วิถีพุทธ วิถีธรรมนำสุข โรงเรียนวัดสามง่าม


วิถีพุทธ วิถีธรรมนำสุข โรงเรียนวัดสามง่าม โรงเรียนในฝัน

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550 คณะผู้นิเทศโรงเรียนในฝัน ระดับเขตตรวจราชการ เขตตรวจราชการที่ 6 รับผิดชอบโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 1 - 2  และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 - 3  มีนายกิตติ กสิณธารา ศึกษานิเทศก์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 1 เป็นหัวหน้าคณะ  ได้ไปเยี่ยมนิเทศโรงเรียนในฝันรุ่นที่ 2 ณ โรงเรียนวัดสามง่าม (คงทอง
อนุสรณ์) มีศึกษานิเทศก์ที่ร่วมเป็นคณะนิเทศประกอบด้วย ดร.พิเชฎฐ์ ศรีเมฆ นายสันติ ทองประเสริฐ นางวิไลวรรณ  ตรีชั้น ได้เห็นถึงการพัฒนาไปอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเมื่อก้าวเข้าสู่บริเวณโรงเรียนจะเห็นรั้วโรงเรียนด้านหน้ากำลังก่อสร้าง โรงเรียนได้รับงบสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายและหลวงพ่อแย้ม วัดสามง่าม รวมแล้วกว่า 5 ล้านบาท ขณะที่ นางสุนทรี  เล้าอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพิ่งย้ายมาไม่ถึง 1 ปี นักเรียนกล้าแสดงออกให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมโรงเรียนได้อย่างฉาดฉาน และจากการพูดคุยกับคณะครูได้ทราบถึงโครงการหนึ่งที่น่าสนใจคือโครงการ "วิถีพุทธ วิถีธรรมนำสุข"  เป็นกิจกรรมงดงามามหลักไตรสิกขา มีนางพิงพันธุ์  ลี้ไพบูลย์  ผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมทั้ง 7 วัน ของวัปดาห์ ดังนี้
1.  วันจันทร์  กิจกรรม มีสติตั้งจิตอธิษฐาน (เชิญน้ำดอกไม้)
         การเชิญน้ำดอกไม้  โดยการส่งน้ำดอกไม้ต่อ ๆ กันไป  ขณะที่น้ำดอกไม้มาถึงตน  ต้องตั้งจิตอธิษฐาน  นึกถึงการกระทำที่ดี  ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น  เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งของการเริ่มต้น  เพราะในขณะที่ส่งน้ำดอกไม้  นัเรียนต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้น้ำหก                การฝึกสมาธินี้เป็นหนทางหนึ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบว่า เป็นวิธีการที่ช่วยให้พ้นทุกข์ไปได้  และพบว่าการพัฒนาปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจความเป็นไปของโลกและชีวิต  จนใจสามารถปล่อยวาง  ไม่เกิดความทุกข์แทรกเข้ามาได้  เป็นวิธีกำจัดทุกข์จากต้นเหตุ                ดังนั้น  จิตที่เป็นสมาธิในทางพระพุทธศาสนา  นอกจากจะเป็นจิตที่สงบ  ผ่องใส มีพลังแล้ว  เรายังสามารถนำสภาวะจิตที่เป็นสมาธินี้ไปใช้พิจารณาสิ่งต่าง ๆ   เช่น พิจารณาความรู้สึกต่าง ๆ ที่ปรากฏ  พิจารณาจิตที่รับรู้ความรู้สึกนั้น  และพิจารณาความเป็นไป  ความถูกต้องเหมาะสมที่แท้จริงว่าเป็นเช่นไร  นั่นคือจิตที่เหมาะสมในการใช้ปัญญา                กิจกรรมมีสติตั้งจิตอธิษฐาน (เชิญน้ำดอกไม้)  เป็นวิธีหนึ่งในการฝึกสมาธิของเด็ก  เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่สดใส  แน่วแน่ที่จะกระทำความดี 2.  วันอังคาร กิจกรรม เบิกบานบริหารจิต  (เพลงดั่งดอกไม้บาน)                เพลง ดั่งดอกไม้บาน  เป็นเพลงที่ใช้ประกอบการทำกิจกรรมฝึกการกำหนดลมหายใจเข้าออก  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลมหายใจแห่งสติ                สติ  คือ  ความระลึกได้  หมายถึง การควบคุมจิตไว้กับกิจที่ทำหรือเกี่ยวข้องอยู่  ความไม่เผลอ  การระลึกได้ถึงสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้ว  สติเป็นสมรรถภาพทางจิตที่จะนำไปสู่สมาธิ  การฝึกกำหนดลมหายใจเข้าออก  วิธีนี้ค่อนข้างมีประโยชน์หลายอย่าง  เช่น  ลมหายใจเป็นสิ่งที่มีติดตัวคู่กับชีวิตของคนเราอยู่แล้ว เป็นวิธีที่ง่าย  ซึ่งเราอาจกำหนดคำบริกรรมลงไปกำกับจังหวะของการหายใจ  เช่น  หายใจเข้าบริกรรม พุทธ  หรือหายใจออกบริกรรม โธ  ใช้สติจับที่ลมหายใจกับจินตนาการ  หายใจเข้านำพลังเข้ามา  หายใจออกนำความกังวลความทุกข์ออกไป  มุ่งความสนใจให้อยู่ที่ลมหายใจ  ปฏิบัติหลาย ๆ ครั้งจะรู้สึกผ่อนคลาย                เพลง ดั่งดอกไม้บาน  ทั้งจังหวะ และความหมาย  จะช่วยฝึกการกำหนดลมหายใจของเด็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น  จังหวะจะคอยควบคุมท่าทางในการสูดลมหายใจเข้าออก  และความหมาย  ดอกไม้  คือความสวยงาม  ภูผาคือความมั่นคง  สายน้ำ  คือความฉ่ำเย็น  ในขณะกำหนดลมหายใจ  เด็ก ๆ จะนึกถึงแต่สิ่งที่ดีงาม  คือ  ความสวยงาม  มั่นคง  และสงบร่มเย็น  เป็นต้น 3.  วันพุธ  กิจกรรม ฟิตร่างกายให้สมบูรณ์ (กายบริหาร)                การบริหารร่างกาย  ตามหลักการทางกายภาพ  เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้าง  กล้ามเนื้อสรีระของร่างกายให้แข็งแรง  ป้องกันโรคภัยเบียดเบียน  อันจะส่งผลต่อจิตใจที่ดีด้วย  ดังคำกล่าวที่ว่า  สุขภาพจิตที่ดี  ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง                สุขภาวะร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์  จะช่วยเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุลทั้งทางกาย  ทางจิต  ทางสังคม  และทางปัญญา                กายดี  หมายถึง การเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง  สามารถทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้  ใฝ่เรียนรู้ และหมั่นพัฒนาตน  ซึ่งจะส่งผลให้จิตดี  หมายถึงจิตที่มีความเมตตา  กรุณา  มีมุทิตา  ความเคารพ  อ่อนน้อม  มีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง   เพียรพยายาม  อุตสาหะ  วิริยะ  มีความรับผิดชอบ  มีสติ และสมาธิ  มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาชีวิต  และดำเนินชีวิตโดยใช้เหตุและผล  เมื่อจิตดีก็จะส่งผลต่อสังคมที่ดี  คือมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม  เกื้อกูล  สร้างสรรค์  ส่งเสริมสันติสุข (ด้วยสังคหวัตถุ 4  ทาน  ปิยะวาจา  อัตถจริยา และสมาทิตตา)  ดำเนินด้วยอาชีพสุจริต  ดำรงตนอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยของสังคม                การบริหารร่างกาย  จึงเป็นกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับเดก็กในวัยเรียน  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการสร้างสุขภาพจิตที่ดีดังกล่าว 4.  วันพฤหัสบดี  เพิ่มพูนสุขภาพทางกาย  (ตรวจสุขภาพ)                องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความของคำว่า สุขภาพ  มีความหมายกว้างขึ้น  ครอบคลุมทั้งทางกาย  จิตใจ  และสังคม  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรได้ให้ความสำคัญของสุขภาพ  โดยให้ปรัชญาของสุขภาพที่ดีคือ  สุขภาวะที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุลทั้งมิติทางจิตวิญญาณ  (มโนธรรม)  ทางสังคม  ทางกาย  และทางจิต  การมีสุขภาพดีจึงถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตและสังคม                ในทางพระพุทธศาสนา  มีหลักการพัฒนามนุษย์โดยใช้หลัก  ภาวนา 4  คือ  กายภาวนา  ศีลภาวนา  จิตภาวนา  และปัญญาภาวนา                การให้ความสนใจในสุขภาพของนักเรียน  ซึ่งเป็นหลักการในการพัฒนามนุษย์วิธีหนึ่ง  ตามวิถีแบบชาวพุทธ  คือเกี่ยวข้องกับ กายภาวนา  อันหมายถึง  การพัฒนาร่างกายให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพทั้งหลาย  การปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ  รู้จักใช้อินทรีย์  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  ในการติดต่อหรือใช้สอยอุปกรณ์  เทคโนโลยี  และประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อศึกษาเรียนรู้เป็นกิจหลัก                ความสะอาดของสุขภาพกาย  จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน 5.  วันศุกร์  กิจกรรม หนูทำสบายสบายด้วยไตรสิกขา                ไตรสิกขา  เป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของวิถีพุทธ  อันประกอบด้วย  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ผู้ที่ยึดหลักไตรสิกขา  ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จของชีวิต                ศีล  หมายถึง  พฤติกรรม กาย  วาจา  ที่ปฏิบัติให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง  มิให้เป็นโทษ  แต่ให้ประโยชน์เกื้อกูลต่อกัน                สมาธิ  หมายถึง  สมรรถภาพทางจิตที่มีความสงบตั้งมั่นแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ไม่คิดฟุ้งซ่าน                ปัญญา  หมายถึง  ความรู้  เข้าใจเหตุผล  รับรู้โลกและชีวิตตามที่มันเป็น  รู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลายว่าเป็นสภาพที่เกิดจากเหตุปัจจัยนั้น ๆ  ทำให้ชีวิตจิตใจมีอิสระ  ไม่ไปยึดติดถือมั่นกับสิ่งใด ๆ                 กิจกรรมวิถีพุทธ  ในวันสุดสัปดาห์  จึงเป็นกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการยกย่องผู้ที่ประพฤติดี  จนประสบความสำเร็จในกิจการที่ตนตั้งใจ  ตามหลักไตรสิกขา  อันเป็นแบบอย่างที่ดีต่อบุคคลอื่น  เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมีความตั้งใจ  มีความเพียรพยายาม  จนประสบผลสำเร็จ6.      กิจกรรม การพิจารณาอาหาร  (ปฏิบัติทุกวันก่อนรับประทานอาหารกลางวัน) การพิจารณาอาหารสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม  คือการพิจารณาเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษทางร่างกายทุกชนิด  เพราะการเจริญสมาธิหรือวิปัสสนาถ้าสุขภาพไม่ปกติโดยเฉพาะถ้ามีอาการไม่ปกติทางท้องแล้วการเจริญสมาธิหรือพิจารณาวิปัสสนาญาณจะไร้ผล ก่อนบริโภคอาหารทุกครั้งควรพิจารณาอาหารก่อนว่า   จะบริโภคเพื่อความเป็นอยู่   เราจะบริโภคอาหารเพื่อความต้องการเป็นอยู่ของร่างกายเพราะร่างกายต้องการอาหารเรายังต้องอาศัยร่างกายประกอบความดีเราจะกินเพื่อให้ร่างกายมีกำลังเท่านั้น อาหารนี้จะทำด้วยฝีมือของใครก็ตามที่นิยมว่ารสเลิศหรือเป็นอาหารที่มีราคาสูงอาหารนี้มีความสำคัญเสมอกันอย่างหนึ่ง  ไม่ว่าอาหารที่ทำจากพืชหรือสัตว์  ต่างก็มีพื้นแพเป็นของสกปรกมาก่อน อีกนัยหนึ่งเป็นการให้พิจารณาว่าอาหารที่บริโภคนี้ห้ามความตายไม่ได้ ไม่ว่ามหาเศรษฐีหรือยาจก  จะบริโภคอาหารแตกต่างกันแค่ไหน  แต่ก็ห้ามความตายไม่ได้                        สำหรับนักเรียนที่เป็นวัยเจริญเติบโต  และต้องการอาหารที่มีคุณค่า  แต่ในทางตรงกันข้าม เด็ก ๆ มักจะเลือกบริโภคแต่ของที่ถูกปาก  และไม่คำนึงถึงประโยชน์ต่อร่างกาย  โรงเรียนได้ให้นักเรียนกล่าวคำพิจารณาอาหาร  ก็เพื่อเตือนสติให้นักเรียน  รู้จักคุณค่าของอาหารที่รับประทาน  ระลึกถึงที่มาของอาหารว่ากว่าที่เราจะได้บริโภคนั้น ยากลำบากเพียงใด  นักเรียนจึงไม่ควรเลือกบริโภค  และรับประทานอย่างพอดี  ไม่มากไม่น้อยเกินไป
 
7.      กิจกรรม การพัฒนาจิต 15 ท่า (ปฏิบัติทุกวันก่อนเข้าห้องเรียนภาคบ่าย)การพัฒนาจิตเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองมีความอดทน และมีความมั่นใจในการทำกิจกรรม ซึ่งจะช่วยสร้างให้เด็กมีจิตภาพที่งดงาม เป็นสุข มองโลกในแง่ดี และมีพฤติกรรมที่ดี การพัฒนาจิตตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นวิชาการทางด้านจิต(จิตใจ)ที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ทุกคนสามารถพิสูจน์ได้โดยง่าย ไม่เกี่ยวข้องกับความหลงเชื่อ. เมื่อนักเรียนฝึกปฏิบัติ จะได้รับผล ภายในวินาทีที่ลงมือฝึกปฏิบัติ คือ จะมีความเบาสบาย สงบ ไม่มีความทุกข์ภายในจิตใจ และจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะเป็นเรื่องของการใช้สติปัญญาของตนเอง.

โรงเรียนได้ให้นักเรียนฝึกพัฒนาจิต โดยใช้เวลาประมาณ  10  นาทีก่อนเข้าห้องเรียนในเวลาบ่ายหลังจากพักรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว  โดยให้นักเรียนนั่งในท่าขัดสมาธิ  ทำสมาธิก่อนเริ่มสักเล็กน้อย  และให้ความคิดไปจดจ่ออยู่ที่มือทั้งสองข้าง  ทำมือในท่าต่าง ๆ ยกมือ คว้ำมือ หงายมือ สัมผัสร่างกายของตน สลับกันทั้งสองข้างให้พร้อมเพรียงกัน  กิจกรรมนี้จะทำให้นักเรียนเรียกสติของตนเองกลับมา  เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเข้าเรียนในภาคบ่ายด้วยความมั่นใจ  ไม่เผลอสติคิดในเรื่องอื่น ๆ ไม่คิดและทำกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน จึงทำให้มีการคิด พิจารณา ทำความเข้าใจ จดจำ เรื่องที่เรียนได้เป็นอย่างดี เป็นเหตุให้ผลของการเรียนดีขึ้น ตามกำลังความสามารถของข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกและข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมที่มีอยู่ในความจำขณะนั้น
         ยังมีกิจกรรมดี ๆ ของโรงเรียนในฝันอื่นท่รับผิดชอบอีกหลายโรงเรียนค่อย ๆ ทยอยนำมาเล่าสู่กันฟ้ง  สนใจรายละเอียดเพิ่มสอบถามได้ที่โรงเรียนวัดสามง่าม
034-381-116

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท