ขอความคิดช่วยจัดการบริหารธุรกิจเพื่อชุมชน


ถ้านักธุรกิจ นักการตลาด มาเห็นปัญหาเรา คงหัวเราะว่าทำไม ... อย่างนี้ !! ทรัพยากรมีพร้อมอยู่ตรงหน้า Demand ก็รออยู่ แต่จัดการไม่เป็นนี่ซิ

เห็นโฆษณา Coke ใหม่ล่าสุด ที่เป็นขวดและฝา Coke ที่สื่อกับคนประเภทต่างๆ แล้ว อดทึ่งกับพวกนักคิดนักโฆษณาทั้งหลายไม่ได้ "คิดได้ไงเนี่ย ?! " อย่างที่เค้าว่าจริงๆ นะว่าคนฉลาดๆ ช่างคิด ช่างจินตนาการทั้งหลาย ส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงสื่อ แวดวงโฆษณา แวดวงธุรกิจ ทั้งนั้น เลยทำให้นึกถึง gotoknow ขึ้นมา หลังจากห่างหายไปหลายเดือน เผื่อจะมีคนไอเดียดีๆ มีประสบการณ์ แวะมาช่วยคิดการจัดการบริหารธุรกิจเพื่อชุมชนบ้าง

คุยกับเพื่อนทางนี้ว่าถ้านักธุรกิจ นักการตลาด มาเห็นปัญหาเรา คงหัวเราะว่าทำไม ... อย่างนี้ !!  ทรัพยากรมีพร้อมอยู่ตรงหน้า Demand ก็รออยู่ แต่จัดการไม่เป็นนี่ซิ

อย่างที่เคยคุยไว้ก่อนหน้านี้ว่า หลังจากเราได้ไปกระตุ้นแม่บ้านทางนี้ซึ่งมีวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าติดตัวตั้งแต่เป็นสาว ก็ทำให้พวกเขาสนใจจะรวมกลุ่มเพื่อหารายได้เสริมอยู่ในชุมชน จะได้ไม่ต้องไปทำงานในเมืองทิ้งลูกทิ้งครอบครัวไว้บนดอย

เมื่อดูเหมือนหลายคนสนใจ ต่อมาเราก็เริ่มค่อยๆ หา order ก็มีหลายที่สนใจอยากช่วยให้กลุ่มเริ่มต้นได้ จะช่วยสั่งตัดประเภทชุดนักเรียน หรือเสื้อกันหนาวเตรียมใกล้ๆ หน้าหนาวนี้

แต่เมื่อกลับไปคุยกับแม่บ้านอีกครั้ง พวกเขายังสนใจ แต่ "รอ" ว่าจะมีคนหาจักรเย็บผ้ามาให้ (ตอนแรก อบต.บอกว่าจะสนับสนุน ถ้ามีการรวมกลุ่มกันได้)  "รอ" ว่าจะมีคนหา order มาให้ ฯลฯ

เราต้องกลับมาปรึกษากันใหม่ว่า ถ้าเริ่มแบบนี้คงไม่ใช่  และกลุ่มก็ไม่ควรจะเดินเฉพาะเมื่อมีคนเอา order มาป้อน แต่ควรจะเดินได้ด้วยตัวเอง เหมือนธุรกิจทั่วไป นี่เราคงไปทำให้แม่บ้านเข้าใจผิด หรือเป็นความเคยชินของชาวบ้านเอง เมื่อจะมีโครงการสนับสนุนใดๆ ไปลงที่หมู่บ้านอย่างที่ผ่านๆ มา

แต่เป้าหมายจริงๆ นั้น อยากให้แม่บ้านซึ่งเคยเป็นลูกจ้างร้านเย็บผ้า หรือโรงงานเย็บผ้าในเมือง ได้กลับมารวมตัวกันมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง เพื่อเป็นอาชีพในชุมชน และมีกำไรกันไว้เป็นกองกลางเพื่อช่วยเหลือกันเองในกลุ่มในด้านต่างๆ

เมื่อปรึกษากันจึงมีคนเสนอแผนใหม่ว่า น่าจะเริ่มเล็กๆ เหมือนธุรกิจครอบครัวทั่วไป จาก ๑ คนที่ออกแบบและผลิตเองได้ ค่อยๆ สร้างชิ้นงานและหาตลาดเล็กๆ (ซึ่งมีคนรอสนับสนุนอยู่แล้ว) เพื่อให้มีรายได้ มีเงินหมุน (ทุนรอบแรกและค่าตอบแทนรายเดือนของคนเริ่มต้นนี้ มีคนสนับสนุนอยู่แล้ว)

จากนั้นค่อยๆ ขยายตลาด และค่อยๆ จ้างคนเข้ามาเพิ่มตามปริมาณงานที่ร้านจะรับได้ เป็นการเริ่มจากภายในตามกำลังที่มีแล้วค่อยๆ ขยายคนขยายงาน ไม่ใช่การเริ่มจาก order แล้วหาคนตาม order ที่เข้ามา ซึ่งต้องคอยวิ่งหา order มาป้อนตลอด อย่างที่คิดกันในตอนแรก

แต่วิธีนี้ก็ต้องยุ่งเกี่ยวกับการตลาดโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบ ที่อาจเป็นข้อจำกัดของแม่บ้าน นอกจากค่อยๆ หาเอกลักษณ์ของตนเอง

เฮ้อ !!  อย่างที่บอกแต่แรก

ตอนนี้มีทั้งคนผลิตที่มีความรู้ ที่เริ่มเต็มตัวแล้ว 1 คน แถมมีอีกหลายๆ คนที่อยากกระโดดมาร่วมด้วย (ถ้ามีรายได้ที่เหมาะสม) มีคนพร้อมสนับสนุนทุนเบื้องต้น พร้อมอุปกรณ์เริ่มต้น อาทิ จักรเย็บผ้า สถานที่ แถมมีคนเสนอทำ web ให้ด้วย และยังมีคนสั่งสินค้ารอไว้แล้ว 2-3 ราย

แล้วไงต่อดีล่ะ ??!!

 

หมายเลขบันทึก: 126825เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2007 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะคุณ pilgrim

สงสัยว่า ต้องตั้งโจทย์ให้ชาวบ้านช่วยกันคิดก่อนค่ะ  ดิฉันเองก็ไม่ใช่คนมีประสบการณ์ในด้านการขับเคลื่อนงานมากนัก   แต่เท่าที่เคยทำงานมาบ้าง เห็นว่า  ถ้าความคิดเริ่มต้นจากเรา ชาวบ้านก็จะรอเราคิดต่อไปเรื่อยๆ

ให้ความคิดออกมาจากการพูดคุย  เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ

ไม่แน่นะคะ  .....

คุยกันเรื่องปัญหาและวิธีหาทางออก   ให้ชาวบ้านคิดเองตอบเอง   share ปัญหา  share เป้าหมายร่วมกัน 

 จุดเริ่มของกิจกรรมอาจจะไม่ใช่กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าก็ได้ค่ะ

เข้ามาอ่านและคิดต่อครับ...

ผมเห็นด้วยกับ อ.ปัทมาวดี คือต้องตั้งโจทย์ให้ชาวบ้านคิดก่อน

เพราะหลายครั้งที่เราวิธีคิดของเราไปผูกขาดชาวบ้าน แต่มันก็เนียนเสียจน แยกไม่ออกว่าชาวบ้านหรือเราต้องการ

ส่วนประเด็นนี้คล้ายคลึง วาทกรรมโอทอบ ที่สร้างความเจ็บปวดให้ชนบท ที่ต้องแข่งขันกันเจ๊งนะครับ

มีประเด็นคิดอยู่ ๒ แนวครับ

หากเป็นกลุ่มจัดตั้ง  เราพบว่า ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ค่อยๆล้มลงและหายไป...

หากเป็นกลุ่มสนใจ เริ่มจากเล็ก ๘๐ เปอร์เซนต์อยู่ได้ เพราะมีกระบวนการเรียนรู้และใจของสมาชิกที่เป็นทุน

ที่สำคัญเท่าที่ผมมองนะครับ อะไรก็ตามที่สอดคล้องกับวิถีเขาและเป็นทุนที่เขามีอยู่ เขาทำได้ดี...หากเปลี่ยนไปเพื่อให้ร่วมสมัยมากขึ้น นั่นก็คือ ต้องศึกษาตลาดให้ดีมากๆก่อนครับ

 

ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากค่ะ อ.ปัท และ อ.เอก

ดิฉันเองคงต้องปรับกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะวิธีคิดของตัวเองในเรื่องนี้ด้วย ขอบคุณมากๆ สำหรับคำแนะนำดีๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องพากันร้องไห้กับชาวบ้านในบู๊ต OTOP อย่างที่อาจารย์เล่ามาค่ะ

ยังไงต่อจะเล่าความคืบหน้าเป็นระยะนะคะ ขอบคุณค่ะ

เรื่อง "ชาวบ้านนั่งร้องไห้" เป็นปรากฏการณ์ที่เจ็บปวดดีนะครับ

ช่วยกันสร้างสรรค์ปัญญา เพื่อพัฒนาท้องถิ่น กันครับ ให้เกิดการพัฒนาที่เห็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่พร้อมและเท่าเทียมกัน

ขอบคุณและให้กำลังใจครับผม

หลังจากเพลาๆ เรื่องนี้ เพื่อไปทำการบ้านเกี่ยวกับการจัดการกองทุนการเงินชุมชน ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นฐาน ที่จะเริ่มต้นทำงานกับชาวบ้าน แล้วค่อยๆ แตกยอดออกไป โดยเฉพาะในแง่กึ่งๆ ธุรกิจชาวบ้านแบบนี้

ก็พอเห็นหนทางชัดขึ้น เมื่อเห็นตัวอย่างหลายๆ พื้นที่ เช่นกลุ่มออมบุญวันละบาท ที่จังหวัดลำปาง ที่มีการออมทรัพย์ ทั้งเพื่อจัดสวัสดิการชุมชน และบางส่วนก็นำมาทำวิสาหกิจชุมชน

มองว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาและเพื่อความเข้มแข็งมั่นคงของชุมชน เพียงแต่ว่าจะเข้าทางไหน ถึงจะพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

เอาเป็นว่า ในอนาคตน่าจะมีรูปแบบสหกรณ์ หรือ วิสาหกิจชุมชนตัดเย็บบนดอย ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ที่เกิดจากความเข้าใจ ความต้องการ และการดำเนินการของกลุ่มเอง ไม่ใช่คนนอกอย่างเรา

คอยติดตามตอนต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท