BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๑๘


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๑๘

จากครั้งก่อน ( เล่า... ๑๗ ) ซึ่งผู้เขียนได้เล่าว่า หลังจากพระพุทธเจ้าทรงขยายความคุณสมบัติของมิตรแท้และมิตรเทียมแล้ว พระองค์ก็ได้ตรัสคาถาประพันธ์ไว้...

คาถาประพันธ์นี้อาจจำแนกออกเป็น ๓ ส่วน  ในส่วนแรกเป็นการสรุปประเภทของมิตรแท้ว่าควรจะคบหาสมาคมเพราะนำมาซึ่งความอบอุ่นทางใจประดุจการอยู่ร่วมระหว่างแม่กับบุตรฉะนั้น... และในส่วนที่สองพระองค์ตรัสถึงความเป็นผู้มีศีลว่าจะมีความรุ่งเรือง รวมทั้งจะต้องเป็นคนขยันหมั่นเพียรในการทำงาน ดังคาถาประพันธ์ส่วนนี้ว่า...

  • บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง  โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น

ผู้อ่านที่ติดตามมาตั้งแต่ต้น เคยสังเกตหรือไม่ว่า ในสิงคาลกสูตรนี้ พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสเรื่องศีลเลย เพียงแต่สิ่งที่พระองค์ตรัสก็ครอบคลุมศีลห้าไว้ด้วย กล่าวคือ พระองค์ตรัสเรื่องกรรมกิเลส ๔ อบายมุข ๖ ซึ่งการละกรรมกิเลสเหล่านั้นก็คือศีลสี่ข้อแรก ส่วนการเว้นการดื่มสุราก็คือศีลข้อสุดท้ายในศีลห้านั่นเอง.... แต่ในคาถาประพันธ์ตอนนี้ พระองค์ตรัสว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ...

ผู้เขียนคิดว่า นี้คือความยักเยื้องแห่งเทศนาวิธีของพระผู้มีพระภาคเจ้า... ซึ่งผู้สดับฟัง เมื่อเงี่ยหูลงสดับฟัง ก็จะค่อยๆ ซึมลึกด้วยความศรัทธาเลื่อมใส และจะค่อยๆ เข้าใจไปเองโดยอัตโนมัติ... ถ้าพระองค์เริ่มต้นว่า จะต้องเป็นผู้มีศีล ข้อแรกคือ.... ทำนองนี้ .... ผู้เขียนคิดว่า นายสิงคาลกะ ลูกนายบ้านคนนี้คงจะรู้สึกต่อต้าน เบื่อ และล้มเลิกการฟังในที่สุด...

แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ พระองค์ทรงเริ่มต้นว่า บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ... นั่นคือ เมื่อดำเนินชีวิตตามกรอบข้างต้น กล่าวคือ ละกรรมกิเลส เว้นอคติ ไม่มัวเมาอบายมุข หลีกห่างคนเทียมมิตร และคบหามิตรแท้ ตามนัยข้างต้น ก็อาจสรุปได้ด้วยคำว่า บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล นั่นเอง ซึ่งลูกนายบ้านคนนี้ก็อาจเข้าใจได้ด้วยความนึกคิดของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องตรัสบอกว่า ต้องเป็นบัณฑิต ต้องเป็นผู้มีศีล.... ประมาณนี้

ส่วนข้อเปรียบเทียบว่า ย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ นั้น ผู้เขียนคิดว่าชัดเจนแล้ว เพราะใครๆ ก็เข้าใจว่า เมื่อความสว่างเกิดขึ้นย่อมทำลายความมืด และสิ่งต่างๆ ก็ย่อมปรากฎชัดเจนเพราะความสว่างฉันใด... ในการดำเนินชีวิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นบัณฑิตคือเป็นผู้ฉลาดดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ประกอบกับเป็นผู้มีศีล คอยเป็นกรอบป้องกันไม่ให้ออกนอกลู่ทางแล้ว การดำเนินชีวิตของเขาก็ย่อมมีแต่ความรุ่งเรืองก้าวหน้า... ประมาณนั้น   

..............

เมื่อมีปัญญาและมีศีลแล้ว ก็ต้องเป็นผู้ขยันในการทำงาน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบการทำงานว่าให้รู้จักเก็บสะสม หรือรู้จักออมเหมือนดังแมลงผึ้ง... และถ้าทำงานได้เช่นแมลงผึ้งแล้วทรัพย์สมบัติก็จะค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นมาอย่างมั่นคงเหมือนดังจอมปลวก....

ประเด็นเปรียบเทียบการทำงานเหมือนดังแมลงผึ้ง และการเพิ่มพูนของโภคทรัพย์เหมือนดังจอมปลวกนี้ มีนัยควรจะขยายความเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ซึ่งผู้เขียนจะยกยอดไปตอนต่อไป.... 

หมายเลขบันทึก: 136597เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2007 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท