ค่ายเบาหวานของโรงพยาบาลเกาะสมุย


กิจกรรมหลากรูปแบบเพื่อให้เกิดความตื่นตัวและน่าสนใจ น่าติดตาม เป็นที่สนุกสนาน

สืบเนื่องจากบันทึกนี้ ดิฉันเลยนำเรื่องเล่าของโรงพยาบาลเกาะสมุยมาเผยแพร่ไว้ด้วย

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๐

ประสบการณ์จากการจัดกิจกรรมค่ายเบาหวาน

หลังจากที่ได้มีโอกาสเข้าอบรมการจัดกิจกรรมค่ายเบาหวานจากโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เมื่อวันที่ ๒๐-๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๙ และได้รับมอบหมายจากเจ้าของงบประมาณ (สปสช.) ให้นำกระบวนการที่เรียนรู้มาสู่การปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง

เริ่มด้วยกลับมาปรับรูปแบบโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มข้าราชการเดิมให้กลายเป็นค่ายเบาหวานที่ชัดเจนขึ้น และเริ่มดำเนินการโดยเริ่มจากการชักชวนเจ้าหน้าที่ผู้สนใจที่อาสาเข้ามาเป็นทีมงานด้วยความสมัครใจ ซึ่งทีมงานที่ได้มาประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อายุรแพทย์ (วิทยากรรับเชิญ) ทันตแพทย์ เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ โภชนากร พยาบาลวิชาชีพ (OPD และเวชกรรมสังคม) นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประกันสุขภาพ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ โดยจัดรูปแบบค่ายเบาหวานของเราให้เป็นค่ายเบาหวานแบบไม่พักแรม (Day camp) ในวันที่ ๒๕-๒๖ มกราคม ๒๕๕๐ และนัดติดตามผลซ้ำอีกครั้งในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๐

ค่ายของเราได้จัดกิจกรรมหลากรูปแบบเพื่อให้เกิดความตื่นตัวและน่าสนใจ น่าติดตาม เป็นที่สนุกสนาน เช่น เกมส์ต่างๆ ในทุกช่วงของการบรรยาย walk rally ริมชายทะเล โดยใช้ฐานของการฝึกปฏิบัติปรุงอาหารดัดแปลงสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ฐานการออกกำลังกาย และฐานการดูแลเท้า (การสื่อสาร) การตรวจสุขภาพเบื้องต้น (FBS, Lipid profile, Creatinine, BW, BMI, and Waist) ซึ่งจะมีการวัดผลก่อน-หลัง (๒ ครั้ง)

การฝึกปฏิบัติเจาะเลือดหลังอาหาร ๒ ชม. และการบันทึกผลเลือดในกราฟด้วยตนเอง การตรวจสุขภาพเท้าโดยใช้ monofilament การฝึกกายบริหารเท้าและบัญญัติ ๑๐ ประการในการดูแลเท้า การใช้ตารางคำนวณพลังงานในการเลือกรับประทานอาหาร โดยที่โภชนากรของเราจะเป็นผู้คำนวณในแต่ละรายไว้ก่อน แต่สมาชิกชาวค่ายจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจที่จะเลือกตักและเลือกกินตามที่แนะนำด้วยตัวเอง ซึ่งอาหารที่เราเตรียมไว้ก็จะเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ โภชนากรเลือกปรุงอาหารแบบอาหารดัดแปลงโดยที่มิได้แจ้ง

นอกจากนั้นจากการติดตามไปดูที่บ้านพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น บางท่านรับประทานกะทิทุกมื้อ เปลี่ยนมาเป็นแกงส้มและผลไม้มากขึ้น หรือบางท่านก็พยายามสังเกตและประเมินภาวะสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดในแต่ละเดือนไม่ให้เกินตามเกณฑ์ที่เรียนรู้มาจากค่าย ขณะที่มารับการรักษาต่อที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลหรือสถานบริการเอกชนที่รับการรักษาอยู่

หลังจากครบ ๓ เดือน เมื่อนัดมาพบกันอีกครั้งเพื่อติดตามผลของการตรวจภาวะสุขภาพตามตัวชี้วัด พบว่าผลหลังการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเปรียบเทียบกับก่อนเข้าร่วม มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยร้อยละ ๘๐ ของสมาชิกมีระดับ HbA1C, Lipid profile, FBS ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ระดับ BMI และรอบเอวลดลงเล็กน้อย

เมื่อเสร็จสิ้นการประเมินหลังการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเบาหวาน ผู้จัดก็ได้จัดกิจกรรม Lunch Symposium เชิญทีมงานร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้บริหารโรงพยาบาล ชมการนำเสนอผลการดำเนินงานค่ายเบาหวาน และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในทัศนะของผู้ให้บริการ

ซึ่งผู้บริหารต่างก็มีความคิดเห็นในแนวทางเดียวกันว่า รู้สึกชื่นชมและมองเห็นความสำคัญของกิจกรรมนี้ว่าจะมีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งลดอัตราการ Readmit ของผู้ป่วยเบาหวานได้ค่อนข้างมาก ถ้ามีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทีมงานทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจและหายเหนื่อยที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมครั้งนี้

ผู้เล่าประสบการณ์ : นางสาวเกศรัตน์ ไกรวงศ์ และนางสาวภัทราภรณ์ อภิชนาพงศ์ พยาบาลวิชาชีพประจำกลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลเกาะสมุย

หมายเลขบันทึก: 125770เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2007 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 00:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท