Fisherman
นาย อาจหาญ นิมิตรหมื่นไวย

Intelligence เชาวน์ปัญญา


เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่ได้จากกระบวนการภาวนา เป็นความสามารถในการมีสติระลึกรู้ในปัจจุบันขณะ มิใช่ประสบการณ์ในอดีตหรือความสามารถในการจดจำอย่างที่คิด

ล่าสุดผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “Intelligence เป็นไปได้ด้วยปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือที่สุดยอดของการเขียนของท่าน OSHO ผนวกกับสุดยอดของการแปลและเรียบเรียงของ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจ (เข้าลงไปที่ใจมิใช่เข้าสมอง) ถึงเชาวน์ปัญญาที่แท้จริง               

เชาวน์ปัญญา (Intelligence) มิใช่ความฉลาดปราดเปรื่องอันเนื่องมาจากการศึกษาอย่างที่เราเคยรู้จัก  การศึกษาเป็นเพียงความจำที่หยิบยืมของผู้อื่นมาใช้เท่านั้น  แต่เชาวน์ปัญญาที่แท้จริงคือ เชาวน์ปัญญาที่เติบโตจากจิตสำนึกที่อยู่ภายใน เป็นเรื่องของความสามารถที่จะสงบนิ่งได้ คนมีเชาวน์ปัญญาจะไม่ทำอะไรโดยใช้ประสบการณ์จากอดีต แต่เขาจะอยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น               

เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในคนทุกคน แต่ถูกสิ่งแวดล้อม ครอบครัว ระบบการศึกษา สังคม และเงื่อนไขต่างๆมาปกคลุมไว้ เปรียบเสมือนน้ำพุที่พร้อมจะพุ่งออกจากพื้นดิน แต่ถูกหินใหญ่ปิดทับเอาไว้ จึงไม่สามารถพุ่งออกมาได้ การที่จะนำก้อนหินนี้ออกไปได้นั้น เราต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า  การภาวนา (Meditation)” คือการฝึกรู้ตามจริง โดยมีสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ ในปัจจุบันขณะ               

เชาวน์ปัญญากับเรื่องของประสิทธิภาพเป็นคนละเรื่องกัน คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพมากแต่ไม่มีเชาวน์ปัญญา  ความจำของคนเราเปรียบได้กับคอมพิวเตอร์ แต่เชาวน์ปัญญาผุดขึ้นมาจากการเจริญภาวนา ไม่ได้ผุดขึ้นมาจากความจำ การที่จะบอกว่าใครมีความจำดีเป็นผู้ที่มีเชาวน์ปัญญาดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง                

โธมัส เอดิสัน ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์มากมายอย่างที่ไม่มีใครเปรียบเทียบได้  สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากการสร้างสรรค์ของเขา  ทั้งที่ความจำของเขาไม่เอาไหน และใช้ไม่ได้ เขาเคยลืมแม้กระทั่งชื่อของตัวเองขณะที่เข้าแถวระหว่างรอรับบัตรอาหาร เจ้าหน้าที่เรียกชื่อ โธมัส อัลวา เอดิสัน เขากลับมองไปรอบๆเหมือนว่าเจ้าหน้าที่กำลังเรียกคนอื่น ชายคนหนึ่งที่จำชื่อเขาได้พูดกับเขาว่า ผมว่าคุณคือ โธมัส อัลวา เอดิสัน แล้วทำไมคุณถึงมองไปทางโน้นทางนี้ละ ?” เอดิสัน กล่าวว่า ท่านพูดถูกแล้ว ผมลืมไปสนิทเลย ขอบคุณมากที่ช่วยเตือนผม                

เมื่อใดก็ตามที่เขาต้องหาบางสิ่งบางอย่างเขาต้องใช้เวลาเป็นวันๆกว่าจะพบว่ามันอยู่ที่ไหน เขาลืมทุกสิ่งทุกอย่างเสมอแม้แต่ของที่เคยประดิษฐ์วางขายอยู่ในแล้ว แต่เขาก็ยังประดิษฐ์มันขึ้นมาใหม่อีก เขามักเก็บเศษกระดาษไว้รอบตัวเพื่อเขียนความคิดต่างๆลงไป แต่ก็จะหาเศษกระดาษเหล่านั้นไม่เจอ จนภรรยาของเขาเสนอแนะให้เก็บไว้ในสมุดบันทึก แต่แล้วสมุดบันทึกนั้นก็หายไป               

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็ไม่ใช่คนที่มีความจำดีนัก ตอนเป็นนักเรียนเขาสอบตกหลายวิชาเพราะว่าเขาจำอะไรไม่ค่อยได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่ขึ้นรถประจำทางเขานับเงินทอนครั้งแล้วครั้งเล่าถึงสี่ครั้ง เนื่องการนับแต่ละครั้งได้จำนวนไม่เท่ากัน เขาเป็นผู้คิดสูตรคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แต่ไม่สามารถนับเงินทอนได้สำเร็จในครั้งเดียว เขามักจะลืมว่าอยู่ที่ไหน และจะต้องออกเมื่อใด เขาเคยอยู่ในห้องน้ำและลืมออกจากห้องน้ำถึง 6 ชั่วโมง               

OSHO บรรยายเรื่องนี้ได้ลึกซึ้งอย่างผู้รู้จริง ไม่แตกต่างไปจากธรรมะที่หลวงปู่ หลวงพ่อ ครูบา อาจารย์ ได้สั่งสอน ไม่ต้องไปดิ้นรนไขว่คว้าหาปัญญาโลกๆจากที่ไหน หมั่นเจริญภาวนา  ฝึกรู้ตามจริงของกายและใจ อันจะทำให้เกิดปัญญารู้แจ้ง ชี้ทางสว่างเพื่อการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง 

ที่มา “Intelligence” Osho ผู้บรรยาย, ประพนธ์ ผาสุขยืด แปลและเรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 126721เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2007 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • มาเยี่ยมยามครับ
  • วันอาทิตย์ คิดสร้างสรรค์
  • ร่วม "ลิขิต" ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท