หน่วยที่ ๕ แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นอำเภอสว่างแดนดิน จ.สกลนคร


แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นอำเภอสว่างแดนดิน จ.สกลนคร
สถานที่สำคัญ

วัฒนธรรมสมัยบ้านเชียง

วัดชัยมงคล บ้านดอนธงชัย
หมู่ที่ 15
ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

หากเอ่ยถึง วัฒนธรรมบ้านเชียง คนทั่วไปคงนึกถึงแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่อำเภอหนองหาน
จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกที่สำคัญแห่งหนึ่ง ผลจากการขุดค้นได้ได้แสดงถึงพัฒนาการที่ต่อเนื่องยาวนานนับพัน ๆ ปี มีสภาพอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน มีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว ผลิตภาชนะดินเผาและยังมีวิทยาการด้านโลหะกรรมชั้นสูง สามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับทั้งสำริดและเหล็กเหล่านี้เป็นหลักฐานทำให้เราได้เรียนรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่และสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประเพณีการฝังศพ รวมถึงการพัฒนาการทางเทคโนโลยีทุกชนิดได้เป็นอย่างดี
          จากการศึกษาในวงกว้างพบว่า แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง
มีการกระจายตัวครอบคลุมอาณาเขตหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบหลักฐานมากที่สุดในเขต
จังหวัดอุดรธานีและสกลนคร ได้มีการสำรวจและขุดตรวจถึงปี พ.ศ.2534 พบว่ามีกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง
อยู่ถึง 126 แหล่ง ซึ่งได้ทำการขุดตรวจตามหลักวิชาการโบราณคดีแล้ว 13 แหล่ง กลุ่มชนเหล่านี้เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อห้าพันกว่าปี อยู่ต่อเนื่องเรื่อยมาและสิ้นสุดลงเมื่อ ประมาณ 1,800 ปี
มาแล้ว โดยเลือกทำเลที่ตั้งบริเวณที่ราบแบบขั้นบันไดต่ำใกล้กับลำน้ำเล็ก ๆ อย่างน้อย 2 สาย ไหลมาบรรจบ
กัน ซึ่งพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
          เมื่อครั้งได้เริ่มมีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2510 และอีก
หลายครั้งในเวลาต่อมา บ้านเชียงเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น กระทั่งได้รับการขึ้นบัญชีเป็นแหล่งมรดกโลก
ด้วยคุณสมบัติสำคัญที่แสดงถึงหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดใน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้พบร่องรอยและโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้มากมาย ทั้งใน
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และอีกหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม และมีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สืบเนื่องยาวนานเมื่อ 500 ปีมาแล้ว
          ตลอดเวลา 30 ปี ที่ผ่ายมา กรมศิลปากร หน่วยงานโดยตรงของรัฐผู้ทำหน้าที่ในการศึกษาค้นคว้า
อนุรักษ์ และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ มิได้หยุดการศึกษาการแพร่กระจายของแหล่งโบราณ
คดีในกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง การค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านดอนธงชัยจึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของความ
ก้าวหน้าทางโบราณคดี ที่ค้นพบแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเชียงที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ด้วยความพร้อม
ของแหล่งที่ยังไม่ได้มีการบุกรุกทำลายจากนักล่าสมบัติ และลักษณะของหลักฐานที่พบจากการขุดค้นตรวจ
สอบใน พ.ศ.2537 ที่ผ่านมา เป็นผลให้กรมศิลปากรเร่งจัดทำ " โครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณ
คดีวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่วัดชัยมงคล บ้านดอนธงชัย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
" ขึ้น โดย
มีวัฒถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีให้ละเอียดยิ่งขึ้น และเพื่อการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนา ศึกษาอย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้น ที่ยังคงเปิดไว้ให้เห็นเป็นหลักฐานทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่งเดิม จากการขุดค้นเปิดให้เข้าชมและศึกษาในรูปของพิพิธภัณฑ์สถานกลางแจ้งแห่งใหม่ ในลักษณะเช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีในที่บ้านเชียง แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการอนุรักษ์นำเสนอ การบริหารจัดการอย่างมีแบบแผน
          " จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งที่บ้านดอนธงชัย "
                  ยังไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างแน่ชัดในขณะนี้ เพราะเป็นการเริมต้นของโครงการเท่านั้น เมื่อ
ใดที่การศึกษาถึงด้านโบราณคดีและการอนุรักษ์ แผนงานการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แผนการศึกษาผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม แผนการพัฒนาวัดชัยมงคลและแผนงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีผลเป็นที่น่าพอใจที่จะตัดสินใจได้ว่า เราจะรักษาร่องรอยอดีตของมนุษยชาติที่บ้านดอนธงชัยไว้ให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นประโยชน์กับท้องถิ่นประเทศชาติและประชาชนในอนาคต
          " มีอะไรให้ชาวบ้านดอนธงชัยบ้าง "
                 มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของโลก
                 มีความเจริญพื้นฐานเข้ามาในพื้นที่
                 มีพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศที่เพียบพร้อมด้านการบริการ การเรียนรู้
เข้าใจง่าย
                มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมชม พร้อมกับงานและรายได้จากการท่องเที่ยว
                ดอนธงชัยจะเป็นที่รู้จักของคนไทยและชาวโลก หากมีพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งที่นี่ แล้วท่านคิด
หรือไม่ว่ายังจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมาอีกมาก
               " ห่างจากอำเภอสว่างแดนดิน มาทางทิศตะวันตก ด้วยระยะทางประมาณ 2 ก.ม. เป็นที่ตั้งของหมู่
บ้านขนาดใหญ่ ที่พบร่องรอย และหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีตเมื่อประมาณ 3,500 -1,800 ปี มาแล้วนับเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสานตอนบนที่มีความสมบูรณ์สำหรับการศึกษาทางประวัติศาสตร์โบราณคดี การอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของท่องถิ่น "
          บ้านดอนธงชัย        ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 4 ปี ที่ผ่านมา ในราวต้นปี พ.ศ.2537 นายสีห์พนม พนมวิชิตวรสาระ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร ได้แจ้งข่าวสำคัญถึงการค้นพบแหล่งโบราณคดีในกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงที่บ้านดอนธงชัย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แก่กรมศิลปากร ต่อมา กรมศิลปาการจึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจและศึกษาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ โดยมี ดร.อำพัน กิจงาม ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์เป็นหัวหน้าชุด
        บ้านดอนธงชัย หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ดอนหัวไทร หรือ ดอนลวงชัย ตั้งอยู่ในเขตการปกครอง
หมู่ที่ 15 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ห่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมาทางทิศตะวันออกในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ด้วยระยะทางประมาณ 30 ก.ม. แหล่งโบราณคดีแห่งนี้พบอยู่ภายในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของวัดชัยมงคล มีลักษณะเป็นเนินดินที่มีลักษณะค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 400 เมตร และอยู่ห่างจากพื้นนาโดยรอบประมาณ 5 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกของเนินดินแห่งนี้มีลำห้วยสันจอดไหลผ่าน ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร พื้นที่บริเวณโดยรอบมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ใช้สำหรับเป็นที่เพาะปลูกและทำเกษตรกรรมของชาวบ้านที่อยู่โดยรอบ
          จากการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนั้นทำให้เราสามารถเรียนรู้และทราบเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนโบราณแห่งนี้ในอดีตเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการศึกษาจากลักษณะของการตกแต่งผิวของภาชนะดินเผาที่พบ ตั้งแต่ในชั้นดินล่างสุดจนถึงชั้นดินบนสุด นิยมตกแต่งภาชนะดินเผาด้วยลายเชือกทาบและลายเส้นนูนบนไหล่ภาชนะ ลายขูดขีด ตลอดจนการระบายสีแดง หรือเขียนสีแดงบนพื้นสีนวล และทาน้ำโคลนสีแดงพร้อมทั้งขัดมันผิว ส่วนรูปร่างของภาชนะก็จะมีทั้งทรงกลม ทรงพาน เป็นต้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบลักษณะของหลักฐานที่พบแล้วว่ามีลักษณะที่คล้ายกับลักษณะของภาชนะดินเผาที่บ้านเชียง จึงจัดได้ว่าแหล่งโบราณคดีที่บ้านดอนธงชัยแห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีในกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ซึ่งมีอายุของการตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณ 3,500 ปี มาแล้ว จนมาสิ้นสุดการตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณ 1,800 ปี มาแล้ว จากนั้นพื้นที่แห่งนี้จึงได้ถูกทิ้งร้างไปจนกระทั่งราว พุทธศตวรรษที่ 21-22 จึงเริ่มมีการเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คนอีกครั้ง
          สังคมและชุมชน ที่บ้านดอนธงชัย
           หากเราจะย้อนภาพในอดีตของลักษณะวิถีชีวิตของสังคม ของคนในชุมชนที่บ้านดอนธงชัยแห่งนี้ เมื่อประมาณ 3,500 ปีที่ผ่านมาแล้ว เราจะพบว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเกษตรกรรม รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ หล่อโลหะ (สำริด) ตลอดจนรู้จักการทำภาชนะดินเผาลายเชือกทาบที่มีเส้นนูน และเขียนสีแดง เช่นเดียวกับที่บ้านเชียง ในเขตอำเภอหนองหาน และในอีกหลายแห่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          ในราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2537 ดร.อำพัน กิจงาม และคณะได้เดินทางเข้ามาดำเนินการขุดค้น เพื่อ
ศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของแหล่งโบราณคดี โดยกำหนดพื้นที่ขุดค้นในบริเวณวัดชัยมลคล บ้านดอนธงชัยและทำการเปิดหลุมขุดค้นทั้งสิ้น 20 หลุม เพื่อเป็นการตรวจหาตัวอย่าง และศึกษาถึงการกระจายตัวของหลักฐานในบริเวณพื้นที่รอบ ๆ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนเศษ ผลจากการขุดค้นในครั้งนั้นทำให้เราพบหลักฐานต่าง ๆที่ถูกฝังกระจายอยู่ตามชั้นดิน 4-5 ชั้น ที่ทับถมกันอยู่ในระดับความลึก 2-2.5 เมตร ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

       1.ชั้นดิน 
           ในระดับความลึกจากผิวดินลงไปประมาณ 2-2.5 เมตรมีชั้นดินประมาณ 4-5 ชั้น (บริเวณกลางเนินมี
4 ชั้นส่วนบริเวณห่างออกไปมี 5 ชั้น)
       2. เศษภาชนะดินเผา
            จากการศึกษาลักษณะการตกแต่งผิวภาชนะดินเผาพบว่ามี 4 แบบ คือ
                ก. แบบเคลือบน้ำยาบาง ๆ เป็นภาชนะดินเผาสมัยประวัติศาสตร์ พบมากในชั้นดินที่ 1
                ข. แบบทาน้ำโคลนสีแดง สีส้ม และผิวขัดมัน พบมากในชั้นดินที่ 2 (อายุประมาณ 1,800-2,300 ปี
มาแล้ว)
                ค. แบบเขียนสีแดงบนพื้นสีนวลและเขียนสีแดงบนพื้นสีแดง พบมากในชั้นดินที่ 3 (อายุประมาณ 2,300ปีมาแล้ว)
                ง. แบบลายขูดขีดและเขียนสี พบมากในชั้นดินที่ 4 (อายุประมาณ 3,00 ปีทาแล้ว)
                นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบและตกแต่งเป็นเส้นนูนที่บริเวณไหล่ภาชนะในชั้นดินที่ 4 ตอนล่างด้วย (อายุประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว)
                ลักษณะการตกแต่งผิวภาชนะดังกล่าวข้างต้นเป็นลักษณะของภาชนะดินเผาแบบวัฒนธรรมบ้านเชียงที่มีอายุประมาณ 3,500 -2,800 ปีมาแล้ว
         3.โบราณวัตถุประเภทอื่น ๆ

ในการขุดค้นได้พบเศษสำริดที่เป็นเครื่องประดับ เช่น กำไล ลูกปัด และเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ขวานหัวธนู รวมทั้งก้อนขี้แร่ นอกจากนี้ได้พบขวานเหล็ก แผ่นเหล็ก ลูกกระสุนดินเผา กล้องยาสูบดินเผา หินดุ เบี้ยดินเผาเบ้าหลอมโลหะ แม่พิมพ์หินทราย ขวานหินขัด เครื่องมือกระดูก ลูกปัดแก้ว

โครงกระดูกมนุษย์ พบทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ประมาณ 18 โครง มีการฝังภาชนะดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปในหลุมศพด้วย
              
กระดูกสัตว์ พบทั้งที่เป็นสัตว์ป่า เช่น กวาง เก้ง ละอง เนื้อทราย ฯลฯ และสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย หมู สุนัขไก่ ฯลฯ
             
แหล่งโบราณคดีกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงเหล่านี้กระจายอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ในบริเวณลุ่มน้ำสายต่าง ๆ 7 กลุ่มด้วยกัน คือ
            1.
กลุ่มลำน้ำสวย
            2.
กลุ่มห้วยด่าน
            3.
กลุ่มแม่น้ำสงครามตอนบน
            4.
กลุ่มห้วยหลวง-แม่น้ำสงคราม
            5.
กลุ่มหนองหาน-กุมภวาปี
            6.
กลุ่มห้วยยาม-ห้วยปลาหาง
            7.
กลุ่มห้วยศาลจอด
            
กลุ่มที่พบหลักฐานคล้ายคลึงกับที่บ้านเชียงสมัยแรก (อายุระหว่าง 5,600-3,00 ปีมาแล้ว) อยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำสงคราม คือ 3 กลุ่มแรก อีก 4 กลุ่มพบหลักฐานคล้ายที่บ้านเชียงในสมัยกลางและสมัยปลายเท่านั้น (อายุระหว่าง 3,00-2,300 ถึง 2,300-1,800 ปีมาแล้ว)
           ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 1,700 ปี (อายุการอยู่อาศัยของชุมชนตั้งแต่ 3,500 ปี - 1,800 ปี) ที่มีการอยู่
อาศัยของกลุ่มคนในบริเวณนี้ ได้ทิ้งร่องรอยของหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงปริมาณการอยู่อาศัยของประชากรที่มีอยู่ประมาณไม่น้อยกว่า 40 ครอบครัว (200 คน) ชีวิตความเป็นอยู่และสภาพของผู้คนในสังคมขณะนั้น           แสดงให้เห็นว่ามีการแบ่งชนชั้น หรือมีฐานะทางสังคมที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะหลักฐานที่ถูกค้นพบในหลุมฝังศพหรือโครงกระดูกแต่ละโครงนั้น จะพบว่าโครงกระดูกบางโครงมีการ
ตกแต่งเครื่องประดับ พร้อมทั้งฝังเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนภาชนะ ร่วมกับโครงกระดูกที่แตกต่างกัน บางโครงก็มีมาก บางโครงก็มีน้อย บางโครงก็แทบจะไม่มีเลย
       หมายเหตุ    
           เนื่องจากสิ่งของที่ขุดพบเป็นสิ่งที่มีค่ามากทางประวัติศาสตร์หลังจากคณะได้สำรวจเสร็จสิ้นแล้ว จึง
บันทึกภาพ และเก็บหลักฐานบางส่วนนำไปศึกษาวิจัยเพื่อนำผลมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และฝังกลบ
ไว้ตามเดิม

อ้างอิง

http://www.sakhonnakhon.police.go.th/sawangdandin/tour-dontongchai.htm

หมายเลขบันทึก: 135008เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2007 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท