งานวิจัย /ประเมินโครงการ : การติดตามและประเมินโครงการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองและยั่งยืนนิมิตรวมใจ จังหวัดร้อยเอ็ด


การติดตามและประเมินโครงการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองและยั่งยืนนิมิตรวมใจ จังหวัดร้อยเอ็ด

      ผมได้โอกาสได้ร่วมประเมินโครงการกับ ผศ.ดร ฉลาด จันทรสมบัติ :  การติดตามและประเมินโครงการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองและยั่งยืนนิมิตรวมใจ จังหวัดร้อยเอ็ด  ผมอยากนำเสนอผลประเมินโครงการ เพื่อจะเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชน หรือแง่คิดแก่นักวิชาการ  ทุกคนครับ เพราะ ถือว่าชุมชนให้ความรู้ หรือเป็นขุมทรัพย์ทางความรู้ก็ว่าได้..

สรุปผลการประเมินโครงการ ดังนี้

  1.  ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนและเป็นพื้นที่พึ่งตนเอง และยั่งยืนนิมิตรวมใจ ระดับอำเภอ
   1.1  ด้านการมีส่วนร่วม  ชุมชนมีการประชุมทุกเดือน เมื่อได้รับข่าวสารมาจากหน่วยงานราชการทางอำเภอ  องค์การบริหารส่วนตำบล  มีลงบัญชีรายชื่อสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทุกครั้งเป็นลายลักษณ์อักษร  มีการร่วมคิดร่วมตัดสินใจ  และหาแนวทางป้องกันร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันในทุกเรื่อง  โดยการยกมือลงความเห็นเสียงส่วนใหญ่และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบโดยชัดเจน  ด้านการมีส่วนร่วมแต่ละหมู่บ้านจะมีส่วนร่วมมากน้อยที่แตกต่างกันตามระดับเกณฑ์การดำเนินงานหมู่บ้าน  A , B  และ C ตามลำดับ  คือหมู่บ้านระดับดี (A)  จะมีระดับการมีส่วนร่วมมากกว่าหมู่บ้านในระดับอื่นๆ  ทั้งนี้เพราะการดำเนินงานในแต่ละหมู่บ้านจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป  แต่เมื่อมองถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาและการดำเนินงานในชุมชนทุกชุมชนยังมีความเห็นว่าการมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชน
   1.2  ด้านภาวะผู้นำ  จากการสนทนากลุ่มกับชุมชน ผู้นำที่ต้องการของชาวบ้านโดยสรุป คือ  เป็นคนดี  มีความเสียสละ  มีความเป็นธรรม  เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชน  ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  ผู้นำที่เป็นทางการจะมีบทบาทในการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนผู้ปกครองและเด็กในโครงการเข้าร่วมกิจกรรม  หรือนัดหมายการเข้าร่วมกิจกรรม  ซึ่งจากการประเมิน พบว่า ด้านภาวะผู้นำเป็นอีกด้านหนึ่งที่ทุกชุมชนมีผู้นำที่ตรงกับความต้องการชองสมาชิกสามารถทำงานและประสานงานที่ดีในการพัฒนาชุมชนได้ แต่ยังค่อนข้างที่จะมีเพียงผู้นำที่เป็นทางการเท่านั้นส่วนผู้นำที่ไม่เป็นทางการ (อาสา)  ยังมีไม่ครบทุกหมู่บ้าน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างและค้นหาผู้นำที่มีคุณสมบัติดังกล่าวในการร่วมพัฒนาชุมชนให้มีมากขึ้นต่อไป
   1.3  ด้านโครงสร้างกลุ่มองค์กรชุมชน  การดำเนินงานทุกชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนที่หลากหลายในชุมชน ซึ่งมีความสอดคล้องกับบริบทของชุมชนในแต่ละชุมชน แต่บางชุมชนอาจเป็นการจัดตั้งโครงสร้างองค์กรแบบหลวมๆ  ไม่มีกลุ่มบุคคลรับผิดชอบที่ชัดเจนบ้างแต่ไม่มากนัก แต่ในชุมชนมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกที่ชัดเจน ส่วนมากเป็นกลุ่มองค์กรทางเศรษฐกิจเป็นหลัก  กลุ่มองค์กรที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  จะมีไม่ครอบคลุมในทุกหมู่บ้านส่วนมากจะมีเฉพาะในหมู่บ้านระดับ (A)  และหมู่บ้านระดับ (B)  ส่วนหมู่บ้านระดับ (C)  จะไม่มีกลุ่มองค์กรเลย  นอกจากนี้กลุ่มองค์กรดำเนินกิจกรรมก็ยังไม่ต่อเนื่อง  เพราะโครงสร้างกลุ่มองค์กรชุมชนส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐเป็นหลัก  คนในชุมชนมีส่วนร่วมอยู่ในระดับที่น้อย 
   1.4  ด้านการประเมินสภาพปัญหา  ทุกชุมชนมีการประเมินปัญหาของชุมชนร่วมกันโดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อน  เช่น  ทำแผนแม่บทชุมชน แผนพัฒนาชุมชน 3- 5 ปี ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสมาชิกในชุมชนให้ยั่งยืน มีการประเมินอดีตของชุมชน แต่การขับเคลื่อนโดยชุมชนเองส่วนมากจะเห็นในหมู่บ้านระดับ (A)  ซึ่งจะมีรูปแบบการดำเนินงานที่เด่นและแตกต่างอย่างชัดเจนกับหมู่บ้านอื่น  โดยเฉพาะขั้นตอนการคิด  วางแผน  และวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขแต่ส่วนมากจะเป็นการประชุมหารือกันผ่านเวทีการประชุมประจำเดือน  ยังไม่มีการจัดเวทีเพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินงานโครงการฯ โดยตรงและที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการขาดการจดบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรในทุกหมู่บ้านประกอบกับแผนที่เกิดขึ้นจากการระดมของคนในชุมชนเองยังขาดการผักดันไปสู่เชิงนโยบายขององค์กรภาครัฐ  และไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง  การดำเนินงานยังยึดติดอยู่กับนโยบายขององค์กรภายนอกที่เป็นเจ้าของทุนมากกว่าความต้องการของชุมชน
      1.5  ด้านการระดมทุน  ส่วนใหญ่ทุนภายในชุมชนมาจากการระดมในรูปของหุ้น  และสมาชิกในชุมชนระดมทุนในลักษณะแรงงาน  วัสดุอุปกรณ์  วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตของกลุ่มองค์กร  โดยส่วนมากจะเป็นทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น  องค์การบริหารส่วนตำบล  ให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐาน  อาชีพเสริม  สำนักงานเกษตรอำเภอส่งเสริมอาชีพฝึกทักษะ  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ  ส่งเสริมอาชีพฝึกทักษะ  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ  ให้ความรู้โรคภัยไข้เจ็บการป้องกันเบื้องต้น  มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยโดยโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  จะส่งเสริมอาชีพฝึกทักษะอาชีพ  ทุนการศึกษาเด็ก อบรมศึกษาดูงาน  แล้วนำไปสู่การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง   ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพในด้านการระดมทุนที่ดีในระดับหนึ่ง  เช่น บ้านโนนจาน  บ้านหนองส่วย  ตำบลโนนสง่า  บ้านหนองมะเขือ  บ้านโนนท่อน  ตำบลสระบัว  บ้านแสนสี  บ้านค้อ  ตำบลดอกล้ำเป็นต้น สิ่งที่ทุกหมู่บ้านได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย คือ  การส่งเสริมด้านการศึกษา  ส่วนการสนับสนุนกลุ่มอาชีพยังไม่ครอบคลุมทุกหมู่บ้านโดยเฉพาะหมู่บ้านระดับ (C) 
   1.6  ด้านทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์  จุดเด่นของชุมชนที่สำคัญที่สุดในด้านทักษะการคิดวิเคราะห์ของทุกชุมชน คือ ชุมชนมีการประชุมร่วมกันกับสมาชิกอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เมื่อได้รับข่าวสารมาจากหน่วยงานราชการ  อำเภอ  องค์การบริหารส่วนตำบล  มีลงบัญชีรายชื่อสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง มีการร่วมคิด  ตัดสินใจ  และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันในทุกเรื่อง  โดยส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการยกมือลงความเห็นเสียงเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งจากการประเมิน พบว่า หมู่บ้านที่มีศักยภาพในด้านทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดีในทุกหมู่บ้านแต่ในบางหมู่บ้านไม่สามารถผักดันไปสู่เชิงนโยบายหรือประเด็นสาธารณะได้  เนื่องจากขาดผู้นำในการเปลี่ยนแปลงที่อาสาเข้ามาขับเคลื่อนงานเพื่อส่วนร่วมอย่างจริงจัง
   1.7  ด้านการเชื่อมโยงกับเครือข่าย  การดำเนินงานพัฒนาในแต่ละชุมชนมีการประสานงานจากหน่วยงานภาครัฐ  และองค์กรเอกชนเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน  การส่งเสริมอาชีพฝึกทักษะ ทุนการศึกษา จากหน่วยงานภาครัฐ  คือ  องค์การบริหารส่วนตำบล  สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ   ธนาคารเพื่อการเกษตร สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและภาคเอกชน  คือ   มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประทศไทย    เป็นต้น แต่บางชุมชนยังเป็นการเชื่อมโยงแบบหลวมๆ  ยังไม่ชัดเจนมากนักและส่วนใหญ่ยังเป็นการเชื่อมโยงกันภายในชุมชนเป็นหลัก  ส่วนประโยชน์ที่ได้รับจากการเชื่อมโยงคือการที่สมาชิกเข้าใจบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน  ไม่เกิดการซ้ำซ้อนในการทำงานระหว่างเครือข่าย  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในและนอกชุมชน  มีการบูรณาการงบประมาณ  และประสานแผนของหน่วยงานต่างๆ  เข้าด้วยกัน  เช่น  การทำปุ๋ยอินทรีย์  กลุ่มเลี้ยงโค  เลี้ยงกบในบ้านหนองมะเขือ  สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกันเกิดความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ด้านการเชื่อมโยงเครือข่าย พบว่า เกือบทุกหมู่บ้านยังค่อนข้างที่จะอยู่ในระยะการพัฒนากลุ่มในชุมชนเป็นหลักการเชื่อมโยงเครือข่ายกิจกรรมกับภายนอก  จึงยังค่อนข้างที่มีอยู่ในระดับที่น้อย
   1.8  ด้านบทบาทของหน่วยงานสนับสนุน  หน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการหนุนเสริมกระบวนการทำงานในหมู่บ้านเป้าหมายจะมี  2  กลุ่มใหญ่ๆ  คือ  หน่วยงานภาครัฐ  ได้แก่  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ  สำนักงานเกษตรอำเภอ  ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น  เช่น  กลุ่มด้านเงินทุน  กลุ่มอาชีพ  และหน่วยงานองค์กรภาคเอกชนที่สำคัญคือโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  รูปแบบการดำเนินงานของทั้งสองกลุ่มจะมีความแตกต่างกันออกไปตามนโยบายหรือภารกิจขององค์กรนั้น  แต่การเป้าหมายหลักของทั้งสองกลุ่มคือ  การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ  ฝึกอบรม  ศึกษาดูงาน  และสนับสนุนเงินทุนในบางครั้ง  เน้นไปที่การพัฒนาให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้  
   1.9 ด้านความสามารถในการพัฒนา  การดำเนินงานด้านการพัฒนาในหมู่บ้านเป้าหมายทุกหมู่บ้านยังต้องการองค์กรที่ปรึกษาจากหน่วยงานภายนอกให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง  เพราะทุกหมู่บ้านยังเคยชินกับการเป็นผู้รับการพัฒนาและรูปแบบกิจกรรมที่หน่วยงานต่างๆ  นำเข้าไปจะเป็นกิจกรรมที่เคยดำเนินการประสบผลสำเร็จในพื้นที่อื่นๆ  แต่ขาดการคิดวิเคราะห์ถึงความเหมาะสม  สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่  จึงไม่นำไปสู่การเกิดกระบวนการเรียนรู้  คิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ  กิจกรรมเด่นๆ  ที่ประทับใจของชุมชนส่วนมากจะเป็นการดำเนินงานด้านกิจกรรมเงินทุนและสวัสดิการ 
   1.10  ด้านองค์ความรู้เด่นในชุมชน  ชุมชนส่วนใหญ่จะมีองค์ความรู้เด่นอยู่ทุกหมู่บ้านขึ้นอยู่กับบริบทชุมชน ซึ่งมีความเหมือนและความแตกต่างกันในแต่ละชุมชน  แต่องค์ความรู้เด่นๆ  ที่ทุกหมู่บ้านมีคล้ายๆ  กันคือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้กับการประกอบอาชีพแบบดั้งเดิม  เช่น  การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน  การเลี้ยงกบ  เลี้ยงปลาในกระชังแทนการเลี้ยงแบบธรรมชาติ  และที่เห็นเด่นชัดในทุกหมู่บ้านคือ  การบริหารจัดการกลุ่มองค์กรด้วยสัจจะวาจา  การไก่เกี่ยข้อพิพากด้วยระบบประณีประนอมยอมความ  ทำให้การบริหารจัดการกลุ่มดำเนินไปอย่างเป็นระบบไม่เคยมีกรณีข้อพิพากทางกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินงานของกลุ่ม 
   1.11  ด้านการจัดการความรู้ของของกลุ่มและองค์กรชุมชน  การจัดการความรู้ของกลุ่มและองค์กรชุมชนส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านที่กำลังพัฒนา  การจัดการความรู้ของชุมชนจึงยังไม่ค่อยมีระบบการจัดการความรู้และการถ่ายทอดความรู้ที่เป็นระบบมากนัก เป็นความรู้ที่อยู่ในตัวคนเป็นหลัก(Tacit Knowledge)ยังไม่ได้มีการจัดเก็บไว้ในเอกสารที่ชัดเจน(Explicit Knowledge) แต่ชุมชนยังมีจุดเด่นอยู่ในเกือบทุกชุมชน คือ ชุมชนมีผู้นำที่เข้มแข็ง  มีวิสัยทัศน์กว้างไกล  รู้จักนำหลักความพอเพียงมาใช้ในหมู่บ้านและทำเป็นตัวอย่างชาวบ้านคอยแนะนำและกระตุ้นให้เกิดความรู้ โดยชาวบ้านซึมซับความต้องการไปทีละนิดในการเปลี่ยนความคิด และพัฒนาตัวเองไปด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถในการจัดการความรู้ที่ดีได้ในอนาคตส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้  สรุปผลการเรียงลำดับปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ชุมชนมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่ชุมชนมีและควรมีการพัฒนาให้มากขึ้นเพื่อส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไปสามารถสรุปและเรียงลำดับตามความสำคัญได้ดังนี้  ด้านการมีส่วนร่วม  ด้านภาวะผู้นำ  ด้านบทบาทของหน่วยงานสนับสนุน  ด้านองค์ความรู้เด่น  และด้านการจัดการความรู้ขององค์กรชุมชน
  2.  ผลการประเมินปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนและเป็นพื้นที่พึ่งตนเอง และยั่งยืนนิมิตรวมใจ ระดับตำบล
   2.1  ตำบลดอกล้ำ
    2.1.1  ด้านการมีส่วนร่วม  ทุกหมู่บ้านจะมีระดับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอยู่ในระดับมากต่อประเด็นสาธารณะ  ทั้งในส่วนของการร่วมคิด  ร่วมปฏิบัติ  และร่วมรับผิดชอบ  จึงส่งผลให้หมู่บ้านเหล่านี้จะมีกิจกรรมการดำเนินงานที่ต่อเนื่องทั้งในส่วนของกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  และกิจกรรมที่ต่อเนื่องและเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนของคนในชุมชนเอง  เกิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนของคนในชุมชนทั้งที่เป็นทางการคือการประชุมประจำเดือน  และไม่เป็นทางการคือการพูดคุยกันในกลุ่มองค์กรแตกต่างจากหมู่บ้านในระดับอื่นๆ  อย่างเห็นได้ชัดเจน  เช่น  บ้านค้อ  บ้านแสนสี  ซึ่งจะมีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันที่หลากหลายและต่อเนื่อง
    2.1.2  ด้านภาวะผู้นำ  ภาวะผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการดำเนินงานของชุมชนอยู่ในระดับมาก  โดยเฉพาะผู้นำที่เป็นทางการซึ่งถือว่ามีความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานพัฒนาในชุมชน  นอกจากนี้ยังพบว่าในการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  หากหมู่บ้านไหมมีตัวแทนชุมชน  หรือที่เรียกว่า  “อาสา”  ประจำหมู่บ้านเข้าไปบริหารงานในโครงการจะส่งผลให้หมู่บ้านดังกล่าวจะมีระดับการดำเนินงานอยู่ในระดับดี  (A)  นอกจากนี้แล้วการที่จะทำให้การดำเนินงานโครงการและกิจกรรมพัฒนาในหมู่บ้านดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ผู้นำทางการและผู้นำทางธรรมชาติถือว่ามีความสำคัญมาก  หากหมู่บ้านใดมีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ  เสียสละ  มีความซื้อสัตย์  สุจริตและมีคุณธรรม  เป็นผู้อำนวยและเอื้อประโยชน์ให้เกิดเวทีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างลูกบ้านกับหน่วยงานภายนอกก็จะส่งผลให้การดำเนินงานภายใต้โครงการของชุมชนอยู่ในระดับดีกว่าหมู่บ้านอื่นๆ  เช่น  บ้านโนนจาน  บ้านหนองส่วย  ตำบลโนนสง่า  บ้านหนองมะเขือ  บ้านโนนท่อน  ตำบลสระบัว  บ้านแสนสี  บ้านค้อ  ตำบลดอกล้ำ  ซึ่งทุกหมู่บ้านมีผู้นำที่ตรงตามลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น
    2.1.3  ด้านโครงสร้างกลุ่มองค์กรชุมชน  จะมีตัวบ่งชี้ความสำเร็จอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากตำบลอื่นๆ  คือ  การมีกลุ่มองค์กร  และกิจกรรมที่หลากหลายซึ่งรูปแบบกิจกรรมก็จะแตกต่างกันออกไปตามศักยภาพของพื้นที่  และความต้องการของชุมชนและเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนของทั้งหน่วยงานภาครัฐ  และการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน  ซึ่งรูปแบบกิจกรรมที่สนับสนุนก็จะมีทั้งแตกต่างกันและมีการบูรณาการเข้าด้วยกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้  หน่วยงานภาครัฐจะเน้นไปที่  การส่งเสริมกลุ่มอาชีพ  และกลุ่มเกี่ยวกับสถาบันทางการเงินชุมชน   เช่น  กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มกองทุนเงินต่างๆ  ส่วนหน่วยงานภาคเอกชนโดยเฉพาะมูลนิธิศุภนิมิตฯ  จะเน้นการส่งเสริมกิจกรรมด้านการศึกษาของเด็ก  และการประกอบอาชีพเสริมของผู้ปกครอง  เช่น  การเพาะเห็ดฟาง  เลี้ยงกบ  เลี้ยงปลา  เลี้ยงโคเนื้อ  ซึ่งหมู่บ้านในระดับดีจะมีกลุ่มองค์กรดังกล่าวและมีการดำเนินงานอย่างชัดเจน 
    2.1.4  ด้านการประเมินสภาพปัญหา  การดำเนินงานของหมู่บ้านตำบลดอกล้ำ  จะมีรูปแบบการดำเนินงานที่เด่นและแตกต่างอย่างชัดเจนกับตำบลอื่น  โดยเฉพาะขั้นตอนการคิด  วางแผน  และวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพราะเป็นตำบลนำร่อง  แต่ส่วนมากจะเป็นการประชุมหารือกันผ่านเวทีการประชุมประจำเดือน  ยังไม่มีการจัดเวทีเพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินงานโครงการโดยตรงและที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการขาดการจดบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรในทุกหมู่บ้านประกอบกับแผนที่เกิดขึ้นจากการระดมของคนในชุมชนเองยังขาดการผักดันไปสู่เชิงนโยบายขององค์กรภาครัฐ  และไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจังการดำเนินงานยังยึดติดอยู่กับนโยบายขององค์กรภายนอกที่เป็นเจ้าของทุนมากกว่าความต้องการของชุมชน
    2.1.5  ด้านการระดมทุน  ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะส่งผลถึงความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง  ในส่วนของการดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  พบว่า  หมู่บ้านที่ประสบผลสำเร็จในระดับ A  ในตำบลมีการระดมทุนภายในเพื่อการดำเนินงานหนุนเสริมหน่วยงานภายนอกอยู่ในระดับสูง  เช่น  แรงงาน  เงินหุ้น  วัสดุอุปกรณ์  ที่ใช้ในการดำเนินงานของกลุ่มองค์กร  ได้แก่  ไม้ไผ่  หญ้าคา  ใช้ทำโรงเรือนเพาะเห็ด  นอกจากนี้ในบางกลุ่มองค์กร  บางหมู่บ้าน ยังมี่การระดมเงินทุนสมบทเพื่อเป็นงบดำเนินการและกระตุ้นให้สมาชิกรู้สึกถึงความเป็นเจ้ากิจการร่วมกันอีกด้วย
    2.1.6  ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์  ชุมชนมีการประชุมร่วมกันกับสมาชิกอย่างต่อเนื่องทุกเดือน   ซึ่งจากการประเมิน พบว่า หมู่บ้านที่มีศักยภาพในด้านทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดีในระดับหนึ่ง  เช่น  บ้านดอกล้ำมีความสนใจที่จะผักดันแผนกิจกรรมของกลุ่มไปสู่เชิงนโยบายขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น  และมีการบูรณาการแผนไปสู่การปฏิบัติกับหน่วยงานภาคีต่างๆ  ที่ดำเนินงานในชุมชน 
    2.1.7  การเชื่อมโยงกับผู้อื่น  ถือว่าเป็นจุดเด่นของตำบลดอกล้ำ มีการเชื่อมโยงภาคีในการทำงานทั้งในระดับเครือข่ายกลุ่มองค์กร  เครือข่ายหมู่บ้าน  และเครือข่ายในระดับอำเภอ  โดยมีหมู่บ้านแม่ข่ายในเรื่อง  เช่น  เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์  เครือข่ายกลุ่มปุ๋ยชีวภาพ    นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับเครือข่ายกับหน่วยงานและองค์ภาครัฐในการหนุนเสริมความรู้ด้านวิชาการ  และงบประมาณ  เช่น  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ  สำนักงานเกษตรอำเภอ  และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในพื้นที่คือ  ธนาคารพาณิชย์และแหล่งเงินทุนต่างๆ  ซึ่งปัจจัยต่างๆ  เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงจุดแข็งของชุมชนที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้
    2.1.8  บทบาทของหน่วยงานสนับสนุน  หน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการหนุนเสริมกระบวนการทำงานในตำบลดอกล้ำจะมี  2  กลุ่มใหญ่ๆ  คือ  หน่วยงานภาครัฐ  ได้แก่  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ  สำนักงานเกษตรอำเภอ  และหน่วยงานองค์กรภาพเอกชนที่สำคัญคือโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  รูปแบบการดำเนินงานของทั้งสองกลุ่มจะมีความแตกต่างกันออกไปตามนโยบายหรือภารกิจขององค์กรนั้น  แต่การเป้าหมายหลักของทั้งสองกลุ่มคือ  การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ  ฝึกอบรม  ศึกษาดูงาน  และสนับสนุนเงินทุนในบางครั้ง  เน้นไปที่การพัฒนาให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ 
    2.1.9  ความสามารถในการจัดการงานพัฒนา  หมู่บ้านพร้อมที่จะรับการพัฒนาทุกหมู่บ้าน  แต่ยังไม่มีหน่วยใดเข้าไปวางแผนระยะกลาง  (3-5 ปี)หรือระยะยาว  (6-10 ปี)พัฒนาอย่างจริงจัง  ทั้งที่ผู้นำชุมชน  ชาวบ้านพร้อมรับการพัฒนาเพราะเป็นหมู่บ้านขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ คนในหมู่บ้านส่วนมากเป็นเครือญาติพี่น้องกัน  จึงมีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาและค่อนข้างที่จะมีความสามารถที่จะจัดการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสมาชิกในชุมชนมีความคิดที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองอย่างต่อเนื่องแต่ปัจจุบันยังขาดการสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    2.1.10 องค์ความรู้เด่น  การดำเนินงานที่ผ่านมาในพื้นที่ยังไม่มีองค์ความรู้เด่นๆ  ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่มีการดำเนินกิจกรรมกลุ่มองค์กรที่ชัดเจน  จะพอมีบางในส่วนของหมู่ที่อยู่ในระดับดี  เช่น  การเรียนรู้ค้นหาสูตรการเพาะเห็ดฟางให้ได้คุณภาพด้วยการลองถูกลองผิด  บ้านหนองมะเขือ  คิดค้นหาสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่บ้านโนนท่อน  เพราะการดำเนินงานที่ผ่านมาส่วนมาจะเน้นที่การส่งเสริมการศึกษาของเด็ก  โดยผ่านกลไกของโรงเรียนและสถานศึกษาในพื้นที่เป็นหลัก
    2.1.11  การจัดการความรู้ของกลุ่มองค์กรชุมชน  ในระยะแรกชุมชนยังไม่มีความมั่นใจต่อแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิฯ  จึงส่งผลให้แต่ละหมู่บ้านมีครอบครัวในอุปการะจำนวนน้อย  แต่หลังจากมีการดำเนินงานไประยะหนึ่งชุมชนจึงให้ความไว้วางใจและสนใจให้ลูกหลานเข้าร่วมโครงการมากขึ้น  และให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของโครงการฯ  นอกจากนี้ในบางหมู่บ้านยังมีการบูรณาการแผนและประสานงบประมาณจากหน่วยงานอื่นๆ  ในพื้นที่มาหนุนเสริมกิจกรรมของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  อีกทางหนึ่ง  ส่งผลให้งานพัฒนาในหมู่บ้านมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่อยู่ในระดับดี  A  เช่น  บ้านค้อ  บ้านแสนศรี  เป็นต้น
   2.2  ตำบลสระบัว 
    2.2.1  ด้านการมีส่วนร่วม  ชุมชนให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะเป็นอย่างดี  แต่ในการดำเนินงานของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  ชุมชนมีส่วนร่วมอยู่ในระดับที่น้อย  โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่อยู่ระดับต้องปรับปรุง  การร่วมคิดร่วมวางแผนในการดำเนินงานจะน้อยกว่าหมู่บ้านอื่นๆ  ทั้งนี้เพราะโครงสร้างการบริหารงาน  และกลไกการทำงานของโครงการเน้นการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเด็กและโรงเรียนมากกว่าชุมชน  ประกอบกับการประสานงานโดยผ่านตัวแทนชุมชน  คือ  “อาสา”  อำนาจการตัดสินใจบางอย่าง  จึงขาดการประชุมหารือร่วมกับชุมชน  ส่งให้ปัญหาและความต้องการของชุมชนในบางเรื่องไม่ได้รับการนำไปสู่การแก้ไขนำไปสู่การให้ความสนใจเข้าร่วมกาจกรรม  แต่ชุมชนก็ยังสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมหากมีโอกาสจึงถือได้ว่าชุมชนยังมีส่วนร่วมอยู่ในระดับที่น้อย  ในการร่วมคิดร่วมวางแผนดำเนินงาน  เช่น  บ้านเขวาโคก
    2.2.2  ด้านภาวะผู้นำ  จะมีการแต่งตั้งผู้ครองเข้ามาเป็นผู้ประสานงานระหว่างโครงการกับชุมชน  เรียกว่าอาสา ซึ่งเป็นตัวเชื่อมข้อมูลข่าวสารระหว่างเจ้าหน้าที่โครงการกับชุมชนและเด็ก แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมาชุมชนไหนมีอาสาที่มีความรู้ความสามารถและมีภาวะผู้นำสูงก็จะส่งผลให้งานโครงการในหมู่บ้านดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีกิจกรรมการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง  เช่น  ในส่วนของบ้านดอนดู่ไม่มีอาสาส่งผลให้ในหมู่บ้านไม่มีกิจกรรมในส่วนของผู้ปกครอง  หรือครอบครัวจะมีเฉพาะกิจกรรมของเด็ก  การดำเนินงานในหมู่บ้านที่เข้าข่ายในลักษณะนี้  การดำเนินงานจะประสานผ่านผู้นำชุมชนที่เป็นทางการเพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งข่าว  หรือนัดหมายในการพบปะในบางโอกาส  และในหมู่บ้านที่มีการเปลี่ยนผู้นำใหม่จะไม่ค่อยมีบทบาทในการดำเนินงานโครงการฯ  เช่น  บ้านบัวขาว
    2.2.3  ด้านโครงสร้างกลุ่มองค์กรชุมชน  จะมีอยู่สองลักษณะคือ  กลุ่มกิจกรรมที่เกิดจากการจัดตั้งและส่งเสริมโดยหน่วยงานของภาครัฐ  เช่น  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ  สำนักงานเกษตรอำเภอ  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  เช่น  กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มแม่บ้านแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร  กลุ่มกองทุนและสวัสดิการชุมชน  ซึ่งจะมีอยู่ในทุกหมู่บ้าน และอีกรูปแบบหนึ่งเป็นกลุ่มองค์กรที่จัดตั้งหรือส่งเสริมโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  เช่น  เพาะเห็ดฟาง  เลี้ยงปลา  เลี้ยงกบ  เลี้ยงโค  ซึ่งจะมีไม่ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน 
    2.2.4  ด้านการประเมินสภาพปัญหา  กิจกรรมที่ดำเนินในแต่ละหมู่บ้านของตำบลสระบัวจะมีอยู่  2  ประเด็น  คือ  กิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก  และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองหรือครอบครัวกิจกรรมทั้งสองอย่างจะแยกกันอย่างเห็นได้ชัด  เช่น  กิจกรรมเกี่ยวกับเด็กจะมีทางโรงเรียนเป็นผู้มีบทบาทและกลไกในการขับเคลื่อนงานครอบคลุมทุกหมู่บ้านเป้าหมาย  ส่วนกิจกรรมของผู้ปกครองจะเน้นเรื่องอาชีพ รูปแบบกิจกรรมจะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว  กลุ่มอาชีพ  และแผนงานกิจกรรมจะมีรูปแบบที่คล้ายกัน  การดำเนินกิจกรรมส่วนมากจะไม่ค่อยยั่งยืนทำพอหมดงบประมาณสนับสนุนแล้วก็จบไปไม่มีการสรุปบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข 
    2.2.5  ด้านการระดมทุน  ตำบลสระบัวเป็นตำบลขาดใหญ่มีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก  และส่วนมากจะมีหมู่บ้านในระดับต้องปรับปรุง  C  เป็นส่วนใหญ่  งบประมาณสนับสนุนกลุ่มองค์กร  และกลุ่มอาชีพโดยตรงจากโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  จะมีบ้างก็จะเป็นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้  เช่น  การอบรมหรือศึกษาดูงาน  จึงส่งผลให้ชุมชนยังไม่มีการระดมทุนในการดำเนินงานที่เกิดจากการส่งเสริมของมูลนิธิศุภนิมิตฯ  ในหลายหมู่บ้าน 
    2.2.6  ด้านทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์  ส่วนมากจะไม่มีกิจกรรมที่ไม่ต่อเนื่องและบางหมู่บ้านยังไม่มีอาสาสมัครในชุมชนทำให้ไม่ค่อยมีกิจกรรม  และในบางหมู่บ้านไม่มีกิจกรรมเลย  ส่งผลให้ไม่ค่อยมีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มเป้าหมาย  ในส่วนของผู้ปกครองจะมีการพบปะกันเฉพาะในวันคริสต์มาสของแต่ละปี  และในวันที่มีการแจกสิ่งของหรืออุปกรณ์การเรียนเท่านั้น นอกจากนี้ในชุมชนก็จะไม่ค่อยนำเรื่องเกี่ยวกับโครงการเข้ามาพูดคุยในเวทีระดับหมู่บ้าน  ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่สองอย่าง  คือ  กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการเมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนในหมู่บ้านยังมีน้อย  และชุมชนขาดการติดต่อและไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเนื่องจากไม่มีอาสาประจำหมู่บ้าน  เช่น  บ้านดอนดู่  บ้านอีถุน  บ้านบัวขาว  เป็นต้น
    2.2.7  ด้านการเชื่อมโยงกับผู้อื่น ที่ผ่านมามีการเชื่อมโยงกิจกรรมจากหน่วยงานองค์การบริหารส่วนตำบล  สำนักงานเกษตรอำเภอ  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ  มูลนิธิศุภนิมิตฯ  โดยโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเอง  และยั่งยืนนิมิตรวมใจ  และหน่วยงานภาคีการพัฒนาอื่นๆ  ทั้งภาครัฐและเอกชน  การดำเนินงานกับหน่วยงานต่างๆ  เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีด้วยหลักการความเป็นอยู่แบบพอเพียง  ซึ่งจะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้  และในบางหมู่บ้านก็มีการบูรณาการแผนงานของแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน  ทำให้การดำเนินงานมีความยืดหยุ่นเอื้อประโยชน์ให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องของคนในชุมชนและกลุ่มองค์กร
    2.2.8  ด้านบทบาทของหน่วยงานสนับสนุน  ส่วนมากมีจะหน่วยงานของภาครัฐ  คือ  องค์การบริหารส่วนตำบล  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ  สำนักงานเกษตรอำเภอ  รูปแบบการดำเนินงานจะเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในช่วงนั้นๆ  เช่น  การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ  ฝึกอบรม  ศึกษาดูงาน  และสนับสนุนเงินทุนในบางครั้ง  นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานพัฒนาองค์กรเอกชน  เช่น  มูลนิธิศุภนิมิตฯ  ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนไม่น้อยไปกว่าหน่วยงานของภาครัฐ  รูปแบบการดำเนินงานจะเน้นไปที่การพัฒนาให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้  โดยเน้นพัฒนาเด็กเป็นศูนย์กลางผ่านสถานศึกษาในชุมชน
    2.2.9  ความสามารถในการจัดการงานพัฒนา  ผลสำเร็จจากการดำเนินงานของโครงการที่มีต่อชุมชนที่เห็นเด่นชัดและเป็นรูปธรรมสามารถนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีตามเป้าหมาย  คือ  การส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก  และการสนับสนุนด้านการศึกษาของเยาวชน  ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวสามารถลดรายจ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน  นอกจากนี้เด็กยังมีโอกาสเข้าถึงการบริการด้านการศึกษาที่สูงขึ้น  เช่น  การเข้าค่ายทักษะชีวิตร่วม

หมายเลขบันทึก: 132549เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2007 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่พยายามทำในประเด็นดีๆ เรื่องดีๆ ให้ท้องถิ่น ขอให้ทำต่อเนื่องเพื่อท้องถิ่นจะได้เจริญและเข้มแข็งด้วยตัวเอง ขอเป็นกำลังใจ ทุกคนในประเทศไทยต้องร่วมกันทำสิ่งดีๆให้กับสังคม ในโอกาส หน้าที่ และความสามารถที่ทำได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท