การประชุมของทีมอุบลราชธานีและอำนาจเจริญ : วันที่สอง (๑)


เรียนรู้เรื่องอาหารหมู่ต่างๆ การจัดอาหารลงจานสุขภาพ และการนับคาร์บ

วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐
เมื่อวานรับประทานอาหารมื้อเย็นหนักไปหน่อย ประกอบกับคืนก่อนนอนน้อยไป เมื่อคืนดิฉันจึงหลับเร็วกว่าปกติ ตื่นขึ้นมาดูนาฬิกาพบว่าเพิ่งจะตี ๓ เอง แต่ไม่ง่วงแล้ว จึงลุกมาพิมพ์บันทึกเพื่อลงใน GotoKnow และทำโน่นทำนี่กับไฟล์ PowerPoint ที่มี จนได้เวลาเกือบ ๐๗ น. โทรศัพท์ปลุกอาจารย์ศัลยาและคุณชนิกาให้เตรียมตัวและนัดรับประทานอาหารเช้าพร้อมกันตอน ๐๗.๓๐ น. ติดต่ออาจารย์สมเกียรติไม่ได้ เข้าใจว่ายังไม่ได้เปิดโทรศัพท์มือถือ

ดิฉันไปรับประทานอาหารเช้าก่อนใคร วันนี้รับประทานข้าวต้มกับยำกุ้งแห้ง ขนมปังปิ้ง ๑ แผ่น ไข่ดาว ๑ ฟอง กาแฟครึ่งถ้วย ใกล้ ๐๘ น. วิทยากรท่านอื่นๆ ตามมาสมทบ เรารับประทานอาหารเสร็จก็ไปที่ห้องประชุม ๐๘.๓๐ น. ยังมีคนมาน้อย จน ๐๙ น.ผู้เข้าประชุมมาเกือบเต็มห้องแล้ว อาจารย์ศัลยาจึงเริ่มบรรยายเรื่องอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ดิฉันไม่ได้ฟังการบรรยาย เพราะต้องช่วยคุณชนิกาเตรียมกิจกรรมที่ฐานการเรียนรู้เรื่องอาหารที่จะมีขึ้นหลังพักรับประทานอาหารว่าง ทีมผู้จัดงานจัดเตรียมอาหารปรุงแล้ว อาหารแห้ง เครื่องดื่มต่างๆ ที่ชาวบ้านชอบมาให้หลายอย่าง และเรายังขออาหารเช้าของที่โรงแรมมาด้วย

เราจัดฐานในห้องสัตตบรรณและห้องสัตตบุษย์ ห้องละ ๒ ฐาน ห้องสัตตบรรณเป็นฐานอาหารแห้ง เรียนรู้เรื่องการอ่านฉลากโภชนาการเรื่องน้ำตาล ไขมันอิ่มตัวและโซเดียม ๑ ฐาน เรื่องการนับคาร์บ ๑ ฐาน ส่วนในห้องสัตตบุษย์ เป็นอาหารสุก เมนูที่ชาวบ้านชอบรับประทาน เอามาเรียนรู้เรื่องอาหารหมู่ต่างๆ การจัดอาหารลงจานสุขภาพ และการนับคาร์บ

แต่ละฐานให้เวลา ๑๕ นาที ผู้เข้าประชุมแบ่งกลุ่มแบบเดิม โดยกลุ่มใหญ่ที่มาจากโรงพยาบาลให้แบ่งเป็น ๒ กลุ่มย่อย เมื่อครบ ๑๕ นาทีก็สลับกลุ่มกันในแต่ละห้องก่อน หมดเวลา ๓๐ นาทีจึงย้ายห้อง ดิฉันคุมฐานฉลากโภชนาการ “หวาน มัน เค็ม” โดยมีน้องมาศและน้องจั่นจากบริษัทจอห์นสันช่วย อีกฐานหนึ่งน้องเอกจากแอบบ๊อตดูแล เลยไม่มีเวลาไปดูห้องอาหารปรุงสุกที่มีอาจารย์ศัลยาและคุณชนิการับผิดชอบ

การอ่านฉลากโภชนาการของบางผลิตภัณฑ์ต้องอาศัยการคำนวณ ตัวหนังสือก็เล็ก ใส่แว่นแล้วก็ยังต้องหรี่ตาอ่านอีก ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งจึงเอ่ยว่า “ทำไมตอนผลิตเขาไม่คุม ต้องให้เรามาเลือก” คำถามนี้เล่นเอาดิฉันอึ้งไปเลย เพราะไม่รู้เหมือนกัน

ฐานการเรียนรู้เรื่องอาหารในห้องที่ดิฉันอยู่ดูเคร่งเครียด ไม่เฮฮา น้องเรียมรัตน์ใส่ “มุก” ให้ขำอีกว่าห้องที่ดิฉันอยู่นั้น “แห้ง” ทั้งอาหารทั้งคนคุม สู้อีกห้องหนึ่งไม่ได้ที่อาหารก็สด (สุก) คนคุมก็อวบอิ่ม ได้ดูคนไปด้วย

 

 ๓ สาวทีมจัดงาน คนกลางคือน้องเรียมรัตน์

คุณชนิกาเล่าให้ฟังภายหลังว่าห้องนี้สนุกดี คุณชนิกาเอาข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นเป็น size ต่างๆ ผู้เข้าประชุมขำกันว่า “ข้าวเหนียว ๑ คาร์บ นี่เขากินกันคำเดียวเอง” มีผัดวุ้นเส้นที่คุณหมอจิ้นลงทุนตวงดูด้วยตัวเองว่ามีกี่คาร์บ เป็นคาร์โบไฮเดรตที่คนมักนึกไม่ถึง เพราะเอามากินเป็นกับข้าวเลยได้คาร์โบไฮเดรตเพิ่มมากขึ้นไปอีก


หลังพักรับประทานอาหารกลางวัน ก็เป็นเรื่องการดูแลเท้า อาจารย์สมเกียรติบรรยายพร้อมมีภาพประกอบให้เห็นชัดเจน

 

 อาจารย์สมเกียรติ มหาอุดมพร

หลังพักรับประทานอาหารว่าง ผู้เข้าประชุมก็เข้าเรียนตามฐาน ๒ ฐานคือที่ห้องสัตตบรรณ เรียนเรื่องรองเท้า รับผิดชอบโดยน้องแนน ธิติ ที่เอาเพื่อนหนุ่มทหารมาช่วยด้วย ที่ห้องสัตตบุษย์เป็นเรื่องการประเมินเท้า การจัดการหนังหนา ตาปลา และดูแลเล็บ มีอาจารย์สมเกียรติและคุณชนิการับผิดชอบ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 129023เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2007 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาทักทายครับ
  • และมาดูความเข้มแข็งครับ
  • พอจะทราบข้อมูลตรงนี้ไหมครับ
  • มีคนขอความช่วยเหลือไว้
  • ขอบคุณครับ
  • ที่นี่ครับ

เอ่อ..........อาจารย์ครับเพื่อนหนุ่มทหารนี่ เป็นเพื่อนนักกายภาพรุ่นเดียวกันตอนเรียนครับ

    แนนกลัวคนอื่นจะเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นไป หาแฟนไม่ได้ แย่เลย  หึ หึ ....  *_*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท