สถาบันการศึกษากับการพัฒนาท้องถิ่น


ช่วยกันเถอะครับ เพื่อถวายความดีแด่พ่อหลวงของพวกเรา

     เมื่อวานนี้ ( 14 ต.ค.  50 )  มีการจัดสัมนาวิชาการ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในหัวข้อ สถาบันการศึกษากับการพัฒนาท้องถิ่น ขึ้น ที่อ.ประทาย โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ทั้งผู้นำและสมาชิกสภาท้องถิ่น ประชาชนทั่วไป ครู องค์กรฯ ต่างๆ แขกผู้ใหญ่ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา นักการเมือง งานนี้น.ศ. ป.โท จาก ม.มหาสารคาม ศูนย์ฯ ประทาย ร่วมกันจัดขึ้น โดยเนื้อหาจะพูดถึงการถ่ายโอนการศึกษาเป็นหลัก   มีการแสดงทรรศนะมากมายจากผู้แทนองค์กรต่างๆ เช่น อบจ.นครราชสีมา  ตัวแทน สพฐ เขต 7 นครราชสีมา  คณาจารย์จาก ม.มหาสารคาม

    ความจริงเรื่องนี้ผมพอจะทราบมาตั้งแต่ปี 48 ตอนนั้นมีข่าวมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีแรกก็ไม่ทราบรายละเอียดนักหรอก แต่พอเข้ามาทำหน้าที่ใน อปท. จึงค่อยๆทราบว่าจริงๆแล้วเป็นอย่างไร โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตที่ผมอาศัยอยู่ ที่มีโรงเรียนของรัฐ อยู่ 3 โรง เป็นมัธยม 1 ประถมฯ 2  ทุกโรงต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากมาอยู่กับ อปท. ยิ่งเมื่อวานนี้  ปลัด อบจ. นครราชสีมา  มาพูดเรื่องนี้ โดยเฉพาะ และเมื่อไม่นานมานี้ ทางอบจ .ก็ได้รับการถ่ายโอนโรงเรียนจากสพฐ มา 2 โรง คือที่ อ. บัวใหญ่  และกลางดง ปลัดฯพูดชัดเจนว่า ตอนนี้โรงเรียนที่ถ่ายโอนมา เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่ยังไม่มา แตกต่างกันอย่างไร ผมคงจะไม่บอกรายละเอียด เพราะหลายท่านคงจะมองภาพออก ท่านที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา คงจะทราบดีว่าความคร่องตัวในการบริหาร พัฒนาการศึกษา ทั้งเรื่องสถานศึกษา หรือคุณภาพทางการศึกษาของเด็กๆ จะดีกว่าเก่าแค่ไหน และเร็วๆนี้ก็จะต้องตามมาอีก 53 โรง ( ในโคราช)  ตามกฏหมาย

     ในความรู้สึกส่วนตัวนั้นผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่ท้องถิ่นจะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ ในการจัดการศึกษา หรือส่วนร่วมในการศึกษาของชุมชน ท้องถิ่น เพราะเด็กๆที่เรียนก็เป็นลูกหลานของคนในชุมชนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นก็มาจากชุมชนท้องถิ่นที่พ่อแม่เด็กๆเหล่านี้เขาเลือกเข้ามานั่นแหละครับ  ผมไม่เชื่อว่าจะมีผู้บริหารท้องถิ่นท่านไหน จะปล่อยให้ลูกของตัวเองด้อยโอกาสในการพัฒนาทางการศึกษาหรอกครับ  แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมหลายโรงเรียนถึงไม่ยอมถ่ายโอนมากัน ทั้งๆที่เขาก็บอกชัดเจนว่า ศักดิ์ศรีของความเป็นครูก็เหมือนเดิม อะไรๆหลายๆอย่างก็เหมือนเดิม หรืออาจจะดีกว่าเดิมด้วยซำ นี่สำหรับครู  แต่สำหรับเด็กนั้นไม่ต้องห่วงเลย เพราะต้องดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน คงไม่ต้องอธิบายมาก ตัวอย่างมีให้เห็น ลองหารายละเอียดของโรงเรียนบัวใหญ่ ที่โคราชดูก็ได้ อย่างหลักสูตร ภาษาจีนซึ่งเมื่อก่อนในโรงเรียนของรัฐในระดับอำเภอ ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะเปิดได้ แต่พอมาอยู่กับ อปท . ก็สามารถทำได้ คงไม่ต้องบอกนะครับว่าใครจะได้อะไรเห็นกันชัดๆว่าเด็กๆมีโอกาสที่จะพัฒนา สถาบันการศึกษาก็มีศักยภาพในการสร้างบุคลากรของชาติมากขึ้นมีคุณภาพขึ้น

    สังคมไทยยังต้องอาศัย บวร คือ บ้าน โรงเรียน วัด เป็นสถาบันหลักในการสร้างคน ให้มีคุณภาพให้กับสังคมชุมชน และประเทศชาติ ผมว่านอกจากกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกคิแล้ว กิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น การศึกษาตามอัธยาศัย หรือ อะไรก็ตามที่จะเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชน จะเป็นไปได้มากขึ้น ถ้าโรงเรียนมีความพร้อม ผมเชื่อในจิตวิญญาณของความเป็นครูที่ตั้งใจจะสร้างเด็กๆเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งนั่นจะเป็นความภาคภูมิใจของคนที่มีอาชีพครู ที่จะเห็นลูกศิษย์ของท่านประสบความสำเร็จ เป็นคนดีของสังคม ถ้าสถานศึกษามีความพร้อมพอ 

     การถ่ายโอนโรงเรียนที่มาอยู่กับ อปท . สำเร็จนั้น  ไม่ใช่ชัยชนะของ อปท. ที่มีต่อกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นการทำหน้าที่ของท้องถิ่นที่มีจิตสำนึกในการที่จะสร้างชุมชนท้องถิ่นของตัวเองให้มีคุณภาพ มีศักยภาพพอที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่มีขึ้นอยู่ตลอดเวลา  คนที่ได้ก็คือ เด็กๆ หรือลูกหลานของคนในท้องถิ่นนั่นแหละครับ เพราะคนเหล่านี้จะต้องมาเป็นตัวแทนในการดูแลพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองในอนาคต

     ความจริงยังมีรายละเอียดอีกมากครับที่อยากจะบอก แต่พอแค่นี้ก่อนดีกว่า  ถ้าจะคุยกันจริงๆในเรื่องนี้แล้วหาข้อยุติ ยังมีหลายวิธีครับที่จะทำ สำคัญว่า จริงใจต่อกันหรือเปล่า ( ถามใจดูก่อน แฮ่ๆๆๆ  )  ผมว่าความจริงใจ และตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ  มันบังคับกันไม่ได้ ได้แต่หวัง ( ลมๆ แร้งๆ หรือเปล่าก็ไม่รู้ )  

  ช่วยกันเถอะครับ เพื่อถวายความดีแด่พ่อหลวงของพวกเรา     

 อัครชัย ฯ

กลุ่มที่ 1  ศูนย์ฯ ประทาย  โคราช



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท