ดีไหม การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง


การเรียนการสอน
การเรียนการสอนยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เสริมสร้างหรือทำลายการศึกษา

ด้วยความสับสนและลักลั่นในความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่ายึดผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงนำไปสู่ข้อผิดพลาดอันอาจจะก่อให้เกิดการทำลายคุณภาพของการศึกษา เช่น ครูบางคนปล่อยให้ผู้เรียนเรียนตามลำพัง กิจกรรมหนักไปทางการศึกษา ค้นคว้าจากหนังสือและสื่อต่าง ๆ ตามความสนใจ จนบางครั้งคล้ายกับไร้ทิศทาง ไร้มาตรฐาน
ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กองบรรณาธิการจึงขอนำบทความของ ดร.สงบ ลักษณะ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้แยกประเด็นต่าง ๆ ออกมาได้อย่างน่าสนใจ พร้อมกันนี้ยังได้ฝากบอกมาว่า ครูจะต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อ ความคิด และวิธีปฏิบัติบางประการ จากความคิดเดิมเป็นความคิดใหม่ เมื่อนั้นการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญจึงจะได้ผลสูงสุด
ความคิดเดิมมุ่งไปที่การดูว่าครูมีวิธีสอนที่ทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเน้นการคิดเอง ปฏิบัติเอง แต่ความคิดใหม่ความสำเร็จอยู่ที่ผลลัพธ์ของผู้เรียน คือผู้เรียนทุกคนมีผลการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามความมุ่งหมายของหลักสูตร แม้ผู้เรียนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน แต่ครูมีฝีมือที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุผลตามที่พึงปรารถนาได้
ความคิดเดิมเชื่อว่า ผู้เรียนมีความสามารถต่างกันจึงมีผลการเรียนไม่เท่ากัน แต่ความคิดใหม่ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เท่ากัน ถ้าครูจัดวิธีการเรียนให้เหมาะกับความสามารถของเขา
ความคิดเดิม ผู้เรียนเรียนรู้จากการอ่าน การฟัง การฝึก และการจดจำ แต่ความคิดใหม่ ผู้เรียนเรียนรู้จากได้รับประสบการณ์จากแหล่งต่าง ๆ จากการค้นคว้า ทดลอง ปฏิบัติ สอบถามผู้รู้ วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
ความคิดเดิม ผลการเรียนคือความรู้ที่แสดงออกด้วยการจดจำความจริง กฎ เกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นเนื้อหา แต่ความคิดใหม่คือความสมดุลของความรู้ ความคิด ความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้ การแก้ปัญหา การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นต้น
ความคิดเดิม ครูมีกระบวนการสอนที่เป็นมาตรฐานตามตัวใช้กับผู้เรียนทุกคน แต่ความคิดใหม่ ครูรู้จักจุดเด่นจุดด้อยผู้เรียนรายบุคคล ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย
ความคิดเดิม ปล่อยให้เด็กทำกิจกรรมเรียนรู้ตามลำพัง ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ความคิดใหม่ครูทำหน้าที่พี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ ร่วมวางแผน ติดตามผลการทำกิจกรรม
ความคิดเดิม การวัดผลประเมินผลมีจุดอ่อนในการยึดเพียงเนื้อหาตามตำรา แต่ความคิดใหม่เน้นการติดตามผลการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคลตลอดเวลา ใช้วิธีการวัดและการประเมินมีหลายอย่าง ทั้งการประเมินจากพฤติกรรม ผลงาน ข้อสอบ เป็นต้น
หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ที่ความเป็นครูมืออาชีพที่มุ่งมั่น คิดค้น แสวงหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีความสำเร็จในการเรียนรู้เต็มศักยภาพ ครบถ้วนตามมาตรฐาน โดยใช้พื้นฐานของความรักและความเมตตาที่ครูมีต่อผู้เรียนทุกคนอย่างแท้จริง
ขอขอบคุณกับบทความดี ๆ แบบนี้ ที่ได้วิเคราะห์ออกมาให้เห็นในแง่มุมต่าง ๆ หวังว่าสาระที่ผู้อ่านได้รับจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางให้กับตัวเองนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนการสอน
หมายเลขบันทึก: 133600เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2007 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท