วิธีใช้ KM เป็นเครื่องมือวิจัย


         วันที่ 12 ต.ค.50  ผมเข้าไปฟังการเสนอผลงานวิจัยห้องสังคมศาสตร์ & มนุษยศาสตร์ ของการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 7"

         แล้วโดนเชิญให้ช่วย comment โปสเตอร์เรื่อง Concepts, Issues and the Effectiveness of Alternative Tourism Management in Thailand : A case Study of Plai Pong Pang Homestay, Samutsongkram โดย Hounnaklang, S. แห่ง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

         การประชุมนี้ใช้เอกสารภาษาอังกฤษทั้งหมด   เพราะมีฝรั่งมาร่วมประชุมด้วย  และทาง สกว. - สกอ. ต้องการให้นักวิจัยได้ฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ   แต่การนำเสนอและแลกเปลี่ยนใช้ภาษาไทย

         เป็นการวิจัยบริการท่องเที่ยวทางเลือก คือ โฮมสเตย์ ของหมู่บ้านปลายโพงพาง  ที่มีชาวบ้านให้บริการอยู่ 19 บ้าน ร่วมมือกันเป็นเครือข่าย   คำถามก็คือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจนี้ยั่งยืน   โดยที่ในปัจจุบันนี้เครือข่ายยังรวมตัวกันได้เพราะผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้มีความสามารถ เป็นที่เชื่อถือของชาวบ้าน   เป็นผู้รับจองนักท่องเที่ยวที่ติดต่อมา   แล้วกระจายนักท่องเที่ยวให้แก่สมาชิกอย่างยุติธรรม

         ผมให้ความเห็นว่า  ความไม่ยั่งยืนน่าจะเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก   คือ ปัจจัยภายในเครือข่าย กับ ปัจจัยภายนอกเครือข่าย

         ปัจจัยภายในเครือข่ายคือขาดผู้นำ  และสมาชิกไม่ปรองดองกัน   ปัจจัยภายนอกได้แก่ การแข่งขันจากหมู่บ้านอื่น  และการที่นักท่องเที่ยวลดความนิยมมาเที่ยวสมุทรสงคราม   อาจเพราะหิ่งห้อยลดน้อยลงหรือเหตุผลอื่น ๆ

         การวิจัยเพื่อสร้างความยั่งยืนของธุรกิจโฮมสเตย์ของหมู่บ้านปลายโพงพางต้องเป็น PAR - KM ในกลุ่มเจ้าของโฮมสเตย์ทั้ง 19 รายนั้นร่วมกับนักท่องเที่ยวที่มาพัก  โดยนักวิจัยช่วยให้เจ้าของโฮมสเตย์รู้จักวิธีขอความรู้จากนักท่องเที่ยว   ว่าบริการที่เป็นที่พึงพอใจเป็นอย่างไรบ้าง   แล้วเอามาตั้งวง ลปรร. กันทุก ๆ สัปดาห์   แต่ละบ้านเอาความรู้ที่ได้ไปลองปฏิบัติ   แล้วเอาผลที่ได้มา ลปรร. กันอีกเป็นวงจรเรื่อยไป

         เกิดกิจกรรม KM ระหว่างเจ้าของโฮมสเตย์กับแขกที่มาพัก   และ KM ในกลุ่มสมาชิกเครือข่าย 19 แห่ง ต่อเนื่องเรื่อยไป   โดยตอนแรกนักวิจัยช่วยทำหน้าที่ "คุณอำนวย" และ "คุณลิขิต"

         ต่อไปก็ฝึกให้คนในพื้นที่เองทำหน้าที่ "คุณอำนวย" และ "คุณลิขิต"    โดยที่กิจกรรมขอความรู้จากนักท่องเที่ยวและการตั้งวง ลปรร. ในกลุ่มเจ้าของโฮมสเตย์มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเรื่อยไป

         น่าจะเกิด PAR - KM เพื่อการปรับตัวของธุรกิจโฮมสเตย์ของหมู่บ้านปลายโพงพาง  ให้ธุรกิจอยู่รอดและยั่งยืนได้

         โดยกระบวนการนี้  นักวิจัยจะสังเคราะห์ Explicit Knowledge จาก Tacit Knowledge ของชาวบ้านเจ้าของโฮมสเตย์ได้อย่างลึกและเชื่อมโยง

วิจารณ์  พานิช
 12 ต.ค.50
พัทยา

หมายเลขบันทึก: 138658เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2007 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท