เงินเดือนนักศึกษา เท่าไหร่จึงจะพอ?


กลุ่มจามจุรี

เงินเดือนนักศึกษา เท่าไหร่จึงจะพอ?


เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องที่กระผมไปอ่านมาแล้วคิดว่า มีประโยชน์กับนักศึกษาโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตด้วยกัน โดยเป็นผลการสำรวจการใช้จ่ายของนักศึกษาใน กทม  ในระหว่างที่พวกเรากำลังปวดหัวกับเรื่องทุนการศึกษาอยู่ลองไปดูว่านักศึกษาใน กทม.เค้าอยู่กันอย่างไร และใช้จ่ายอย่างไร ผมเชื่อว่าทุกคนอ่านแล้วต้องจะเข้าใจคำว่า “วัตถุนิยม” แน่นอน ติดตามอ่านให้ได้นะครับ


ปัจจุบันนี้นักศึกษายุคใหม่มักจะมีค่านิยมผิดๆ คือ ต้องมีของแบรนด์เนมหรูๆ โทรศัพท์มือถือก็ต้องถ่ายรูปได้ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นักศึกษาสมัยนี้อยากที่จะมีอยากที่จะได้ แต่ในเมื่อยังหาเงินด้วยตนเองไม่ได้ ภาระก็ต้องตกเป็นของผู้ปกครองที่ต้องทนเหนื่อยทำงานเพื่อนำเงินมาให้
       
       เนื่องจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตอยู่นักศึกษาในยุคปัจจุบันไปซะแล้ว เพราะพวกเขากลัวที่จะเป็นแกะดำในหมู่ของเพื่อนฝูง ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองบางครอบครัวอาจจะมีฐานะดี สามารถซื้อของแพงๆให้กับบุตรหลานของตนเองได้ แต่นักศึกษาที่พ่อแม่ไม่ได้มีฐานะดีล่ะ เขาจะทำอย่างไรในยุค “วัตถุนิยม”

ประเด็นแรกที่ต้องกล่าวถึงก็คือ การโกงใบเสร็จค่าเทอมเพื่อนำเงินมาจับจ่ายใช้สอยของบรรดานิสิตนักศึกษา ซึ่งเพิ่งปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ อันเป็นผลมาจากใช้เงินเกินตัว
       
       “ปลา-วิไลลักษณ์” นักศึกษาสาวของมหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ปกติค่าเทอมประมาณ 7,500 แต่เมื่อเงินไม่พอใจก็จำเป็นต้องโกหกพ่อว่า ค่าเทอม 9,000 บาท ซึ่งพ่อก็เชื่อและไม่เคยขอดูว่าค่าเทอมจริงๆ แล้วอยู่ที่เท่าไหร่
       โดยเงินที่ได้จากตรงนี้ ปลาบอกว่านำไปจ่ายค่าโทรศัพท์มือ ซื้อเสื้อผ้า ซื้อเครื่องสำอาง
       
       “จริงๆได้เงินจากพ่อใช้อาทิตย์ละ 1,500 ตกเดือนหนึ่งก็ ประมาณ 6,000 บาทคือถ้ามีเยอะก็ใช้เยอะ ไปเดินตามห้างเห็นเสื้อผ้าสวยๆ แล้วก็อยากได้ บ้างทีตัวละเป็นพันก็ซื้อ ใช้เงินหมดแล้วก็ขอใหม่ซึ่งพ่อเขาก็ให้เพิ่มอีกนิดหน่อย ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็เตือนว่าให้ใช้เงินน้อยๆลงบ้าง”
       
       “จะมีเงินเก็บส่วนหนึ่ง เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่ากิน ค่าเที่ยว ค่าเสื้อผ้าเวลาไปเดินตามสยามวันเสาร์-อาทิตย์ รู้ตัวว่าเป็นคนใช้เงินเก่งมาก ซื้อของก็ต้องของดีมียี่ห้อ ต้องของมือหนึ่ง เป็นคนที่ไม่ชอบซื้อของมือสอง ซึ่งของพวกนี้ราคามันค่อนข้างสูง”
       
       ปลาบอกว่า หลังจากจบการศึกษาแล้วเธอต้องการเงินเดือนมากถึง 25,000 บาทต่อเดือน อาจจะดูมากเกินไปสำหรับบัณฑิตที่เพิ่งจบมา
       “คิดว่าประมาณนี้น่าจะพอ เพราะจบไปแล้วจะขอรถคุณพ่อ 1 คัน คือถ้าไม่ขอเงินคุณพ่อเลยคิดว่าประมาณนี้ถึงจะพอจริงๆ ค่ากิน ค่าเสื้อผ้า ค่าเที่ยว แล้วไหนจะค่าน้ำมันอีก”
       
       ขณะที่ “จอย-นันทิชา” นักศึกษาสาวย่านรามคำแหง ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้แม่ให้เงินเดือนประมาณ 6,000 บาท แบ่งเป็นค่าเช่าห้อง 3,000 บาท ที่เหลือเป็นเงินใช้ส่วนตัว ซึ่งต้องบอกว่า ค่าใช้จ่าย 3,000 บาทต่อเดือนนั้นไม่เพียงพอ เพราะแค่ค่ากินวันหนึ่งก็ตก 100-200บาทแล้ว เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนกินจุกจิก
       สำหรับเงินที่เหลือก็จะเป็นค่าเสื้อผ้า เครื่องประดับต่างๆ ซึ่งก็ยอมรับว่า หมดไปกับตรงนี้คงหลายพันแล้วเหมือนกัน
       
       จอย เล่าว่า บางทีเงินไม่พอก็ต้องขอยืมจากแฟนมาใช้ก่อน พอเธอได้เงินเดือนจากแม่ก็ค่อยใช้คืน เพราะเป็นคนเก็บเงินไม่ค่อยเก่ง มีเท่าไหร่ก็ใช้เกือบหมด ใช้จนบางวันไม่มีเงินไปเรียนก็มี แม้พยายามจะเก็บอยู่บ้าง แต่พอเห็นอะไรที่อยากได้ก็อดใจไม่ไหวต้องซื้อทุกที
       
       “สำหรับเงินเดือนที่คิดว่าจบแล้วน่าจะอยู่ได้อย่างไม่ลำบากก็น่าจะประมาณสัก 10,000-15,000 บาท เพราะจบแล้วก็คงกลับไปอยู่บ้าน ไม่ต้องเสียค่าหอ ก็น่าจะประหยัดไปได้อีกเยอะ แล้วหลังจากนั้นอยากมีรถ หรืออะไรก็ประหยัดเอา พยายามเก็บเงิน เที่ยวให้น้อยลง คิดว่าเงินเดือนประมาณนี้คงน่าจะพอใจ”

จากสาวๆ ก็ไปดูกิจวัตรของหนุ่มๆ นักศึกษากันบ้างว่า แต่ละคนมีตารางการใช้เงินกันอย่างไรบ้าง
    

   “โอ๊ค-ปรเมศว์” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ม.ราชภัฎสวนดุสิต กล่าวว่า ปัจจุบันได้เงินเดือนประมาณ 3,500 บาทต่อเดือน ซึ่งนอกจากซื้อข้าวกินแล้ว ก็จะซื้อนิตยสารหรือกินเหล้า กินเบียร์กับเพื่อนฝูงบ้าง แต่ไม่ได้กินทุกวัน ตกประมาณอาทิตย์ละครั้ง
       “วัยรุ่นทั้งชายและหญิงเดี๋ยวนี้มักจะติดเหล้า - บุหรี่ โดยเฉพาะผู้ชายติดการพนันกันเยอะ เพื่อนผมมีเยอะมากโดยเฉพาะพนันบอล เล่นกันทั้งผู้ชาย ผู้หญิง สิ่งเหล่านี้มันทำให้เปลืองเงินมาก หรือถ้าบางคนมีแฟนก็ต้องใช้เงินบางส่วนไปเที่ยวหรือเลี้ยงแฟนอีก ซึ่งส่วนใหญ่วัยรุ่นยุคนี้ ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ส่วนตัวผมเองถ้าวันไหนเงินเหลือก็จะไม่พยามยามซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น เช่น เกม ซีดีเพลง-หนัง แต่ยอมรับว่าซื้อบ่อยแล้วเยอะด้วย แต่ช่วงหลังๆนี่จะลดลงบ้าง”
       
       นอกเหนือจากค่ากิน โอ๊ค ยังมีค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า แต่เสื้อผ้าไม่ได้ซื้อบ่อยนัก นานๆจะซื้อซักที ส่วนปิดเทอมก็จะทำงานพิเศษเพราะไม่อยากทำตอนเปิดเทอม กลัวจะเรียนได้ไม่เต็มที่
       
       “พอจบไปก็คงหาทำงานเลยไม่เรียนต่อแล้ว ขอเงินเดือนเริ่มต้นซักประมาณ 8,000-10,000 ก็น่าจะพอใจแล้ว เพราะสมัยนี้งานหายาก ได้เงินเดือนประมาณนี้ก็พอแล้ว ถ้าเรารู้จักประหยัด คิดว่าไม่น่าจะลำบาก คงอยู่ได้ ”
       
       ส่วน “โจ้-เอกนรินทร์” นักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยแถวพระราม 7 เล่าวว่าตัวเขาได้เงินใช้จ่ายๆ เดือนหนึ่งตกประมาณ 2,200 บาท วันๆ มีค่ากินข้าวและค่ารถไป-กลับ แต่จะมีเงินกู้จากทางสถาบันมาช่วยด้วย ซึ่งก็ได้เยอะมากพอสมควร นอกจากจ่ายค่าเทอม อีกส่วนก็เก็บไว้ที่แม่ รวมทั้งเก็บส่วนของตัวเราเอง เอาไว้เวลาฉุกเฉิน
       
       “เป็นคนกินเหล้าบ่อย อาทิตย์หนึ่งเกือบจะทุกวัน ออกเงินเองบ้าง บางครั้งก็เพื่อนเลี้ยง ก็เลยกินกันได้เกือบทุกวัน คิดว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้กันทั้งนั้น แต่ว่าใครจะบังคับตัวเองให้ไม่เสียคนได้มากกว่ากัน ซึ่งผมก็ไปเรียนไหวทุกวัน ผลการเรียนก็ไม่ได้ตกแต่อย่างใด”
       
       ส่วนวิธีการบริหารเงินโจ้กล่าวว่า เขาจะไม่เป็นคนที่กินจุกจิก คือกินข้าวก็กินเป็นมื้อๆไป ซึ่งตรงนี้โจ้บอกว่าประหยัดเงินได้เยอะทีเดียว นอกจากนั้น โจ้เป็นคนที่ไม่ชอบดูหนัง ไม่เที่ยวห้าง เหมือนกับวัยรุ่นทั่วๆไปที่มักจะทำกัน
       
       ท้ายสุดโจ้บอกว่าถ้าหลังจากเรียนจบไปแล้วขอเงินเดือนเริ่มต้น ประมาณ 10,000 บาท เราไม่ได้มีรถ ไม่ต้องเปลืองเงินกับค่าน้ำมัน บ้านก็ไม่ได้เช่าอยู่ คิดว่าน่าจะอยู่ได้แบบไม่เดือดร้อน
       
       ในขณะที่บัณฑิตที่เพิ่งจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพสดๆ ร้อนๆ อย่าง แพรพันธ์ ศิมาธรรมชัย หรือ “พันธ์” กันบ้าง พันธ์เล่าว่า ตอนที่เรียนอยู่ก็ได้เงินเดือนประมาณ 4,000-5,000 ต่อเดือน ซึ่งก็ถือว่าพอใช้ในระดับหนึ่ง ส่วนตอนทำงานได้รับเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน
       
       “15,000 มันก็ไม่น้อยสำหรับเรานะ แต่ว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันนี่ไปได้งานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ได้เดือนละตั้ง 22,000 ก็ยอมรับว่าแอบอิจฉาอยู่เหมือนกัน ซึ่งของแบบนี้มันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ เขาเก่งเขาก็ได้เงินเยอะมันก็ยุติธรรมดีอยู่แล้ว”
       
       “หลังจากที่ทำงานก็พยายามยาม เก็บเงินใช้เงินให้น้อยลง ไม่ซื้อของแพงๆใช้แล้ว รู้สึกเสียดายเงิน เมื่อเราหาเงินเองแล้ว ทุกบาททุกสตางค์มันมีค่า ไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน เมื่อก่อนแบมือก็ได้แล้ว บางทีได้มาง่ายมันก็เลยหมดง่ายด้วย ไม่ค่อยรู้สึกเสียดาย ไม่เหมือนกับทุกวันนี้ ความรู้สึกมันจะต่างกัน”
       
       ท้ายสุดเป็นความคิดเห็นของ อ.ประยุทธ์ ทองเพิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ม.ราชภัฎสวนดุสิต โดยอ.ประยุทธ์บอกว่า ปัจจุบันนี้วัยรุ่นมีค่านิยมที่ผิดๆ อย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือการใช้ของเลียนแบบพวกดารา-นักแสดง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ทรงผม หรือแม้กระทั้ง อุปนิสัยก็ ซึ่งตรงนี้ก็เกิดจากการที่สื่อเข้าถึงตัวได้ง่ายมาก
       ดังนั้น สื่อจึงมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของนักศึกษาในปัจจุบันค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต นิตยสารต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาเจอะเจออยู่ทุกๆวัน
       
       “ยกตัวอย่างนักศึกษากลุ่มแรกที่ยังขอเงินจากผู้ปกครองใช้อยู่ ก็มักจะใช้จ่ายเงินอย่างไม่หยั่งคิด เพราะไม่ได้หามาด้วยตนเอง จะขอผู้ปกครองเมื่อไหร่ก็ได้ เงินที่นำไปใช้จ่ายก็หนีไม่พ้นพวกเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เดี๋ยวนี้ก็ต้องเป็นโทรศัพท์มือถือ บ้างคนต้องเอาแบบที่ถ่ายรูปได้ ฟังเพลงได้ ซึ่งมันก็มีราคาสูง คือสิ่งเหล่านี้มันไม่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ชายก็นำเงินที่ได้จากผู้ปกครองไปเล่นการพนันฟุตบอลกัน เพราะปัจจุบันมีแหล่งการพนันฟุตบอลมากมายและก็เข้าถึงง่ายด้วย ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาสังคมไปแล้ว
       
       ถ้ามองกลับกัน ยังมีนักศึกษาบางกลุ่มที่ต้องทำงานพิเศษเพื่อส่งตนเองเรียน หรือบางคนก็ส่งครอบครัวด้วย ดังนั้น ความอดทนของการใช้ชีวิตจึงต่างกัน นักศึกษากลุ่มหลังจึงได้เปรียบจะมีความขยันอดทน รู้จักประหยัดเงิน น่าจะปรับตัวกับการใช้ชีวิตในการทำงานจริงๆได้ดีกว่านักศึกษากลุ่มแรก ”
       
       อ.ประยุทธ์ กล่าวเสริมอีกว่าเป็นห่วงเรื่องนักศึกษาที่มักจะชวนไปดื่มสุราหลังเวลาเลิกเรียน เพราะเหมือนเป็นค่านิยมกลายๆ ใครไม่กินไม่เที่ยวเพื่อนฝูงก็ไม่คบ ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กผู้หญิง ซึ่งดูไม่เหมาะสม แล้วผลที่ตามมาก็มีแต่ผลเสียทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะวิวาท การมั่วเซ็กซ์ บางคนดื่มหนักจนมาเรียนไม่ได้ก็ทำให้เสียการเรียนอีก
       ดังนั้น อยากที่จะเตือนนักศึกษาที่ทั้งกำลังเรียนอยู่ว่าอย่ามัวแต่ไปนั่งคิดว่าอยากได้สิ่งของมีค่าต่างๆ เอาเวลาไปใส่ใจกับเรื่องการเรียนจะดีกว่า อย่าให้กลายเป็นคนที่นิยมวัตถุจนเกินไป จนถูกกลืนความเป็นตัวตนของเราด้วยสื่อต่างๆและความคิดตื้นๆเรื่องการใช้ชีวิตที่ต้อง "มี"

ใครอ่านแล้วขอความคิดเห็นด้วยนะครับ

 ขอบคุณครับสำหรับทุกๆความคิดเห็น

หมายเลขบันทึก: 137418เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2007 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
นักศึกษาใช้เงินมากกันจริงๆ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องหารายได้เพิ่มนะครับ และ กิฟฟารีนก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุดนะครับในการหารายได้เพิ่ม
  • สวัสดีค่ะอ่านบันทึกแล้วชอบค่ะ
  • ขอถามนักศึกษานะค่ะ
  • จบแล้วจะหางานที่ไหน
  • จบแล้วเก่งจริง ๆๆ หรือ
  • ใครจะรับเด็กจบใหม่ในเงินเดือนสูง ขนาดที่เขาต้องการ
  • รับแล้วคิดว่าตัวเองมีความสามารถพอหรือค่ะ
  • น้ำจะถ้วมโลกอยู่แล้ว
  • แล้วจะไปทำงานอะไร
  • ดังนั้นต้องเรียนวิชาช่วยตัวเอง  อยุ่ได้ด้วยตัวเอง
  • ต้องสร้างงานให้ตัวเองให้ได้
  • ไม่ไปเป็นลูกจ้างเขาหรอก
     สิบปีแรกหนึ่งนั้น     พ่อแม่ (เลี้ยงดู)
ยี่สิบปีต่อมาแล            เล่ารู้
สามสิบนี่ดูแล             ตนอยู่ (เองนา)
สี่สิบปีต้องสู้               หยั่งรู้ ทำงาน
     ห้าสิบปีตัณหา       มักกลับ
หกสิบปีเริ่มนับ            จับไข้
เจ็ดสิบอยู่หลัดหลับ      กองโรค
แปดสิบไปไหนได้        ลูกหลาน รำคาญ
     เก้าสิบปีนี่เข้า        วัยชรา
โรคจักมาไม่มา            จบได้
ร้อยปีเล่าวัสสา            ตายแน่ (นอนนา)
อย่าประมาทการใช้      ชีวิต เจ้าเฮย

เปนบทความที่ดีมากๆเลยค่ะ ให้สาระและความรู้มากๆ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท