การหาความจำเป็นการจัดฝึกอบรม 2


การหาความจำเป็นการจัดฝึกอบรม 2

สาเหตุของลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นความจำเป็นหรือความต้องการที่จะต้องแก้ไขโดยการฝึกอบรม อาจเนื่องมาจากพฤติกรรมการทำงานในองค์การดังต่อไปนี้

1.       ปฏิบัติงานคั่งค้างไม่สำเร็จตามกำหนดเวลาตามแผนงาน

2.         หลายคนทำงานชนิดเดียวกัน แต่ปฏิบัติคนละวิธี ทำให้ผลงานไม่ได้มาตรฐาน     เดียวกัน

3.         ในการพิจารณาความดีความชอบ ปรากฏว่ามีบุคคลที่ไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก

4.         มีบันทึกเสนอขอซ่อมอุปกรณ์เครื่องมือบ่อย

5.         การปฏิบัติงานเหน็ดเหนื่อย งุ่มง่าม เกิดอุบัติเหตุและมีการสิ้นเปลืองมากเกินไป

6.         มีการบ่อไม่พอใจ มีการร้องทุกข์หรือเกิดการอึดอัดในการทำงาน

การจัดลำดับความจำเป็นในการอบรม

                   เมื่อได้สำรวจความจำเป็นในการฝึกอบรมแล้ว ย่อมจะทราบว่ามีพนักงานตำแหน่งใดระดับใดบ้างที่สมควรจะได้รับการพิจารณา แต่การที่จะดำเนินการฝึกอบรมพนักงานที่อยู่ในข่ายของความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทั้งหมด ในเวลาเดียวกันหรือในช่วงเวลาหนึ่ง (ของปีงบประมาณ) นั้น อาจจะทำไม่ได้ ทั้งนี้เพราะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการเป็นต้นว่า งบประมาณที่จะใช้ในการนี้มีไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ดำเนินการมีจำนวนจำกัด โครงการบางโครงการยังหาผู้ที่รอบรู้มาให้การ        อบรมไม่ได้ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นจึงควรที่จะจัดลำดับความจำเป็นก่อนหลัง (Priority) ของแต่ละโครงการเอาไว้ โดยพิจารณาว่าโครงการใดที่มีความสำคัญยิ่งควรดำเนนการโดยเร่งด่วนก่อน โครงการใดที่มีความสำคัญน้อยลงมาหรือยังไม่จำเป็นที่จะต้องจัดทำในแผนงานนี้ อาจจะเลื่อนไปในแผนงานหน้าได้

                   ในการวิเคราะห์ความจำเป็นเร่งด่วนก่อนหลัง ควรจะคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้

                   1.  ผลเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับองค์การหรือส่วนรวม อาจจะได้แก่ปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าไม่รีบแก้ไขโดยวิธีฝึกอบรมจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อองค์การ หรือถ้าเป็นงานของราชการ อาจจะกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือผลประโยชน์ของประชาชน เช่น กรณีที่คาดว่าจะเกิดเหตุอุทกภัย ซึ่งถ้าไม่รีบหาทางป้องกันจะเกิดผลเสียหายต่อสาธารณชน ในกรณีนี้หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบจะต้องเตรียมป้องกันในการป้องกันนั้นวิธีหนึ่งที่จะต้องทำคือ การฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รู้ถึงปัญหาและวิธีการป้องกัน ซึ่งอาจจะได้แก่ การใช้เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เช่นนี้เป็นต้น

                   2.   โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่องค์การจะได้รับ ได้แก่ การวิเคราะห์ดูว่าโครงการฝึกอบรมนั้นๆ จะนำผลประโยชน์สูงสุด (Maximize profits) มาสู่องค์การมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ อาจจะให้ประโยชน์ทางด้านเพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่าย ให้ความปลอดภัยแก่พนักงานยิ่งขึ้น หรือเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการบริหารงาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งหลังจากคำนึงถึงผลได้ผลเสีย และเห็นว่าผลได้จะอำนวยประโยชน์อย่างมากมายแล้วก็ถือว่าโครงการดังกล่าวจัดอยู่ในลำดับความสำคัญ ควรที่จะดำเนินการได้

                   3.  โดยคำนึงถึงความจำเป็นขององค์การ ซึ่งความจำเป็นดังกล่าวอาจจะมีนัยไปในทางบวก (Positive) หรือทางลบ (Negative) ก็เป็นได้ ในทัศนะที่เป็นไปในทางบวกนั้น หมายถึงความก้าวหน้าขององค์การ ซึ่งอาจจะได้แก่การขยายตัวขององค์การเป็นเหตุให้มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ หรือนำเครื่องจักรกลที่ก้าวหน้ามาใช้ในการดำเนินงานในการนี้จำเป็นจะต้องฝึกอบรมพนักงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

                   สำหรับความจำเป็นในด้านลบ ได้แก่ การมองในทัศนะที่องค์การกำลังประสบภาวะวิกฤตซึ่งนำความเสื่อมโทรมมาสู่องค์การ ในการนี้จำเป็นจะต้องปรับปรุงองค์การอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อการอยู่รอดขององค์การ ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวอาจจะทำได้โดยการฝึกอบรมพนักงานบางระดับก็ได้

                   4.  เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายนอก การวิเคราะห์ลำดับความสำคัญข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นความจำเป็นที่มองจากสภาพแวดล้อมภายในองค์การอย่างไรก็ตาม ยังมีสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การบางอย่างซึ่งควรจะให้ความสำคัญ เช่น สภาพแวดล้อมทางด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะถ้าสภาพแวดล้อมนั้นๆ มีผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์การมาก ก็จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเป็นต้นว่า มีการออกกฏหมายให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการให้สินเชื่อการเกษตรในท้องถิ่นที่มีสาขาของธนาคารตั้งอยู่ ในกรณีเช่นนี้ หากธนาคารใดยังไม่เคยดำเนินงานด้านสินเชื่อการเกษตรมาก่อน ก็ต้องจัดหาพนักงานและฝึกอบรมให้มีความรู้ด้านการดำเนินงานสินเชื่อการเกษตรเพื่อให้สามารถเปิดบริหารด้านดังกล่าวให้สอดคล้องตามที่กฏหมายได้บัญญัติไว้

                   อนึ่ง ในการที่จะจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลังของโครงการฝึกอบรมแต่ละโครงการ หากมีโครงการที่มีความสำคัญทัดเทียมกันยากแก่การพิจารณาตัดสิน อาจจะให้น้ำหนัก (Weight) ความสำคัญของแต่ละปัจจัย โดยคำนึงถึงเป้าหมายขององค์การเป็นสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสิน

ประโยชน์ของการฝึกอบรม

                   การฝึกอบรมให้ประโยชน์ในการพัฒนาบุคคลและองค์การเป็นอันมาก เพราะนอกจากจะเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงเจตคติ ค่านิยมของผู้เข้ารับการอบรม ทำให้มีสมรรถภาพในการปฏิบัติงานดียิ่งขึ้นแล้ว การฝึกอบรมยังเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของงาน ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาในระดับต่างๆ ดังนี้

1.     ระดับพนักงาน  การฝึกอบรมจะมีประโยชน์ ดังต่อไปนี้

1.1      ช่วยส่งเสริมความรู้และความเข้าใจ ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าแก่ตัวพนักงานเอง ทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน

1.2      ช่วยลดอุบัติเหตุหรือการทำงานผิดพลาด เมื่อพนักงานเข้าใจระบบการทำงานที่ชัดเจนถูกต้อง

1.3      ช่วยทบทวนแนวความคิดและเจตคติ ทำให้เกิดความสนใจงานในหน้าที่จนเกิดความรักอาชีพของตน

1.4    ช่วยเสริมสร้างทักษะและความสามารถที่สูงขึ้น การทำงานจะประสบความสำเร็จด้วยความรวดเร็ว ก่อให้เกิดแรงเสริมและกำลังใจในการทำงาน

1.5      การมีโอกาสได้ Up date  และ Up Grade ตนเองจะทำให้ก้าวหน้าในตำแหน่งการงานในโอกาสต่อไป

2.    ระดับผู้บริหารคือผู้บังคับบัญชา การฝึกอบรมมีประโยชน์ ดังต่อไปนี้

2.1    ช่วยทำให้เกิดผลงานที่ดีขึ้น เมื่อตระหนักในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ

2.2    ช่วยลดปัญหาและแก้ไขงานที่ผิดพลาด งานมีคุณภาพมากขึ้น

2.3    ช่วยลดภาระในการปกครอง การบังคับบัญชา และการควบคุมการปฏิบัติงาน

2.4    ช่วยเสริมสร้างภาวะการเป็นผู้นำที่เก่งงาน เก่งคน และเก่งคิด

2.5    ประหยัดเวลา ไม่ต้องเสียเวลาในการสอนงาน

                   3.   ระดับหน่วยงานและองค์การ การฝึกอบรมมีประโยชน์ ดังต่อไปนี้

3.1    ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านแรงงาน การจ้างงานและการจ่ายค่าตอบแทนพนักงาน

3.2    ช่วยลดความสูญเสียวัสดุอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้านสาธารณูปโภคโดยรวมขององค์การ

3.3    ช่วยเพิ่มผลผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับองค์การ

3.4    ช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายในสำนักงาน

3.5    ช่วยลดอุบัติเหตุจากการทำงาน

สรุป

                   ความต้องการในการฝึกอบรม ความจำเป็นในการฝึกอบรม หรือความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรม (Training needs) หมายถึง อุปสรรค ปัญหา หรือข้อขัดข้องใดๆ ที่อาจจะแก้ไขได้ด้วยการฝึกอบรม ปัญหาหรือข้อขัดข้องใดๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรโดยที่การฝึกอบรมไม่อาจจะแก้ปัญหานั้นได้ เราจะไม่เรียกว่าเป็นความจำเป็นหรือความต้องการในการฝึกอบรม แต่อาจจะเป็นความจำเป็นความต้องการในอันที่จะต้องแก้ไขระเบียบหรือซื้อเครื่องมือใหม่ เพื่อทดแทนของเก่าที่บุบสลาย เป็นต้น ความจเป็นหรือความต้องการในการฝึกอบรมเป็นสิ่งกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมอันสำคัญ ดังนั้น ผู้กำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมจึงจำเป็นต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเสมอในการบริหารงานฝึกอบรมก็คือ การเอาปัญหาที่ไม่อาจจะแก้ได้โดยการฝึกอบรมมา ถือว่าเป็นความจำเป็นในการฝึกอบรมและจัดการฝึกอบรมขึ้นประการหนึ่ง และปัญหาบางปัญหาอาจจะแก้ได้โดยวิธีอื่นที่ได้ผลดีกว่า แต่กลับนำมาแก้โดยการฝึกอบรม ดังนั้น การรับผิดชอบในงานฝึกอบรมจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบถ่องแท้เสียก่อน ก่อนที่ดำเนินการแก้ปัญหาโดยการฝึกอบรม

                   การฝึกอบรมที่จัดดำเนินการอย่างเป็นระบบจะต้องจัดในลักษณะของวงจรการฝึกอบรม ซึ่งจะต้งอหาความจำเป็นหรือความต้องการในการฝึกอบรมก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อให้ทราบว่ามีปัญหา อุปสรรคหรือจัดข้องใดบ้างที่เกิดจขึ้นในองค์การและอาจแก้ไขได้ด้วยการฝึกอบรม สำหรับประเภทของความจำเป็นหรือความต้องการในการฝึกอบรม อาจแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ คือ พิจารณาวิธีการค้นหา พิจารณาจากตัวผู้ปฏิบัติงานในองค์การพิจารณาจากระยะเวลาในการจัดฝึกอบรม และพิจารณาศึกษาปัญหาที่แก้ไขได้ด้วยการฝึกอบรม

                   การวางแผนสำรวจหาความจำเป็นหรือความต้องการในการฝึกอบรมแยกออกได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ หาและรวบรวมข้อเท็จจริง วิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่หามาได้ และพิจารณาคัดเลือกปัญหาที่สามารถแก้ไขได้โดยการฝึกอบรม ในกรณีที่เงินงบประมาณมีจำกัด ต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของความต้องการในการฝึกอบรมที่สมเหตุสมผล

บรรณานุกรม
สุภาพร พิศาลบุตร.การพัฒนาบุคคลและการจัดฝึกอบรม.กรุงเทพ:พิมพ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวี.เจ.พริ้นติ้ง,2545
ดร.อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง. เทคนิคการจัดฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ. กรุงเทพ: พิมพ์ที่ ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2539
วิจิตร อาวกุล,การฝึกอบรมและการพัฒนา.โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: กรุงเทพ ,2540
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13194เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท