจาก KPI หลัก นั่นคือไม่ใช่ภาระกิจหลักที่ต้องทำ  หลายคนมองว่า ผมจะทำไปทำไม เขาให้ทำยังไงก็ทำแบบนั้น แต่ไม่มาเป็นผมคงไม่รู้กับสิ่งที่อยู่กับมันทุกวัน สิ่งที่สร้างมากับมือ แล้ววันหนึ่งต้องหายไป  และด้วยกระแส google ที่ถาโถมเข้ามาแรงขนาดนี้ หากมันหายไปแล้ว คงยากที่ฟื้นกลับมาได้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ผมเหนือยเป็นสองเท่า กับการรักษาลมหายใจที่รวยรินของ sansarn.com และคงต้องยอมรับว่าที่ทำไม่ใช่ทำเพราะหน้าที่ เพราะหน้าที่ที่ต้องทำไม่ใช่สิ่งนี้ แต่ที่ทำเพราะหัวใจจริงๆ 

สักวันหนึ่งหากสรรสารหายไปจริงๆ ก็แสดงว่า เขาไม่ให้โอกาสให้ผมทำต่้อ หรือผมไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้ว และวันนั้นคุณอาจจะเห็น Thai Search Engine ตัวอื่นขึ้นมาแทน

 

* แอบคิดเองว่า ทำไมไม่ยกเลิกโปรเจคนี้ไปจริงๆ ซะ จะได้ออกไปทำเองให้รู้แล้วรู้รอด บางครั้งการทำงานภายใต้นโยบายอื่น มันก็อึดอัดนะครับ แต่ยังไงตอนนี้ก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้คุ้มกับภาษีประชาชน 

 *ผมถือว่าหนึ่งคำติ (หาคำชมคงยากอยู่เหมือนกัน) คือ หนึ่งกำลังใจครับ ^^

 Nation First !!!...

เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ผมยังทำงานกับบริษัทข้ามชาติ เพื่อนๆ ต่่างชาติที่ทำงานด้วยกันตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยเขียนซอฟต์แวร์ไม่เป็น แน่นอนล่ะว่าผมเถียง เค้าก็เงียบไป เค้าอาจจะไม่ยอมรับแต่ก็คงรู้ว่ามีตัวอย่างของจริงที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน คนไทยก็พูดได้และเถียงเป็น

เรื่องนี้ผมเก็บมาคิดต่ออีกหลายปีครับ

ความซับซ้อนของซอฟต์แวร์ที่คนไทยเขียน จะไม่เกินความซับซ้อนที่คน "หนึ่งคน" สามารถเขียนได้ ไม่ว่าจะมีทีมใหญ่โตขนาดไหน ก็แทบจะไม่ต่างกับการเขียนคนเดียว ไม่ว่าจะหาคนมีวิสัยทัศน์ขนาดไหนมาเป็นผู้ผลักดัน แต่ถ้าคนที่คิดว่าตัวเองเจ๋งยังไม่เปลี่ยนทัศนคติในการทำงานร่วมกัน คงเปลี่ยนแปลงอะไรได้ยากครับ ดูไปดูมาก็ยังเห็นเป็นอาการชี้นิ้วให้คนอื่นทำเหมือนเดิม

ยังมี niche ของเอกสารที่เป็นภาษาถิ่นอีกมากมายที่ Google ไม่สามารถจัดการได้ Lucene ที่ตัดคำไทย มี patch สองอันนะครับ อันแรกเนคเทคทำ (คิดว่าใช้ ICU แต่ไม่แน่ใจ) อีกอันคุณสัมพันธ์ทำใช้ ICU แต่ทั้งคู่เกิดมาหลังจากสรรสารครับ -- แล้วถ้าเป็น ICU ทั้งคู่จริง นี่แสดงให้เห็นปัญหาเดิมอีกครั้งหนึ่งแล้ว! 

ถ้าปลูกข้าวแล้วชาวนาบอกว่าไม่คุ้ม แปลว่าควรจะขายนาให้ไปทำหมู่บ้านจัดสรร/โรงงานกันให้หมด แล้วซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมากินหรือเปล่าครับ

ผมก็ไม่ใช้สรรสารเหมือนกัน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะขายทิ้งเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ไม่อยากคิดว่าเกิดวันดีคืนดีมีคนบ้าบอมาปิดกั้น search engine ชื่อดัง แล้วจะเิกิดอะไรขึ้น

P patch ที่คุณสัมพันธ์ทำไว้ใน lucene และที่ผมเห็นล่าสุด เรียก API ตัดคำของ JRE เองครับ แต่ JRE ไปเรียก ICU อีกทีหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ. patch สวยงาม และสั้นมาก แล้วก็ไปผนวกกับ lucene เรียบร้อย :-). 
 
ผมว่าขาย "ที่นา" กับขาย "สรรสาร"  ไม่เหมือนกันนะครับ. ผมมองว่าขายสรรสารก็คงคล้ายๆกับขายข้าวเท่านั้นเอง. ขายนาคงเทียบได้กับขาย scipark.  ขายสรรสารไปนักวิจัยก็ยังอยู่สถาบันก็ยังอยู่ scipark ก็ยังอยู่ต่อไปก็อาจจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมาขายได้ต่อไป.  (หรือเปล่า?) 
 
ขายผลิตภัณฑ์ไปแล้วก็ได้กำไร ก็เอาวิจัยต่อ แล้วก็ขายใหม่ ไปเรื่อยๆ แต่ว่าสถาบันที่ทำยังอยู่ model มันเป็นแบบนี้หรือเปล่าครับ?
P  ผมมองว่าทำต่อไปเรื่อยๆเป็นเรื่องที่ดีแล้วครับ. โปรแกรม "สรรสาร" ก็คงไม่ได้เปลืองพื้นที่ harddisk หรือว่าเปลืองไฟมากมาย. ต่อให้มีคนใช้นิดเดียวก็คุ้มที่จะเปิดทิ้งไว้.  
 
ทำต่อยอดไปเรื่อยๆ สักวันนึงก็อาจจะมีเอกชนสนใจ เอาไปทำการค้าต่อ. เพราะว่าได้ลองจาก demo ที่ทำไว้เสร็จสรรพแล้ว. แล้วก็อาจจะมีสิทธิบัตรอีก 2-3 ชิ้น. เท่านี้ก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว ตาม model ของ nectec. ผมเข้าใจถูกใช่เปล่าครับ? 
 
เคยฟังคนของสวทช.พูดเขาบอกว่า สวทช. เป็นตัวกลางระหว่าง มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยต่างๆ และ เอกชน. ในที่สุดแล้วเทคโนโลยีก็ควรจะถูกถ่ายทอดไปให้เอกชน?
 
สรุปแล้ว ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องกังวลว่า "สรรสาร" จะไม่มีคนใช้ อย่างน้อยๆก็เป็น demo platform ของงานวิจัย ที่พร้อมจะนำไปขาย(ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่)เอกชนอีกที. 
P
  • search แบบ AI มันเป็นอย่างไรหรือครับ? ต้องมีอะไรพิเศษ?
  • Nectec อาจจะทำ search แบบ AI หรืออะไรที่พิเศษหรือเจาะกลุ่มอาจจะมาเป็น sansarn รุ่นถัดไปอีกก็ได้นะครับ.
  • ถ้า google ซื้อ Sansarn ไปก็คงจะเอา technology ที่ได้ไป ไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเขา? อาจจะเอาเทคนิคอะไรที่ได้ไปใช้บางส่วน ก็อาจจะเป็นไปได้.
  • จริงๆก็ไม่ต้องเป็น Google ก็ได้นะครับ. อาจจะเป็น Yahoo หรือ DTAC หรือ Yellowpages ก็ได้. ประมาณว่าเป็นเอกชนสักราย. 
 

สรรสารยังมี brand ย่อยที่น่าสนใจคือ Sansarn look. มีความสามารถที่น่าสนใจ พัฒนาต่อมาจาก Lucene อีกที (เป็นเรื่องที่ดีนะผมว่า). แต่ว่าไม่ได้ใช้ JRE ตัดคำเอง เพราะว่ามี Lexto มาตัดคำให้แทน เพื่อปรับปรุงอะไร (คงต้องตามอ่านใน paper ดู). เปลี่ยน configuration ผ่านเว็บได้เลย. ไม่ต้องมานั่งพิมพ์เองแบบ Nutch. มี query suggestion. ฯลฯ

ข้อได้เปรียบเหนือ google อีกอย่างคือ สามารถนำมาใช้ในองค์กร โดยมั่นใจได้ว่าข้อมูลจะไม่รั่วไหลออกไป.

ผมเคย download มาลองติดตั้งทีนึง แต่ว่าไม่สำเร็จ :-P โปรแกรมเขาคงไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ว่าทักษะการติดตั้งซอฟต์แวร์ของผมมันจำกัดอะนะครับ -_-!. ก็เลยต้องพึ่ง Nutch ไปก่อน. Nutch ได้เปรียบนึดนึงที่ว่า download source code มาได้เลย ปรับเปลี่ยนอะไรก็ง่ายหน่อย ถึงจะมี feature ด้อยกว่าบ้าง.  sansarn look ก็มี source code ให้บางส่วนเหมือนกัน (ส่วนของ Lexto + glue กับ Lucene).

ส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Look นี่หละ ที่น่าจะทำตลาดได้. ถ้าตาม model ปกติ ก็น่าจะเป็นเอกชน ทำตลาดอีกที. แล้ว nectec ก็ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ (แลกกับอะไรก็ว่ากันไป).

Look อาจจะมีคำตอบในตัวเองระดับหนึ่งว่าทำไม ไม่ใช้ Lucene.  Feature ที่เหนือกว่าก็น่าจะเป็นคำตอบได้เหมือนกัน. ยิ่งถ้าผนวกกับเอกชนที่อาจจะขายเป็น solution แล้วติดตั้งโปรแกรมให้ด้วย ก็น่าจะน่าใช้ขึ้น?

สรุปว่า sansarn.com มีไว้ demo ก็มีประโยชน์มากแล้ว. และเน้นหาตลาด/ช่องทางทำกำไรที่ไม่ต้องไป search Internet ตรงๆ ก็น่าจะเป็นทางออกนึง ที่ดูเหมือน Nectec ก็พยายามทำอยู่แล้ว.  ส่วนที่ยังขาดหายไปอาจจะเป็นเอกชนที่จะเอา sansarn ไปหากำไร แล้วก็ feed กลับเข้าไปในระบบวิจัยอีกที. (มั้ง)

สวทช.มีงานดีๆ เป็นจำนวนมากครับ แต่การวัดสัมฤทธิผลไม่ควรวัดความสำเร็จทางการค้าโดยตัว สวทช.เอง ผมเห็นว่าควรเป็นความร่วมมือกับเอกชนไทยครับ เวลาหน่วยงานของ สวทช.ไปทำการค้าเอง ก็จะถูกกล่าวหาว่าไปแข่งกับเอกชน แต่เอกชนเองนั่นแหละที่บ้องตื้น ไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากการวิจัย เอาแต่ซื้อของมาจากต่างประเทศซึ่งมีเยอะมากเลยที่ไม่เหมาะกับเมืองไทย

ทำแล้วแจกอย่าง Sansarn Look! ก็ดีครับ เข้าใจก็เอาไปใช้ ถ้าไม่เข้าใจแล้วไม่พยายามเรียนรู้ก็ไม่ต้องบ่น

แต่ถ้าคนเก่งๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ เมืองไทยน่าจะดีกว่านี้ครับ เวลาร่วมกันทำไม่ได้ ก็จะไม่มีใครสามารถพัฒนาผลิตพันธ์ที่มีความซับซ้อนออกมาได้ แล้วในที่สุดก็จะถูกบริษัทต่างชาติซื้อหัวกะทิไปเป็นแรงงานราคาถูก (เหมือนเดิม) แล้วเราก็มานั่งบ่นว่าประเทศเพื่อนบ้านแซงไป สิงคโปร์ มาเลเซีย คราวนี้เวียดนาม ต่อไปจะเป็นประเทศไหนครับ

P  สวทช.หรือหน่วยวิจัยอื่นๆที่ใช้ภาษีของประชาชน ก็คงอยากจะร่วมมือกับเอกชนไทยก่อนเอกชนเทศอยู่แล้ว  หลายครั้งผมก็เห็นว่าเอกชนไทยก็ให้ความสนใจงานวิจัยเหมือนกัน. (แต่ก็คงจะไม่มาก)
 
อย่างไรก็ตามงานก็มีแต่เอกชนข้ามชาติที่สนใจ  (เอกชนไทยไม่สน). ในกรณีนี้ ถ้า Nectec จะขายเทคโนโลยีให้บริษัทข้ามชาติ จะผิดหรือตรงตาม model ของสวทช.เองหรือเปล่า? ตาม model ของคุณ conductor มองว่าอย่างไร?
 
"การวัดสัมฤทธิผลไม่ควรวัดความสำเร็จทางการค้าโดยตัว สวทช." ควรใช้อะไรวัดดีครับ? จำนวนสิทธิบัตรใช้ได้หรือเปล่า? จำนวนหน่วยงานที่นำผลงานต้นแบบไปใช้? หรืออะไรดีครับ?
 
ผมเห็นด้วยนะครับที่คนเก่งๆจะร่วมมือกันทำงาน.ผมไม่เก่งก็อยากร่วมมือด้วยเหมือนกันทั้งคนเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม. ในวงการวิจัยเท่าที่ผมเห็นก็พยายามจะรวมกลุ่มกันขึ้นมา อย่างกลุ่ม THLTA ที่จัดตั้งขึ้นมาเมื่อต้นปีนี้. มีหน้าเว็บที่มาประกาศว่าใครทำอะไร share กันได้ขนาดไหน. ตามกรอบนโยบายของแต่ละองค์กร.

อ่านเองแล้วงงๆ

"อย่างไรก็ตามงานก็มีแต่เอกชนข้ามชาติที่สนใจ  (เอกชนไทยไม่สน). ในกรณีนี้ ถ้า Nectec จะขายเทคโนโลยีให้บริษัทข้ามชาติ จะผิดหรือตรงตาม model ของสวทช.เองหรือเปล่า? ตาม model ของคุณ conductor มองว่าอย่างไร?"

เปลี่ยนเป็นแบบนี้นะครับ

บางงานเอกชนไทยก็ไม่สนใจ แต่มีเอกชนข้ามชาติสนใจ. ในกรณีแบบนี้หน่วยงานวิจัยที่ใช้ภาษีควรจะมีนโยบายอย่างไรดี? 

คำตอบอันจริง ต้องไปถาม สวทช.ครับ

ในฐานะผู้เสียภาษี(ที่เสียเยอะมากด้วย) 

  • ผมไม่อยากให้เอาเงินภาษีของผมไปวิจัยเพื่อไปต่อยอดให้กับบริษัทข้ามชาติ เรื่องนี้เป็นความรู้สึกแบบเดียวกับความพยายามขายแรงงานราคาถูกครับ เพียงแต่เปลี่ยนคำว่า "แรงงาน" เป็น "งานวิจัย" เท่านั้น
  • ต่อให้ขายได้ราคาดี มีเหตุผลอะไรที่เราจะเอาทรัพยากร (เงิน คน เวลา โอกาส) ของเมืองไทยไปให้คนอื่นก่อนคนไทย เราไม่ได้มีทรัพยากรเหล่านี้มากนักนะครับ ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยก่อนดีกว่า
  • ถ้าเอกชนไทยไม่สนใจ แต่บริษัทข้ามชาติสนใจ ควรมีคำถามเยอะเลยว่าแล้วทำวิจัยอะไรกันมา ตอบคำถามอะไร ตั้งโจทย์วิจัยอะไรมา ทำแล้วได้อะไร -- แต่ถ้าไม่ได้ใช้งบประมาณ ผมก็ไม่มีคำถามแบบนี้ครับ แต่ยังถามเรื่องทรัพยากรอื่น
  • ควรลดความสำคัญของ KPI เรื่องเงิน และ published papers ลงไปเยอะๆ นะครับ; returns วัดแบบ indirect คือประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าการขายสิทธิบัตร ส่วน published papers แม้ว่าทั่วโลกจะวัดกันอย่างนี้ แต่งานวิจัยที่ลง international journals มักไม่ให้ประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยตรง สร้างตัวเลขที่ดีมาเพื่ออะไรครับ
  • พูดก็พูดเถอะ งบวิจัยของไทยมีน้อยกว่า 0.3% ของรายได้ประชาชาติ ในขณะที่ประเทศที่กำลังก้าวขึ้นมาใช้งบวิจัยมากกว่าเราสิบเท่าตัว งบวิจัยภาครัฐก็ทำแบบปากว่าตาขยิบ ส่วนภาคเอกชนนั้นผมใช้คำว่าบ้องตื้นใน 29 และยังไม่อยากเปลี่ยนคำครับ
  • THLTA ทำดีนะครับ น่าจะช่วยกันอย่างนี้เยอะๆ มีเรื่องต้องระวังเหมือนกัน ภาษาไทยเป็น non-tariff barrier อันสำคัญครับ บางทีเปิดหมดก็หลุดหมดเหมือนกัน
  • ทางภาครัฐควรเร่งประชาสัมพันธ์ success stories ของงานวิจัยด้วยครับ
  • ไม่สมควรจะมีหน่วยงานรัฐที่รับงบประมาณแผ่นดินมาแล้ว outsource ให้เอกชนอย่างเดียวครับ ถ้าไม่สามารถเพิ่มคุณค่าอะไรได้ ก็ไม่ควรจะต้องจ่ายสำหรับ overhead ในการจัดการหน่วยงาน
P  วัดทางอ้อมได้ก็ดีครับ น่าจะเป็นการวัดที่ตรงจุดทีเดียว แต่ว่ายังนึกไม่ค่อยออกว่าจะวัดอย่างไร.
งานวิจัยที่เอกชนไทยไม่สนใจ ... ก็น่าคิดอยู่ว่าอาจจะทำมาไม่ตรงจุด หรือบริษัทของคนไทยอาจจะเล็กไป  หรือบริษัทอาจจะไม่ค่อยเชื่อถือหน่วยงานที่ทำวิจัยเท่าไหร่  ฯลฯ.  ทางเลือกหนึ่งอาจจะเป็นเก็บไว้เฉยๆก่อน ไม่ต้องขาย รอจนกว่าจะมีเอกชนไทยสนใจ. พอเริ่ม project ใหม่ก็ถามเอกชนก่อนว่าอยากได้อะไร (ที่พอจะทำให้ได้).
สวทช.หรือหลายท่านใน Nectec ก็มีคำตอบของเขาอยู่พอสมควร. ผมก็ฟังมาบ้างแล้ว. หลายคำตอบฟังแล้วก็ยิ่งมีคำถามมากขึ้น. อย่างไรก็ตามอยากรู้ความคิดเห็นของท่านอื่นๆบ้าง. ขอบคุณคุณ conductor สำหรับทัศนะที่ได้แสดงไว้แล้ว.

สวัสดีคุณ P Conductor และ คุณ P वीर ครับ
ผมหายไปสองวันหัวข้อนี้กลายเป็นลาน ลปรร ของทั้งสองท่านไปเลย

คุณ P वीर 
สำหรับ search engine แบบ AI ผมได้ไอเดียครั้งแรกจากการ์ตูนชื่อ Akihabara@deep
ถ้าเอาขำๆ ลองดู Mr. PeeTai ขี้โม้ รุ่น 0.5.0.0 นะครับ ใกล้เคียงๆ

ส่วน model การทำ demo เพื่อขายให้องค์กรเอกชน ผมไม่เห็นด้วยครับ หน่วยงานภาครัฐเอาเงินภาษีประชาชนมาใช้ เพื่อทำสินค้าขายให้คนมีเงินแค่นั้นเองหรือ? อะไรคือ Open ICT Ecosystems ที่พวกผู้ใหญ่ชอบพูดถึงกันหละครับ? อันนี้เกินความรู้ของผมจริงๆ

ส่วนเรื่องงานวิจัยที่เอกชนจะสนใจไหม ปัญหาวนกลับมาที่เดิมคือ เอกชน ยังไม่รับรู้ ว่ามันมีงานวิจัยอย่างนี้อยู่ในเมืองไทยด้วยหรือ คงต้องประชาสัมพันธ์กันดีๆ ครับ แต่ก็อีกที่ผมไม่ชอบคือ approach ที่บอกว่า ถ้าสนใจให้เข้าไปคุย ถ้าสิ่งที่เรากำลังจะทำเป็นสิ่งที่ดีหน่วยงานภาครัฐสามารถให้งานวิจัยนั้นฟรีเลย ไม่รู้นะครับ แต่ผมว่าไม่มีใครอยากจะเข้าไปคุยด้วยหรอก เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่ามั้ง

ก็โดยส่วนตัวเรื่องการเจรจาซื้อขาย IP (intellecture property) ผมมองว่ามันเป็นเกมของคนมีเงินอีกนั้นเแหละ แย่จังเมื่อไรจะมีเงินไปคุยบ้างนะ ^_^

ดังนั้นขอเสริมความคิดของคุณ P Conductor อีกนิดนะครับ
ภาพงานวิจัยที่เป็นไปได้สำหรับซอฟต์แวร์น่าจะมี 2 อย่างคือ
1. พัฒนาโมดูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ เช่น โมดูล soundex (คำเหมือน คำพ้อง), โมดูล การตัดคำ, โมดูล ต่างๆ ที่นักพัฒนาไทยสามารถเอาไปใช้งานต่อได้ เอามาแจกเป็น Open source เถอะครับ ถ้าจะเก็บไว้รอขายคนรวยคงไม่ได้ช่วยชาติสักเท่าไร อย่างที่ว่าถ้าใครมีปัญญาจะเอาไปใช้น่าจะให้เค้านะ ส่วนถ้าหน่วยงานจะขาย service ในการนำโมดูลเหล่านั้นไปใช้ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ไม่ว่ากันครับ
2. พัฒนาต่อยอดงานต่างชาติ
ส่วนนี้น่าจะรู้โจทย์ก่อนว่าจะพัฒนาเพื่ออะไร แล้วนำสิ่งที่มีอยู่ในโลกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าจะทำแข่งกับชาวโลกเช่นทำ social networking website เพื่อแข่งกับ Myspace หรือ Hi5 ผมว่าคงไม่ไหว แต่ถ้าลองมองหา blueocen ที่เราจะนำงานนั้นๆ มารองรับ niche market ได้ ยกตัวอย่าง classic ที่กล่าวว่า สายการบิน low cost ไม่ได้แข่งกับ สายการบินปกติ แต่แข่งกับ การเดินทางทางบกไม่ว่าจะ รถโดยสาร หรือ รถไฟ อันนี้งานวิจัยที่ทำออกมาจะเป็นประโยชน์และใช้งานได้จริงโดยทันทีครับ


อ้อ เกือบลืม ขอบคุณนักพัฒนา 2 ท่าน คุณ

P ต้นกล้า และ คุณ P กวงหมิง ครับ
ถ้ามดงานทำงานดีแล้ว ผมแนะนำให้อ่าน เปลี่ยนวิธีคิด…ชีวิตก็เปลี่ยน ดู บางที มันก็เส้นผมบังภูเขานะครับ แต่อย่างไรเป็นกำลังใจให้ สู้ต่อไปครับ !!!
TheInk: ระบบที่ว่าน่าจะเรียกว่า <a href="http://en.wikipedia.org/wiki/Question_answering">Question Answering System</a>. ลองเข้าไปเล่น <a href="http://asked.jp/">asked.jp</a> มันตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง.

เปลี่ยนจากขายเป็นลงทุนร่วมกันได้หรือเปล่า? สมมุติว่าเอกชน A จะเอาผลิตภัณฑ์ B ของหน่วยวิจัย B ไปทำตลาด ก็มีปัญญากันว่าถ้ามีกำไรจะแบ่งกำไรให้หน่วยวิจัย B อย่างไร แต่ว่าไม่ต้องใช้เงินมาซื้อตั้งแต่ตอนแรก แบบนี้ ok หรือเปล่า? (ผมก็แค่เสนอวิธีไปตามที่ผมเคยเห็นมานะครับ จะดีไม่ดีผมก็ไม่แน่ใจหรอก).

Open ICT Ecosystems ผมก็เหมือนพึ่งเคยได้ยินเหมือนกัน. ที่ผ่านๆมาได้ยินเรื่อง KPI เรื่อง Patent อะไรแบบนี้บ่อยมากๆ.

การประชาสัมพันธ์ที่ดีผมก็เห็นด้วยครับ. เรื่องที่เอกชนจะเดินเข้าไปหา(หรือติดต่อทางเมล์ หรือโทรศัพท์) ก็คิดว่าน่าจะต้องทำเหมือนกัน. เท่าที่ฟังตำนานมา OS อย่าง Mac OS และ NeXTSTEP (Mac OS X) ก็เกิดจากการที่ Apple และ Next ไป shopping technology จากหน่วยงานวิจัยมาทั้งคู่. Mac OS อาจจะไม่ได้เป็น OS ที่คนใช้มากที่สุด แต่ก็คงปฎิเสธได้ยากว่ามันเป็นแรงบรรดาลใจส่วนหนึ่งให้ MS ทำ Windows. ผมคิดว่าหน่วยงานวิจัยเองก็อาจจะทำโฆษณาเป็น video clip ทำหน้าเว็บให้ค้นหาง่าย พร้อมที่จะนำเสนอผลงานตัวเอง. ถ้าเป็นด้าน IT ก็อาจจะร่วมกับ software park หรือ sipa หรือ nectec ช่วยกระจายข่าวสารออกไป. แต่ถ้าเอกชนปฎิเสธที่จะไปเข้าไปหา/ติดต่อหน่วยงานวิจัยแต่แรก ... ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะประชาสัมพันธ์ทำไม -_-'.

งานวิจัยอย่าง soundex นักพัฒนาไทยเอาไปพัฒนาต่อได้ บริษัทข้ามชาติก็เอาไปพัฒนาต่อได้เหมือนกัน และอาจจะพัฒนาได้เร็วกว่าบริษัทไทยด้วย? ทางพิเศษอย่าง motor way ก็มาจากภาษีของประชาชน แต่ก็ต้องเสียค่าใช้. รถไฟก็เอาภาษีของประชาชนมาใช้แต่คนขึ้นก็ต้องเสียเงินเหมือนกัน. แต่ว่าทางหลวงธรรมดาก็ใช้ฟรี. คงไม่ใช่ว่าอะไรที่มาจากภาษีประชาชนแล้วต้องเป็นสินค้าและบริการที่ฟรีหรือไม่ฟรีตลอด? น่ามีเกณฑ์เข้ามาช่วยคิดว่าผลงานแต่ละอย่างควรจะเอามาแจกจ่ายอย่างไร ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละงาน หรือเปล่า?
เรื่อง Search engine ภาษาไทย อีกตัวที่ลืมไม่ได้น่าจะเป็น Siamguru นะ. Siamguru ก็มี soundex ถ้าอยู่ดีๆ Nectec แจก soundex ฟรี แล้ว Siamguru จะไม่ต่อว่าหรือครับ? http://www.siamguru.com/gurudoc/index.php

วันนี้ไปฟังงานประชุมประจำปีสมาคมไทยเว็บมาสเตอร์มาครับ ผมว่าดีเลยอยากจะแชร์ให้อ่านกัน
อาจารย์ครรชิต และคุณปรเมศวร์ ให้ข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับการ ที่คนไทยควรจะทำและใช้ของไทย ผมจดมาคร่าวๆ ได้ความว่า
สังคมไทยนิยมซื้อมากกว่านิยมทำเอง มีอะไรเราก็ซื้อเค้ามาหมด เราต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างชาติ
ถ้าวันหนึ่งเขาไม่ให้ใช้ หรือเกิดการปิดกั้นบางอย่างขึ้นในประเทศ เราจะทำอย่างไร
ดังนั้นเรามีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนจากคนที่รับอย่างเดียว เป็นผู้ให้บ้าง เราควรจะมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง และควรจะทำอะไรให้เป็นเอง อย่างโปรเจค "คลังปัญญาไทย" ที่ถามว่าทำไมไม่ใช้ wikipedia คำตอบที่ได้คือ ถ้าเว็บนั้นเกิดปิดตัวไป ความรู้ที่เราคนไทยไปฝากไว้กับเว็บต่างชาติต้องหายไปด้วยหรือ? ผมว่าน่าคิดเหมือนกันครับ

 

TheInk: สำหรับ wikipedia นั้นถึงเว็บจะปิดไป ข้อมูลของเรา"ประชากรโลก" ก็จะไม่หายตามเว็บ เพราะเรา download ข้อมูลทั้งหมดของ wikipedia มาได้จาก http://download.wikimedia.org/thwiki/latest/.  

สำหรับ"คลังปัญญาไทย" ผมยังไม่เห็นหน้า download ที่ว่า. ยังไม่เห็นนโยบายในการเขียนที่ชัดเจน และที่สำคัญที่สุดคือไม่แน่ใจว่าจะมีการครอบงำจากรัฐมากแค่ไหน. ถ้า dump database มาไม่ได้. รัฐเข้ามาแทรกแซงมากๆ นโยบายไม่ชัดเจน. จะอยู่ในมือไทยมือเทศ ก็ไม่น่าใช้.

mediawiki มีนโยบายจะตั้ง server ในประเทศต่างๆอยู่แล้ว ถ้าจะมองเรื่องประหยัด bandwidth ก็อาจจะมีความร่วมมือนำ th.wikipedia.org มาตั้งในประเทศไทยก็ทำได้.

คลังปัญญาไทยอาจจะเหมาะที่จะเก็บเนื้อหาที่ไม่ใช่ "สารานุกรม" จึงนำไปใส่ใน wikipedia ไม่ได้ เช่น เนื้อหาปลุกระดมให้รักชาติหรือทำความดีเพื่อชาติอะไรทำนองนั้น. หรือเนื้อหาที่เป็นสารานุกรม แต่ว่าต้องการเขียนให้เข้าข้างคนไทยหรือรัฐเป็นพิเศษ โดยจำกัดมุมมองอื่นออก ก็อาจจะทำได้เช่นกัน.

สิ่งที่ผมกลัวมีอย่างเดียวคือ กลัว wikipedia จะโดนแกล้งโดยการจำกัด bandwidth หรือไม่ก็ block ไปเลย. แล้วพยายามบีบให้คนไปใช้คลังปัญญาไทยแทน เพื่อที่คนบางกลุ่มจะได้ควบคุมฐานความรู้ได้. ...​ ผมคงวิตกเกินไป เรื่องที่ว่าคงไม่เกิดขึ้นดอก จริงไหมครับ?

ขอบคุณ คุณ P वीर ครับ
ท่าทางจะเป็นผู้สันทัดกรณี ผมแค่เป็นผู้ใช้ wiki ที่ยังไม่รู้เลยครับว่ามีฟีเจอร์ดาว์นโหลดทั้งหมดด้วย
ดีครับ ถ้าคนทำ "คลังปัญญาไทย" จะเอาสิ่งที่เราคุยกันไปทำเพิ่มเติม จะได้มีประโยชน์กับผู้ใช้มากขึ้น

แต่มีสิ่งที่ผมอยากเห็นอีกอย่างก็คือ เรื่องการสร้างสมดุลย์ระหว่าง centralize concept กับ distribution concept
ทำไมเราต้องเอาความรู้ไปใส่ในเว็บที่เดียว ไม่ว่าจะ คลังปัญญาไทย, wikipedia, หรือแม้แต่ gotoknow
มันจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะได้มาซึ่งความรู้จากหลายๆ แหล่ง
Search engine หรือ social bookmark ใช่คำตอบไหม? หรือว่ามีเทคโนโลยีที่เหมาะสมกว่านั้น?

อีกเรื่องถ้าจะพูดถึง bandwidth เนี่ย ก็เสียดาย application ดีๆ หลายๆ ตัวที่ไม่ได้มี server อยู่ในประเทศครับ
เท่าที่ทราบก็อย่างผลิตภัณฑ์ Google ทั้งหลาย ที่เราต้องเสีย traffic วิ่งเข้าวิ่งออกประเทศทุกวัน ดีนะครับที่เรายังมีถนนกว้างพอให้ทุกคนวิ่งในวันนี้

 

TheInk: Social bookmark ก็ดีอะครับ เกิดการกระจายจริง แต่ว่าช่วยให้หาของเจอ แต่ไม่ได้เพิ่มเนื้อหา?

Blog เองผมก็คิดว่าเป็นการกระจายเนื้อหาระดับหนึ่งอยู่แล้ว? แต่ว่าประสานกันยากสักหน่อย? ผมคิดถึงว่าจะมี wiki ที่ต่างคนต่างมี branch ของตัวเอง แล้วก็ merge กับของคนอื่นๆได้ด้วย. แนวๆ distributed revision control.  แต่จะทำได้สัญญาอนุญาตคงต้องชัดเจนด้วย.

ของ Blognone ก็มีเปิด Blognone Library คล้าย wiki เหมือนกัน แต่ว่ามี target ชัดเจน. นโยบายแม้จะดูเป็นเผด็จการ เข้าใจว่าพยายามใช้ model คล้ายๆ linux (kernel) แต่ก็ชัดเจนดี. 

เพื่อนส่งมาให้อ่าน เห็นด้วยกับที่ว่าควรมีการสนับสนุนงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง 

 

ส่วนเรื่องที่ทำไมคนไทยไม่ใช้ของไทยในแง่่ตัวค้นหาออนไลน์ จากที่ทดลองใช้ของไทยให้ผลช้าและไม่ตรงกับที่ต้องการค้นหาแล้วใช้เวลานาน  ( หาเพลงค่ะ )

คงต้องหาวิธีที่ทำให้สิ่งที่ " เราไม่มี " ให้มีขึ้นมา เอาแบบหมาไฟ สู้ ไออี ซิค่ะ

ของไทยยังไงก็ใช้ค่ะ แต่ถ้าดียิ่งน่าใช้เข้าไปใหญ่

ผลักดันกันให้ได้นะคะ

 

http://maroommatum.exteen.com 

งั้นอยากให้คนไทยลองไปใช้เว็บคนไทยบ้างที่ไม่ใช่ hi5 น่ะ

http://www.myfri3nd.com

สวัสดีครับ

ไม่ได้เข้ามาบันทึกนี้ตั้งนาน

จริงๆ ตอนนี้อยากรณรงค์ "ให้คนไทยได้ใช้ของดี" ครับ เมื่อโลกมันถึงเวลา globalization ทำไมเราจะต้องยึดติดหรือรณรงค์ให้คนไทยใช้ของไทยหละครับ

ผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินครับ หากของไทยนั้นเป็นคนดี ก็ควรช่วยกันบอกต่อ ช่วยกันส่งเสริม ในทางตรงกันข้ามหากของไทยที่ทำขึ้นมานั้นไม่ก่อประโยชน์อะไรให้กับผู้บริโภค ไม่สร้างสรรค์ ไม่มีนวัตกรรม สินค้าหรือบริการนั้นมันจะหายไปเองครับ

ก็ฝากไว้เท่านี้แหละครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท