รัฐบาลใหม่ควรใส่ใจเด็กที่มีความสามารถพิเศษ


แนวทางการเร่งรัด สนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปประมาณปลายปี ๕๐ หรือ ต้นปี ๕๑ คาดว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ  ไม่ว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ โดยเฉพาะเจ้ากระทรวงที่จะนำพารัฐนาวาเสมาธรรมจักรให้ขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายปลายทางของการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

หากคิดทบทวนกระบวนยุทธ์ของการปฏิรูปการศึกษา จะพบว่าตัวจักรที่สำคัญคือการผลักดันสนับสนุนส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยเฉพาะบทความนี้ขอนำเสนอในส่วนของ "เด็กที่มีความสามารถพิเศษ" เป็นเบื้องต้น และจะทยอยนำเสนอในส่วนอื่นๆอีกต่อไป

ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวว่า "การจัดการศึกษาในปัจจุบัน ยึดติดกับการเรียนเป็นวิชาๆตายตัว ไม่เชื่อมโยงกับชีวิตและความเป็นจริงของเด็กและสังคม ทำให้การเรียนรู้ไม่หลากหลายเพียงพอที่จะส่งเสริมศักยภาพของเด็ก ทำให้เด็กเบื่อหน่าย โดยเฉพาะเด็กที่มีความสามารถพิเศษซึ่งเรียนรู้ได้เร็วกลับถูกครูและโรงเรียนที่ไม่เข้าใจคิดว่าเป็นเด็กโง่ แต่ที่จริงเป็นเพราะครูและโรงเรียนไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก และธรรมชาติของการเรียนรู้

คณะกรรมการกลุ่ม STAR (Small Team Activity Relationship) ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีโอกาสประชุมเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ในการดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted & Talented) ได้ข้อสรุป สำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูให้กับผู้เรียน ดังนี้

๑) จัดกิจกรรมการเรียนรู้จากวิถีชีวิตในชุมชนให้มากที่สุด (เรียนรู้จากพ่อ แม่ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น)  ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะชีวิต ทักษะการจัดการ

๒) จัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและการศึกษาเรียนรู้จากสื่อ แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย

๓) จัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุน "ฉันทะพิเศษ" ของนักเรียนตามความถนัด ความสนใจของแต่ละคน

๔) สนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเป็นรายกรณี เพื่อพัฒนาเติมเต็มศักยภาพของแต่ละคนให้ถึงจุดสูงสุดเท่าที่จะทำได้

บนความเชื่อที่ว่า...

- ธรรมชาติของมนุษย์มีความหลากหลาย
- มนุษย์เรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลาย
- มนุษย์มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
- เด็กเกิดมา เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม
- เด็กสนใจการเรียนรู้ เพราะทุกอย่างเป็นของใหม่สำหรับเขา
- ภาษาไม่ใช่เรื่องยากของเด็กที่จะเรียนรู้ (เรียนรู้จากการกระทำ)
- เด็กเดินได้ วิ่งได้ เพราะเคยล้มมาก่อน

หากกระทรวงศึกษาธิการจะสนับสนุน ส่งเสริมให้หน่วยงาน สถานศึกษาทุกแห่งมีระบบส่งเสริมสนับสนุนให้ดีแล้ว ประเทศไทยก็น่าที่จะมีอัจฉริยบุคคลระดับไอน์สไตน์ได้  แต่การจัดการศึกษาในโรงเรียนตามรูปแบบปัจจุบันอาจไม่เอื้อที่จะให้เด็กแสดงแววความเป็นอัจฉริยะออกมาได้  เนื่องจากเป็นการเรียนวิชาในตำรา ขาดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายเพียงพอ ทำให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษจำนวนมากไม่สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้ ต้องเสียโอกาสในการพัฒนาตนเองไปอย่างน่าเสียดาย และยังส่งผลให้สังคมสูญเสียโอกาสในการที่จะได้คนเก่งมาร่วมพัฒนาประเทศชาติของเราด้วย

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ครูและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะหันมาใส่ใจ ให้ความสำคัญต่อเด็กที่มีความสามารถพิเศษอย่างจริงจัง

 

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
๗ ก.ย.๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 125944เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2007 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สังคมเห้นความสำคัญ ชนกลุ่ม ใหญ่ จนลืมว่า ชนกลุ่ม น้อย ยังงมี

ชนกลุ่มน้อย ถึงแม้จะมีจุดด้อย เรื่องอื่น แต่เค้าก็มีความสามารถพิเศษ ด้านอื่นที่ดีกว่า สังคมกลับไม่ให้ความช่วยเหลือ แล้ว จะหวัง ให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษ ช่วยอะไร ประเทศชาติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท