ปิด ป้าย โฆษณา


ผลัดกันปิด...หนึ่งปิดเพื่อเผยแพร่ อีกหนึ่งปิดเพื่อหยุดมัน

รถเมล์เป็นพาหนะหลักของการเดินทางของคนกรุงเทพ  ฉันเป็นคนหนึ่งที่อาศัยในเมืองกรุงนี้และใช้บริการรถสาธารณะ

ฉันมักนั่งมองสองข้างทางและฟังเสียงความเป็นไปของการเดินทางเสมอ  ต่างกับคนกว่าครึ่งหนึ่งบนรถโดยสารประจำทางที่มีกิจกรรมที่ไม่ต่างกันคือ มีสายเล็กๆ เชื่อมต่อกับอะไรสักอย่างไปสู่หูทั้งสองข้าง  ฉันไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเค้าเลือกฟังคืออะไร  แต่ฉันกลายเป็นคนส่วนน้อยที่เลือกฟังเสียงอากาศ เครื่องยนต์ และคนรอบตัวมากกว่า 

ระหว่างนั่งชื่นชมสองข้างทางในเมืองหลวงฉันพบสิ่งหนึ่งจนเจนตา คือ เสาต้นใหญ่ ที่รองรับทางต่างระดับ ซึ่งมีมากมายในเขตเมืองเพื่อลดการจราจรที่ติดขัด  พื้นที่ใต้ทางต่างระดับมีความพยายามในการจัดการการใช้ประโยชน์โดยการปลูกต้นไม้  รวมไปถึงการจัดทำป้ายโฆษณาที่สวยงามและสะดุดตาของผู้คน  พื้นที่ที่จัดการได้อย่างสวยงามก็เป็นโชคดีของผู้สัญจรไปมาที่ได้รับทัศนียภาพที่ดี  แต่ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่ฉันได้เห็นในบางพื้นที่กลับแตกต่าง... 

ป้ายโฆษณาขนาด A3  ที่มีข้อความสั้นๆ  อาทิ  เงินด่วน 10 นาที  กู้ได้แม้วงเงินเต็ม  ดอกถูก  พร้อมกับโลโก้บัตรเครดิต  และปิดท้ายด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ 10 หลักตัวใหญ่ขนาด 1 ใน 3 ของกระดาษ  ฉันเห็นป้ายทำนองนี้จำนวนมาก และถูกปิดไว้ในระยะติดกัน  ทั้งที่เป็นเบอร์โทรศัพท์เบอร์เดียวกันและต่างเบอร์ 

หรือนี่เป็นการสะท้อนถึงภาวะความต้องการเงินกู้นอกระบบที่มากขึ้นและสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวของคนได้แม้ตามข้างทาง 

ประเด็นที่นำมาพูดคุยกันในวันนี้ คือ การจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

มีการพยายามดึงออกแต่ยิ่งทำให้พื้นที่สีปูนรกตาด้วยรอยด่างสีขาวของกระดาษที่แกะออกได้ไม่หมด  บางร่องรอยมีการนำปูนหรือสีอะไรสักอย่างที่ฉันไม่แน่ใจไปปิดทับ  แต่ก็ยังเห็นร่องรอยของกระดาษสีขาว  บางอันยังเห็นร่องรอยจางๆ ของข้อความที่พยายามทาปิดทับ  ยิ่งจัดการเหมือนยิ่งทำให้รกกว่าเดิม  มีรอยสีปูนเข้มๆ ขนาดเท่ากับป้ายโฆษณาดังกล่าวเต็มไปหมด  ด้วยความพยายามในการปิดทับข้อความ  ซึ่งเพียงไม่นานป้ายโฆษณาที่ถูกปิดไป กลับถูกปิดซ้ำด้วยป้ายโฆษณาใหม่ข้อความเดิมอีกครั้ง 

ผลัดกันปิด...หนึ่งปิดเพื่อเผยแพร่  อีกหนึ่งปิดเพื่อหยุดมัน

ทั้งสองปิด..ไม่ได้ทำให้อะไรสวยงามขึ้นมาเลย... 

เรื่องดังกล่าวทำให้ฉันนึกถึงบทความสั้นๆ ในหนังสือ  an idea a day to change the world  ที่ได้รับกำนัลจากอ้ายเอก พี่ชายใจดี 

ตอนหนึ่งที่มีการกล่าวถึงวิธีการจัดการป้ายโปสเตอร์คอนเสิร์ตของประเทศอังกฤษที่มีเกลื่อนเมือง  ด้วยหลักการ เอาชนะไม่ได้ก็จงเป็นพวกเดียวกับมัน  โดยการพิมพ์สติกเกอร์แถบสีส้ม และตรงกลางพิมพ์ตัวหนังสือ CANCELLED  ขนาดใหญ่ไปปิดทับลงโปสเตอร์ต่างๆ  ผลปรากฏว่าโปสเตอร์เหล่านั้นได้หายไปอย่างรวดเร็ว 

ฉันไม่รู้ว่าวิธีนี้จะเอามาใช้กับป้ายโฆษณาเงินด่วน เงินถูกของบ้านเราได้บ้างหรือไม่... 

น่าเสียดายเงินงบประมาณที่ต้องนำมาจัดการกับฝีมือ ปิด ป้าย ของคนมักง่ายทั้งหลาย... 

อยากเห็นความสวยงามระหว่างรถติดแทนสัญลักษณ์ของภาวะเศรษฐกิจที่ . . .

 
หมายเลขบันทึก: 138263เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2007 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยค่ะ ที่การโฆษณาในประเด็นนี้มีกันอย่างแพร่หลาย แต่ทว่าก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเรา ที่ยังต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบอย่างมาก ในเมื่อมีความต้องการมาก ก็มีอุปทานมาสนองตอบมากด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ต่างจากสินค้าและบริการทั่วๆ ไป จะไปมองว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบก็ไม่ได้ เพราะผู้ซื้อและผู้ขายต่างยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย ปัญหานี้เป็นผลกระทบมาจากหลายๆสิ่งในระบบเศรษฐกิจ......

  • ปรากฎว่ามาช้ากว่า V9
  • อิอิอิๆๆ
  • ที่ผมเศร้าใจไม่ใช้ป้าย
  • แต่มันคือต้นเสาทางด่วน โฮปเวย์เดิม
  • แถวๆๆหมอชิตเหมือนประติมากรรมที่แข็งที่
  • เป็นผลของการคอร์รัปชั่นที่แย่จัง
  • ขอบคุณที่ไปทักทาย
  • สบายดีไหม
  • หายไปนานมากๆๆๆ

เพื่อนเออ...P

เศรษฐกิจไทยกับการเมืองไทยชักอาการหนักพอกันแล้ว...น่าเศร้าใจ

อ.ขจิตP

ประติมากรรมชิ้นเอกเลยคะอาจารย์...สุดยอด อลังการงานสร้าง สร้างได้ ทำลายไม่ได้ ใช้ต่อก็ไม่ได้

หายไปนานเล็กน้อยคะ...สมองไม่ค่อยแล่น

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจคะ

---^.^---

 

อ่านแล้วมันโดนดีครับ

สำนวนโวหารได้ล้ำลึก ขอบคุณที่เข้ามาเมนท์ให้นะครับ

สวัสดีคะ คุณมรกตสินธุ์

ขอบคุณที่แวะมาทักทายเช่นกันคะ

ดีใจที่เขียนแล้ว...โดน...นะคะ

สวัสดีสำหรับวันอากาศร้อนๆ คะ

---^.^---

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท