ความจำเป็นที่ต้องทำงาน "จับฉ่าย"


ทางที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างข้างบนได้จริง กลับกลายเป็นงานที่ต้องมาสร้างพลังในพื้นที่ แล้วเอาพลังข้างล่างขึ้นไปผลักดันข้างบน

12 กันยายน   มีงานสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งที่ 30 ของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เราเสนอเรื่อง โครงสร้างอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ

 

เคยมีคนถามว่า ทำไมทำงานหลายเรื่องจัง (คงดูคล้ายจับฉ่าย) ที่จริงเป็นเพราะต้องสอนวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาชนบทไทย    วิชาหลังนี้ หากไม่รู้เรื่องเกษตร ไม่รู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ   ก็คงอธิบายอะไรไม่ได้มากเท่าไร

 

อันที่จริง เกษตรกรไทยนั้นทำงานหนักกว่ามาก เพราะต้องตัดสินใจในหลายเรื่อง ใช้หลายศาสตร์ ทั้งการจัดการและการใช้ทรัพยากร  การผลิตการเกษตรไปจนถึงการตลาด  นอกจากนี้ยังมีการทำงานนอกภาคเกษตรในบางช่วงเวลาอีกด้วย    ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  มีความมั่นคงในชีวิตตนเองและครอบครัว  ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกรวมๆว่า "สวัสดิการ"

 

ในฐานะนักวิชาการ  คงพยายามทำความเข้าใจ "โครงสร้างของระบบ" ให้มากที่สุด  ทั้งกลไกการทำงานของรัฐ (ในเชิงนโยบาย กฎกติกา) และกลไกการทำงานของตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น "กรอบ" ที่มีผลต่อวิถีชีวิตชาวบ้านโดยตรง

 

ในขณะเดียวกันก็พยายามทำความเข้าใจ "วิถีชีวิต"  และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเกษตรกรภายใต้กรอบดังกล่าว   โดยหาเวลาลงมาทำงานร่วมกับชาวบ้าน  สัมผัสชาวบ้านให้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย (ซึ่งจริงๆแล้ว ยังทำได้น้อยมาก)

 

หน้าที่ที่น้กวิชาการมักจะพยายามทำ  คือ  มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อ "ปรับเปลี่ยนระบบ  นโยบาย กติกา" ที่เป็นปัญหาอยู่    เคยคิดว่าการทำงานในพื้นที่อาจสามารถแก้ปัญหาชาวบ้านได้ แต่ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ครอบทับอยู่ข้างบน 

 

จริงๆแล้ว  ประสบการณ์บอกว่า  การมองอย่างข้างบนนี้ไม่ถูกต้องเท่าไร  เพราะในสังคมไทยที่ "รัฐแยกจากสังคม" (อาจารย์เสกสรรค์ว่าไว้) ผู้ทำหน้าที่ปรับเปลียนระบบ นโยบาย ไม่ได้ "รับลูก" ใดๆจากนักวิชาการ   ต่อให้เป็นงานวิชาการที่ดีและมีข้อเสนอที่น่าจะทำได้จริง  งานวิชาการก็เลยลอยเท้งเต้ง

 

ทางที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างข้างบนได้จริง  กลับกลายเป็นงานที่ต้องมาสร้างพลังในพื้นที่  แล้วเอาพลังข้างล่างขึ้นไปผลักดันข้างบน

 

แต่อย่างไรเสีย  คิดว่าสังคมไทยยังต้องการคนช่วยมองเชิงโครงสร้าง   ทั้งโครงสร้างในแนวกว้าง และแนวดิ่งที่เชื่อมโยงจากระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับประเทศ 

 

อีกสองงานที่ทำคือ  งานบริหารและงานสอน  ทั้งนี้เพื่อสู่เป้าหมายเดียว  คือ  สร้างนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆในการที่จะก้าวขึ้นไปอยู่ในโครงสร้างระดับบน ให้มีจิตสำนึกต่อสังคมและเรียนรู้ว่าชาวบ้านทั่วไปเขาอยู่กันอย่างไร

  

ไม่อยากปล่อยให้ระดับรากหญ้าต้องเป็นฝ่ายเหนื่อยขับเคลื่อนอยู่ตลอดไปโดยที่ข้างบนไม่รู้ร้อนรู้หนาว

  

ทั้งหมดที่ทำอยู่นี้จึงเป็นพันธกิจที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียว

 
หมายเลขบันทึก: 127264เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2007 03:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านแล้วรู้สึกประทับใจมากค่ะ ยินดีที่ได้ติดตาม อาจารย์ในเวปนี้ เคยได้ไปฟังอาจารย์ในงานสัมมนาวิชาการ หลายปีมาแล้ว ........................

ชอบตรงนี้มากค่ะ "สร้างนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆในการที่จะก้าวขึ้นไปอยู่ในโครงสร้างระดับบน ให้มีจิตสำนึกต่อสังคมและเรียนรู้ว่าชาวบ้านทั่วไปเขาอยู่กันอย่างไร"

ปัญหาอีกอย่างที่เคยประสบ

แม้หลายเรื่องในวงที่ดิฉันทำงานอยู่ ผู้ทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนระบบ นโยบาย ได้ "รับลูก" จากนักวิชาการไปปรับเปลี่ยนแก้ไขออกมาชัดเจนแล้ว

แต่แม้นโยบายจะเปลี่ยน แต่เมื่อมาเข้ามือฝ่ายปฏิบัติที่ไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน ข้อเสนอที่ทำได้จริงในทางนโยบายแล้ว ก็ไม่ลงสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชาวบ้านได้

คงต้องช่วยกันปลุกจิตสำนึกในทุกระดับมังคะ ? แล้วอาจารย์คงต้องยิ่งทำงาน "จับฉ่าย" กว่าเดิมเป็นแน่

อย่าลืมพักบ้างนะคะ เป็นห่วงค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณรวมมิตร V9

ยังไงก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อสังคมที่ดีกว่าเก่าค่ะ

คุณ pilgrim คะ

เป็นอย่างที่คุณ pilgrim ว่าจริงๆ   เพื่อนๆที่เป็นนักขับเคลื่อนงานก็บ่นกัน  ปัญหามีตลอดขบวนเลยนะคะเนี่ย

จริงๆยังมีกระบวนการงบประมาณ  และระบบราชการที่แก้ไขยาก

โดยส่วนตัว ดิฉันอยากจะคิดว่า  รัฐควรแก้ไขระบบค่าตอบแทน  และวิธีประเมินผลงานของข้าราชการเสียใหม่  เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรและวิธีทำงานขององค์กรค่ะ

ได้เขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ด้วยแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท