ภาษาพาม่วน 4 "ดึก" ถ้าไม่ใช่ขว้างปา.. แล้วเป็นอะไร


พวก "จังไฮไฟไหม้" จะหัวร่อคิก ๆ เวลาพูดถึงคำว่า เต็ก / สาง / หน่ำ / ดึก / ล่ำ..

ผมชื่นชม นาย วรชัย หลักคำ ที่นำคำว่า ดึก ที่หมายถึง การข้างปา มาบันทึกไว้ให้พวกเราอ่าน  ผมขออนุญาตยกมาความว่า....

"P นาย วรชัย หลักคำ เมื่อ อ. 11 ก.ย. 2550 @ 08:36 [380860] [ลบ]   ...............

               ดึกค้อนกลายหมากม่วง  หมายถึง เวลาจะกินมะม่วงก็ขว้างค้อนขึ้นไปแต่เลยไปทางอื่น เป็นสำนวน หมายถึง มีของดีอยู่ใกล้ไม่เห็นกลับไปชื่นชมของอยู่ไกล...."

              ผมขอร่วมด้วย  ขอเล่าถึงอีกความหมาย  ของ ดึก(ก.) ที่ไม่ใช่การขว้างปานะครับ  ชาวอีสานทั่วไปจะใช้เป็นคำพูดแทนความหมายว่า  ทำ/ กระทำ / เฮ็ด/การลงมือทำอะไรสักอย่าง  คล้ายเป็นศัพท์สแลง  กึ่งชวนขันให้คลี่คลายบรรยากาศ  เช่น

            - เมื่อวานข้อยไปหาหมู่  ไปพ้อเขาหาพาข้าวพอดี  ข้อยกำลังหิว  เลยดึกเอาจนอิ่ม (เมื่อวานนี้ผมไปหาเพื่อน  ไปเจอเขาจัดอาหารพอดี  ผมกำลังหิว  เลยกินจนอิ่ม)  ในที่นี้ ดึก หมายถึง กิน  (ใช้คำว่า ดึก เพื่อให้ดูสบาย ไม่แสดงว่าหิวมากจนดูไม่ดี)        

             ลักษณะการใช้ที่พบมาก

             1. ใช้ในการสั่งคนที่กันเอง ๆ  เช่น สั่งให้เด็ก ๆ หรือเพื่อนสนิททำงาน  อาจพูดว่า  "อ้าว.....ดึก  เลย" ก็รู้กันครับ  จะใช้กับผู้ใหญ่หรือคนไม่คุ้นเคย  ไม่เหมาะ

              2. ผู้หญิงอีสานรู้ความหมาย  แต่ไม่ค่อยพูดครับ  เพราะส่วนมากพวกผู้ชายที่ "จังไฮไฟไหม้"  (พวกที่ชอบฟังและชอบพูดสองแง่สองมุม../จะเหลือคนไม่จังไฮตามความหมายนี้กี่คนนะ) จะหมายถึงเรื่องอย่างนั้นไปเสียหมด  ดังนั้นคำว่า "ดึก" ของ ชายหญิง  ผัวเมีย  นายกับลูกน้องต่างเพศ  คนพูดต้องระวังให้ดีครับ  จะมีความผิดเป็นความกันง่าย ๆ...

             3. คำอื่น ๆ ที่ หมายความเหมือน ข้อ 1. ข้อ 2. ซึ่งพวก "จังไฮไฟไหม้" จะหัวร่อคิก ๆ เวลาพูดถึงอีก  เช่น คำว่า  เต็ก / สาง / หน่ำ /ล่ำ พวกที่ชอบพูดกันเบา ๆ แต่ฮากันแรง ๆ จะต้องมีศัพท์คำว่า ดึก  เต็ก สาง หน่ำ ล่ำ อยู่ด้วยไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน คำพูดตามข้อ 3. นี้รู้สึกว่าจะแรงกว่า คำว่า ดึก นิดหนึ่งครับ

             ดึก  เต็ก  สาง  หน่ำ ล่ำ จึงเป็นคำที่  ปู่ ตา พ่อ ลุง ผู้ใหญ่ของชาวอีสานบอกให้ลูก ๆ ให้ทำนั่นทำนี่ธรรมดา ๆ  เป็นคำพูดเบา ๆ ไม่ให้เหมือนใช้อำนาจออกคำสั่งให้ลูก ๆ ลำบากใจ

             ทั้งนี้คนไม่รู้คำว่า  ดึก และคำว่า สาง  อาจคิดว่าเป็นการบอกช่วงเวลา  เช่นคำพูดที่ว่า  สามีกลับบ้านมาดึกเมียไม่ชอบ  น่าจะกลับมาเช้าสางกันเลยให้รู้แล้วรู้รอด อย่างนี้เข้าทางพวก"จังไฮไฟไหม้" แน่นอนครับ

หมายเลขบันทึก: 134631เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2007 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
อึ่ม...แค่คำ ๆ เดียว แต่แปลความหมายได้เยอะแยะแลย  ภาษานี่ดิ้นเก่งจริง ๆ ครับ
  สวัสดีครับ  สนุกมากครับ  ขอบคุณที่ไห้วันนี้ได้ขำๆ
  • ขอบคุณทุกท่านครับ
  • ถ้าไม่เข้าร่วมหลักสูตร ict สถาบันฯ สิรินธร ก็คงไม่ได้ความรู้เรื่องบล็อก ขอบคุณ อาจารย์รัฐเขต อีกครั้ง
  • เรื่องคำพูดที่ใช้พูดแทนความหมายว่า "ทำ" สิ่งต่าง ๆ นี้ คงเริ่มมาจากกลุ่มเล็ก ๆ แล้วประชาชนนำไปขยายไปเรื่อย ๆ จนยอมรับกันในที่สุด  บางคำก็แปรความหมายไปบ้างก็มีครับ  เช่น คำอีสานว่า "แซว" หมายถึงการส่งเสียงดังเจี๊ยวจ๊าวของคน สัตว์ ทั่ว ๆ ไป แต่พอถูกนำไปใช้ในความหมายปัจจุบัน กลับหมายถึง  การพูดเย้าแหย่ให้สนุก ๆ หรือเข้าใจผิดกันไปเลยก็มี...คำว่า ดึก ก็คงเริ่มจากการขว้างปา เช่นกัน  แต่เอาไปเอามา ก็หมายถึงกระทำอย่างอื่นไปเลย,  สาง ใช้ในการเกี่ยวข้าว การลงแขกทำงาน  ปัจจุบันคนก็นำมาพูดในการทำอย่างอื่นด้วย  ก็ดีครับ ตามเหตุผลที่กล่าวถึงข้างต้น ครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท