การเขียนวิทยานิพนธ์ : การสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์


การเตรียมก่อนขึ้นสอบถือว่ามีความสำคัญ ที่จะทำให้นิสิตมีความมั่นใจ

การสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์(Oral Thesis)

        การสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการหลังจากที่นิสิต  นักศึกษาได้วิเคราะห์ข้อมูล  แปลความ  ตีความ  เขียนรายงานการวิจัยตามรูปแบบของสถาบันกำหนด  เสนออาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์หรืออาจารย์ที่ปรึกษาปรับปรุงแก้ไขตามข้อชี้แนะของอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์จนเป็นที่พอใจจึงดำเนินการขอสอบปากเปล่าต่อไป  เพื่อให้การสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์สัมฤทธิ์ผลอย่างดี  ควรทำสรุปสาระสำคัญของผลการวิจัยและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะในการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ดังนี้
  ข้อปฏิบัติในการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์(Oral Thesis)
   1.  ก่อนขึ้นสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์(Oral Thesis)  นิสิต  นักศึกษาควรทำสรุปสาระสำคัญ ลงในแผ่นกระดาษแผ่นเดียว   ให้ครอบคลุมสาระสำคัญของการวิจัยทั้งหมด อาจใช้แผนผังความคิด  (Mind Mapping) หรือผังมโนทัศน์ (Concept Map) ในการสรุปสาระสำคัญของการวิจัยหรืออาจใช้คำย่อ สัญลักษณ์ และตารางช่วยให้สรุปอย่างเป็นระบบตามความจำเป็นได้ ส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ช่วยให้เข้าใจเรื่องที่วิจัยอย่างชัดเจน สามารถนำไปดูแล้วอธิบายการวิจัยได้อย่างกระชับและครบถ้วนโดยไม่ต้องเปิดอ่านในเล่มวิทยานิพนธ์ 
  2.  ก่อนสอบ นิสิต นักศึกษาต้องส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ให้คณะกรรมการสอบอ่าน ก่อนล่วงหน้า 1 สัปดาห์และ นิสิต  นักศึกษาต้องเตรียมใจในการแก้ไขงานอีกครั้งหนึ่ง โดยยึดข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบเป็นหลัก  และนิสิต  นักศึกษา  ควรเข้านอนหัวค่ำ พักผ่อนให้เพียงพออย่าเครียด เพื่อจะได้ตื่นแต่เช้าในวันรุ่งขึ้นด้วยความแจ่มใส ไม่ควรตื่นเต้นมากเกินไปจนนอนไม่หลับ
  3.  นิสิต  นักศึกษาควรมีการตรวจสอบหัวข้อทุกข้ออย่างละเอียด  ชัดเจน  รอบคอบ  รัดกุมในทุกส่วน (โดยทั่วไปมักประกอบไปด้วย  ภูมิหลัง  ความเป็นมาของการวิจัย  ความมุ่งหมาย  สมมติฐาน  (ถ้ามี)  ขอบเขต  นิยามศัพท์เฉพาะ  แนวคิด  ทฤษฎี  และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  วิธีดำเนินการวิจัย  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิเคราะห์ข้อมูล  สรุปผล  อภิปรายผล)  จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า  นิสิต  นักศึกษา  เตรียมตัวมายังไม่ดีพอ  วิทยานิพนธ์มีความบกพร่องหลายแห่ง  การนำเสนอไม่น่าสนใจ  บางคนเสนอโดยการอ่านจากเอกสารที่เตรียมมาก  การตอบคำถามบางครั้งไม่ตรงประเด็นหรือตอบไม่ได้  โดยเฉพาะในคำตอบที่เป็นการประเมินความรู้  ความเข้าใจในวิธีการ  หลักการ  ทั้งนี้เนื่องจากขาดความรอบรู้อย่างแท้จริง  เตรียมตัวมาน้อย  ดังนั้นเพื่อตัดข้อบกพร่องดังกล่าว นิสิต  นักศึกษาจะต้องเตรียมพร้อมในการสอบวิทยานิพนธ์ โดยเตรียมการนำเสนอให้กระชับ  รัดกุม  เข้าใจง่าย  น่าสนใจ  ด้วยความคล่องแคล่วถูกต้องแม่นยำ  รวมทั้งเตรียมตอบคำถามต่าง ๆ  ที่แสดงถึงความรอบรู้ในเรื่องที่ทำวิทยานิพนธ์ 
 4.  ในการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์  นิสิต นักศึกษาควรมาถึงห้องสอบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 นาที และตรวจดูความเรียบร้อย  เช่น เครื่องดื่มหรืออาหารว่างมีหรือไม่ เข้าไปดูสภาพห้องสอบว่าที่นั่งของตนและที่นั่งของคณะกรรมการอยู่ตรงไหน  นิสิตนักศึกษาควรใช้เวลาช่วงนี้ติดตั้งอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอข้อมูล อาจเป็นคอมพิวเตอร์หรือการเตรียมเปิดไฟล์หรือสไลด์ในการนำเสนอ
  5.  นิสิต  นักศึกษาควรเตรียมหลักฐานต่าง ๆ  ไว้  ซึ่งสามารถตรวจสอบได้  เช่น  แบบสอบถาม  แบบทดสอบและกระดาษคำตอบที่รวบรวมข้อมูลมา  ผลการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์  เช่น  Print Out ของ  SPSS  ภาพต่าง ๆ  (บางกรณีควรมีการถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน  เช่น  การศึกษาสภาพสถานศึกษาก่อนการพัฒนาและหลังพัฒนา ซึ่งต้องมีหลักฐานชี้ถึงความแตกต่าง เป็นต้น)
 ขั้นตอนทั่วไปการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์  แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน  ดังนี้
  1.  ขั้นตอนที่หนึ่ง  เมื่อคณะกรรมการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์มาครบ ท่านประธานคุมสอบวิทยานิพนธ์ก็จะให้  นิสิต นักศึกษารายงานวิทยานิพนธ์  อาจให้กล่าวเฉพาะประเด็นที่สำคัญ  เช่น  เหตุผลที่เลือกทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนั้น  ความมุ่งหมายของการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย สรุปผลการวิจัย ในขั้นตอนนี้นิสิตนักศึกษาอาจนำเสนอโดยใช้สื่อต่าง ๆ  เช่น  แผ่นใส  Power Point   เป็นต้น หรืออาจะใช้สื่อต่าง ๆ  ช่วยให้รายงานได้ดีและมีความน่าสนใจมากขึ้น  และต้องเตรียมแผนสำรองกรณีที่มีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้  เช่น  ไฟฟ้าดับ  เป็นต้น  ข้อสำคัญคือต้องทำการซักซ้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ  ตรวจสอบการใช้งานจนมั่นใจก่อนถึงเวลาสอบปากเปล่า
  2.  ขั้นตอนที่สอง  เมื่อนิสิต  นักศึกษารายงานเสร็จสิ้น  กรรมการสอบจะซักถามข้อสงสัย  สอบถามเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของผู้ทำวิทยานิพนธ์  แม้กระทั่งการทักท้วงโต้แย้งในประเด็นต่าง ๆ  ที่อาจเป็นข้อผิดพลาดของรายงานการวิจัยเพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง  ซึ่งนิสิต  นักศึกษาต้องตอบ แสดงเหตุผลอย่างชัดถ้อยชัดคำ รวมทั้ง แสดงความคิดเห็นด้วยความมั่นใจ ถ้านักศึกษาไม่แน่ใจว่าเข้าใจหรือได้ยินคำถามถูกต้องหรือไม่  นิสิต  นักศึกษาสามารถขอให้อาจารย์สอบถามอีกครั้งได้
  คำถามในการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจ  กรรมการมักจะถามนิสิต  นักศึกษา  ที่ทำวิทยานิพนธ์  มีดังนี้
   -   ทำไมนิสิต ถึงทำเรื่องนี้ ได้ประโยชน์ในด้านใดบ้าง
   -  ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นใคร ที่ไหน อย่างไร วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง
   -  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
   -  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
   -  ผลการวิจัย เป็นอย่างไร สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับสมมติฐาน
   -  อุปสรรคในการเก็บรวบรวมข้อมูลมีหรือไม่  อย่างไร
   - ได้ประโยชน์อย่างไรในการทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้
  3.  ขั้นตอนที่สาม  กรรมการสอบพิจารณาประเมินผลการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์หลังจากการตอบคำถามเสร็จสิ้นแล้ว ประธานกรรมการจะขอให้ นิสิต นักศึกษาออกไปจากห้องสอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่คณะกรรมการจะพิจารณา จากการสอบวิทยานิพนธ์ที่เพิ่งสอบเสร็จไป คณะกรรมการจะประชุมร่วมกันชั่วครู่หนึ่ง และจะประเมินผลการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์  โดยปกติแล้วในระดับปริญญาโทหรือเอก คณะกรรมการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์จะให้สอบผ่าน ซึ่งจะพิจารณาร่วมกันว่าควรให้ผลการสอบระดับใด  ระหว่างดีเยี่ยม  (Excellent)  ดี  (Good)  ผ่าน  (Pass) 
ไม่ผ่อน  (Fail)  ซึ่งการประเมินจะพิจารณาประกอบกันทั้งด้านคุณภาพของตัวรายงาน  ความรอบรู้  และความสามารถในการทำวิจัย ประเด็นดังนี้
     ก.  ด้านคุณภาพโดยทั่วไป  พิจารณาความถูกต้องเหมาะสมในส่วนต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดจุดมุ่งหมาย  ขอบเขตการวิจัย  นิยามศัพท์เฉพาะ  สมมติฐาน  (ถ้ามี)  เอกสารที่เกี่ยวข้อง  แนวคิดทฤษฎี  วิธีดำเนินการวิจัย  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล  ผลการวิเคราะห์  การแปลผลการวิเคราะห์  การสรุปผลการวิจัย  อภิปรายผลการวิจัย  และข้อเสนอแนะ
     จากการพิจารณารายงานวิทยานิพนธ์มักพบข้อบกพร่องในหลายส่วนหลายที่  เช่น  ขาดการให้นิยามในคำศัพท์เฉพาะที่สำคัญ  ให้นิยามศัพท์เฉพาะไม่ชัดเจน  การระบุกลุ่มตัวอย่างไม่ถูกต้อง  การระบุตัวแปรที่ไม่ถูกต้อง  ในส่วนของเอกสาร  ยังขาดในสาระที่สำคัญ  เกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  งานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีจำนวนน้อย  และพบว่ามีเรื่องที่ไม่อยู่ในขอบข่ายที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ  เรื่อง  ด้านกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเขียนไม่ชัดเจน  ถึงกระบวนการในการสร้างเครื่องมือพบบ่อย ๆ  ว่ายังคงใช้ข้อความเนื้อหาสาระที่เขียนไว้ในเค้าโครงวิทยานิพนธ์  ซึ่งเป็นเนื้อหาที่บอกว่าจะทำอะไรบ้าง  วิธีใด  ในรายงานการสอบปากเปล่าจะต้องบอกถึงว่าได้ทำอะไรบ้าง  เช่น  ในการทดลอง  ใช้เครื่องมือได้ไปทดลองกับกลุ่มใด  จำนวนกี่คน  ทดลองใช้เมื่อใด  ผลการวิเคราะห์คุณภาพได้ค่าอำนาจจำแนกแต่ละข้อเท่าใดบ้าง  คัดเลือกไว้กี่ข้อ  การวิเคราะห์ความเชื่อมั่นของเครื่องมือที่ประกอบด้วยข้อที่ผ่านการคัดเลือกไว้ทั้งหมดนั้นได้ค่าความเชื่อมั่นเท่าใด  การเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีใด  ไปเก็บในช่วงเวลาใด  เป็นต้น  ด้านการใช้สถิติ  มักพบว่า  เขียนสูตรผิด  ด้านการรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูล  บางครั้งพบว่า  ผลการวิเคราะห์มีความขัดแย้งกันและวิเคราะห์ผิดพลาดการแปลความผลการวิเคราะห์แปลความไม่รัดกุม  เป็นต้น
     ข.  ด้านความคงเส้นคงวาในการเขียน  จะพิจารณาว่ามีความคงเส้นคงวาในการเขียนหรือไม่  ซึ่งมักพบว่าขาดความคงเส้นคงวาในการเขียน  ตัวอย่างได้แก่  ใช้ศัพท์แตกต่างกัน  เช่น  บางที่ใช้คำว่า  ค่าเฉลี่ย  บางทีใช้คำว่า  รายเฉลี่ย  และบางที่ใช้คำว่า  คะแนนเฉลี่ย  เป็นต้น  หรือการอ้างอิงชื่อผู้เขียนในบางแห่งใช้ภาษาไทย  บางแห่งใช้ภาษาอังกฤษ  คำศัพท์ภาษาอังกฤษบางที่ขึ้นต้นคำด้วยอักษรตัวเล็ก  แต่บางที่ขึ้นต้นคำด้วยอักษรตัวใหญ่  เป็นต้น  นิสิต  นักศึกษาต้องเขียนให้มีความคงเส้นคงวาตลอดทั้งเล่ม
     ค.  ด้านความสัมพันธ์ระหว่างชื่อเรื่อง  ความมุ่งหมายของการวิจัย  จะตรวจสอบว่าผลการวิจัยได้ตอบความมุ่งหมายหรือไม่ตรงกับชื่อเรื่องที่ศึกษาค้นคว้าเพียงใด  บางครั้งพบว่าผลการวิจัยไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้  ซึ่งต้องแก้ไขให้ถูกต้อง
     ง.  ด้านการอ้างอิง  ตรวจสอบการอ้างอิงว่าที่ได้อ้างอิงไว้นั้นถูกต้องหรือไม่และแหล่งอ้างอิงนั้นระบุในบรรณานุกรมหรือไม่  มักพบว่าการอ้างอิงที่ระบุไว้ในหลายแหล่งไม่ปรากฏมีในบรรณานุกรม
     จ.  ด้านบทคัดย่อ  เป็นส่วนที่สรุปแก่นสาระที่สำคัญของการวิจัยมีสาระ  3  ส่วน  คือ  ความมุ่งหมาย  วิธีดำเนินการวิจัย  สรุปผล โดยทั่วไปมีความยาวประมาณ1-2 หน้า  กรรมการสอบจะพิจารณาว่า  ในบทคัดย่อนั้นได้กลั่นกรองเอาสาระที่เป็นแก่นสำคัญครบถ้วนหรือไม่  สรุปได้ถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่  บางคนเขียนบทคัดย่อยาวเกินไป  เช่น  มีจำนวน  4  หน้า  เป็นต้น  บางคนเขียนบทคัดย่อสั้นเกินไป  เช่น  ไม่ถึงครึ่งหน้ากระดาษซึ่งอ่านไม่รู้เรื่อง  บางคนเขียนสรุปไม่กระชับทำให้ต้องแก้ไขใหม่  ในส่วนที่เป็นสรุปผลจะต้องตอบความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการวิจัย
     การเขียนบทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษ  ถ้านิสิต  นักศึกษาเขียนเองมักไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่มีประสบการณ์โดยเฉพาะการใช้ภาษาในสาขาวิชาการนั้น ๆ  บางคนจึงให้คนอื่นช่วยแปลหรือจ้างแปลซึ่งโดยทั่วไปจะดีขึ้นแต่ก็ยังบกพร่องอยู่ดี  ผู้วิจัยควรศึกษาบทคัดย่อภาษาอังกฤษในเรื่องที่เกี่ยวข้องจากแหล่งต่าง ๆ  เช่น  จาก  Dissertation Abstracts International  หรือ  Dissertation Abstracts Online  เป็นต้น  เมื่อได้ศึกษาหลาย ๆ  เรื่องก็จะได้แนวในการเขียน  การใช้ภาษาที่ถูกต้องมากขึ้น
     ฉ.  การอภิปราย  ได้ยกเอาประเด็นที่สำคัญ  ประเด็นที่น่าสนใจ  ประเด็นที่มีปัญหามาอภิปราย  เช่น  มีผลที่ไม่เป็นไปตามสมมติฐาน  มีผลที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง  เป็นต้น  ได้อภิปรายชี้เหตุผลที่เกิดผลดังกล่าวอย่างกว้างขวางหรือไม่  พบบ่อย ๆ  ว่าไม่ได้อภิปรายผลอย่างแท้จริง  แต่เป็นการสรุปอีกครั้งหนึ่งว่าวิจัยพบอะไรบ้าง
     ช.  ด้านข้อเสนอแนะ  ได้เสนอแนะการนำเอาผลการวิจัยไปใช้และเสนอการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมหรือต่อเนื่องจากการวิจัยที่ได้ทำไปแล้ว  ซึ่งการเสนอแนะนั้นจะต้องโยงไปถึงผลการค้นพบจากการวิจัยด้วย  ไม่ใช่เสนอแนะอย่างลอย ๆ  ไม่ต้องวิจัยก็เสนอแนะได้

ทองสง่า ผ่องแผ้ว 18/09/2550

หมายเลขบันทึก: 129371เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2007 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆที่มาแนะนะสำหรับเตรียมตัวสอบค่ะ

หนูเองก็เป็นอีกคนนึงที่กำลังจะสอบในอาทิดหน้า แต่เพาวเวอร์พอยบทที่4 ผลการวิจัยยังไม่ได้ทำเลยค่ะ เพราะไม่รู้ว่าต้องยกตารางไหนมาบ้าง เลยอยากขอความช่วยเหลือคุณพี่ ช่วยส่งพาวเวอร์พอยให้ดูหน่อย ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณมากเลยค่ะ เตรียมตัวในการสอบปากเปล่าอยู่ค่ะ และกำลังทำพาวเวอร์พอยท์นำเสนออยู่ค่ะ

ขอบคุณมากเลยค่ะพี่อ้วน กำลังจะขึ้นสอบวันที่ 1 กค. 54 นี้ ค่ะ ไปให้กำลังใจด้วยนะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับบทความดีๆเช่นนี้ พรุ่งนี้ต้องสอบปากเปล่าแล้ว ได้อะไรจากตรงนี้มากๆ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

กำลังเตรียม ppt สอบเร็วๆนี้ อยู่แต่ไม่รู้ว่าต้องนำเสนออะไรบ้าง หากว่าคุณสง่าเปิดอ่าน กรุณาตอบด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ 28 กุมภาพันธ์นี้ก็จะสอบแล้วเหมือนกัน กำลังหาข้อมูลอยู่ อยากดู ppt นำเสนอจังเลยค่ะ

ขอบคุณนะคะ ในสิ่งดีๆมีประโยชน์ เพิ่มความมั่นใจในการขึ้นสอบได้เยอะเลย

ขอบคุณมากนะค่ะ สำหรับคำแนะนำดี ๆ ในการสอบ ตอนนี้กำลังเตรียมตัว และทำ Point อยู่ค่ะ 

บทความคล้ายกับ

การสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ - รศ.ดร.บุญชม ศรีสะอาด

ไม่ทราบใครเป็นต้นฉบับครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท