โรงเรียนคู่พัฒนา:แก้ปัญหานักเรียนล้นโรงเรียนยอดนิยมจริงหรือ


                                การสร้างโอกาสทางการศึกษา ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เสมอภาคและเป็นธรรม  ตามแนวทางการจัดการศึกษาแห่งรัฐ  หน่วยงานทางการศึกษาตั้งแต่ระดับกระทรวง, สพฐ. ,สพท. และสถานศึกษา  ที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดวิธีการบริหารจัดการในการรับนักเรียนเข้าเรียนในทุกปีการศึกษา  จากสภาพที่พบเห็นกันจนชินตาในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี คือพ่อ แม่ ผู้ปกครองวุ่นวายในการหาที่เรียน ที่เหมาะสม ให้แก่บุตรหลาน แล้วแต่กำลังความสามารถของแต่ละคน แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีเด็กจำนวนมากขาดโอกาสทางการศึกษาแม้ว่าโรงเรียนใกล้บ้านจะดีมีชื่อเสียงก็ไม่มีโอกาส เพราะปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน   สำหรับสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง หรือที่เราเรียกกันว่า โรงเรียนยอดนิยม ก็ล้นหลามไปด้วยจำนวนนักเรียนมาสมัครเรียน เกินจากปริมาณที่กำหนดไว้ตามแผนการรับนักเรียน   และในขณะเดียวกันโรงเรียนลำดับรอง และหรือโรงเรียนไร้นิยม ที่อยู่ใกล้เคียงโรงเรียนยอดนิยม มีที่ว่างมากพอที่จะรับนักเรียนเข้าเรียน แม้จะเปิดรับรอบ ๒ หรือ ๓ หรือเปิดภาคเรียนก็ยังมีที่นั่งว่าง   การแสวงหาปัญญาให้กับบุตรหลานเป็นความทุกข์บนพื้นฐานความแตกต่างแห่งสติปัญญาของแต่ละคน หรือบนความแตกต่างแห่ง ทรัพย์ที่อยู่บนมือ  ไม่ว่าจะอยู่บนความแตกต่างใดๆ หน่วยงานทางการศึกษาก็ตระหนักถึงปัญหานี้และเห็นความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างแท้จริง     แนวคิด    โรงเรียนคู่พัฒนา    จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา   นักเรียนล้นโรงเรียนยอดนิยม  นโยบายสู่การปฏิบัติเป็นจริงได้หรือ?   การสร้างความเท่าเทียมระหว่างโรงเรียน กับโรงเรียน  และความรู้สึกฝังลึกของพ่อ แม่ ผู้ปกครองที่มุ่งมั่นจะให้บุตรหลานเรียนโรงเรียนดี เด่น ดัง  ที่ตนเองเป็นศิษย์เก่า  จะถอนรากความเป็นตัวตนได้หรือไม่    ปีการศึกษา  ๒๕๕๑  ยุทธการนี้จะกระจายครอบคลุมทุกจังหวัด ทั่วประเทศ  อะไรคือความคาดหวัง   เพราะอะไรจึงคาดหวังเช่นนั้น

                                บนความแตกต่างของสถานศึกษาแต่ละแห่งนั้น  มีองค์ประกอบสามารถวิเคราะห์องค์การ(Organizational Analysis)ได้ในเชิงทฤษฎี  ดังนี้    ฮาโรลด์ เลวิส (Harold Leavitt,1973 :4) พิจารณาองค์การ ที่มีลักษณะการทำงานในลักษณะมีความสลับซับซ้อน (Complex Organization) ใน ๔ องค์ประกอบ  กล่าวคือ

                                ๑) โครงสร้าง (Structure) พิจารณาถึงการบริหารงาน  การควบคุมงาน กลุ่มการทำงานฯลฯ                               

                                 ๒) งาน (Task) พิจารณาถึงการวางแผนออกแบบ (Design) ความต้องการ การบริการเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ                            

                                 ๓) เครื่องมือ เครื่องใช้ (Tools) พิจารณาถึงความทันสมัยต่างๆ ที่จะทำให้งานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ  การเตรียมการ การควบคุมการทำงานในองค์การ                               

                                  ๔) บุคลากร (People) พิจารณาถึงความแตกต่างและความหลากหลายของคนที่ทำงานจะเห็นว่า เจ้าหน้าที่บางคนสามารถสอนให้เรียนรู้ได้ง่าย บางคนเรียนรู้ได้ยาก                               

                                   นอกจากนี้ ธงชัย สันติวงค์(๒๕๒๓:๒๖-๓๑) วิเคราะห์องค์การ ศึกษาปัจจัยที่แปรผันในองค์การ ประกอบด้วย                                 

                                    ๑) โครงสร้าง(Structure) ขององค์การ เป็นความสัมพันธ์ของการบริหารระดับต่างๆ และหน้าที่ด้านต่างๆ ได้มีการจัดไว้อย่างดีเพื่อที่จะเอื้ออำนวยให้การทำงานเป็นไปโดยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประสานงานกันตามหน้าที่ โดยอาศัยโครงสร้างเป็นเครื่องมือกำกับ                              

                                    ๒) งาน(Task) ที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วงภายในกำหนดซึ่งโดยทั่วไปงานจะสัมพันธ์กับตำแหน่งตามโครงสร้างองค์การที่กำหนด ซึ่งลักษณะของงาน โดยทั่วไปจะพิจารณาแยกแยะระหว่างคน สิ่งของ และข้อมูล                              

                                   ๓) เทคนิควิทยาการ (Technology) เทคโนโลยีเป็นสื่อหรือเครื่องมือที่สามารถทำให้วัตถุดิบ คน ข้อมูล หรือวัตถุ สิ่งของให้เป็นสินค้าและบริการได้และเทคโนโลยีจะสัมพันธ์ อย่างใกล้ชิดกับงาน                             

                                   ๔) คน(People) เป็นปัจจัยที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางของการบริหารงานทั้งปวง ทั้งนี้เพราะการบริหารใดๆ จะสามารถทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ย่อมต้องใช้คนเป็นผู้ทำการเข้าใจลักษณะความรู้สึกและความต้องการของคน นับว่าจำเป็น ได้แก่ ความรู้  ความสามารถ ความถนัด ความต้องการ  ความคาดหมาย ความเข้าใจ ทัศนคติ ค่านิยมและการติดตามผล  (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา,2550: 37-41)                             

                                      จากการวิเคราะห์องค์การของนักวิชาการเหล่านี้ จะเห็นว่าการพิจารณาองค์การไม่ว่าจะเป็นองค์การที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์จากการดำเนินการ หรือองค์การที่ไม่มีผลประโยชน์จากการดำเนินการ แต่มีไว้เพื่อบริการประชาชน เช่น หน่วยงานทางการศึกษา ต่างก็จะพิจารณาถึง งานที่ต้องทำ, คนที่เข้ามาทำงาน,การจัดโครงสร้างการบริหารงาน,การอำนวยความสะดวกและการสนับสนุนให้คนที่ทำงานสามารถทำงานอย่างราบรื่น  สถานศึกษาในทุกระดับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนมัธยมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๑-ม.๖)  มีความแตกต่างกันในการบริหารจัดการศึกษา ด้วยแบ่งตามขนาดของโรงเรียน  เล็ก-กลาง-ใหญ่   มีโครงสร้างการทำงานที่เหมือนกัน แต่ปัจจัยอื่นแตกต่างกัน  ดังนั้น คุณภาพก็จะไม่เหมือนกัน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการศึกษา จึงมีแนวคิด  วิธีการต่างๆที่จะสร้างความเท่าเทียม หรือเทียบเคียง  หรือ..... เพื่อให้ทุกโรงเรียนสามารถสร้างคุณภาพได้  จึงเป็นงานที่ท้าทาย เหนื่อยสุดๆ  เพราะคนทำงานหากขาดปัจจัยพื้นฐานที่ห้ามพูดสำหรับนักพัฒนา ที่ว่า  ขาดคน ขาดเงิน ขาดวัสดุ อุปกรณ์ สื่อ  การขับเคลื่อนก็เป็นไปอย่างช้าๆ  หากจะให้ใช้วิธีการบริหารจัดการบนความขาดแคลนคน-เงิน-วัสดุฯ...การก้าวกระโดดไปยังที่หมาย จะเลือนราง..ขวัญที่ตั้งใจจะให้อยู่กับตัว ก็จะกระเจิง เสมือนคนหากไม่ทานข้าว  ไม่ดื่มน้ำ ไม่มีอะไรตกถึงท้อง  ชีวิตจะเป็นเช่นไร   ปัจจัยเกื้อหนุนทั้งหลายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนา  โรงเรียนคู่พัฒนา หน่วยงานที่รับผิดชอบ  ควรจะหันกลับมามองอย่างลึก เพื่อให้รู้ว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญของการพัฒนา  พัฒนาแล้วสามารถแก้ปัญหาให้ได้จริงหรือไม่  มีวิธีการใดบ้างที่เป็นการเคลื่อนที่เร็ว และเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจ  แค่คิดจะทำก็น่ารักแล้วครับ.  

หมายเลขบันทึก: 133877เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 05:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดียามเช้าค่ะอาจารย์...จอหงวน

  • ความไม่เท่าเทียมกัน   มีมานานแล้วค่ะ  ทั้งความคิดของผู้ปกครองที่ยังเห่อโรงเรียนดัง  ทั้งๆที่โรงเรียนต่างๆก็เหมือนๆกันล่ะค่ะ
  • ทำอย่างไรให้เขาเหล่านั้น  เลิกคิดแบบนี้ และส่งเสริมให้ลูกไปเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน..กันบ้างค่ะ
  • ครูอ้อยหมายถึง โรงเรียนในกทม.นะคะ

ขอบคุณค่ะ

ทุกอย่างอยู่ที่ผู้บริหาร มีความตั้งใจ ทำอะไร ถ้าต้องการก็ต้องพยายาม ทำดี ดีสงให้เห็นผล ทำชั่ว ชั่วก็ดลชั่วให้ ได้ชั่ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท